posttoday

เก็บหัวใจบนหนทางแบกเป้

15 เมษายน 2561

เรื่องราวของ “สุแบ็กแพ็กเกอร์” (Su Backpacker) ก่อนจะกลายเป็น “ครูสุครูอาสาแบกเป้เที่ยว”

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์ / ครูสุครูอาสาแบกเป้เที่ยว

เรื่องราวของ “สุแบ็กแพ็กเกอร์” (Su Backpacker) ก่อนจะกลายเป็น “ครูสุครูอาสาแบกเป้เที่ยว” หนึ่งในเน็ตไอดอลสายแบกเป้ ที่แบ็กแพ็กเกอร์รู้จักดี หากการเดินทางบนเส้นทางแบกเป้ยังมีอะไรอีกมาก  อะไรอีกมากนั้น อย่างน้อยคือหัวใจ อย่างหนึ่งคือรอยยิ้ม และอีกมากมายคือหยาดน้ำตาที่สอดร้อยเรื่องราวเป็นหนึ่ง “ที่ไม่ลืม” ขอมีส่วนร่วมในการบอกต่ออย่างเต็มใจ

สุนันทา คีรีรักษ์ หรือ “ครูสุ” อายุ 25 ปี จบมัธยมศึกษาในไทยก่อนจะไปเรียนต่อด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเซกิ (Segi University) กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย จบแล้วกลับมาสอนหนังสือชั้นเด็กปฐมวัย และเด็กพิเศษไฮเปอร์ออทิสติกที่บ้านเกิด โรงเรียนเสนพงศ์  อ.สะเดา จ.สงขลา รวมทั้งผลิตสื่อการเรียนการสอนด้วย

คุณครูเล่าถึงตัวเอง ลึกๆ ครูชอบศิลปะ และใช้ศิลปะนั้นเองรักษาบำบัดเด็ก ช่วงปิดเทอมจะเที่ยว แต่ก่อนเที่ยวอย่างเดียวและเที่ยวคนเดียว เป็นการเที่ยวธรรมชาติเชิงอนุรักษ์ เดินป่าปีนเขา ท่องลำน้ำ อาศัยช่วงปิดเทอมใหญ่ ก็จะแบกเป้เที่ยวยาวไปทุกปี

เก็บหัวใจบนหนทางแบกเป้

จุดเปลี่ยนในชีวิตเกิดขึ้นเมื่อไปเที่ยวดอยหลวง เชียงราย เกิดหลงทางไปตัวคนเดียว ลงดอยทางห้วยน้ำดัง แล้วไปติดอยู่ที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง ได้อาศัยชาวดอยให้ที่อยู่ที่กินและที่นอน ติดอยู่ 3 วัน เป็น 3 วันเปลี่ยนชีวิต ที่จดจำไม่เลือน

“ไปติดดอยหนนั้น ได้รู้จักครูคนหนึ่ง ไปดูคุณครูสอนหนังสือตั้งแต่เช้าถึง 2 ทุ่มทุกวัน ทำไมจะไม่สองทุ่ม ก็ครูคนเดียวเล่นสอนวันละ 4 โรงเรียน 4 หมู่บ้าน”

อึ้งทึ่งที่ครูคนเดียวสอน 4 โรงเรียนรวด  ความรู้สึกแรกในใจคือโอ้โห ฉันสอนแค่โรงเรียนเดียว ฉันก็จะตายอยู่แล้ว (ฮา) 4 โรงเรียนเชื่อไหม ไม่เชื่อ งั้นไปด้วยกัน ได้ไปและได้ดูครูสอนหนังสือ ครูสุยังได้ช่วยสอนบ้าง ชาวบ้านถือเป็นบุญคุณ เมื่อคุณครูคนใหม่เดินผ่านหน้าบ้าน  ทุกคนต่างตะโกนเชิญชวน “อุ้มเมี๊ยะๆ” หมายถึง มากินข้าวด้วยกัน

กินข้าวกับทุกบ้านที่เดินผ่าน ไม่กินไม่ได้ วัฒนธรรมชาวเขา ต้องกินแม้อิ่มแสนอิ่ม กินข้าวเสร็จต่อด้วยเคี้ยวหมาก 1 คำ จบด้วยเหล้าขาวอีก 1 เป๊ก คนเฒ่าคนแก่จะมาผูกข้อไม้ข้อมือให้ เป็นการทำขวัญบอกกล่าวผีป่าเพราะครูสุหลงป่ามา สามวันที่ห้วยน้ำดังผ่านพ้น ชาวบ้านช่วยกันมัดแพ เพื่อให้เธอล่องกลับ

ล่องแพลงมาที่ราบ จากเชียงดาวกลับบ้านที่สงขลา ภาพแห่งความประทับใจยังคงวนเวียนอยู่ในห้วงคำนึง คิดว่าปีหน้าจะกลับมาที่นี่อีก ทั้งๆ ที่ขณะนั้นไม่มีทางรู้เลยว่าเธอจะไม่มีวันได้กลับมา รู้ภายหลังในอีกหลายปีว่า สถานที่นั้นกลับไปไม่ได้ เพราะกลับไปไม่เป็น ครั้งแรกหลงทางไป จึงจดจำทางไม่ได้แน่นอน

ปิดเทอมใหญ่ปีถัดมา 2558 แบกเป้ไปอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ถนนจากเชียงใหม่ถึงอมก๋อยเดินทาง 12 ชั่วโมง ตำรวจตระเวนชายแดนมีน้ำใจช่วยพาขึ้นมาที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง แต่เป็นอีกแห่งหนึ่ง ไม่ใช่ที่ครูสุเคยมาเมื่อปีก่อน

“สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุด คือ อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา นิทาน ขนมของกิน และเสื้อผ้า ซึ่งหอบขึ้นรถไฟมา 3 กระสอบใหญ่และกระเตงมาอีกหลายลัง หนนี้ตั้งใจมาช่วยสอนโรงเรียนบนดอยด้วย จากนั้นขบวนการอุ้มเมี๊ยะก็เกิดขึ้น ชวนกินข้าว ชวนกินเหล้า ที่นี่ไม่มีเหล้าขาว มีแต่เหล้าต้ม”

เก็บหัวใจบนหนทางแบกเป้

อมก๋อยก็เหมือนกับชุมชนห่างไกลทุกแห่งในประเทศนี้ โดยเฉพาะความขาดแคลน โรงเรียนบนดอยมีตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นไปสอน ที่นี่ไม่มีครู พื้นที่มีห้วยล้อมรอบ ถ้าน้ำขึ้นก็เท่ากับตัดขาดโลกภายนอก เด็กไปเรียนบ้างไม่ไปเรียนบ้าง ตชด.สลับกันขึ้นไปสอน เด็กมีความรู้ภาษาไทยน้อย

ปีถัดมาเปลี่ยนไปเที่ยวและอาสาในภาคอีสาน ต่อเมื่อปีถัดมาไปห้วยงู ดอยหลวง จ.เชียงราย หวังว่าจะได้เจอห้วยน้ำดังที่เคยหลงไป ไม่เจอห้วยน้ำดัง แต่เจออย่างอื่น จุดเปลี่ยนอีกครั้งในชีวิต ห้วยงูไปครั้งนี้ได้พบตัวตนของตน มั่นใจจะใช้ชีวิตในแบบที่ไม่ต้องเข้าออกตอกบัตร ทำในสิ่งที่อยากทำ

ห้วยงูหนนี้ได้เดินทางไปกับ “กลุ่มกฤษณ์อาสา” ซึ่งรู้จักกันบนเส้นทางจิตอาสา ชวนไปช่วยทาสีโรงเรียนในพื้นที่ใกล้ๆ กันกับห้วยน้ำดัง คิดในใจว่ายังไงก็ต้องไป แต่ไปเพื่อจะพบว่ามันเป็นเขาคนละลูกกัน

“ห้วยน้ำดังและห้วยงูอยู่ละแวกเดียวกัน วัฒนธรรมเหมือนกัน จึงเหมือนย้อนวันคืนเก่า รวมทั้งขบวนการชวนกินข้าวก็เหมือนกันเปี๊ยบ ยังได้เจอครูในพื้นที่ ครูสอนวันละ 2 โรงเรียน ตั้งแต่เช้าถึงมืด”

ทีมกฤษณ์อาสา 20 กว่าคน เรียกครูสุว่า “แม่” ทั้งๆ ที่ก็เป็นวัยรุ่นและวัยใกล้ๆ กันนี่แหละ แต่เรียกแม่เพราะให้เกียรติครูสุที่นำหน้าเรื่องเข้าป่าฝ่าดง หัวจิตหัวใจไม่ยั่นที่จะบุกไปหาน้องๆ เด็กนักเรียนในถิ่นขาดแคลน กลับไปเพื่อลาออกจากงานครู ได้เปลี่ยนชื่อเพจ
“สุแบ็กแพ็กเกอร์” เป็น “ครูสุครูอาสาแบกเป้เที่ยว” เดินหน้างานจิตอาสาเต็มขั้นตั้งแต่นั้น

แล้วกลายเป็นเน็ตไอดอลตั้งแต่เมื่อไร ก็คงในครั้งที่ไปภูทับเบิก ปี 2559-2560 ครูสุซึ่งติดตามเพจ “จุดกางเต็นท์” และ “หลงเต็นท์” ปักหมุดภูทับเบิก ที่จะร่วมไปกับกลุ่มกฤษณ์อาสา ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทับเบิก ที่นี่เลยจุดท่องเที่ยวไป ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว

“เมื่อจะไปไหนจะประสานคนในพื้นที่ก่อนว่าเขาขาดอะไร อยากได้อะไร คุณครูที่นั่นบอกมาคำว่า อยากได้เครื่องพรินเตอร์สักเครื่องหนึ่ง”

ครูสุมีของบริจาคอื่น แต่ไม่มีเครื่องพรินเตอร์ ได้โพสต์ลงในจุดกางเต็นท์กับหลงเต็นท์ เผื่อมีใครบริจาค ปรากฏว่าคนบริจาคเพียบ ตั้งแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องสแกน เครื่องแท็บเล็ตและพรินเตอร์ที่อยากได้ รวมแล้วมากมายหลายเครื่อง ขาดแต่คนขน ก็มีหนึ่งหนุ่ม ตชด.จะขึ้นภูพอดี อินบ็อกซ์มาว่าจะช่วยขนให้ทั้งหมด ทั้งเครื่องไอทีชุดใหญ่และของบริจาคท่วมท้น

เก็บหัวใจบนหนทางแบกเป้

บริจาคของแล้ว ทำงานเสร็จแล้ว ยังไม่กลับบ้านขอหนีเที่ยวต่อ ภารกิจเสร็จแล้วไปต่อที่เพชรบูรณ์ จากนั้นไปเขื่อนศรีนครินทร์ ที่กาญจนบุรี มาถึงกาญจนบุรี 4 โมงเย็น ยังจะต้องขึ้นเขาต่อไปอีก

“หนึ่งทุ่มตรงยังอยู่ที่หน่วยกู้ภัย หน้าตาโหดๆ ทั้งนั้น มีลุงคนหนึ่งขับสองแถวมาจอดใกล้ๆ ถามไปกับลุงไหม ลุงก็หน้าโหดพอกัน ตัดสินใจไปกับลุง รู้ทั้งรู้ว่าขึ้นเขาไปสัญญาณขาดแน่”

สมัยสอนหนังสือที่ใต้ สุดสัปดาห์เป็นครูสอนยิงปืนที่ค่ายราชนาวี สงขลา อาศัยใจกล้า ยิงปืนแม่น จึงกล้าแบกเป้ไปคนเดียว ถึงอย่างนั้นคนในเพจก็กระหน่ำถึงความใจกล้าที่เกือบจะบ้าบิ่น มีคนถล่มทั้งสมน้ำหน้าและคนเป็นห่วง ครูสุทำรีวิวลงจุดกางเต็นท์ ยอดพุ่งกระฉูด 7,000 อัพภายในไม่กี่นาที กลายเป็นเน็ตไอดอลสายแบกเป้มาตั้งแต่นั้น

“การทำรีวิวครั้งนี้ดังเลย หลายสำนักมาขอรีวิวไปลงต่อ ตั้งแต่ดูเพื่อนเที่ยว ชิลๆ ไปไหน คนเดินเขา และเที่ยวชิกๆ โคตรซึ้งเลยอ่ะ เน็ตไอดอลสายแบกเป้ (ฮา) อ้อ ลุงน่ารักมาก หน้าโหดไปงั้นเอง จิตใจแสนประเสิรฐ”

อายุเพิ่ง 25 ปี เป็น “แม่” ของเหล่าแบกเป้จิตอาสาไม่พอ ยังเป็นแม่ของลูกอีก 2 คน ครูสุมีลูกชายบุญธรรมที่จดทะเบียนรับไว้เพื่อให้น้องได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิ วันเกิดเหตุครูสุอยู่ที่อยู่โรงเรียนบ้านสายรุ้ง สังขละ กาญจนบุรี ซึ่งถูกบอกเลิกเช่าที่ดิน ครูไปช่วยวิ่งเต้นหาที่ใหม่ เก็บย้ายข้าวของ

“ได้ข่าวดีว่าได้ที่แล้ว ไม่ทันจะหุบยิ้ม ก็ได้ข่าวจากครูในโรงเรียนว่า โยตะแขนหัก กระดูกแตก กล้ามเนื้อฉีก น้องเอาแขนเข้าไปดึงแกนเครื่องซักผ้าจังหวะเครื่องปั่นพอดี”

โยตะวัย 10 ขวบ เป็นเด็กกำพร้าไร้สัญชาติ ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนบ้านสายรุ้ง ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลใดๆ ก็ในวันนั้นเองที่ครูสุมีลูกและมีสามีไปพร้อมกัน ได้อุปโลกน์ “ครูปลั๊ก” ครูผู้ชายคนหนึ่งในโรงเรียนนั่นเองเป็นสามีจำแลง เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลถามก็ตอบตาใสว่า อ๋อ ไม่มีหลักฐานหรอก เพราะแต่งงานแบบชาวบ้าน ไม่ได้จดทะเบียนสมรส

เก็บหัวใจบนหนทางแบกเป้

“ท่ามกลางความฉุกละหุก จัดหาเอกสารและวิ่งวุ่นให้ผู้ใหญ่บ้านรับรอง จากนั้นจดทะเบียนรับโยตะกับน้องอีกคนชื่อกะปอวา อายุ 13 ปี สองคนนี้ปัญหาเหมือนกัน ไร้พ่อแม่ไร้สัญชาติ น้องทั้งคู่จะได้สิทธิรักษาพยาบาลต่อไป”

มีลูก 2 คนสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา มีสามีก็วันนี้ มองย้อนไปไม่เสียใจ จะมีแต่ดีใจ อย่างน้อยก็ช่วยเด็กคนหนึ่งไม่พิการ ไม่เป็นภาระ ได้เติบโตเป็นคนดี เทียวไปเทียวกลับจากโรงเรียนกับโรงพยาบาลหลายรอบเหนื่อยยากฝนตกฟ้ากระหน่ำ ปัจจุบันน้องผ่าตัดปลอดภัยแล้ว

นี่ไงหนทางนักแบกเป้ที่เที่ยวและอาสาสอนไป ต้นแบบคือแม่-สารภี ป้า-สุนี และยาย-ส๊ะ สันสน ผู้หญิง 3 คนที่เลี้ยงอบรมครูสุมา ทุกถ้อยคำของแม่ป้าและยายยังก้องในหัวใจ คือ ทำให้คนอื่นก่อน รักคนอื่นก่อน อย่าเห็นแก่ตัว อีกแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่คือในหลวงรัชกาลที่ 9

“เแค่นี้เหนื่อยหรือ ถ้าคิดว่าเหนื่อยก็จบแค่นี้ ต่อไปไม่ต้องทำแล้ว แต่ถ้ายังคิดจะทำต่อก็สู้ต่อ ดูในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบ ดูทุกอย่างที่ท่านทำ ทุกวันจะหยิบเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับท่านมาอ่าน ตั้งปณิธานจะไปทุกที่ที่ท่านเคยไป โพสต์ลงในเพจว่า ตามรอยพ่อมาแล้วนะ วางป้ายเล็กๆ เขียนว่าครูสุไว้ที่พื้น รู้ในใจเรา”

ทุกวันนี้ครูสุขายของออนไลน์ชื่อสุช็อป ขายแบ็กแพ็ก อุปกรณ์เดินป่า รองเท้าผ้าใบนำเข้าจากออสเตรเลียและญี่ปุ่น  เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการเดินทางจิตอาสา ถ้าใครอยากดูกิจกรรมหรือสนับสนุนค่าอาหาร (โรงเรียนบ้านสายรุ้งคือ โรงเรียนที่เด็กๆ มีสิทธิกินเนื้อแค่สัปดาห์ละ 1 มื้อ!) หรือสมทบทุนสร้างโรงเรียนบ้านสายรุ้งหลังใหม่ ก็ติดต่อได้ที่ fb : ครูสุครูอาสาแบกเป้เที่ยว