posttoday

เรื่อง(อยาก)เล่าของนักข่าวชายขอบ

11 ตุลาคม 2553

ได้ยินกันมานานโขแล้วกับคำว่า “คนชายขอบ”คำสั้นๆ แต่กินความหมายลึกซึ้งสะเทือนใจ

ได้ยินกันมานานโขแล้วกับคำว่า “คนชายขอบ”คำสั้นๆ แต่กินความหมายลึกซึ้งสะเทือนใจ

เรื่อง อินทรชัย พาณิชกุล

ได้ยินกันมานานโขแล้วกับคำว่า “คนชายขอบ”คำสั้นๆ แต่กินความหมายลึกซึ้งสะเทือนใจ อันหมายถึงคนกลุ่มเล็กๆ ที่ด้อยโอกาส ถูกทิ้งขว้างหมางเมิน ไม่ได้รับการเหลียวแลจากสังคม

เรื่อง(อยาก)เล่าของนักข่าวชายขอบ

ไม่ว่าจะคนเร่ร่อนจรจัด โสเภณีริมฟุตปาท ขอทานพิการในเมืองใหญ่ หรือชาวป่าชาวเขาไร้สัญชาติบนดอยสูง น้ำตาชาวอีสานผู้ถูกเอาเปรียบจากนายทุนเจ้าของที่ดิน วิถีชีวิตไร้แผ่นดินทำกินของชนเผ่ามอร์แกนแห่งทะเลอันดามัน จนถึงพี่น้องมุสลิมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐที่สามจังหวัดชายแดนใต้

หลากหลายชีวิตอันเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมทั่วทุกหนแห่งบนผืนแผ่นดินไทย ล้วนสะท้อนความเป็นคนชายขอบของพวกเขาเหล่านี้ได้อย่างแจ่มชัด

คนชายข่าว คนชายขอบ พ็อกเกตบุ๊กเล่มบางๆ แต่หนักแน่นด้วยเรื่องราว รวบรวมงานเขียนเชิงสังคม 20 ชิ้น จากจำนวนกว่าร้อยในช่วงเวลา 6 ปีเต็ม จากหน้าคติชน ทุกวันอาทิตย์ในหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ถ่ายทอดประสบการณ์จริงอันเข้มข้นโดย ภาสกร จำลองราช นักข่าวหนุ่มใหญ่วัย 40 ผู้รอนแรมไปยังสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ยอดดอยสูงทางภาคเหนือ บนผืนดินแตกระแหงภาคอีสาน ใต้ชายคาตึกระฟ้าเมืองกรุง บนเกาะกลางทะเลอันดามัน จนถึงดินแดนร้อนระอุปลายด้ามขวาน

“เป็นเรื่องจริงที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ อันเป็นผลมาจากการพัฒนาที่มันผิดที่ผิดทางสะสมมานาน ทอดทิ้งคนต่างจังหวัด ทอดทิ้งชุมชน ไปกระจุกกันอยู่แค่ตรงกลาง นั่นจึงทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันขึ้น ตามมาด้วยการเอารัดเอาเปรียบ ความไม่เป็นธรรม คนกลุ่มเล็กๆ น้อยๆ กลุ่มหนึ่งจึงประสบกับความทุกข์ยากลำบาก”

ภาสกร ไปรับฟังคนเล็กๆ ก่อนขุดคุ้ยเบื้องลึกเบื้องหลัง แล้วนำมาตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ และการเอารัดเอาเปรียบที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่ได้รับการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างตรงไปตรงมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“บางทีมันก็น่าเศร้าใจ เพราะกระบวนการยุติธรรมเข้าไม่ถึง สังคมไทยมีปัญหาเรื่องนี้อยู่เยอะพอสมควร อีกทั้งคนมีอำนาจในบ้านเมืองก็ไม่ใส่ใจลงมาแก้ไขดูแลอย่างจริงจัง”

“ผมจึงตั้งคำถามว่า ในฐานะผู้สื่อข่าวเราจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้อย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นการเดินทางลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหา ไปพูดคุย ขุดคุ้ย ติดตามเรื่องราวเหล่านั้น ผมคิดว่าข้อเขียนของเราสามารถมากดดัน ผลักดันให้พวกเขาได้รับความเป็นธรรมได้อย่างเห็นผล แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ดูแล้วเราก็ภูมิใจ”

นั่นคือที่มาของสารคดีเชิงข่าวเนื้อหาหนักแน่น แต่เรียบเรียงด้วยสำนวนภาษาเรียบง่าย บรรยายเรื่องราวที่ประสบพบเจอออกมาได้อย่างตรงใจ ครบถ้วนทุกประเด็น

การได้ลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่ ได้เห็นกับตา ได้ยินกับหู ไปเปิดใจรับฟังเรื่องราวปัญหาสารพัดของคนชายขอบทั่วทุกภูมิภาค แม้บริบทของแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันออกไป ความซับซ้อนของปัญหาที่ไม่เท่ากัน แต่ก็ทำให้เขาได้เห็นภาพของสังคมไทยได้ทั่วถึง

“ทุกๆ ปีผมยังแวะเวียนไปชุมชนต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ชาวเล หรือที่สามจังหวัดภาคใต้ เราทิ้งไม่ได้ ด้วยจิตวิญญาณความเป็นนักข่าวเราต้องติดตามตลอด เพราะรูปแบบปัญหามันแตกตัวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ไปทำข่าวแล้วกลับมานอนกอดข่าวตัวเองภาคภูมิใจว่าเขียนเสร็จแล้ว ตีพิมพ์แล้ว แต่กลับไม่รู้ว่าชาวบ้านเขาเป็นอย่างไร งานชิ้นนั้นส่งผลกระทบต่อชาวบ้านแค่ไหน มันถือว่าเราขาดความรับผิดชอบต่อเขาหรือเปล่า

ข่าวทุกข่าวผมตั้งเป้าหมายกับตัวเองเสมอว่ามันจะต้องเห็นโจทย์อะไรบางอย่างได้ในอนาคต บางเรื่องอาจไม่ต้องถึงระดับนโยบาย บางเรื่องแค่ให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเท่านั้นก็จบไป จะตั้งความคาดหวังไว้มากบ้างน้อยบ้าง แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีเป้าหมาย และต้องพยายามเกาะติด กัดจิก ฝ่าฟันทุกวิถีทางเพื่อให้ไปถึงเป้าอันนั้น”

นี่คือวิธีคิดปฏิบัติที่เขายึดถือในการทำงานมาตลอดระยะเวลา 16 ปีในอาชีพผู้สื่อข่าว

 ความสุขใหญ่ๆ ของนักข่าวตัวเล็กๆ คนหนึ่งพึงจะได้รับ ภาสกร เผยความรู้สึกจากใจว่า การเดินทางไปทำข่าวไม่สำคัญเท่ากับการได้เรียนรู้ชีวิต ได้ข้อคิดที่ทำให้ความคิดเขาตกผลึกไปเรื่อยๆ จนพัฒนาจิตใจยกระดับความเป็นมนุษย์ขึ้นไปอีก

“ยิ่งทำงานก็ยิ่งทำให้เราตัวเล็กลง แต่หัวใจกว้างใหญ่ขึ้น ผมว่าเกิดเป็นคน ทำตัวให้เล็กเข้าไว้ แต่ทำให้ใจมันใหญ่ แล้วจะมีความสุข”

คนชายข่าว คนชายขอบ หนังสือเล่มบางๆ นอกจากทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงเรื่องน่าสลดหดหู่ ที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำระหว่างมนุษย์ด้วยกันแล้ว ยังสะท้อนภาพงดงามอีกแง่มุมหนึ่งว่า การใช้ชีวิตติดดินร่วมกับมนุษย์ผู้ยากไร้นั้นเป็นสิ่งประเสริฐยิ่งนัก