posttoday

ปลุกหัวใจ คนไทยพิทักษ์ป่า

22 กุมภาพันธ์ 2561

ข่าวเลวร้ายที่ซ่อนตัวในผืนป่าลึก กำลังถูกเผยออกมาจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในเวลานี้ การตายของเสือดำ 1 ตัว และชีวิตสัตว์สงวนตัวเล็กๆ ทั้งไก่ฟ้า เก้ง จะต้องไม่ใช่เรื่องจบลงง่ายๆ แบบไฟลามทุ่งแน่นอน

เรื่อง : ชุติมา สุวรรณเพิ่ม, จีรวัฒน์ กล้ากะชีวิต

ข่าวเลวร้ายที่ซ่อนตัวในผืนป่าลึก กำลังถูกเผยออกมาจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในเวลานี้ การตายของเสือดำ 1 ตัว และชีวิตสัตว์สงวนตัวเล็กๆ ทั้งไก่ฟ้า เก้ง จะต้องไม่ใช่เรื่องจบลงง่ายๆ แบบไฟลามทุ่งแน่นอน เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่จับมือกับคนรุ่นใหม่ ทั้งนักธุรกิจ ศิลปิน ดารา เซเลบริตี้ จัดงานระดมทุนกันแข็งขัน เพื่อหารายได้ร่วมสมทบทุนต่อชีวิตสัตว์ป่า

มีการรวมตัวทำจริงจัง คึกคัก 2 งานในเดือนนี้ มีผู้เข้าร่วมงานกันอุ่นหนาฝาคั่ง จิตอาสาคนละไม้ละมือ นักธุรกิจเป็นสปอนเซอร์จัดงานใหญ่ ศิลปินวาดภาพนำเงินเข้ากองทุน ซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนถึงการ “สานต่อ” เจตนารมณ์ในการเป็นผู้พิทักษ์ป่าของคนรุ่นต่อๆ มา ส่งไม้ต่อกันมุ่งมั่น เพื่อพิทักษ์สถานการณ์ป่าไม้ไทยที่เหลือเพียงหยิบมือ

ในปี 2559-2560 กรมป่าไม้ เผยข้อมูลมีพื้นที่ป่าลดลงจากปีที่ผ่านมา ราว 0.02% หรือ 6.5 หมื่นไร่ ป่าไม้เมืองไทยหดหายไปทุกๆ ปี

ปลุกหัวใจ คนไทยพิทักษ์ป่า

เราทุกคนคือผู้พิทักษ์ป่า

กรณีข่าวใหญ่เป็นกระเเสสังคมในเวลานี้ กับการที่ “ผู้มีฐานะ” บุกรุกลักลอบตั้งแคมป์พักแรม และเข้าล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก แต่ก็ไม่รอดพ้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ ตรงไปตรงมา ของ วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผู้พิทักษ์พื้นที่

“หัวหน้าวิเชียร” กลายเป็นกุญแจดอกเล็ก ผู้ไขความลึกลับป่าผืนกว้างใหญ่ของไทย ฉายภาพชัดเจนยิ่งขึ้น กับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ทุ่มเทอย่างยากลำบาก แล้วในที่สุดข่าวร้ายครั้งนี้ก็กลับกลายเป็นอีกเรื่องดีๆ กับการร่วมแรงร่วมใจของคนในเมืองหลวง จัดกิจกรรมเพื่อคนทำงานในป่า ระดมพลังหารายได้และสิ่งของที่จำเป็น สำหรับการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 25 ชุดลาดตระเวน

งานใช้ชื่อเริ่มต้นมาจากฮีโร่นักอนุรักษ์ป่า “สืบสานตำนาน บริบาลผู้พิทักษ์ป่า” จัดขึ้นที่โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การอ่านบทกวี นิทรรศการภาพถ่ายสัตว์ป่า ดนตรี การออกร้านจำหน่ายสินค้า

การเสวนามีผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้นเวทีให้ข้อมูลสถานการณ์ป่าไม้ หัวข้อเรื่อง “ว่าด้วยการอนุรักษ์สัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม และความสำคัญของกองทุนพิทักษ์ป่า” ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ณ อยุธยา ช่างภาพสัตว์ป่าและนักเขียนชื่อดัง ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี หลายๆ เรื่อง จากป่า ถูกเผยแพร่ออกสู่เมือง

ปลุกหัวใจ คนไทยพิทักษ์ป่า สืบสานตำนาน บริบาลผู้พิทักษ์ป่า

“หัวหน้าสมโภชน์” เริ่มการพูดคุยให้ตัวเลขภาพรวมพื้นที่ป่า คนไทยฟังแล้วก็ใจชื้น คือถ้าจะบอกว่าป่าไม่ดีเลยก็ไม่ใช่ ตามเป้าหมายของประเทศพื้นที่ป่าต้องมี 40% เวลานี้ทำได้ 32% อยู่ในระดับที่ดีขึ้น

“ภาพรวมป่าไม้ กับสัตว์ป่า ก็จะมีสภาพที่ดีขึ้นตามลำดับไปด้วยนะครับ แล้วไม่ได้หมายความว่า ดีแล้วจะหยุดทำ ระบบการป้องกันต้องทำตลอดเวลาครับ ยิ่งสถานการณ์ดีขึ้น ยิ่งหยุดการดูแลป้องกันการล่าไม่ได้ครับ เพราะถ้าเจ้าหน้าที่อ่อนแอเมื่อใด โดนเมื่อนั้น

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดคือ สัตว์ป่าเพิ่มขึ้น วัวแดง นกยูง เสือ ช้าง พบเจอได้ง่ายมากครับ ขณะเดียวก็ยังคงพบเห็นซากสัตว์ที่ถูกล่าเช่นกัน

เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เป็นอาชีพที่ไม่ทำเงินเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ ทุกคนที่เข้ามาทำต้องมีใจรักจริง ต้องมีการสแกน คนเรียนเก่งมากๆ มาสมัคร ก็อาจจะเดินป่าไม่เป็น ขณะเดียวกันคนที่เรียนไม่สูงแต่ชำนาญการเดินป่า เราก็จะมีวิธีการคัดเลือก นายพรานกลับใจมาช่วยงานก็มีครับ ผมได้เจอชาวกะเหรี่ยงมาทำงานเป็นผู้พิทักษ์ เขามีความสุข เขาได้รักษาป่าที่เขารัก” สมโภชน์ ให้ข้อมูลที่คนเมืองใคร่รู้

ม.ล.ปริญญากร กล่าวสำทับเห็นด้วยกับเรื่องของการรับคนเข้ามา ในฐานะช่างภาพสัตว์ป่ามือวางอันดับต้นของไทย กล่าวว่า เสืออยู่ได้ ก็ต้องมีเหยื่อให้ล่า การอนุรักษ์เสือไว้ จึงต้องรักษาเหยื่อไว้และรักษาป่าที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ ให้เป็นไปตามระบบนิเวศของธรรมชาติ

ปลุกหัวใจ คนไทยพิทักษ์ป่า

“คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ละโมบที่สุด ไปรุกล้ำถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ธรรมชาติจะวุ่นวายทุกครั้งที่คนเข้าไปยุ่ง และเมื่อเกิดความเสียหายแล้ว กว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ นับเป็นเรื่องยาก

ความเชื่อเรื่องยาชูกำลังในชาวเอเชีย และเป็นสิ่งไม่หายไปจากสังคมไทย แม้แต่เด็กรุ่นใหม่ก็มีความคิดอยากล่าสัตว์ ซึ่งตลอดเวลาที่ผมทำงานถ่ายภาพ และนำเสนอเรื่องของป่าสู่สังคมภายนอก ก็เพื่อสื่อให้คนเข้าใจธรรมชาติเยอะขึ้น วันนี้ขบวนการฆ่าสัตว์ป่าคงอยู่ครับ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่เปิดให้คนเข้าไปได้จึงต้องควบคุมมาตรฐานให้มากขึ้น การอนุรักษ์ไม่ใช่การดูแลสัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง แต่เป็นการดูแลความสมดุลของป่าทั้งหมด”

คนทำงานป่าคุ้นเคยกันดี ศศิน แจงรายละเอียดพื้นที่ป่าในไทยราว 102 ล้านไร่ แต่มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเพียง 5 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ “หัวหน้าวิเชียร” ทำงาน ซึ่งเป็นการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ แล้วแม้กลุ่มผู้พิทักษ์ป่าจะทำงานหนักขนาดไหน แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของป่าไม้ในประเทศแล้วก็ยากที่จะดูแลได้ทั่วถึง

“ทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้งยังมีเสือโคร่ง กระทิง วัวแดง ควายป่าอยู่ในป่าแห่งนี้ซึ่งเป็นผืนสุดท้าย และมีแบ็กแพ็กเกอร์ (เผยข้อมูลพลางยิ้ม) การเดินลาดตระเวนต้องสม่ำเสมอครับ สัตว์ใหญ่เหล่านี้มีมูลค่า 7 หลัก เมื่อแปลงเป็นยาชูกำลังได้ตั้งแต่เขายันหาง เสือ ไปจนไม้พะยูง มีการลักลอบล่าอยู่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องทำงานเป็นเชิงคุณภาพแบบพี่วิเชียร

รายได้จากการบริจาคงานนี้ ผมกลัวมากๆ นะครับว่าคนจะครหาว่าจัดเพื่อเกาะกระแส แต่พอผมเดินเข้ามาในงาน กลับกลายเป็นรู้สึกดีใจที่ได้เห็นคนมาเยอะ ดีใจเห็นการร่วมแรงร่วมใจมาช่วยทุ่งใหญ่ ช่วยพี่วิเชียร ที่ทำงานด้วยความรักแผ่นดิน รักป่าจริงๆ”  ศศิน กล่าวไว้ในวงเสวนา ซึ่งมีเสือดำเป็นตัวจุดพลังการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน

ปลุกหัวใจ คนไทยพิทักษ์ป่า นิธิ สมุทรโคจร

รักษ์ป่า ต้องมีหัวใจรักจริง

อีกหนึ่งงานรวมพลคนรักป่า จัดขึ้นเพื่อนำรายได้สมทบทุน “มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก” งานจัดในช่วงวันแห่งความรักเป็นประจำทุกๆ ปี “13 ก.พ. วันรักนกเงือก” ปีนี้จัดในคอนเซ็ปต์ “รวมใจให้นกเงือก” เจ้าภาพเจ้าเก่า มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ร่วมกับผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย ฮอร์นบิล (Hornbill)  กิจกรรมคึกคักเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า จนถึงเย็นย่ำที่สวนนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ไฮไลต์การเสวนาในหัวข้อ “เรื่องเล่าจากป่า” รวมถึงร่วมฟังประสบการณ์จากช่างภาพสัตว์ป่า เกี่ยวกับ “นกเงือก...กับการถ่ายภาพเชิงอนุรักษ์” เป็นอีกงานที่มีคนทำงานรักป่า นักธุรกิจ ดารามาร่วมงานมากหน้าหลายตา

นิธิ สมุทรโคจร ร่วมงานนี้โดยบอกมาในฐานะ “สื่อ” เจ้าของรายการโทรทัศน์ “สมุทรโคจร” นำเสนอการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องธรรมชาติป่าเขา รายการนี้ทำอย่างลึกเข้าถึงป่าตัวจริง โดยทำงานกับกลุ่ม ตชด. 44 (ตำรวจตระเวนชายแดน) จ.ยะลา

“ผมเข้าป่าฮาลา-บาลา 2 รอบแล้วครับ รอบแรกก็เริ่มรู้จักนกเงือก รอบสอง เจาะลึกซึ้งเลย โดยไปกับกลุ่มมูลนิธินกเงือกลงไปพื้นที่ไปสำรวจ ก็เริ่มอินไปเรื่อยๆ เห็นความสำคัญที่มากกว่า นกเงือกเป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียว แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ ถ้าในวันหนึ่งไม่มีนกเงือก ก็ไม่ใช่เพียงสัตว์ชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ไป นกชนิดนี้หมายถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อมนุษย์เราด้วย

ปลุกหัวใจ คนไทยพิทักษ์ป่า วัชรบูล ลี้สุวรรณ

ผมเป็นคนชอบเรียนรู้ ไปได้มันทุกที่ ลงไปฮาลา-บาลาครั้งแรก ผมไปเรียนรู้เรื่องชุมชน อ.บันนังสตา ธารโต บางลาง มีปัญหามีระเบิด ผมอยากรู้ว่าคนอยู่อย่างไรในชุมชน อยากนำเสนอเรื่องราวคนในพื้นที่ ซึ่งไปเกี่ยวพันกับผืนป่าผืนนี้ที่กว้างใหญ่มาก 389,813 ไร่ คือป่าดิบชื้นสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาค หรือบนโลกใบนี้ก็ว่าได้ กระทิง ผมเจอตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปเลย

ป่าลึกมาก ในป่าเราต้องนั่งเรือ โทรศัพท์มือถือใช้ไม่ได้ ต้องใช้วิทยุตำรวจสื่อสารผ่านฐานการทำงาน นั่งเรืออย่างเดียวก็ใช้เวลาหลายชั่วโมงแล้ว เดินป่าเข้าไปอีกเป็นวันๆ เพื่อจะเข้าไปดูแหล่งที่อยู่อาศัยของนกเงือก ป่าฮาลา-บาลา เป็นเส้นการบินไปสู่ป่าห้วยขาแข้ง นกจะอพยพลงมาแล้วก็กลับไป เป็นแบบนี้ทุกๆ ปี จำนวนแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน สัตว์ป่าเหล่านี้มันคือความยิ่งใหญ่นะครับ” นิธิ กล่าวย้ำสิ่งที่ต้องการสื่อถึงคนรุ่นนี้ให้รับรู้

ดาราระดับพระเอก วัชรบูล ลี้สุวรรณ มาร่วมงานนี้ในฐานะช่างภาพสัตว์ป่า รีบออกตัวว่าเป็นเพียงมือสมัครเล่น แต่เมื่อเขาโชว์รูปให้ดู ก็รู้ถึงความรักจริง

ปลุกหัวใจ คนไทยพิทักษ์ป่า

“ผมชอบเข้าไปใช้ชีวิตในป่า ชอบความเงียบสงบ และชอบสัตว์ป่า ตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ ชอบเสือโคร่ง ช้าง ก็เริ่มจับกล้องถ่ายรูปสัตว์พวกนี้ ป่าที่แรกคืออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กางเต็นท์แคมป์พะเนินทุ่ง แคมป์บ้านกร่าง ก็ได้เจอทั้งช้างป่า นกเงือกก็ได้เจอที่นี่”

วัชรบูล บอกพร้อมเสียงหัวเราะว่าไม่มีสไตล์ ถ่ายภาพไปเรื่อยเปื่อย ถ่ายในสิ่งที่ชอบ ส่วนใหญ่ก็จะได้รูปธรรมชาติ ภาพสารพัดสัตว์ ติดกล้องกลับมาทุกครั้ง

“ผมต้องการสื่อภาพป่าเมืองไทย มีอะไรดีๆ กว่าที่เรารู้เยอะนะครับ เช่น เรื่องการอนุรักษ์พวกเสือโคร่ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เป็นสถานีวิจัยที่ได้รับการยอมรับว่าเก่งมากในระดับโลก ทีมวิจัยศึกษานกเงือก ของ ศ.พิไล พูลสวัสดิ์ ก็ได้รับการยอมรับระดับโลกเช่นกัน ซึ่งเราไม่ได้รับรู้ข่าวพวกนี้เพราะไม่ใช่ข่าวกระแสหลัก ผมถ่ายภาพนกเงือกได้ทั้งที่แก่งกระจาน ป่าอีกแห่งคือห้วยขาแข้ง

ส่วนใหญ่จะเป็นนกเงือกสีน้ำตาล นกกก นกเงือกกรามช้าง เวลานกเงือกบินกระพือปีกเสียงดังมาก จึงเห็นง่าย ยิ่งช่วงที่ลูกไทรสุก นกบินมากิน เราก็ไปนั่งรอถ่ายรูปกลมกลืนกับธรรมชาติ

ภาพประทับใจที่สุด คือ ภาพเสือโคร่งถ่ายจากเลนส์ซูม เป็นความสนุกที่ผมได้จากการถ่ายภาพ แต่สิ่งที่ผมต้องการสื่อคือประเทศของเรามีป่าไม้แจ๋วๆ อยู่นะครับ เพราะฉะนั้นพวกเราต้องช่วยกันดูแลครับ” วัชรบูล บอกทิ้งท้ายในงานที่จัดเพื่อสืบสานการอนุรักษ์ป่า คนรุ่นใหม่ร่วมงานคึกคัก

ปลุกหัวใจ คนไทยพิทักษ์ป่า