posttoday

หลังเกษียณระวัง(สมอง)ให้ดี!

05 เมษายน 2561

ก็เพราะประสบการณ์เดิมๆ จะทำให้คุณกลายเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นทำให้หลังเกษียณกลายเป็นไทม์โซนที่ต้องระวัง โดยเฉพาะสมอง

เรื่อง บีเซลบับ ภาพ ธิติ วรรณมณฑา, คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ก็เพราะประสบการณ์เดิมๆ จะทำให้คุณกลายเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นทำให้หลังเกษียณกลายเป็นไทม์โซนที่ต้องระวัง โดยเฉพาะสมอง ที่ความรู้และข้อมูลเก่าเก็บทั้งหลายจะกลายให้คุณคุ้นชินอยู่กับการใช้สมองเพียงซีกเดียว นั่นก็คือสมองซีกซ้าย ซึ่งอันตรายที่สุด

ไม่นับรวมพฤติกรรมการใช้ชีวิตอื่นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกินหวานจนเป็นนิสัย การไม่ออกกำลัง หรือการนอนหลับไม่เป็นเวลา หากจะให้ดีต้องปรับตัวเสียตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่คุณจะเข้าวัยเกษียณ เพื่อใช้ชีวิตวัยเกษียณได้อย่างมีความสุขและยืนยาวที่สุดนั่นเอง

ปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพ

1.เมื่อเข้าสู่อายุช่วง 40-50 ปี ส่วนต่างๆ ของร่างกายจะเริ่มสึกหรอ ในวัยหนุ่มสาวเคยทำอะไรได้ง่ายๆ ก็อาจจะไม่ได้และไม่ง่ายอีกต่อไป คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะไม่มีอาการเหล่านี้ แต่คนทั่วไปที่ไม่ออกกำลังกายเลย อาจรู้สึกถึงความชราได้ง่ายกว่า

2.สมองมีซีกซ้ายและซีกขวา แบ่งงานและแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นสัดส่วน สมองซีกซ้ายทำหน้าที่ในเรื่องของการใช้ภาษา การเขียน การอ่าน ทักษะด้านตัวเลข การใช้เหตุผล การพูด ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ส่วนสมองซีกขวาเป็นส่วนของการทำงานสร้างสรรค์ เช่น ความรู้สึกทางศิลปะ การใช้จินตนาการ และการดำเนินชีวิต

การใช้สมองทั้งสองซีก เมื่อเติบโตขึ้นสมองก็จะพัฒนาตามไปด้วย แต่ระดับการพัฒนาจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการใช้หรือประสบการณ์ชีวิตของคนนั้นๆ สมองที่ดีคือ สภาพของสมองที่พร้อมจะพัฒนาต่อไปได้อีกแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม นั่นหมายถึงการใช้สมองอยู่ตลอดเวลา

3.สมองส่วนคนที่ไม่ค่อยได้ใช้หรือพัฒนามากนัก คือสมองซีกขวา ที่เป็นส่วนของการควบคุมการมองเห็น ความเข้าใจและการจดจำ โดยสมองที่ผิดเพี้ยนไปมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการใช้สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ในการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ คอมพิวเตอร์ทำงานแทนสมอง จนสมองไม่ค่อยได้ทำงาน 

4.ระลึกไว้เสมอว่า ฮิปโปแคมปัส ซึ่งอยู่ใต้สมองใหญ่ทั้งซีกซ้ายและขวา ทำหน้าที่ช่วยจดจำสิ่งต่างๆ และเปลี่ยนความจำระยะสั้นให้เป็นความจำระยะยาว การใช้สมองส่วนนี้อยู่เสมอจึงช่วยพัฒนาสมอง เช่น ว่างๆ ก็ฝึกระบายสี คำนวณ หรือออกแบบภาพ 3 มิติ ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อเราเก็บข้อมูลไว้ใน “หน่วยความจำ” ของอุปกรณ์ต่างๆ ก็ทำให้สมองตีความว่า ไม่จำเป็นต้องใช้สมองเพื่อจดจำอีกต่อไป ทางแก้หนึ่งจึงต้องจดจำบ้าง เช่น พยายามคิดให้ออก หาวิธีจำด้วยตัวเอง คิดเอง ปรับตัวเอง  

5.หลังเกษียณต้องระวังให้ดี เพราะเมื่ออายุ 50 ปี ภายในสมองจะมีสารที่ทำให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น การใช้ชีวิตแบบขาดการกระตุ้น หรือปล่อยไปตามประสบการณ์ความคุ้นเคยเดิมๆ เท่ากับการปล่อยให้สมองส่วนที่ไม่ได้ใช้งานเพิ่มขึ้นโดยไม่แก้ไจ ยิ่งทำให้เสื่อมสภาพเร็ว

6.ขีดฆ่าทุกความเคยชิน เพราะสมองเริ่มเสื่อมตั้งแต่วินาทีที่คุณตัดสินใจว่า อย่างนี้ก็ดีแล้ว อย่างนี้ก็โอเค หรือไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร พยายามใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมๆ ตลอดชีวิต ขีดฆ่าความพอใจกับสภาพความเป็นไปรอบๆ ตัว เช่น ถ้าอ้วนอยู่ ก็อย่าคิดว่าอ้วนแล้วไง อ้วนแล้วก็ไม่เป็นอะไร นั่งนอนดูโทรทัศน์พร้อมกับกินสแน็กของว่างต่อไป

7.มีความตั้งใจที่จะปรับปรุงการใช้ชีวิตเสียใหม่ หาความรู้และตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การลดน้ำหนักให้ได้สัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม การออกมาวิ่งจ๊อกกิ้งทุกเช้าวันละ 30 นาที การลดหวานมันเค็มในอาหารที่กินทุกมื้อไม่มีข้อยกเว้น

8.ความเคยชินต่อสภาพแวดล้อม แม้จะทำให้เรารู้สึกมั่นคงปลอดภัย แต่ขณะเดียวกันก็ขาดความแปลกใหม่ เมื่อไม่มีความแปลกใหม่ก็ขาดสิ่งเร้าหรือปัจจัยที่จะมากระตุ้นสมอง การตอบสนองของชีวิต การอยู่กับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ นานๆ สมองจะไม่ได้ใช้งาน ความจำเสื่อมและชีวิตเสื่อม

สรุปว่า เราควรปรับสภาพสมองให้ใช้งานเพิ่มขึ้นบ้างในส่วนที่ไม่ค่อยได้ใช้ สิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า ชีวิตของเราจะจบลงตรงโรคสมองเสื่อม หรือเป็นผู้มีชีวิตวัยเกษียณที่มีสุขภาวะดีเลิศ แน่นอนว่า สมองไม่เสื่อมสูญ

ข้อมูล : 66 วิธีลับคมสมอง ; นานมีบุ๊คส์