posttoday

ประวัติศาสตร์ไทย ใน ‘บุพเพสันนิวาส’

19 มีนาคม 2561

เวลานี้คงแทบไม่มีใครในเมืองไทยไม่รู้จักละครยอดฮิต “บุพเพสันนิวาส”

โดย อนัญญา มูลเพ็ญ

เวลานี้คงแทบไม่มีใครในเมืองไทยไม่รู้จักละครยอดฮิต “บุพเพสันนิวาส” หน้าฟีดทั้งเฟซบุ๊ก ไทม์ไลน์และสังคมออนไลน์ตอนนี้เต็มไปด้วยภาพ ข้อความ คอมเมนต์ที่สืบเนื่องมาจากละครเรื่องนี้ โดยเฉพาะคำนำหน้ายอดฮิตอย่าง “ออเจ้า” “พี่หมื่น” น่าจะเป็นหนึ่งในคำที่มีการใช้มากที่สุดในโลกโซเชียลเวลานี้

ส่วนตัวผู้เขียนเองเป็นคนที่ไม่ได้ติดตามดูละครกับเขามากนัก จนจำไม่ได้ว่าละครเรื่องสุดท้ายที่ดูไปคือเรื่องอะไรและเมื่อไหร่ แต่คราวนี้ทนกระแสคนรอบข้างไม่ไหวเลยต้องหาดูย้อนหลังสักหน่อย ไม่เช่นนั้นจะเข้าสังคม (ช่วงนี้) ลำบาก พอได้ดูแล้วก็พอจะเข้าใจว่าทำไมคนถึงติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง ก็เพราะฉากพระนางกุ๊กกิ๊กนี่ล่ะถูกจริตคนไทยดีแท้ โดยเฉพาะสาวๆ ต้องเรียกว่า ดูไปจิกหมอนไป

“บุพเพสันนิวาส” ได้สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์กันมากขึ้น เพราะตัวละครจากนวนิยายเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่จริงตามบันทึกของประวัติศาสตร์ที่พวกเราได้เรียนกันตั้งแต่ชั้นมัธยม

แต่เวลาเรียนเรามักจดจำบุคคลในประวัติศาสตร์แต่ละคนได้อย่างกระท่อนกระแท่นไม่ติดต่อเป็นภาพใหญ่และสนุก เพราะในแบบเรียนมักถูกตัดรวบรัดเหมือนหนังไม่จบตอน ไม่มีปริบทที่ดึงดูดความสนใจได้มากเท่าเรื่องราวแบบนวนิยาย เมื่อเรียนจบอ่านไปสอบเสร็จแล้วก็จบกันไป หากใครไม่ได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัย หรือสนใจศึกษาด้วยตัวเองทางประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง ความรู้เหล่านี้ก็หายไปพร้อมๆ กับการเอนทรานซ์กันทั้งนั้น

หากใครที่กำลังอินกับละครและสนใจไปหาข้อมูลเกี่ยวกับอาณาจักรอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของเรื่องราวในละคร จะพบว่าช่วงเวลานั้น (พ.ศ. 2199-2231) ซึ่งเป็นช่วงปลายราชวงศ์ปราสาททอง เป็นยุคที่อาณาจักรอยุธยาเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ทั้งด้านการขยายราชอาณาจักร ด้านการค้ากับต่างประเทศ ด้านศิลปวิทยาการและความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ซึ่งในละครมีหลายฉากที่นางเอกตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามของวัดวาอารามและวังหลวงจะเรียกช่วงนั้นว่าปลาย “ยุคทอง” ของอาณาจักรอยุธยาเห็นจะได้

ในส่วนการขยายราชอาณาจักรสมัยสมเด็จพระนารายณ์ยกทัพไปตีหัวเมืองล้านนาอย่างเชียงใหม่ และอีกหลายเมืองของพม่า อย่าง จิตตะกอง สิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี ซึ่งในการรบทุกครั้งสมเด็จพระนารายณ์มีแม่ทัพคู่ใจคือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทโดดเด่นในบุพเพสันนิวาสด้วย

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ทั้งจีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) เป็นยุคสมัยที่มีชาวต่างชาติมาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมากซึ่งก็มีร่องรอยชุมชนของคนชนชาติต่างๆ ในอยุธยาสืบทอดให้เราเห็นมาจนปัจจุบัน 

ส่วนการเจริญสัมพันธ์ทางการทูตเองก็มีบันทึกว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) (น้องชายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก)) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้ง ซึ่งในเนื้อเรื่องบุพเพสันนิวาส หมื่นสุนทรเทวา (เดช) พระเอกของเรื่องซึ่งในประวัติศาสตร์มีตัวตนอยู่จริงนั้น ก็เป็นหนึ่งในคณะราชทูตที่ร่วมเดินทางกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี(ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสด้วย

หากได้กลับไปศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ดีๆ ไม่ได้สนใจเฉพาะฉากในละคร เราจะมองเห็นอาณาจักรอยุธยาในสถานะอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรืองอย่างมากของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานั้น และตลอดระยะเวลา 400 กว่าปีของอาณาจักรอยุธยาได้สะสมสิ่งที่เป็นภูมิปัญญามากมายที่ส่งต่อมายังสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ เพียงแต่กระแสตะวันตกที่ถาโถมทำให้คนในสังคมหลงลืมหรือมองข้ามภูมิปัญญาที่น่าภูมิใจเหล่านั้นไป

นอกจากงานศิลปะ วรรณกรรมต่างๆ ที่เราได้เห็นกันอย่างทั่วไปแล้ว อีกตัวอย่างภูมิปัญญาที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์คือกฎหมายที่ใช้ปกครองบ้านเมือง

แม้ตลอดระยะเวลา 400 กว่าปีของอาณาจักรอยุธยาจะปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงอำนาจสูงสุดเป็นเจ้าชีวิตของราษฎร แต่ในการปกครองบ้านเมืองพระมหากษัตริย์ก็มีกฎหมายกำกับการบริหารกิจการบ้านเมืองซึ่งกฎหมายนั้นก็คือ “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” หนึ่งในคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สยามรับอิทธิพลมาจากอินเดียผ่านทางมอญ

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ถูกใช้ปกครองอาณาจักรอยุธยา เรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนจะได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัยในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นกฎหมายตราสามดวง ก่อนกฎหมายทั้งหมดจะทยอยยกเลิกและมีการร่างกฎหมายใหม่ตามแบบตะวันตกขึ้นมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของต่างชาติตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

แต่แม้พระธรรมศาสตร์และกฎหมายตราสามดวงจะถูกยกเลิกไป แต่บทกฎหมายบางข้อที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนสยามหรือคนไทยก็ยังมีแทรกซึมอยู่ในกฎหมายปัจจุบัน และจากการศึกษาของคณะกรรมการชำระและศึกษากฎหมายไทยโบราณ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ยืนยันว่าหลักการสำคัญในกฎหมายตราสามดวงนั้นไม่ได้ล้าหลังไปกว่ากฎหมายของตะวันตกแต่อย่างใด แต่มีบทลงโทษบางข้อที่ชาวตะวันตกอ้างว่าป่าเถื่อน และรูปแบบการเขียนที่ยากต่อความเข้าใจที่เป็นข้ออ้างให้ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่ แต่กฎหมายตราสามดวงก็ยังถือเป็นเอกสารที่สำคัญอย่างมากในเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งล่าสุดเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา กฎหมายตราสามดวงก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นเตรียมการเสนอเป็นมรดกโลกต่อไป

คงจะดีไม่น้อย ถ้า “กระแสบุพเพสันนิวาส” จะทำให้คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์กันมากขึ้นเรื่อยๆ การรู้ประวัติศาสตร์ก็เหมือนการรู้จักตนเอง เมื่อรู้ว่ารากเหง้าเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต จะเกิดความภูมิใจ ไม่ชื่นชมแต่ต่างชาติ
จนลืมรากเหง้าของตนเอง