posttoday

‘เมืองนิมิตร’ เรียมเอง มิตรภาพ ความรัก และการต่อต้านสงคราม

04 มีนาคม 2561

“เป็นชีวิตการต่อสู้และความรักของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2

โดย พริบพันดาว

“เป็นชีวิตการต่อสู้และความรักของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะถูกญี่ปุ่นยึดครอง และเป็นนวนิยายเรื่องเดียวที่เขียนเกี่ยวกับภาวะสงครามอย่างละเอียด

 บรรยากาศเต็มไปด้วยความเคร่งเครียดของการชิงไหวชิงพริบระหว่างคนไทยหลายสาย ซึ่งต่างทำงานใต้ดินโดยอีกฝ่ายไม่รู้

 ท่ามกลางการต่อสู้ซึ่งไม่รู้ว่าวันไหนจะอยู่ วันไหนจะไปนี่เอง ความรักที่เจิดจ้าเกิดขึ้นระหว่างหัวหน้าคณะใต้ดินสายหนึ่งกับน้องสาวอธิบดีตำรวจ ระหว่างน้องสาวของเขาเองกับนายทหารญี่ปุ่น ซึ่งพ่อเป็นอดีตนายพลญี่ปุ่นที่มาทำการค้าอยู่ในเมืองไทย และมารดาซึ่งเป็นคนไทย...

‘เมืองนิมิตร’ เรียมเอง มิตรภาพ ความรัก และการต่อต้านสงคราม

 และระหว่างนักประพันธ์เพื่อหัวหน้าคณะใต้ดินกับแม่ม่ายทรงเครื่อง... ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องรักในสงครามที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง”

 นั่นคือคำสรุปคร่าวๆหนังสือ “เมืองนิมิตร” ของเรียมเอง ซึ่งนวนิยายสะท้อนบรรยากาศและชีวิตของคนไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 เมื่อเปิดสารานุกรมแนะนำหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน ซึ่งทำวิจัยและคัดสรรโดย วิทยากร เชียงกูล และคณะ เมื่อปี 2543 พบว่ามีการจัดให้หนังสือเล่มนี้อยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนวัย 13-18 ปี (แบ่งตามประเภทเป็นกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย)

 สำหรับโครงการคัดเลือกหนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน เป็นโครงการวิจัยต่อเนื่องจากโครงการวิจัยคัดเลือกหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน โดยมีจุดมุ่งหมายการกระตุ้นให้เด็ก และเยาวชนไทยรักการอ่านหนังสือมากขึ้น และมีคู่มือในการอ่านหนังสือดี การรักการอ่านเป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองที่สำคัญ ผู้ที่สนใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษาน่าจะถือว่า การส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น เป็นกิจกรรมส่วนสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา การรักการอ่านนี้ จะมีผลถึงการปฏิรูปทางความคิด ความอ่านที่จะมีผลต่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมได้ต่อไป

‘เมืองนิมิตร’ เรียมเอง มิตรภาพ ความรัก และการต่อต้านสงคราม

 นวนิยาย “เมืองนิมิตร” เคยถูกแปลงประยุกต์ไปสู่การเล่าเรื่องในศิลปะการละครเมื่อปี 2544 เป็นละครร้อง (มิวสิคัล) เพื่อสันติภาพและความรัก โดยกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร ซึ่งแสดงให้เห็นการขมวดปมความคิดการตีความและการเล่าเรื่องอย่างรวบรัด ดังเนื้อเรื่องย่อเป็นละครร้องดังนี้

 “ท่ามกลางการต่อสู้ ระหว่างฝ่ายอักษะ กับสัมพันธมิตร ที่ยังไม่มีทีท่าจะจบลง ณ ริมคลองแสนแสบ สถานที่หลบภัยยามสงคราม ของชาวพระนครในยามนั้น เรื่องราวมิตรภาพ และความรักของคนมากมายได้เกิดขึ้นที่นั่น

 นักหนังสือพิมพ์ผู้เปี่ยมอุดมการณ์ กับหญิงผู้สูงศักดิ์น้องสาวอธิบดีกรมตำรวจ นักเขียนพเนจร ผู้มีความฝันถึงการสร้างงานประพันธ์ชิ้นเอกว่าด้วยเรื่องของเมืองที่ไร้ความบาดหมาง “เมืองนิมิตร” กับแม่ม่ายสาวทรงเครื่อง ผู้ค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ด้วยการบำเรอสุขแก่ผู้คนรอบข้าง และครูสาวผู้คอยเกื้อกูลดูแลเด็กๆ ที่พลัดหลงมาในสงคราม กับศัตรูผู้เป็นมิตรนายทหารชาวญี่ปุ่น ผู้ยอมเสียสละ อุทิศชีวิตเข้าช่วยเหลือคนไทยในยามนั้น โดยเข้าร่วมกับขบวนการลับใต้ดิน “เสรีไทย” ท่ามกลางความขัดแย้งภายในใจ ระหว่างหน้าที่ต่อองค์พระจักรพรรดิ มนุษยธรรมต่อชีวิตทุกข์ทนของผู้คนในสงคราม ความรักต่อหญิงคนรัก และแผ่นดินไทยที่ให้เขาได้ถือกำเนิดเกิดมา

‘เมืองนิมิตร’ เรียมเอง มิตรภาพ ความรัก และการต่อต้านสงคราม

 “เมืองนิมิตร” จึงมิใช่เรื่องราวของสงคราม ที่ว่าด้วยเรื่องของการแบ่งเชื้อชาติ และมุ่งทำร้ายกัน เพื่อชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่กลับเป็นสงครามแห่งสันติภาพ และความรักอันยิ่งใหญ่ ที่จะจารึกไว้ในหัวใจของทุกคน

 เรียมเอง ผู้ประพันธ์นวนิยาย “เมืองนิมิตร” เป็นนามปากกาของ มาลัย ชูพินิจ เกิดเมื่อ 25 เม.ย. 2449 ที่นครชุมน์ จ.กำแพงเพชร ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา บิดาและมารดาจึงส่งเข้ามาเรียนหนังสือต่อที่กรุงเทพฯ ณ โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เพื่อเรียนวิชาครู โรงเรียนสวนกุหลาบ และโรงเรียนเทพศิรินทร์ เพื่อเรียนภาษาอังกฤษให้แตกฉาน

 จากนั้นประกอบอาชีพครูอยู่ 2 ปี ก็มาทำงานหนังสือพิมพ์ที่ใจรักฉบับแรกที่ ไทยใต้ บางกอกการเมือง สุภาพบุรุษ ไทยใหม่ ผู้นำ ประชาชาติ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ พิมพ์ไทย สยามนิกร สยามสมัย กระดึงทอง มีคอลัมน์ที่คนติดและต้องอ่านกันทุกเช้าคือ “ระหว่างบรรทัด” โดยใช้นามปากกาว่า น้อย อินทนนท์

 นอกจากนี้แล้ว ยังเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นเป็นจำนวนมาก โดยใช้นามปากกาหลากหลายในแต่ละด้าน เช่น น้อย อินทนนท์ นายฉันทนา แบ๊ตตลิ่งกรอบ ม.ชูพินิจ เรียมเอง แม่อนงค์

‘เมืองนิมิตร’ เรียมเอง มิตรภาพ ความรัก และการต่อต้านสงคราม

 มาลัยได้เขียนเรื่องตลอดชีวิตการทำงานตลอดจนช่วงสุดท้ายของชีวิต ไม่ใช่แต่เพียงเท่านั้น ยังมีส่วนร่วมในการผลิตนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนประดับวงการหนังสือและวรรณกรรม ด้วยการได้รับเชิญไปสอนหนังสือที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนวาระสุดท้ายของชีวิต

 หากจะหยิบเอาบทสนทนาที่บาดลึกกรีดกินใจเข้าไปข้างในของนวนิยายเรื่อง “เมืองนิมิตร” คงต้องหยิบท่อนนี้ของเด็กน้อยที่กล่าวอย่างรันทดออกมาจากห้วงลึกภายในอันไร้เดียงสาของเธอ

 “หนูเกลียดการรบราฆ่าฟัน หนูเกลียดสงคราม แพ้หรือชนะ ไม่เห็นมันจะได้ความอะไร นอกจากเหลือเด็กกำพร้าอย่างหนูไว้เต็มบ้านเต็มเมืองเท่านั้น”