posttoday

ตรวจสุขภาพอย่าเวอร์ ดูปัจจัยเสี่ยงและความจำเป็น

03 มีนาคม 2561

การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นการตรวจสอบเพื่อให้ได้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ 

การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นการตรวจสอบเพื่อให้ได้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ซึ่งหากผลปรากฏออกมาว่ามีแนวโน้มสุ่มเสี่ยงเกิดโรคภัยในอนาคต ข้อมูลที่วัดได้จะเป็นสัญญาณเตือนนำไปสู่การป้องกันดูแลรักษาสุขภาพหลีกหนีโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังก่อตัว

ทว่าเกิดคำถามถึงความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ที่มักมีเงื่อนไขเสนอขายแพ็กเกจตรวจสุขภาพเพิ่มเติมเกินกว่าโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีของประกันสังคมที่ทางโรงพยาบาลหลายแห่งนำมาเสนอขาย

วัยทำงานยังไม่ต้องตรวจทุกด้าน

นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ เปิดเผยว่า โดยหลักการที่ถูกต้องของการตรวจสุขภาพควรทำเป็นประจำทุกปี แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทำงานยังไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพให้ครอบคลุมไปหมดทุกด้าน ทำให้เสียเงินจำนวนมากโดยไม่สะท้อนถึงความเสี่ยงเกิดโรคอะไร ซึ่งที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะต้องตรวจอะไรบ้าง

ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีที่ถูกต้อง ควรผ่านกระบวนการซักถามจากแพทย์ก่อนเพื่อหาพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นเช่นไรบ้าง เช่น ดื่มสุราบ่อยครั้งหรือไม่ สูบบุหรี่หรือไม่ รวมถึงอาชีพการงานได้สัมผัสคลุกคลีอยู่กับความเสี่ยงอย่าง สูดดมฝุ่นควัน สัมผัสสารเคมีเป็นประจำหรือไม่ หากมีวิถีชีวิตดังกล่าว ก็ควรตรวจร่างกายให้ตรงจุดเพื่อหาความเสี่ยงเกิดโรคภัยต่ออวัยวะนั้นๆ

กลุ่มผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงในเรื่องโรคผู้สูงอายุเข้ามามากจึงแนะนำว่า ต้องผ่านกระบวนการซักประวัติว่ามีความเสี่ยงเรื่องอะไร แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการตรวจสุขภาพเป็นการตรวจผ่านห้องปฏิบัติการ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะผู้สูงอายุมีปัจจัยแตกต่างจากกลุ่มอื่น เช่น การกลืน สำลักน้ำอาหาร เกิดจากอวัยวะหย่อนยาน หรือประวัติการมองเห็น ได้ยิน หกล้ม และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ รวมถึงประเมินภาวะทางโภชนาการ ที่อาจได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เช่น รับรู้รสชาติอาหารได้ไม่ดี หากมีประวัติเหล่านี้แพทย์จะให้คำแนะนำได้เจาะจงให้การรักษาได้ตรงจุดมากที่สุด โดยใช้กรอบอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จึงไม่ต้องตรวจตามโปรแกรมที่สถานบริการนำเสนอทั้งหมด เพราะบางรายการอาจยังไม่มีความจำเป็นในอายุนั้นๆ เช่น ภาวะซีดมักเกิดในกลุ่มอายุ 70 ปีคิดเป็น 50% ของผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มอายุ 60 ปีเกิดภาวะซีดน้อยมาก จึงไม่จำเป็นต้องตรวจ เป็นต้น

นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า อยากให้กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา สภาวิชาชีพ สถาบันวิชาการ พัฒนาแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นให้เหมาะสมกับประชาชน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.วัยเด็กและวัยรุ่น อายุ 0-18 ปี 2.วัยทำงาน อายุ 18-60 ปี 3.วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มใหม่คือ 4.หญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันของการตรวจสุขภาพ ในระบบสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงโปรแกรมตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่ง

“ยืนยันว่าการตรวจสุขภาพประจำปีมีความจำเป็นเพื่อดูความเสี่ยงแต่เน้นย้ำว่าควรกำหนดกลุ่มวัย อายุ และพฤติกรรมความเสี่ยงในคนปกติเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หันมาออกกำลังกาย ไม่เครียด ไม่สูบหรือดื่มสุรา เพราะพฤติกรรมทั้งหมดส่งผลต่อร่างกายให้เกิดโรค ดังนั้นช่วงอายุจึงมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน” นพ.อรรถสิทธิ์ ย้ำ

นพ.ธนะรัตน์ อิ่มสุวรรณศรี แพทย์ผู้ชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กล่าวว่า คณะกรรมการวิจัยกลุ่มเด็กและวัยรุ่น พบปัญหาแตกต่างจากกลุ่มผู้สูงอายุคือ พ่อแม่มักคิดว่าพาเด็กไปฉีดวัคซีนแล้วก็จบ รวมถึงสถานบริการด้านการแพทย์ไม่มีความพร้อม ทั้งที่ความจริงแล้วควรตรวจคัดกรองภาระอาการซีดในเด็ก พัฒนาการทางสมอง การได้ยินในทารกแรกเกิด สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการตรวจแต่กลับไม่ได้ตรวจอย่างที่ควรเป็น

“ปัญหาที่พบในกลุ่มนี้คือพ่อแม่ไม่รู้ว่าต้องตรวจ ส่วนหนึ่งสิทธิประโยชน์ตามกองทุนยังไม่ได้กำหนดครอบคลุม ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งความตระหนักรู้ของสังคมยังน้อยในการให้ความสำคัญสุขภาพในทารก เพราะคิดว่าแค่ฉีดวัคซีนครบก็เพียงพอแล้ว ทั้งที่ความจริงยังไม่พอ ดังนั้นต้องกำหนดแนวทางให้ครอบคลุมมากขึ้น” นพ.ธนะรัตน์ กล่าว

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า กรอบการตรวจสุขภาพตามแพ็กเกจของประกันสังคมเป็นไปตามหลักวิชาการ เนื่องจากคณะกรรมการการแพทย์ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดกลุ่มอายุแต่ละวัยว่าควรตรวจอะไรบ้าง ความถี่มากน้อยเพียงใด ขอยืนยันว่าแพ็กเกจที่ให้ไม่เกินความจำเป็นแน่นอน ส่วนในอนาคตจะมีโรคที่เปลี่ยนแปลงหรือเกิดโรคใหม่จะปรับปรุงเป็นระยะให้เหมาะสมต่อไป

“ข้อกำหนดเป็นไปตามหลักวิชาการ ผ่านความเห็นจากกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมอนามัย รวมถึงมหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นเสนอแนะเรื่องที่จำเป็นต้องตรวจครบถ้วนดีแล้ว ส่วนกลุ่มอายุวัยเด็กนั้นข้อกำหนดประกันสังคมครอบคลุมตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ดังนั้นวัยที่เล็กกว่านั้นทางประกันสังคมจะไม่เข้าไปยุ่ง” นพ.สุรเดช กล่าว

สำหรับกลุ่มคนวัยทำงาน เป็นการตรวจเลือดทั่วไป ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นมีในทุกกลุ่มอายุ เพียงแต่บางเรื่องไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปีก็ได้ สามารถเว้นระยะ 3 ปีหรือ 5 ปีได้ เช่น วัดระดับน้ำตาลในเลือดสามารถเว้นได้ทุก 3 ปี วัดระดับไขมันในเลือดตรวจทุก 5 ปี และมะเร็งปากมดลูกตรวจทุก 3 ปี เป็นต้น

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ในด้านโรงพยาบาลเอกชนที่พยายามเสนอขายแพ็กเกจตรวจสุขภาพเกินความจำเป็น เพื่อแข่งขันหารายได้หรือไม่นั้น หากไม่โฆษณาเกินจริง ว่าต้องตรวจหามะเร็งต่างๆ จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภค ซึ่งบางเรื่องบอกตามตรงว่ายังไม่เป็นที่ยอมรับ 100% แต่หากผู้บริโภคมีความประสงค์ รวมทั้งมีศักยภาพในการจ่ายเงินตามแพ็กเกจก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล” นพ.สุรเดช กล่าว

ตรวจสุขภาพอย่าเวอร์ ดูปัจจัยเสี่ยงและความจำเป็น

หนุนตั้งหน่วยงานกลางคุมมาตรฐานตรวจสุขภาพ

ทุกวันนี้การตรวจสุขภาพร่างกายมีให้เลือกหลากหลายแพ็กเกจตามโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนซึ่งดูได้ตามเว็บไซต์ของโรงพยาบาล  เริ่มตั้งแต่ราคาหลัก 1,000 บาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท โดยพยายามนำเสนอจุดเด่นของแต่ละแห่ง แข่งขันในเรื่องของสุขภาพ เช่น

โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ แบ่งเป็นโปรแกรมพื้นฐาน ราคา 3,999 บาท, โปรแกรมสุภาพสตรี อายุ 35-45 ปี ราคา 19,999 บาท, โปรแกรมสุภาพบุรุษ อายุ 35-45 ปี ราคา 14,999 บาท และสุภาพบุรุษ อายุมากกว่า 45 ปี ราคา 27,999 บาท

โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน แบ่งโปรแกรมออกเป็น 4 ชนิด คือ 1.รายการตรวจสุขภาพเบื้องต้น 2,400 บาท 2.ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป 3,000 บาท 3.ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่เพิ่มตรวจอัลตราซาวด์อวัยวะภายในช่องท้องส่วนบน 4,700 บาท และ 4.ผู้หญิงที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป 8,200 บาท

ถัดมา โรงพยาบาลบางปะกอก 9 แบ่งเป็น 5 โปรแกรม 1.ราคา 2,650 บาท ตรวจ 18 รายการตรวจ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจร่างกายเบื้องต้น (ทั้งชาย/หญิง) 2.ราคา 6,500 บาท ตรวจ 25 รายการตรวจ เหมาะสำหรับกลุ่มวัยทำงาน (ชาย) 3.ราคา 7,000 บาท ตรวจ 26 รายการตรวจ เหมาะสำหรับกลุ่มวัยทำงาน (หญิง) โปรแกรม 4.ราคา 1.3  หมื่นบาท ลดจากราคาปกติ 1.86 หมื่นบาท ตรวจ 37 รายการ เหมาะสำหรับผู้ต้องการตรวจร่างกายอย่างละเอียดและผู้สูงอายุ (ชาย)และ 5.ราคา 1.55 หมื่นบาท ลดจากราคาปกติ 2.22 หมื่นบาท ตรวจ 36 รายการตรวจ เหมาะสำหรับผู้ต้องการตรวจร่างกายอย่างละเอียดและผู้สูงอายุ (หญิง)

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โปรแกรมตรวจสุขภาพ ดังนี้ 1.กลุ่มผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ชาย 22,790 บาท-ผู้หญิง 25,830 บาท 2.กลุ่มผู้มีอายุ 55-69 ปี ผู้ชาย 34,230 บาท-ผู้หญิง 38,750 บาท และ 3.กลุ่มผู้สูงอายุ 70-80 ปี ผู้ชาย 3.15 หมื่นบาท-ผู้หญิง 3.56 หมื่นบาท (ราคาอ้างอิงถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2561)

ข้อมูลของโรงพยาบาลแต่ละแห่งที่หลากหลาย การตรวจที่ครอบคลุมหลายระดับ ทำให้บางคนสับสนไม่รู้จะไปตรวจที่ไหนดี และจำเป็นต้องตรวจอะไรบ้าง นพ.ชาญวิทย์ วสันตธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การตรวจสุขภาพประจำปีควรมีหน่วยงานกลางที่คอยกำหนดมาตรฐานให้ว่า แนวทางการตรวจโรคที่ถูกต้องคืออะไร โดยแบ่งเป็นกลุ่มอายุ และจำเป็นต้องตรวจในเรื่องอะไรบ้าง เพื่อให้รู้ถึงแนวโน้มของสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ทั้งนี้ การที่ประชาชนขาดความรู้หรือเข้าไม่ถึงบริการตรวจสุขภาพ นำไปสู่ปัญหาจ่ายเงินเกินความจำเป็น ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมตามมา ดังนั้นจึงได้จัดทำเว็บไซต์ WWW.HEALTHCHECKUP.IN.TH เป็นความร่วมมือจากหลายฝ่ายด้วยการรับฟังความคิดเห็นจาก สสส. กรมการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนภาคส่วนต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางตรวจสุขภาพที่จำเป็นตามบริบทของประเทศไทยให้กับประชาชน

ในเว็บไซต์ดังกล่าวมีคำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพหลายประเด็น รวมถึงแบบประเมินสุขภาพด้วยตัวเอง และให้กรอกอายุ ค้นหาว่า รายการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับเรา แบบไหนอย่างไร

นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีคนไทยจ่ายค่าตรวจสุขภาพมากกว่า 2,200 ล้านบาท/ปี และไม่น้อยที่มีการตรวจสุขภาพแบบเกินพอดี หรือการตรวจแบบเหวี่ยงแหในปัจจุบันนี้ นอกจากจะไม่ก่อเกิดประโยชน์ในการตรวจสำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดโทษ เช่น ทำให้ผู้ถูกตรวจชะล่าใจและไม่ปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือผลการตรวจบางอย่างต้องไปตรวจเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น มักทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้หากภาวะแทรกซ้อนมีความรุนแรง

“การตรวจสุขภาพที่ถูกต้องนั้น ไม่ใช่การตรวจเพื่อมุ่งค้นหาว่าป่วยเป็นโรคอะไร แต่ต้องเป็นการตรวจในขณะที่ยังไม่ป่วยเพื่อเน้นหาปัจจัยเสี่ยงความเป็นไปได้ว่าอาจป่วยด้วยโรคอะไร และมีการแนะนำเพื่อปรับพฤติกรรมจากปัจจัยเสี่ยงนั้น” ข้อมูลในเว็บไซต์ ระบุ

ตรวจสุขภาพอย่าเวอร์ ดูปัจจัยเสี่ยงและความจำเป็น

ช่องทางสร้างสินค้าอย่าตรวจเหวี่ยงแห

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า โปรแกรมการตรวจบางอย่างที่ไม่มีประโยชน์แถมยังเสียเงินโดยไม่จำเป็น ประกอบด้วย 1.เอกซเรย์ปอด ไม่สามารถค้นหามะเร็งปอดและวัณโรคในระยะเริ่มต้นได้หากไม่มีอาการแสดงใดๆ 2.ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะพิจารณาตรวจในคนที่ปัสสาวะไม่คล่อง หากไม่มีภาวะดังกล่าวก็ไม่มีความจำเป็น 3.ตรวจ BUN ในเลือด ไม่มีประโยชน์ในการตรวจคัดกรองโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน โดยทั่วไปการคัดกรองไตเสื่อมใช้วัดจากระดับครีอะทินิน 4.เจาะเลือดเพื่อคัดกรองความผิดปกติของตับไม่มีความจำเป็นต่อสุขภาพคนปกติ 5.ตรวจกรดยูริคในเลือด ถ้าไม่มีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ บวมแดง ไม่จำเป็นต้องตรวจ และ 6.วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากไม่มีอาการเช่น หน้ามืด ใจสั่น วูบ ไม่จำเป็นต้องตรวจในคนปกติ

“เมื่อก่อนยังไม่มีสถานพยาบาลที่ใดใส่ใจ แต่เดี๋ยวนี้คนเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่แข่งขันกันสร้างสินค้านำเสนอประชาชน ผมเองเป็นหมอยังตกใจเลยว่าบางคนไปตรวจอะไรมากขนาดนี้ เพราะโดยปัจจัยแล้วไม่จำเป็นต้องตรวจขนาดนั้น เราจึงต้องมากำหนดข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบเบื้องต้นก่อนตัดสินใจเลือก สิ่งที่หมอกลัวคือการตรวจแบบหว่านแหไปทั่ว” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว

ดังนั้น เบื้องต้นสำหรับให้ประชาชนได้รับรู้แบ่งออกเป็นกลุ่ม เริ่มที่กลุ่มคนวัยทำงาน อายุ 18-60 ปี ควรมีการซักประวัติเพื่อค้นหาความผิดปกติและประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ คำถามเช่น ประกอบอาชีพอะไร สูบบุหรี่ ดื่มสุรา สารเสพติดหรือไม่ สัมผัสวัณโรคและบุคคลในครอบครัวที่เป็นวัณโรคในช่วง 5 ปีหรือไม่ หากไม่มีประวัติเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ปอดก็ได้

ผู้อำนวยการสำนักฯ ขยายความถึงการประเมินภาวะโรคซึมศร้า ว่า เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนไม่เข้าใจว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่ ต้องตรวจหรือไม่ทำอย่างไร จึงควรมีแบบประเมินเชิงคำถามเพื่อคัดกรองวัดเกณฑ์ ที่ใครๆ ก็สามารถนำแบบประเมินนี้ไปวัดได้ เช่น เพื่อนสนิทตั้งคำถามตามแบบประเมินวัดภาวะโรคซึมเศร้ากับเพื่อน หรือวัดกันเองภายในครอบครัวได้ ตัวอย่างในต่างประเทศการตอบคำถามแบบประเมินนี้ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนต้องทำเอง แม้เป็นเพียงไม่กี่คำถามแต่อาจวินิจฉัยได้ว่าควรไปพบแพทย์หรือไม่

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ประชาชนมักเข้าใจผิดคิดว่าการซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เพื่อหวังเห็นตัวเลขจากผลการเจาะเลือดผ่านห้องแลปปฏิบัติการก็เพียงพอแล้ว หากคิดแบบนี้ถือเป็นเรื่องเข้าใจผิดมหันต์ เพราะหากไม่มีการซักประวัติที่ดีมาก่อนอาจทำให้ตัวเลขที่วัดได้ถูกนำไปประเมินร่างกายผิดมากขึ้นไปอีก เช่น เมื่อ 3 วันก่อนไปรับประทานอาหารทะเลมาเยอะมาก ทานปู ซดมันกุ้งมาเต็มที่ผลปรากฏว่าค่าคอเลสเตอรอลสูงลิ่ว หากหมอไม่มีข้อมูลซักประวัติมาก่อน อาจวินิจฉัยผิดสั่งยาให้กินโดยไม่จำเป็น เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

ขณะที่การแบ่งกลุ่มผู้สูงวัย ยิ่งทำให้บุตรหลานสามารถเข้าใจถึงสภาวะร่างกายของพ่อแม่ได้ไม่ยาก คือ ตรวจร่างกายทั่วไป คือ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง, ตรวจสายตา อายุ 60-64 ปี ทุก 2-4 ปี หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากมองไม่เห็น ต่อด้วยประเมินภาวะโภชนาการ ว่าได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม, วัดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต, วัดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน, ภาวะสมองเสื่อม และภาวะซึมเศร้า

สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น ต้องทำดังนี้ ตรวจปัสสาวะ วัดภาวะซีดเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป หาไขมันในเลือด ทุก 5 ปี วัดระดับเบาหวานทุกปี และตรวจการทำงานของไตทุกปี

“เชื่อว่าในอนาคตโรงพยาบาลจะพยายามแข่งขันกันออกแพ็กเกจตรวจสุขภาพกันมากขึ้นกว่าที่ควร ดังนั้นประชาชนต้องมีองค์ความรู้พื้นฐานตรวจสุขภาพประจำปีมาศึกษา เพื่อทำให้โอกาสที่คนเดินทางมาพบแพทย์โดยไม่จำเป็นลดลง และไม่ให้ใครมานำเสนอขายอะไรก็ซื้อหมดแบบนั้นยิ่งสิ้นเปลือง เพราะทุกวันนี้คนมารอคิวพบแพทย์เป็นจำนวนมากแล้ว” นพ.ชาญวิทย์ กล่าวเน้นย้ำ