posttoday

ศศินทร์ ทิพชัย ในภาพถ่ายมีเรื่องเล่า

04 มีนาคม 2561

หากยังพอจำกันได้ ภาพถ่ายฝีมือชาวไทย ชนะใจคณะกรรมการจากกองประกวด Moscow International Photo Awards 2017

โดย มัลลิกา นามสง่า

หากยังพอจำกันได้ ภาพถ่ายฝีมือชาวไทย ชนะใจคณะกรรมการจากกองประกวด Moscow International Photo Awards 2017 ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท Fine art people children และอีกภาพได้ที่ 2 ทว่าเขาไม่ได้เป็นคนส่งเข้าประกวด

เรื่องแดงขึ้นมาเพราะเพื่อนชาวต่างชาติที่คุ้นเคยกับภาพถ่ายอันเป็นอัตลัษณ์ของเขา ได้ส่งข้อความมาบอก จนเรื่องนำไปสู่การระงับให้รางวัลกับหญิงชาวต่างชาติที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าของภาพ

ผลงาน 2 ภาพนั้น มีชื่อว่า Asian Old Women Washing Clothes At The Creek และภาพ Boys Playing With Their Duck In The Creek

“ศศินทร์ ทิพชัย” คือผู้ถ่ายภาพ และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชื่อเสียง และผลงานของศศินทร์ ถูกเผยแพร่เป็นที่รู้จักมากขึ้น นับว่าในวิกฤตมีโอกาส 

“รูปผมมีแจกให้โหลดฟรีด้วย ต้องบอกว่ามันเป็นเทคนิคอีกอย่างหนึ่งของผม ให้คนตามงานผมมา แจกฟรีบ้างซื้อบ้าง ผมไม่ชอบดราม่า ไม่ตบตีกับใครอยู่แล้ว เราไม่ได้ผิดอะไร ยืนยันว่าเป็นภาพเรา แต่ได้หลายคนช่วยกันเรียกร้องสิทธิ ทั้งส่งเมลทั้งต่อว่าทางนั้น สุดท้ายทางกองประกวดระงับรางวัล ซึ่งรางวัลจริงๆ ผมก็ไม่รู้หรอกว่าอะไร

จากเหตุการณ์นั้น มีคนฟอลโลว์ในแฟนเพจเพิ่มขึ้นจาก 2,000-3,000 เป็นหมื่นกว่า ในอินสตาแกรมจากหมื่นก็เพิ่มเท่าตัว คนซื้อภาพก็มีหลังไมค์มาส่วนตัวเพิ่มขึ้น และเขายินดีจ่ายในราคาที่สูงขึ้น”

ศศินทร์ ทิพชัย ในภาพถ่ายมีเรื่องเล่า

กล้อง...เครื่องหยุดเวลา

แรงบันดาลใจที่ศศินทร์ชอบถ่ายภาพ เพราะในหนึ่งภาพนั้นมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้น หวนกลับมาดูอีกครั้งก็ยังระลึกได้ “ผมว่ามันเป็นเครื่องหยุดเวลา บางทีถ่ายเหตุการณ์ไว้และเอากลับมาดู มันทำให้เราเห็นอะไรหลายๆ อย่าง เห็นรอยยิ้ม เห็นน้ำตา เห็นกิจกรรมต่างๆ ที่เราเคยผ่านมา

ผมชอบถ่ายรูปตั้งแต่เด็ก แต่สมัยนั้นกล้องแพง ใช้กล้องฟิล์มจะกดถ่ายอะไรต้องคิด ไหนจะค่าฟิล์ม ค่าล้างอัดรูป เงินก็ไม่มี พอมาถึงกล้องดิจิทัลผมเลยถ่ายทุกอย่าง พกกล้องติดตัวตลอด

หาข้อมูลตามหนังสือต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตไปด้วย รูปสวยๆ เขาถ่ายอย่างไร มีเว็บบอร์ดแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องกล้องเรื่องถ่ายภาพ ก็เข้าไปคุยในนั้น เอารูปเราไปโพสต์ ก็จะมีคนใจดีมาบอกเทคนิค ผมศึกษาด้วยตัวเอง ถ่ายทุกอย่าง เทคนิคอะไรไม่รู้ก็หา ทุกวันนี้ผมก็ยังหาเทคนิคใหม่ๆ ก็ยังเรียนรู้อยู่

พอเรารู้เยอะ ขอบเขตจำกัดของตัวกล้องมี ก็ค่อยๆ อัพเกรดกล้องขึ้นไปเรื่อยๆ กล้องใหญ่ตัวแรกของผม DSLR ราคาเกือบสี่หมื่นกว่าบาท”

ชอบถ่ายรูป แต่ไม่เคยคิดจะทำเป็นอาชีพ “เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วมีเพื่อนรุ่นพี่เขาถ่ายรูปขายในเน็ต ชวนเราลองเอามาขายดูสิ พอลองหัดขายรูปก็ได้ความรู้ ได้อะไรเยอะ ว่าควรจะถ่ายแบบไหน มันเป็นเทคนิคการตลาด เช่น ถ่ายแบบไหนที่ลูกค้าต้องการ ถ่ายแบบไหนแล้วลูกค้าจะซื้อ ต้องดูว่าใครจะเอารูปเราไปใช้ทำอะไร ทำไปได้สักพักก็พอรู้แล้วว่าลูกค้าคือใคร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มหนังสือ อะไรประมาณนี้”

ถ่ายภาพ พบ สัจธรรมชีวิต

ศศินทร์ ทิพชัย ในภาพถ่ายมีเรื่องเล่า

แม้จะได้รับเงินเดือนที่สูง แต่งานที่ทำอยู่ไม่ใช่คำตอบของชีวิต “ตอนนั้นผมทำงานประจำและถ่ายรูป ผมกำลังหาสัจธรรมของชีวิต ว่าทำงานหนักไปทำไม เพื่ออะไร เพื่อใครงานผมเข้าแปดโมงเลิกห้าโมงเย็น แต่วันนั้นเคลียร์งานเสร็จประมาณสองทุ่ม ผมไม่มีโอทีแต่เราก็ทำงานหนักเพื่อบริษัท พอทำงานไปเรื่อยๆ เกิดความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เหมือนเราทำเพื่อใครไม่รู้ ผลตอบแทนก็โอเค ไม่ใช่ว่าเราไม่รักองค์กรนะ เราก็รัก แต่ว่าสิ่งที่เรากำลังค้นหาอยู่มันน่าจะมีมากกว่านั้นอีกอย่างหนึ่งคือเวลาที่เราทุ่มเทไป เราทุ่มเทให้กับงานมากกว่าในครอบครัว ทำงานจันทร์ถึงเสาร์ ตอนนั้นก็ค้นหาวิธีการ ช่วงหนึ่งผมก็ไปศึกษาเกษตรพอเพียง อยากเข้าป่าย้อนไป 6 ปี อายุประมาณ 32 หาวิธีที่เราทำอะไรดีที่มันสามารถมีเวลาให้ครอบครัว ให้พ่อแม่ ก็ค้นอยู่ตลอด ผมเปิดโอกาสให้กับทุกอย่างทุกงาน

งานขายตรงผมก็เคยลองไปศึกษา เทคนิคที่เขาบอกที่จำได้คือ งานอะไรก็ตามที่เรามีความเชื่อมั่นและเราลงมือทำ มันจะสำเร็จทุกงาน ผมนำข้อคิดตรงนั้นมาใช้”

สิ่งที่ศศินทร์รู้สึกว่าทำออกมาได้ดี มีเวลา ทำแล้วมีความสุข และมีผลตอบแทนกลับมาพอๆ กับทำงานประจำนี่นา แสงสว่างที่เขาเจออยู่ข้างกายเขามาตลอดนั่นเอง

“ผมโพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก โพสต์ขาย ทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้ตลาด คือผมได้เทคนิคต่างๆ มาจากพี่ที่แนะนำ เขาให้เทคนิคการแต่งภาพด้วย มีการคิดโจทย์คิดเรื่องราว

ผมถ่ายอยู่ 2 ปี โพสต์รูปทุกวัน ได้เงินต่อเดือนเท่ากับเงินเดือน เริ่มมีความคิดอยากลาออก ประจวบกับมีคนมาชวนทำฟรีแลนซ์ เอนจิเนียริ่งนี่แหละครับ ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ยังเป็นฟรีแลนซ์งานนี้อยู่”

ที่จริงศศินทร์อยากลาออกมาตลอด แต่ก็ถูกทักท้วงว่าออกไปจะทำอะไร จนในที่สุดเขาก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นคล้อยตามว่า ถ่ายรูปขายก็ยังชีพได้ และเขายังได้ใช้ชีวิต ได้ออกเดินทาง 

“รู้งี้น่าจะจริงจังถ่ายรูปตั้งนานแล้ว จริงๆ ผมมารู้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองว่าสัจธรรมของการทำงาน ไม่ว่าจะงานอะไรก็ตาม ถ้าเราโฟกัสงานแล้วเรามีเป้าหมาย มีคีย์เวิร์ด แล้วลงมือทำ มีระเบียบวินัย สำเร็จทุกงาน และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น

ต้องหาตัวเอง ถามตัวเองก่อนว่าต้องการอะไร คีย์แรกคือความสุข ทำอย่างไรให้มีความสุข เงินไหม เวลาไหม โอเค 2 อย่างนี้คือความสุข ต้องการมีเงินมีเวลา ชื่อเสียงด้วยไหม อ่ะสมมติมี 3 อย่าง ทีนี้ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรล่ะ ก็ค้นหาวิธีการอะไรที่จะทำให้เรามีความสุข ถ้าเราอยากได้เงินเราก็ต้องทำงาน งานอะไรที่เราชอบและใช้เวลามีความสุข ก็งานพวกนี้ไง ซึ่งเครื่องไม้เครื่องมือของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ความเชื่อของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เส้นทางก็ไม่เหมือนกัน”

จากวิศวกร สู่วิถีช่างภาพ

ศศินทร์ ทิพชัย ในภาพถ่ายมีเรื่องเล่า

ศศินทร์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโลหการ เป็นวิศวกรอยู่ในสายโรงงานมา 10 ปี เงินเดือนครึ่งแสน แต่สุดท้ายเลือกลาออกมาถ่ายภาพ

6 ปีที่ศศินทร์ถ่ายรูปขาย มีผลงานประมาณ 3,000 ภาพ ซึ่งวนเวียนผลัดกันสร้างรายได้ให้เขา 

“ราคาภาพอยู่ที่ฝีมือและประสบการณ์ (ตอนนี้เขาอยู่อันดับสูงสุด) อย่างตอนที่เข้ามาแรกๆ ขั้นต่ำคือ 8 บาท ตอนนี้น่าจะ 13 บาท/ภาพ มันขึ้นอยู่กับเรตราคา บางทีก็พันกว่า แต่เฉลี่ยแล้วจะตกอยู่ที่ใบละ 13 บาท

ช่วงแรกได้วันละ 200-300 บาท/วัน หลังๆ ก็ขยับมาหลักพันได้ 2,000-3,000 บาท  แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ทำไม่หยุดก็ได้มาประมาณเท่ากับเงินเดือน ภายใน 2 ปี

ผมต้องบอกว่าผมโชคดีอยู่อย่างหนึ่ง ผมเข้ามาช่วงต้นๆ ที่ถ่ายรูปขาย ตอนนี้ในโลกใครๆ ก็พูดถึงการถ่ายรูปขายทั้งนั้น ซึ่งการแข่งขันก็สูง บางทีทำรูปส่งไปแล้วก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สวยแต่ก็ขายไม่ได้ แต่กฎของผมต้องลงภาพวันละ 2-3 ภาพ”

6 ปีที่ผ่านมา เขาได้เรียนรู้และค้นหาสิ่งที่ตัวเองปรารถนาไปด้วย ขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนถ่ายรูปที่เวียดนามก็ไปมาแล้ว

“รู้สึกว่าการถ่ายภาพไม่ได้เป็นงาน ทำแล้วสนุก ในเมืองไทยผมขับรถไปถ่ายรูปมาเกือบครบทุกจังหวัด คอนเซ็ปต์ถ่ายรูปของผมคือผมไปหาเพื่อนตามจังหวัดต่างๆ มีเพื่อนถ่ายรูปมันสนุกกว่า ได้แลกเปลี่ยน น้อยมากที่จะไปคนเดียว

จริงๆ ก็ไปเที่ยวนั่นแหละ แต่เราต้องบอกครอบครัวว่าเราไปทำงาน ถ้าเราบอกครอบครัวเราว่าเราไปเที่ยว เขาก็จะแบบ เอ่อ อ่า เรามีความสุขนิ อะไรแบบนี้ (หัวเราะ)

ทริปหนึ่งไปกันเป็นอาทิตย์ แต่ 2-3 ปีมานี่ผมไป 2-3 วันแล้วก็กลับ และก็กำลังมองหาโอกาสที่จะไปถ่ายยังต่างประเทศ โซนไกลๆ ออกไป เพราะในเออีซีผมไปมาครบแล้ว”

เบื้องหลังภาพ

ศศินทร์ ทิพชัย ในภาพถ่ายมีเรื่องเล่า

ศศินทร์มักนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรม และนำสิ่งที่สูญหายไปแล้วกลับมาเล่าในภาพถ่าย “ถ้าดูรูปผมมีเนื้อหาต่างๆ เยอะ มีทั้งการจัดฉากและธรรมชาติด้วย

อย่างรูปเด็กเล่นโน้ตบุ๊กในท้องนา ธรรมชาติของเขาไม่ใช่แบบนั้นอยู่แล้ว เราก็เซตขึ้นมา หรือภาพยาย 2 คน ซักผ้าที่ลำธาร (ภาพที่เป็นข่าว) สมัยนี้เขาก็ไม่ได้ซักผ้ากันแบบทุบๆ กับหิน แต่ลำธารนั้นยังใช้เป็นที่หาหอยหาปลาอยู่

อย่างภาพคอนเซ็ปต์ที่ไปถ่ายที่ จ.สุรินทร์ วิถีชีวิตของหมู่บ้านช้าง เราก็จัดองค์ประกอบช้างกับวิถีชีวิตที่เขาเป็นอยู่กับที่เราต้องการ แค่วางองค์ประกอบแสง แบ็กกราวด์ ให้มันได้องค์ประกอบสวยๆ ซึ่งต้องมีการสำรวจพื้นที่ละแวกนั้นก่อนลงมือถ่ายจริง

ผมอยากสะท้อนวิถีชีวิตไทยที่มันหายไปแล้ว อย่างภาพคุณลุงเป็นช่างแกะสลัก จริงๆ เราก็ไปวางองค์ประกอบให้เหมาะสม ถ้าถ่ายโดยไม่มีโปรเซส อิมแพ็กของรูปมันก็ไม่ค่อยเท่าไร

ภาพที่ขาย มันจะมี 1.เรื่องราว 2.อารมณ์ ถ้าไม่มีพวกนั้นมันก็ขายไม่ค่อยได้”

ถ้าสังเกตงานของศศินทร์จะมีสีแสงสลัว และมีม่านหมอกควัน เขาให้เหตุว่า เพื่อให้ตัวองค์ประกอบมันเด่น เมื่อก่อนสุมไฟเอา ตอนนี้พัฒนามีเครื่องทำควันแล้ว

“ได้ไอเดียเริ่มมาจากเห็นแสงที่มันทะลุรูผนังบ้าน มันดูเป็นหมอก ดูสวย ก็เลยลองทำแบบนี้ดู ข้อดีของควันอย่างหนึ่งคือ เอาไว้บังในส่วนที่เราไม่ต้องการออก เราตกแต่งได้ก็จริง แต่ควันทำให้มันเป็นแสงได้ แสงออกมาเป็นลำๆ หรือเวลาที่มีความเข้มแสงสูง พอมีควันจะทำให้ภาพดูซอฟต์ขึ้น”

เบื้องหลังกว่าจะได้มาแต่ละภาพ อย่าง โหด มัน ฮา “ต้องบอกว่ารูปสวยๆ ที่ได้ มันไม่ใช่ตำแหน่งที่คนปกติยืน อย่างมุมสวยๆ ของสิงคโปร์ ผมยืนระเบียงโรงแรมก็จะหวาดเสียวหน่อย

หรือรูปต้องการฉากน้ำเป็นโบเก้ลักษณะเป็นวงกลมเม็ดๆ ของน้ำ ผมต้องเอากล้องเลียบกับผิวน้ำ ตัวต้องนอนจมในน้ำ หรือบางรูปต้องหมอบติดดินเพื่อให้ฉากหน้าเป็นพื้นดิน

ไปอินโดนีเซีย ถ่ายวิวภูเขาไฟ ไปรอตั้งแต่ 4 ทุ่ม ไปถ่ายทางช้างเผือกและรอถ่ายพระอาทิตย์ขึ้น ตอนนั้นตัวผมมุดอยู่ในพงหญ้า เอาหัวเข้าไปในกระเป๋ากล้อง คือหนาวมาก

ภาพที่เราเซตขึ้นมาก็มีการลงทุน เราทำงานขาย มันก็ติดคนอื่นที่ไม่อนุญาต เราจึงต้องจ้าง อย่างช้างเชือกละ 1,000-2,000 บาท เด็กและคนแก่ 500 บาท หรือผมไปอินเดียใช้งบ 3 หมื่นบาท ถ่ายมาหลายรูป ไม่รู้รูปจะโดนซื้อไหม แต่ถ้าโดนแล้วโดนหลายใบก็คุ้ม มันก็เหมือนการลงทุนมีความเสี่ยงหมดแหละ”

ถ่ายรูปขายอาจจะดูเหมือนง่าย แต่นั่นแหละ ในทุกวงการก็จะมีคนที่อยู่รอดและคนที่ล้มหายไป ซึ่งฝีมือจะเป็นตัวพิสูจน์ แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้ศศินทร์ก็มองว่าตอนนี้มีคนลงมาเล่นในสนามนี้เยอะ เขาต้องหาเส้นทางใหม่ 

“คนถ่ายภาพขายกันเยอะ ทุกคนมีรูปสวยๆ ทั้งนั้น และเทคนิคการทำมันเรียนรู้กันได้ง่าย ผมเลยต้องฉีกตัวเองออกมาทำอีกตลาดหนึ่ง กำลังหาโซลูชั่นพรินติ้งที่คนเขาไม่ทำกัน คือรวบรวมศิลปินที่อยู่ในเมืองไทยที่รูปเขาสวยทำเป็นเหมือนเว็บขายงานพรินต์งานประดับ ซึ่งใช้ไฟล์ที่ถูกลิขสิทธิ์และให้ค่าคอมมิชชั่นไป”