posttoday

ร้านอาหารไทย สยายปีกปักธงรบในต่างแดน

13 กุมภาพันธ์ 2561

ธุรกิจร้านอาหารไทยจำนวนไม่น้อยที่สยายปีกไปเติบโตในต่างแดนจนประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม

 

หลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีแต่แบรนด์อาหารจากต่างชาติที่รุกคืบเข้ามาทำตลาด โกยเงินจากกระเป๋าผู้บริโภคบ้านเราเท่านั้น แต่มีธุรกิจร้านอาหารไทยจำนวนไม่น้อยที่สยายปีกไปเติบโตในต่างแดนจนประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม

เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับเจ้าของธุรกิจอาหารที่กำลังมีแผนในใจว่าจะก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน พาแบรนด์ไปชิมลางในตลาดต่างประเทศ ลองไปดูกลยุทธ์จากสองแบรนด์ร้านอาหารสายเลือดไทยอย่าง เกรย์ฮาวน์ คาเฟ่ ที่ล่าสุดไปไกลกว่าเอเชียรุดไปเจาะตลาดยุโรป ประเดิมเปิดสาขาแรกที่ลอนดอนเมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะที่บาร์บีคิว พลาซ่า แบรนด์ปิ้งย่างในวัย 30 ยังแจ๋ว จับมือกับมาสเตอร์แฟรนไชส์ในกัมพูชา ผุดโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการเปิดบาร์บีคิวพลาซ่า เวอร์ชั่น “สแตนด์อะโลน” เป็นครั้งแรก

 

ยกแบงค็อก คาเฟ่ไปไว้ที่ลอนดอน

พรศิริ โรจน์เมธา กรรมการผู้จัดการ ผู้ร่วมก่อตั้ง และหนึ่งในผู้ถือหุ้น บริษัท เกรฮาวด์ และบริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ เผยถึงการเดินหน้าทางธุรกิจครั้งสำคัญว่า เพื่อต่อยอดความสำเร็จของเกรฮาวด์ คาเฟ่ ตลอด 20 ที่ผ่านมา เราตัดสินใจทุ่มเม็ดเงินลงทุนกว่า 150 ล้านบาท เนรมิต “เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน” เป็นแฟล็กชิปสโตร์ ใจกลางมหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นสาขาแรกในยุโรป

“เดิมทีเราคิดว่าจะเปิดได้ภายใน 6 เดือน แต่เอาเข้าจริงใช้เวลาถึง 2 ปี เพราะกว่าจะหาโลเกชั่นที่ลงตัว อยู่ตรงหัวมุมถนนเบอร์เนอร์ส สตรีท (Berners Street) ในย่านฟิตซโรเวีย (Fitzrovia) ซึ่งเป็นย่านแห่งไลฟ์สไตล์สุดฮิป อยู่ไม่ไกลจากโซโหได้ต้องใช้เวลาไปปี”

พรสิริ เปิดฉากเล่าถึงเส้นทางที่เป็นความท้าทายใหม่ในการทำธุรกิจอย่างออกรส เพราะที่ผ่านมา การขยายสาขาของเกรฮาวด์ คาเฟ่ ไปยังฮ่องกง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และอินโดนีเซีย ล้วนเป็นการขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ไม่ใช่การตั้งต้นจากศูนย์เช่นครั้งนี้

“การจะเปิดร้านอาหารในลอนดอน ไม่ใช่แค่กำเงินไปแล้วจะก็เปิดได้ เพราะเวลาจะไปประมูลเพื่อขอเช่าที่เขาต้องดูก่อนว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน ช่วงที่ไปใหม่ๆ เรายังคุยกับทีมเลยว่า เกร์ฮาวด์ คาเฟ่ อยู่เมืองไทยเราเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่แข็งแกร่ง แต่พอไปที่ลอนดอน เรากลายเป็น ‘นิวคิดส์’ ไปเลย เพราะฉะนั้นเราต้องพิสูจน์ศักยภาพของแบรนด์เราให้เขาเห็น”

ร้านอาหารไทย สยายปีกปักธงรบในต่างแดน

พรสิริ ยอมรับว่า กว่าจะได้ทำเลที่ใช่ ตกผลึกคอนเซ็ปต์เป็นเกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน ต้องอาศัยการทำวิจัยทางการตลาดเยอะมาก เพราะสูตรสำเร็จของเกรฮาวด์ คาเฟ่ ในประเทศไทย อาจใช้ไม่ได้กับที่ลอนดอน

“เราทำการบ้านเยอะมากตั้งแต่การเลือกโลเกชั่น เราเลือกที่นี่ เพราะเอเยนซีที่ลอนดอนแนะนำว่า ร้านอาหารในลอนดอน ถ้าจะสร้างแบรนด์ให้ดูชิก ต้องอยู่ในซอย ไม่ใช่ริมถนนใหญ่ ซึ่งจะถูกมองว่าเป็นร้านสำหรับนักท่องเที่ยว หรืออย่างเมนู ตอนแรกเราส่งเมนูของเกรฮาวด์ คาเฟ่ ที่ไทยไปให้ดู เขาบอกเลยว่าที่ลอนดอนไม่นิยมเมนูที่มีรูปภาพ เพราะจะดูเป็นร้านอีกระดับไปเลย ตอนนั้นเราก็คิดหนักนะ แต่เพราะเห็นว่า ด้วยคอนเซ็ปต์อาหารร้านเราที่ไม่ใช่ไทยจ๋า แต่เป็นแบงค็อกสไตล์ ลำพังแค่ใส่ชื่อเมนู ลูกค้าอาจไม่เข้าใจ สุดท้ายเราเลยตัดสินใจออกแบบเมนูที่มีรูป แต่หน้าตาเหมือนแมกกาซีนแล้วส่งกลับไปใหม่ ปรากฏว่าเขาโอเค และฟีดแบ็กจากลูกค้าก็ดีมาก เป็นที่กล่าวขานในหมู่บล็อกเกอร์ที่มารีวิวร้าน”

ด้าน ภาณุ อิงคะวัต ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลัก บริษัท เกรฮาวด์ และบริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ เสริมถึงที่มาของคอนเซ็ปต์ “แบงค็อก คาเฟ่” ว่าต้องการเป็นมากกว่าร้านอาหารไทย ต้องการนำเสนอประสบการณ์ในการกิน-ดื่มในรูปแบบของชาวกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง สะท้อนผ่านผลงานการตกแต่งร้านที่ยังคุมโทนสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ หยิบเอาเสน่ห์ของร้านโชห่วย พร็อพบ้านๆ ที่เห็นตามท้องถนนในกรุงเทพฯ รวมทั้ง “ไซดักปลา” ขนาดใหญ่ พร้อมฝูงปลาตะเพียนสานจากทองเหลืองมาเป็นกิมมิกในการแต่งร้าน   

“ในส่วนของเมนูอาหาร เรายังคงคอนเซ็ปต์อาหารไทยที่พลิกแพลงอย่างสร้างสรรค์ ด้วยส่วนผสมจากวัตถุดิบหลากหลาย มิกซ์แอนด์แมตช์ จนเกิดเป็นเมนูและรสชาติที่สร้างประสบการณ์ทางอาหารที่แปลกใหม่ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และเป็นจุดแข็งเบื้องหลังความสำเร็จที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานของเกรฮาวด์ คาเฟ่”

หลังจากเปิดตัวเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ภาณุ บอกว่า เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี จนทำเอาทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังอดภูมิใจไม่ได้ เพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่กับแบรนด์ แต่เหมือนกับเราได้นำธงไทยไปโบกสะบัดบนเวทีโลกได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เป้าหมายของเราจากนี้คือ ขยายสาขาในอังกฤษและยุโรปต่อไป

 

ร้านอาหารไทย สยายปีกปักธงรบในต่างแดน

 

อยู่ที่ไหนหัวใจเดียวกัน

บาร์บีคิว พลาซ่า แบรนด์ร้านอาหารปิ้งย่างชื่อดังของไทย ถือโอกาสที่แบรนด์เติบโตอย่าแข็งแกร่งจนอายุครบ 30 ปี เดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์ก้าวสำคัญของแบรนด์ ด้วยการร่วมมือกับ Express Food Group (EFG) บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้รับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ร้านบาร์บีคิว พลาซ่า ในกัมพูชา เปิดร้านบาร์บีคิว พลาซ่า ในรูปแบบ “สแตนด์อะโลน” ครั้งแรก

ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น ผู้บริหารแบรนด์บาร์บีคิว พลาซ่า กล่าวว่า บาร์บีคิว พลาซ่า มีการขยายสาขาไปยังต่างประเทศตั้งแต่ 13 ปีที่แล้ว ด้วยการร่วมทุนกับพันธมิตรในมาเลเซีย จนปัจจุบันมีถึง 17 สาขา ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ก่อนจะขยายไปที่อินโดนีเซียอีก 1 สาขา และล่าสุด เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เราได้เปิดให้บริการบาร์บีคิว พลาซ่า สาขาแรกในศูนย์การค้าอีออน มอลล์ (AEON Mall) ในกรุงพนมเปญ ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เราตัดสินใจเปิดสาขาสองในรูปแบบสาขาสแตนด์อะโลน

 

ร้านอาหารไทย สยายปีกปักธงรบในต่างแดน

 

“จากการทำงานกับพาร์ตเนอร์ที่มีประสบการณ์ตรงในการทำธุรกิจอาหารในกัมพูชามามากกว่า 10 ปี มีสาขาทั่วประเทศกว่า 50 สาขา โดยเกือบทั้งหมดนั้นเป็นสาขาในรูปแบบสแตนด์อะโลน ทำให้เราทราบว่าธุรกิจร้านอาหารในพนมเปญ ส่วนใหญ่นิยมเปิดในรูปแบบสแตนด์อะโลน เพราะจำนวนพื้นที่ในกัมพูชามีจำกัด ส่งผลให้มีจำนวนห้างสรรพสินค้าไม่มาก ร้านอาหารส่วนใหญ่จึงนิยมเปิดในรูปแบบสแตนด์อะโลน จนทำให้ผู้บริโภคคุ้นชินกับร้านแบบนี้ โดยเราเลือกปักหมุดในย่านทีเค แอเรีย (TK Area) ซึ่งแวดล้อมไปด้วยแหล่งที่พักอาศัยในระดับกลางค่อนไปทางสูง (Upper Middle Class) อีกทั้งยังมีทั้งโรงเรียนนานาชาติ สำนักงาน บริษัทต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมร้านอาหาร (Dining Destination) ของกรุงพนมเปญ 

นอกจากนี้ เพื่อให้บาร์บีคิว พลาซ่า สแตนด์อะโลน สาขานี้ มีความพิเศษมากขึ้นและตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในพื้นที่ที่นิยมการสังสรรค์เฮฮาหลังเลิกงาน เรายังได้เพิ่มพื้นที่สันทนาการด้วยห้องส่วนตัวจำนวน 2 ห้อง ขนาด 40 ที่นั่ง ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงให้บริการคาราโอเกะ หรือแม้แต่บริการตกแต่งพื้นที่ในธีมต่างๆ เพื่อรองรับการจัดงานปาร์ตี้สำหรับลูกค้าอีกด้วย

“ในอนาคต ฟู้ดแพชชั่น วางแผนที่จะสร้างแบรนด์บาร์บีคิว พลาซ่า ให้ขึ้นไปสู่การเป็นแบรนด์ระดับภูมิภาค (Regional Brand) และตั้งเป้าขยายสาขารวมไม่น้อยกว่า 30 สาขาทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี”

ด้าน แต๊ก-ศันสนะ ศศะนาวิน ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสหน่วยธุรกิจต่างประเทศและกฎหมาย ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการขยายและบริหารสาขาบาร์บีคิว พลาซ่า ในต่างประเทศ เสริมถึงเคล็บลับสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมองหาโอกาสที่ขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ไปยังต่างแดนว่า หัวใจสำคัญคือต้องเลือกพาร์ตเนอร์ที่ใช่

“ถ้าธุรกิจเปรียบเหมือนลูก เราจะวางใจให้ใครดูแลลูกเรา? เหตุผลที่เราตัดสินใจร่วมมือกับอีเอฟจี ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นบริษัทที่มีความผู้เชี่ยวชาญในการบริหารเชนธุรกิจอาหารในกัมพูชา แต่เพราะเขามีแนวคิดในการดูแลพนักงานคล้ายๆ กับเราที่ให้ความสำคัญเรื่อง “คน” มีการปูเส้นทางการเติบโตของพนักงาน และไม่มีอัตราการเทิร์นโอเวอร์สูงในตำแหน่งสำคัญ”

 

ร้านอาหารไทย สยายปีกปักธงรบในต่างแดน

เมื่อได้คู่หูทางธุรกิจที่ดีแล้ว ลำดับถัดมาคือ การรักษาความสัมพันธ์ที่ดี สิ่งที่จะทำให้สายใยความสัมพันธ์ของเรายั่งยืนคือ ไม่ใช่แค่การสร้างความประทับใจแรก แต่ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้น ซึ่งหลักการง่ายๆ ที่บาร์บีคิว พลาซ่า ใช้มี 3 ข้อ คือ ทำในสิ่งที่เขาคาดหวัง ทำให้ทันท่วงที และทำให้สม่ำเสมอ