posttoday

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง

24 กุมภาพันธ์ 2561

ใช้คำว่า “ควันหลง” เทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพ ก็คงไม่ผิด เพราะจนถึงตอนนี้เมืองนครสวรรค์น่าจะยังมีกลิ่นประทัดคละคลุ้ง

เรื่อง : กาญจน์ อายุ ภาพ : กาญจน์ อายุ, จำลอง บุญสอง

ใช้คำว่า “ควันหลง” เทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพ ก็คงไม่ผิด เพราะจนถึงตอนนี้เมืองนครสวรรค์น่าจะยังมีกลิ่นประทัดคละคลุ้ง หลังจากคนทั้งเมืองร่วมเฉลิมฉลองนานถึง 12 วัน 12 คืน (วันที่ 9-20 ก.พ. 2561) จุดประทัดนับตับไม่ถ้วนสร้างเสียงกึกก้องไม่ว่างเว้น

นอกจาก จ.นครสวรรค์ จะเป็นประตูสู่ภาคเหนือ ยังเป็นศูนย์กลางการค้า และเป็นที่ตั้งรกรากของชาวจีนหลายเชื้อสายที่อพยพเข้ามาอาศัยและทำมาหากินริมแม่น้ำน่าน โดยเฉพาะบริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยาหรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ปากน้ำโพ” ซึ่งเมื่อชาวจีนเข้ามาปักหลักที่ใดจะอัญเชิญเทพเจ้าที่นับถือติดตัวมา

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง สิงโตเรืองแสงในขบวนแห่วันชิวชา

 

เช่นเดียวกับชาวจีนในตลาดปากน้ำโพที่นับถือ 4 เทพเจ้า ได้แก่ เจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม และเจ้าแม่สวรรค์ จึงได้จัดตั้งศาลเพียงตาสำหรับเป็นที่ประทับของเจ้าพ่อเจ้าแม่ 2 ศาล คือ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหรือทางทิศตะวันออกของตลาดปากน้ำโพ และศาลเจ้าแม่หน้าผา ริมฝั่งแม่น้ำปิงที่บ้านหน้าผาหรือทางทิศเหนือของตลาดปากน้ำโพ

ส่วนงานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพที่จัดขึ้นในเทศกาลตรุษจีน ต้องเท้าความย้อนกลับไปประมาณ 100 ปี ในตอนนั้นตลาดปากน้ำโพเกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดหนัก ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก บรรดาชาวจีนในปากน้ำโพจึงนำกระดาษฮู้ หรือกระดาษยันต์จากศาลเจ้าไปเผาไฟ แล้วนำเถ้ากระดาษมาชงน้ำดื่มปรากฏว่าทำให้หายจากโรค กลายเป็นที่เลื่องลือไปทั่วถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเจ้าแม่

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง มังกรเล่นน้ำที่จุดบรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยา

 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวจีนปากน้ำโพจึงได้อัญเชิญองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ทุกองค์มาแห่รอบตลาดในช่วงเทศกาลตรุษจีน สืบทอดจนเป็นงานประเพณี ซึ่งปีนี้นับได้เป็นปีที่ 102 คือเมื่อชาวจีนแต่ละบ้านทำพิธีในวันไหว้และวันชิวอิก (วันเที่ยวหรือวันขึ้นปีใหม่) ภายในบ้านของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย

หลังจากนั้นอีก 2 วันจะเป็นวันแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ ยกตัวอย่างในปีนี้ วันที่ 14 ก.พ. เป็นวันจ่าย วันที่ 15 ก.พ. เป็นวันไหว้ วันที่ 16 ก.พ. เป็นวันเที่ยว จากนั้นวันที่ 18 ก.พ. เป็นวันชิวชา (แห่กลางคืน) และวันที่ 19 ก.พ. เป็นวันชิวสี่ (วันแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ช่วงกลางวัน) ซึ่งไฮไลต์อยู่ที่สองวันหลังนี้ เพราะเป็นครั้งเดียวในรอบปีที่สิงโตและมังกรจะออกมาปรากฏตัว

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง ขบวนเชิดมังกรทองสุดอลังการ

 

วันชิวชา ตระการตาทัพสิงโต

ช่วงแดดร่มลมตกประมาณ 5 โมงเย็น คณะสิงโตนับสิบมารวมตัวกันบนถนนหน้าศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์  เพื่อรอร่วมขบวนแห่ฉลองตรุษจีนที่จะเริ่มหลังพระอาทิตย์ตกดิน โดยก่อนหน้าที่จะตั้งแถวขบวน แต่ละคณะตีกลองลั่นฉาบเชิดสิงโตไปไหว้ศาลหลักเมือง จ.นครสวรรค์ (แบบจีน) และศาลหลักเมือง จ.นครสวรรค์ (แบบไทย) ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ใกล้กันบริเวณเชิงเขากบ

ภายในศาลหลักเมืองเป็นที่ประดิษฐานองค์เทพารักษ์ 3 องค์ คือ พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ พระกาฬไชยศรี เป็นบริวารพระยมมีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก และพระทรงเมือง เป็นเทพรักษาการปกครอง และดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุข

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง มังกรทองขึ้นเสาพ่นน้ำมนต์

 

กว่าคณะสิงโตทั้งหมดจะสลับมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองครบ งานพิธีหน้าศาลากลางจังหวัดก็เริ่มพอดี โดยผู้เข้าร่วมงานต้องซื้อบัตรเข้างานคนละ 200 บาท ได้อาหารหนึ่งกล่อง หรือสำหรับคนที่จองโต๊ะจีนไว้ล่วงหน้าจะได้นั่งแถวหน้าใกล้ขบวนแห่เข้ามาหน่อย

พิธีการดำเนินไปอย่างไม่รีบร้อนทั้งคนใหญ่คนโตจากไทยและจีนต่างมาเป็นแขกผู้มีเกียรติกันเต็มเวที จะเห็นใจก็แต่สาวงามอัญเชิญป้ายบนส้นสูงและประคองยิ้มไม่ให้หุบเกือบร่วมชั่วโมง จนเมื่อพิธีเปิดอย่างเป็นทางการผ่านพ้นส้นสูงทุกคู่ก็ได้เดินเฉิดฉายกลางแสงสีเสียง

ขบวนแห่เริ่มต้นจากออร์เดิร์ฟเหมือนเมนูอาหารบนโต๊ะจีน รถประดับไฟของบรรดาสปอนเซอร์ขับมานำหน้า บางคันมีการแสดงวัฒนธรรมจีนเป็นน้ำจิ้มให้ครบรส ค่อยๆ เคลื่อนรถผ่านหน้าประธานและสายตาฝูงชนอย่างเชื่องช้า แต่ก่อนที่จะอิ่มไปกับออร์เดิร์ฟเย็นๆ เมนูเมนคอร์สร้อนๆ ก็เริ่มเสิร์ฟทันที

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง สิงโตลอดท้อง โชว์ความแข็งแกร่งของผู้เชิด

 

เสียงกลองเสียงฉาบแว่วมาแต่ไกลพร้อมแสงไฟแอลอีดีหรี่ๆ ที่เคลื่อนไหวเป็นลอนคลื่นอยู่ท้ายขบวน เหมือนกับอยู่ในหนังกำลังภายในเพราะที่เห็นอยู่นั้นคือ “มังกรทอง” สัญลักษณ์ของนครสวรรค์ ลำตัวยาว 52 เมตร  ตั้งแต่หัวถึงหางประดับไฟสว่างไสว ใช้ผู้เชิด 180 คน

การเคลื่อนไหวของมังกรทองพลิ้วไหวเหมือนมีชีวิต ไม่มีช่วงไหนหยุดชะงัก กระตุก ผู้เชิดนับร้อยต่างวิ่งเข้าออกสลับกันเชิดเหมือนก้อนเมฆที่พยุงมังกร ลำตัวเดี๋ยวขด เดี๋ยวขยาย เดี๋ยวโบกสบัด ตามหัวมังกรที่เชิดไปตามผู้ถือลูกแก้วที่จะวิ่งวกไปวนมา ให้มังกรทองไล่ล่าเข้าไปหาแบบไม่จบไม่สิ้น

ความยาว 50 กว่าเมตรทำให้การเชิดใช้เวลานานเป็นพิเศษ ผู้ชมเองก็ทึ่งกับผู้เชิดมากเป็นพิเศษที่แม้จะดูวุ่นวายแต่ทุกคนต่างรู้จังหวะของกันละกัน ซึ่งคณะมังกรทอง นครสวรรค์ เป็นคณะมังกรแรกในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในปี 2507 ซึ่งชาวจีนถือว่ามังกรเป็นสิ่งสิริมงคลนําโชคลาภและความผาสุกมาสู่ปวงชน ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ชั้นสูงขององค์จักรพรรดิจีนในอดีตด้วย

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง หน้ากากเอ็งกอเรืองแสง

 

ใจเต้นแรงไม่ทันหาย พิธีกรในงานก็ประกาศเสียงดัง “ขอเสียงปรบมือต้อนรับสิงโตโบราณ 5 ภาษา” แวบความคิดแรกของคนไม่เคยมางานตรุษจีนนครสวรรค์พลันคิด “อลังการ! สิงโตเมืองนี้พูดได้ 5 ภาษา”

พิธีกรเหมือนได้ยินเสียงที่คิดจึงรีบอธิบายต่อว่า การเชิดสิงโตมีอยู่ในวัฒนธรรมย่อยของจีนในแต่ละภูมิภาค ซึ่งชุมชนชาวจีนปากน้ำโพมีความพิเศษ คือเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมจีนหลากหลายและมี 5 ภาษาหลัก คือ ภาษากวางตุ้ง จากจังหวัดกวางเจาและจังหวัดซิ่วเข่ง กลายเป็นสมาคมกว๋องสิว ภาษาจีนแต้จิ๋ว จากจังหวัดซัวเถามีจำนวนมากที่สุด ภาษาจีนไหหนำ จากเกาะไหหนำทางตะวันตก ภาษาจีนฮากกา จากจังหวัดเซี๊ยะเหมิ่น และภาษาจีนฮกเกี้ยน จากมณฑลฮกเกี้ยน มีจำนวนคนน้อยในปากน้ำโพ ส่วนใหญ่จะอยู่ทางใต้ของประเทศไทย “สิงโต 5 ภาษา” จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่อยู่รวมกัน โดยมีสิงโตปักกิ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเชิดสิงโตปากน้ำโพ

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง ใบหน้าของนักแสดงเอ็งกอ

 

สิงโตเรืองแสงทั้ง 5 ตัว เดินเชิดมาอย่างแข็งแรง ดุดัน นำหน้าด้วยแป๊ะยิ้ม และปิดท้ายด้วยกลองจังหวะตุ้งแช่ ตุ้งแช่ สิงโตทุกตัวต่างหยุดทำความเคารพมังกรทองที่อยู่ด้านหน้า ยิ่งตอกย้ำภาพหนังจีนแฟนตาซีที่เกิดขึ้นจริงแล้วต่อหน้าต่อตา และในใจได้แต่คิดว่า ความเชื่อความศรัทธาของลูกหลานชาวจีนนครสวรรค์ช่างแกร่งกล้าและหนักแน่น

ขบวนแห่ฉลองตรุษจีนจะปิดท้ายที่ "กองทัพเอ็งกอ-พะบู๊" ตำนานเล่าว่า เอ็งกอ คือผู้กล้าแห่งเหลียงซันโป๋จำนวน 108 คน ที่จะเขียนหน้าต่างกันเป็นเอกลักษณ์ของใครของมัน ออกปล้นคนโกงชาติโกงแผ่นดินแล้วมาแบ่งให้คนยากจน จนได้รับสมญานามว่า ชุมโจรเหลียงซันโป๋ มณฑลซานตง ซึ่งการแสดงจะจำลองกองทัพเอ็งกอ 108 คน ทุกคนทาหน้าสีสด สวมหมวกประดับไฟ และเสื้อเรืองแสงในความมืด โชว์ลีลาการต่อสู้ด้วยไม้พลองอย่างพร้อมเพียง ซึ่งการแสดงนี้จะหาชมได้เฉพาะในงานแห่ฉลองตรุษจีนปากน้ำโพเท่านั้น

ขบวนแห่ฉลองตรุษจีนใช้เวลาทั้งหมดร่วม 3 ชั่วโมง จะเห็นองค์ประกอบทั้งหมดของเทศกาลยกเว้นขบวนแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ ซึ่งจะอยู่ในขบวนแห่ช่วงกลางวันของวันชิวสี่เพียงวันเดียว

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง ตัวแทนเจ้าแม่กวนอิมบนหลังมังกร

 

วันชิวสี่ มังกรทองลงน้ำ

เช้าตรู่ของวันชิวสี่ ขบวนแห่ฉลองตรุษจีนตั้งแถวอีกครั้ง และยิ่งใหญ่กว่าเดิมด้วยการแห่ไปรอบเมืองนครสวรรค์ โดยคณะเชิดสิงโตจะแวะเวียนไปตามบ้านและร้านค้าเพื่ออวยชัยให้อยู่เย็นเป็นสุขและทำมาค้าขึ้นตลอดปี

บ้านและร้านค้าของชาวไทยเชื้อสายจีนจะตั้งโต๊ะพร้อมเครื่องเซ่นไหว้ไว้หน้าบ้าน คณะแรกที่มาอวยชัยคือ คนทรงเทพกวนอูและเจ้าแม่ทับทิม ที่ผู้คนต่างยื่นหน้าผากและฝ่ามือให้ประทับตราเครื่องหมายแห่งความโชคดีกันชุลมุน

จากนั้นเสียงกลองอันคุ้นเคยเริ่มบรรเลงอีกหน จังหวะตุ้งแช่ ตุ้งแช่ จากเมื่อคืนคงต่อเนื่องถึงเช้าวันนี้ คณะสิงโตคณะเดิมยังมีเรี่ยวแรงเหมือนเพิ่งเชิดเป็นครั้งแรก โดยคราวนี้จะไม่เดินแห่ไปตามขบวน แต่จะเชิดไปตามบ้านที่ตั้งเครื่องบูชาไว้ และเดินเข้าไปอวยชัยถึงภายในอาคารเพื่อความเป็นสิริมงคล

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง

 

ไฮไลต์ของขบวนคือ เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ เจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม และเจ้าแม่สวรรค์ ที่อัญเชิญมาให้ชื่นชมบูชา เมื่อผ่านบ้านไหนไม่ว่าจะคนจีนหรือไทยก็ต่างยกมือไหว้พึมพำขอพร

นอกจากนี้ ท้ายขบวนวันชิวสี่จะปิดท้ายด้วยมังกรทอง (ตัวเดิม) โดยวันนี้จะเห็นรายละเอียดของมังกรที่สวยงาม และจะได้ตื่นเต้นไปกับ “มังกรขึ้นเสา” ตามจุดต่างๆ ใจกลางเมือง ซึ่งขอเล่าเป็นฉากๆ เพื่ออรรถรส

เสาที่ว่านั้นมี 2 เสาอยู่คู่กัน ต้นหนึ่งเป็นเสาเกลี้ยงสำหรับผู้ถือลูกแก้ว อีกต้นมีขั้นบันไดให้ปีนสำหรับผู้เชิดมังกร ก่อนที่มังกรจะขึ้นเสาจะแห่วนรอบรอให้คนเชิดปีนขึ้นไปเตรียมพร้อมบนเสา จากนั้นจังหวะกลองจะเร่งเร้าเมื่อตัวมังกรถูกยกขึ้นเสา วนรอบบิดเกลียวเหมือนว่าน้ำหนักเบา แต่ที่จริงหนักอึ้ง จนหัวมังกรถูกเชิดสู่ปลายยอด ความน่าตื่นเต้นก็เริ่มต้นขึ้น

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง คนจำนวนมากแบฝ่ามือให้คนทรงเจ้าแม่ทับทิมประทับตรามงคล

 

ผู้ถือลูกแก้วบนยอดเสาสูงจะเอนเอียงเข้าออกไปหามังกร ส่วนหัวมังกรก็ส่ายหาลูกแก้ว ซึ่งองศาเอนเอียงของผู้ถือลูกแก้วไม่ธรรมดา แต่เป็นองศาที่เอียงมากจนคนดูหวาดเสียว ส่งเสียงเชียร์กันกรีวกราว ขณะเดียวกันมังกรทองยังมีเทคนิคพ่นน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า น้ำมนต์ พ่นจากยอดเสาสวยงามเกินบรรยาย

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ถือลูกแก้วยังมีหน้าที่เกี่ยวเงินหรือเสาธนบัตรที่เจ้าของบ้านแถวนั้นแขวนไว้บนชั้นสอง กลายเป็นสีสันให้การแห่มังกรสนุกกว่าเดิม และกลายเป็นสิ่งท้าทายที่ทำให้ชื่อเสียงของคณะมังกรทองกระจายไปไกล โดยการขึ้นเสาใช้เวลาไม่นานแต่เชื่อว่าทุกคนต้องผ่านการฝึกฝนมายาวนานกว่าจะแข็งแกร่งยกมังกรยาว 52 เมตรขึ้นเหนืออากาศได้อย่างงดงาม

ตรุษจีน ปากน้ำโพ ฟื้นคืนชีพสิงโตมังกรทอง

 

งานแห่วันชิวสี่เริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงเกือบ 5 ทุ่ม มังกรทองจะถูกเชิดไปตามถนน ผ่านอาคารบ้านเรือนให้มากที่สุดเพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง และจะไปสิ้นสุดที่จุดกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา มังกรทองจะลงเล่นน้ำที่จุดบรรจบของแม่น้ำปิงและน่าน โดยผู้เชิดจะแช่ตัวอยู่ในน้ำ ยกลำตัวมังกรไว้เหนือหัว เชิดค้างไว้ท้าทายพละกำลังและจิตใจ ท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยวกรากและดำลึก ถ้าตัดภาพผู้ชมที่มุงดูออกไป ภาพที่เห็นจะเสมือนว่ามังกรทองลงมาเล่นน้ำจริงๆ

เทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพยิ่งใหญ่สมความร่ำลือและอลังการกว่าที่คิด โดยเฉพาะ “คนนครสวรรค์” ที่สามารถเนรมิตชีวิตให้สิงโตและมังกรโลดแล่นในความเป็นจริงได้สมแก่ความเชื่อและความศรัทธารวมถึงยังเห็นความสามัคคีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ไม่ลืมรากเหง้า อนุรักษ์ และสืบทอดจนทำให้ตรุษจีนกลายเป็นงานใหญ่ และเชื่อว่าอีกร้อยปีก็ยังคงอยู่ต่อไปซึ่งน่าจะยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี