posttoday

กรณ์ จาติกวณิช ‘อิงลิช ฟอร์ ออล’ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

10 กุมภาพันธ์ 2561

หลากหลายบทบาทของ กรณ์ จาติกวณิช ผ่านมาทั้งแวดวงการเงิน อดีตก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงได้รับการยอมรับเป็นผู้บุกเบิก "ฟินเทค"

เรื่อง...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

หลากหลายบทบาทของ กรณ์ จาติกวณิช ผ่านมาทั้งแวดวงการเงิน อดีตก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงได้รับการยอมรับเป็นผู้บุกเบิก "ฟินเทค" 

รวมถึงการจัดตั้งโครงการเกษตรเข้มแข็ง ที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างชาวนาและนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่ต้องการพิสูจน์ว่า ชาวนาไทย สามารถอยู่ดีกินดีได้ ด้วยการปลูกข้าวพันธุ์ดี โดยวิธีปลอดการใช้สารเคมี โดยอาศัยการขายตรงให้กับผู้บริโภค ที่พร้อมให้ราคากับสินค้าคุณภาพ และเกิดแบรนด์ข้าว "อิ่ม" ประสบความสำเร็จมาแล้ว

ล่าสุด กรณ์ กับเพื่อนๆ ได้ ริเริ่มโครงการ "อิงลิช ฟอร์ ออล" (English for All) ที่อยากเห็นเด็กไทย 1.5 ล้านคน สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

กรณ์ เปิดประเด็นเรื่องโครงการอิงลิช ฟอร์ ออล เขามองว่า เรื่องนี้สำคัญที่สุด เพราะต้นตอทุกปัญหามาจากการศึกษา

"ทุกคนก็ดีแต่พูดเรื่องการศึกษา แต่ก็ไม่มีใครให้ความสำคัญอย่างจริงจัง"

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาการศึกษาในวงกว้าง กรณ์ มองว่านำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำได้

"อิงลิช ฟอร์ ออล  เป็นโครงการที่ผมและเพื่อนๆ ในทีมบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตัดสินใจลงเงินลงแรงทำกันเองเมื่อ 3 ปีที่แล้ว  เบื้องหลังมาดูนโยบายการศึกษากัน เรื่องการปฏิรูปการศึกษาก็มีการพูดกันมาเยอะ เราก็มาคุยกัน เป้าหมายหลักของการปฏิรูปและผลลัพธ์ที่เราอยากจะเห็นการปฏิรูปการศึกษามันคืออะไรบ้าง ทักษะอะไรที่เราต้องการให้เด็กไทยมี

กรณ์ จาติกวณิช ‘อิงลิช ฟอร์ ออล’ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

มีข้อสรุปว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ทักษะเรื่องภาษา เราต้องการให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ เราก็มีเวลาที่จะต้องทดลองทำดู เพื่อเป็นคำตอบให้พวกเราว่า นโยบายที่จะนำไปสู่จุดนั้นจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง การที่ให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ควรจะต้องทำอย่างไร

เราก็มีไอเดียบ้างแล้ว และได้ไปดูงานที่มาเลเซียมาว่าเขาทำอย่างไร คนมาเลย์ถึงพูดได้ 2-3 ภาษา แล้วทำไมเราทำไม่ได้ และจากประสบการณ์ของเราเอง ที่เลี้ยงกันมาอย่างผม ผมพูดภาษาอังกฤษกับลูกผมมาตั้งแต่แรก  ภรรยาพูดภาษาไทย  เขาก็พูดได้ทั้งสองภาษาไม่มีความรู้สึกว่า ต้องเรียน คือพูดง่ายๆ เป็นคำตอบกับเราว่าเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือ

ข้อแรก ต้องสอนตั้งแต่วัยเยาว์ ยิ่งเด็กยิ่งดีเพราะสมองมันยังว่างและมีความยืดหยุ่นดี สามารถเรียนรู้ ยิ่งทางวิทยาศาสตร์ก็ศึกษามาแล้วว่ายิ่งเด็กยิ่งดี  ยิ่งโตยิ่งยาก ยิ่งโตยิ่งขี้อาย กลัวผิด

ข้อสอง ต้องให้เขาได้ใช้ภาษาได้จริง คนไทยเรียนแกรมม่า ไวยากรณ์ แต่พูดจาสื่อสารไม่ได้ การสอนจะต้องสอนให้มีการสื่อสารใช้ภาษาได้จริง

ข้อสาม ผู้สอนจะต้องพูดภาษาอังกฤษได้จริง  ซึ่งนี้ก็เป็นปัญหามาก ครูไทยที่สอนภาษาอังกฤษจำนวนมากพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ดังนั้นผมไม่เกี่ยงว่าครูที่จะสอนภาษาอังกฤษจะเป็นครูต่างชาติหรือครูไทย แต่ขอให้พูดภาษาอังกฤษได้

ข้อสี่ เวลาเรียนต้องเพียงพอ ซึ่งในกรณีโครงการอิงลิช ฟอร์ ออล เราก็กำหนดว่าจะต้องพูดภาษาอังกฤษวันละ 2 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน ก็คิดว่าน่าจะพอ

กรณ์ จาติกวณิช ‘อิงลิช ฟอร์ ออล’ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

และข้อห้า เปลี่ยนระบบการสอบ เพราะว่าเปลี่ยนรูปแบบการสอนไม่พอ จะต้องเปลี่ยนระบบการสอบด้วย เพราะว่าการสอบแบบเดิม เด็กก็จะต้องถูกบังคับให้เรียนแบบเดิม เพื่อให้สอบผ่าน ซึ่งความจริงเราต้องการเปลี่ยนการสอบด้วย ความหมายคือต้องย้อนกลับไปถึงเงื่อนไขหลัก เราต้องการให้เด็กพูดภาษาอังกฤษได้จริง

ความหมายคือตอนสอบเขาพูดได้จริงหรือเปล่า คำถามแล้วจะทำอย่างไร ต้องดูว่าเด็กวัยชั้นประถมศึกษา 3-4 ล้านคน เขาพูดได้จริงหรือเปล่า? และสอบอย่างไรให้มีมาตรฐานการสอบเดียวกันทั่วทั้งประเทศ"

กรณ์ บอกให้ลองนึกภาพดูถ้าสอบ ออกแบบสอบถามสัมภาษณ์ มาตรฐานครูแต่ละคนการให้คะแนนไม่เท่ากัน หรืออาจจะเรียนภาษาอังกฤษแบบไม่ต้องให้คะแนนเลย ก็อาจจะเป็นทางออกหนึ่ง เหมือนกับเป็นสกิลหรือทักษะหนึ่งเหมือนกับเล่นกีฬา เป็นกิจกรรมหนึ่งของโรงเรียนเท่ากับทดสอบทักษะการเล่นกีฬา แต่เป็นกิจกรรมสำคัญหนึ่งของโรงเรียนก็เป็นไปได้

"อีกวิธีหนึ่งเราใช้เทคโนโลยีในการสอบก็ทำได้ เรามีเอไอ เรามีโรบอท ซึ่งเด็กทุกคนสามารถที่จะทดสอบเรื่องการสนทนาภาษาอังกฤษผ่านมือถือได้ เป็นเรื่องไม่ยากเลย ตอนนี้มีแอพที่จีนนิยมมากมีการใช้กว่า 50 ล้านคน เป็นแอพที่ฝึกการพูดคุยกับหุ่นยนต์ที่มีการเพิ่มความฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ได้เลย"

กรณ์ เล่าว่าตั้งใจไปเลือกโรงเรียนเด็กยากจนแห่งหนึ่งที่ จ.พิษณุโลก ชื่อ โรงเรียนสะพานที่ 3 ช่วงแรกจ้างครูฟิลิปปินส์ 2 คน เริ่มที่ชั้นอนุบาล 1 และขยับขึ้นมาเรื่อยๆ เป้าหมายโครงการนี้ 6 ปี เริ่มตั้งแต่อนุบาล 1 จนถึง  ม.4

"เราก็คิดว่าน่าจะมีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่แน่นพอ ตอนนี้เด็กรุ่นแรกก็อยู่ ป.2 ในช่วงที่ปลายเดือน ธ.ค. 2560  ท่านนายกรัฐมนตรีเดินทางไป ครม.สัญจร ที่ จ.พิษณุโลก นั้น ท่านก็ได้มอบหมายให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ไปดูงานโครงการอิงลิช ฟอร์ ออล ซึ่งท่านเป็นหมอจิตวิทยาเด็กและมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ ถ้าจะประเมินโครงการนี้ ท่านก็เหมาะสมที่สุดที่จะประเมินโครงการนี้ได้ ท่านไปชมโครงการแล้วประทับใจมาก เห็นเด็กฟังและสามารถพูดตอบเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องคิดเลย แสดงว่าเด็กเริ่มที่จะรับรู้ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองแล้ว มันต่างกันระหว่างภาษาต่างประเทศกับภาษาที่สองของเรา เราพยายามสร้างเป็นภาษาที่สอง

กรณ์ จาติกวณิช ‘อิงลิช ฟอร์ ออล’ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ก็มีการแถลงข่าวและมอบหมายเป็นนโยบายกับข้าราชการว่า จะสนับสนุนโครงการอิงลิช ฟอร์ ออล ผมได้ชี้แจงว่าโครงการนี้เป็นโครงการนำร่องถ้าประเมินผลแล้วน่าจะขยายโครงการนี้ไปทั่วประเทศไทยได้"

กรณ์ แสดงความตั้งใจว่าจะกำหนดแผนว่าในระยะแรก อยากให้โรงเรียนที่มีโครงการอิงลิช ฟอร์ ออล ตำบลละ 1 โรงเรียนอย่างน้อย ก็ประมาณ 7,000 ตำบล โดยเฉลี่ยแต่ละโรงเรียนน่าจะมีครู 3 คน เงินเดือนครูคนละประมาณ 3 หมื่นบาท  ก็ใช้งบประมาณปีละ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก ที่จะทำให้เด็กที่อยู่ในโครงการรวมประมาณ  1.5 ล้านคน พูดภาษาอังกฤษได้

"ผมถือว่าเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่า ทั้งนี้ รมว.ศึกษาฯ ได้สั่งการว่าเริ่มโครงการนี้เลยในปีการศึกษาปีหน้า ถ้าจัดสรรงบประมาณปีนี้ไม่ทัน ให้ใช้เงินประชารัฐ ด้านการศึกษาที่มีเอกชนลงขันไปแล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท ตอนนี้เงินดี ดูเหมือนเจตนาตั้งใจดี ประสบการณ์ก็มี เพราะฉะนั้นหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ในส่วนของเราก็ตัดสินใจตั้งแต่แรกว่าจะไม่กั๊กเอาไว้ ยิ่งเริ่มเร็วก็เป็นประโยชน์ของเด็ก ผมเคยนั่งคำนวณเล่นๆ  ว่าถ้าเราดูรายได้ช่วงนี้ในการทำงานของคนไทย มาเปรียบเทียบกันคนที่อยู่ในสถานะเดียวกัน แต่คนหนึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ อีกคนหนึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ รายได้ต่างกัน 10 เท่า หรือมากกว่านั้น ที่เราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ สาเหตุส่วนหนึ่งก็คือเรื่องทักษะ และทักษะที่สำคัญก็คือเรื่องภาษา เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะมอบโอกาสนี้ให้กับเด็กไทยได้ทุกคน และโอกาสหลายอย่างที่ดีจะตามมา

ผมยกตัวอย่าง สิ่งหนึ่งที่เราคาดไม่ถึง คือผลสอบโอเน็ตของเด็กภาษาอังกฤษไม่ต้องพูดถึง เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก จากปีก่อนที่เราจะเข้าไป 20% เทียบกับเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 40% ก็ต่ำมากอยู่แล้ว 1 ปีผ่านไป ค่าเฉลี่ยคะแนนสอบโอเน็ตขึ้นมา 40% เท่ากับค่าเฉลี่ยของโรงเรียนทั่วประเทศ จากนั้นอีก 1 ปี ค่าเฉลี่ยโรงเรียนขึ้นมา 60% กลายเป็นโรงเรียนที่มีผลการสอบภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดในประเทศ"

กรณ์ จาติกวณิช ‘อิงลิช ฟอร์ ออล’ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

กรณ์ ยังเล่าอย่างภูมิใจว่า สิ่งที่คาดไม่ถึงคือผลสอบของทุกวิชาดีขึ้นทุกปี

"ก็มาตั้งคำถามว่าทำไม? ก็มีหลากหลายเหตุผล พอเรานำเสนอให้ รมต.ธีระเกียรติ ท่านบอกว่าไม่แปลกใจ เพราะเป็นเรื่องจิตวิทยา เมื่อเด็กมีความสนุก มันอินกับกิจกรรมการเรียนรู้ มันจะมีผลต่อทัศนคติของเด็กทุกกิจกรรมที่เขาทำ เช่นเดียวกันถ้าเด็กไม่แฮปปี้ เรื่องอะไรก็แล้วแต่ก็จะฉุดผลการเรียนได้เหมือนกัน เหมือนอุปทานหมู่

นอกเหนือจากนั้นที่ผมสังเกต พอมีครูพันธุ์ใหม่เข้ามา เป็นครูต่างประเทศ วิธีการสอนอาจจะสดกว่ามีความแตกต่างวิธีการแบบเดิมในระบบข้าราชการไทย มันเหมือนเป็นตัวช่วยกระตุ้นครูไทยคนอื่นให้มีความกระตือรือร้น เหมือนกับมีไฟลุกโชนกลับคืนมา มันก็ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนโดยทั่วไปดีขึ้นด้วย ผลต่อชุมชนก็คือตอนนี้ทุกคนแย่งกันส่งลูกเรียนโรงเรียนนี้ จากปีที่เราเข้าไปมีนักเรียน 200 กว่าคน ตอนนี้มีนักเรียน 370 คน

สิ่งที่ผมเน้นว่าอย่ามอบงบประมาณนี้ให้กับทางหน่วยงานราชการ เพราะจากประสบการณ์ของเราพบว่าโครงการนี้ที่ประสบความสำเร็จได้ เพราะว่าผู้อำนวยการโรงเรียนเอาด้วยและเข้าใจ ชุมชนเข้าใจและสนับสนุน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาใช้เงินประมาณปีละ 1-2 ล้านกว่าบาท  ซึ่งเป็นเงินที่เราลงขันกันเองและเงินบริจาค ที่สำคัญทุกปีชาวบ้านมีการทอดผ้าป่าเพื่อสนับสนุนโครงการนี้กันด้วย และมีเงินจากชาวบ้านกันเอง มาสมทบทุนให้กับโรงเรียนประมาณปีละ 1 แสนบาท  ซึ่งแม้ว่าไม่ได้เป็นสัดส่วนที่มาก แต่ด้วยเจตนา ผมมองว่าทำให้ชาวบ้านเหมือนกับเป็นเจ้าของร่วมและหวงแหนกับโครงการนี้ ทำให้ทั้งชุมชนและโรงเรียนมีความเข้มแข็งขึ้น

ดังนั้น อยากจะให้โรงเรียนเอาเงินไปบริหารเอง จัดหาครูต่างประเทศเอง ไม่ต้องไปผ่านเอเยนต์ นายหน้าหาตัวแทนจะถูกกินเปอร์เซ็นต์หมด  ส่วนการประเมินผลทางกระทรวงอาจจะตั้งหน่วยงานขึ้นมาประเมินผล ก็มีอยู่แล้วหรือถ้าใช้เงินประชารัฐ ก็ให้เอกชนเข้ามาประเมินผลก็ได้  มาช่วยติดตามประเมิน หรือสนับสนุนด้วย มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเราก็พยายามที่จะผลักดันโครงการนี้ต่อไปให้เลือกโรงเรียนที่ยากจนที่สุดในแต่ละตำบล  เราควรที่จะให้โอกาสเขาก่อน"