posttoday

ออก"เจ"อย่างไรไม่ให้"ติดห่วง"

11 ตุลาคม 2553

ใช้เมนูต้ม ยำ ย่าง อบ แทนการกินเมนูอาหารประเภทที่ใช้น้ำมัน ลดอาหารหวาน กินให้หลากหลาย ออกกำลังกายควบคู่กันไปจะทำให้สุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคภัยแอบแฝง....

ใช้เมนูต้ม ยำ ย่าง อบ แทนการกินเมนูอาหารประเภทที่ใช้น้ำมัน ลดอาหารหวาน กินให้หลากหลาย ออกกำลังกายควบคู่กันไปจะทำให้สุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคภัยแอบแฝง....

หนึ่งในความน่าเป็นห่วง หลัง “อิ่มบุญ” จากเทศกาลกินเจที่ได้ “ละ เลิก เสียสละ” แล้วก็คือ การบริโภคอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเกินขนาด

คำถามที่ตามมาจึงอยู่ที่ว่า “ระหว่างที่เราลด เลิก เสียสละ” เพื่อคนอื่นๆแล้ว เราจะดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เบียดเบี ยนตัวเองด้วย โดยเฉพาะหนุ่มสาวยุคใหม่ที่หันมานิยม “กินเจ” กันเป็นอีกหนึ่งเทรนทำบุญ

ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดให้ความรู้กับการกินเจ อย่างถูกวิธี โดยความหมายของการกินเจ หมายถึงการรักษาศีล ปฏิบัติธรรมทั้งกาย วาจา และใจ ไม่ใช่หมายความเพียงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น การปฏิบัติธรรมร่วมไปด้วยจึงจะครบเป็น “การถือศีล-กินเจ” อย่างแท้จริง

ออก"เจ"อย่างไรไม่ให้"ติดห่วง"

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไก เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.กล่าวว่า แก่นแท้ของการกินเจ คือ ถือศีล ซึ่งเทศกาลกินเจเป็นเทศกาลแห่งการสร้างบุญสร้างกุศลให้กับตนเองและผู้อื่น โดยการทำบุญ ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ คือการไม่กินเนื้อสัตว์ ที่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆอย่างในการถือศีล การมีจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์

คำว่า “เจ” มาจากคำว่า “ไจ” ของชาวจีน แปลว่าไม่มีเนื้อสัตว์ การกินเจสามารถกินผักและผลไม้ได้ทุกชนิด ยกเว้น หอม กระเทียม หลักเกียว กุยช่าย และใบยาสูบ กินเจสร้างสุขต้องคำนึง 5 ประการ 1.กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ 2.กินให้หลากหลายและพอเหมาะ 3.กินอาหารเจรสไม่จัด 4.กินอาหารเจที่สะอาด 5. กินข้าวกล้อง ดื่มน้ำเปล่าบริสุทธิ์ และการกินเจยังได้ประโยชน์อีก 4 สร้าง นั่นคือ 1.สร้างบุญ สร้างกุศล 2.สร้างสุขภาวะ 3.สร้างหุ่นดี ไม่มีพุง และ 4.สร้างการกินผักและผลไม้เป็นประจำ

“แต่ยังไงการกินเจก็ต้องระวังอาหารเจไขมันสูง เช่น หลีกเลี่ยงกินอาหารเจแบบผักน้ำมันเยิ้มๆ ไม่ควรกินอาหารเจประเภททอดน้ำมันลอยบ่อยจนเกินไป กินอาหารเจ ประเภทเมนูต้ม ยำ ย่าง อบ ประจำ ไม่ควรกินถั่วลิสง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์บ่อย แต่ก็ควรระวังเนื้อสัตว์เทียมที่ทำมาจากแป้ง เพราะจะทำให้กินแป้งเกินในที่สุดก็เกิดความอ้วน ต้องกินให้หลากหลายและพอเหมาะ กินผักผลไม้หลากหลายชนิด ล้างให้สะอาดก่อนกินทุกครั้ง กินหลายหลายเมนู/ไม่จำเจ กินอาหารสดธรรมชาติ หลีกเลี่ยง Process Food/ของดอง” อาจารย์สง่า กล่าว

นอกจากนี้อาจารย์สง่า ยังได้แนะนำวิธีการออกเจให้มีสุขภาพดี ว่า การกินผักติดต่อกันมานานถึง 9 วัน ได้ส่งผลให้ร่างกายปรับระบบการย่อยอาหารจากย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักแทน แต่เมื่อหันกลับมากินเนื้อสัตว์แบบเดิม จะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันได้ ดังนั้น อาหารหลังออกเจในระยะเริ่มแรกควรเริ่มด้วยอาหารที่ย่อยง่าย โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ควรเน้นการกินปลา ไข่ และนม แทนก่อนแล้วจึงค่อยๆ เริ่มกินเนื้อไก่ หมู และวัว ตามลำดับ

เพราะปลาเป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นผลดีต่อสุขภาพ ป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือดได้ เมนูปลาที่รับประทานควรเป็นประเภทต้ม นึ่ง ย่าง แทนการทอด แต่ถ้าต้องการกินผลิตภัณฑ์ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น เต้าหู้และโปรตีนเกษตรแทนเนื้อสัตว์ต่อไป ก็ไม่เสียหาย แต่แนะให้ดื่มนมและกินไข่ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ได้โปรตีนที่มีคุณภาพพอเพียงต่อร่างกาย

ออก"เจ"อย่างไรไม่ให้"ติดห่วง"

อย่างไรก็ตามในวันออกเจจึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับพฤติกรรมการการกินอาหารของประชาชนที่กินเจทั้งกินเพื่อถือศีล ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และเพื่อสุขภาพ ให้เริ่มต้นการประเมินภาวะโภชนาการของตนเองแบบง่ายๆ ด้วยการชั่งน้ำหนักตัว เพื่อดูว่าน้ำหนักขึ้นในช่วงกินเจหรือไม่ หากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 กิโลกรัม แสดงว่าอาจเกิดจากการกินอาหารประเภทแป้งและไขมันจากอาหารเจมากเกินไป จึงควรเอาบทเรียนดังกล่าวมาปรับการกินอาหารหลังออกเจ และออกกำลังกายควบคู่กันไปอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ก็จะทำให้สุขภาพแข็งแรง หุ่นดี ไม่มีโรคภัยแอบแฝง

นพ.ฆนัท ครุฑกูล กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. กล่าวถึงเคล็ดลับ "กินเจอย่างไร....ให้ไร้พุง" ว่า ช่วงเทศกาลกินเจ อาจจะมีประชาชนบริโภคอาหารที่มีแป้งน้ำตาลมากขึ้น อันจะนำไปสู่ภาวะการเกิดโรคอ้วน และมีปัญหาด้านสุขภาพตามมา อาทิ โรคอ้วนโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และยังบอกเคล็ดลับในการกินเจเพื่อสุขภาพว่า ต้องบริโภคอาหารให้ครบถ้วนได้แก่ 1.โปรตีนได้จากถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเมล็ดแห้ง อาหารประเภทนี้จะมีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่าเนื้อสัตว์ 2.ไขมัน ที่นำมาปรุงเป็นอาหารเจ ควรเป็นไขมันที่มาจากพืชต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ปาล์ม งา และควรรับประทานประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ เท่านั้น 3.ควรรับประทานผักผลไม้มากๆด้วย 4.ปรุงอาหารด้วยตนเอง พยายามลดแป้งให้เยอะที่สุด

นพ.ฆนัท ย้ำอีกด้วยว่า ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงอาหารเจที่มีปริมาณน้ำมันมากเกินไป เนื่องจากการทำอาหารประเภทเจส่วนใหญ่ มักจะเป็นอาหารประเภทผัดหรือทอด เราจึงต้องควบคุมการใช้น้ำมันกันด้วย นอกจากนี้คุณหมอยังแนะนำให้บริโภคโปรตีน 15% ไขมัน 30% และคาร์โบไฮเดรต 55% ของพลังงานที่ได้รับ และอยากเตือนประชาชนว่าอาหารเจไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพ

เอ้า!! ใครอยากออกเจมีสุขภาพดี ปฏิบัติตามนี้ดีแน่นอน...