posttoday

ความสุขสไตล์ 'ชาวสวน' เหรียญอีกด้านของ อลงกรณ์ พลบุตร

27 มกราคม 2561

หลังเฟดตัวจากถนนการเมือง อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

โดย ธนพล บางยี่ขัน

หลังเฟดตัวจากถนนการเมือง อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ที่ดำรงตำแหน่งสุดท้ายในฐานะอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผันตัวไปใช้ชีวิตเป็น “เกษตรกร” อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ กับสารพัดโครงการที่กำลังเดินหน้าและหลายโครงการเริ่มสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง

ทุกวันนี้ เขาแบ่งชีวิตเป็น 3 ส่วน คือ 1.เป็นอาจารย์สอนหนังสือ  ตามหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง และสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัยต่างๆ 2.เป็นผู้บริหาร บริษัท 2-3 บริษัท ทั้งบริษัทที่เกี่ยวกับอินโนเวชั่น โลจิสติกส์ อี-คอมเมิร์ซ  และ 3.ชาวสวน ควบคู่ไปกับการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ความสุขสไตล์ 'ชาวสวน' เหรียญอีกด้านของ อลงกรณ์ พลบุตร

“อลงกรณ์ฟาร์มแอนด์รีสอร์ท” บนพื้นที่ 66 ไร่ จ.เพชรบุรี ถือเป็นฐานที่มั่น ซึ่งอดีตนักการเมืองที่เคยใช้ชีวิตโลดโผนคร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 20 ปี  เล่าให้ฟังว่าทุกวันนี้ใช้เวลากว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ทั้งปลูกเมล่อน ปลูกผักออร์แกนิก เลี้ยงล็อบสเตอร์น้ำจืด และกำลังปลุกปั้นการท่องเที่ยวอนุรักษ์ 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้ง “ศูนย์สืบสานศาสตร์พระราชา” ที่มี 11 ฐานการเรียนรู้ บนพื้นที่ 11 อาคาร และ อาคารกลาง ที่จะบอกเล่าศาสตร์พระราชาโครงการ อันเนื่องจากพระราชดำริ เช่น โซลาร์เซลล์ พลังงานลม มีกังหันลมตั้งอยู่เพื่อสูบน้ำทำการเกษตร  และการท่องเที่ยว

รวมทั้งผลิตผลอื่นๆ อาทิ  “น้ำส้มควันไม้” สารปราบศัตรูพืชที่เป็นชีวภาพ ฟาร์มเห็ด ฟาร์มไส้เดือน ผลิตปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้คนที่มาเที่ยวพักผ่อนได้เรียนรู้และเข้าใจศาสตร์พระราชา มีสวนพฤกษชาติ  ซึ่งต้นไม้จะติดคิวอาร์โค้ด ให้ผู้มาพักโดยเฉพาะยังเจนเนอเรชั่นใช้มือถือกดเพื่อจะได้รับรู้ข้อมูล รู้จักต้นไม้ของไทย รู้คุณค่า เพื่อที่จะได้เกิดความรัก

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจหันมาทำการเกษตรนั้น อลงกรณ์ เล่าให้ฟังว่า  ปกติเป็นคนชอบธรรมชาติ ชอบปลูกต้นไม้ จริงๆ ก็ไม่ชอบแสงสีเสียง โดยเฉพาะปี่กลองการเมือง อยู่มานาน รู้สึกว่าเราน่าจะมาอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ให้เป็นโมเดล แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เป็นทั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ความสุขสไตล์ 'ชาวสวน' เหรียญอีกด้านของ อลงกรณ์ พลบุตร

“ต้องเริ่มจากความรักความชอบก่อนแล้วจะไปได้ด้วยดี ต้องใฝ่รู้ใฝ่เรียนศึกษาค้นคว้า อย่างเมล่อนตัวเองเป็นคนชอบกินเมล่อน เคยมีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นหลายครั้ง พอดีเพื่อนคนหนึ่งทำฟาร์มเมล่อน จากนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ศึกษา และนำมาปลูกที่นี่ พัฒนาสร้างแบรนด์ของตัวเองคือ ไดยะมอนโดะ ที่แปลว่าเพชร”

อดีต สส.เพชรบุรี อธิบายว่า ประเพณีการตั้งชื่อเมล่อนมักจะตั้งชื่อตามเมืองที่ปลูก อย่างเมล่อนยูบาริ ก็คือเมล่อนที่ปลูกที่เมืองยูบาริ  เหมือนส้มโอนครชัยศรี ต้นตาลเมืองเพชร ไดยะมอนโดะ มาจากไดมอนด์ เพราะปลูกที่เพชรบุรี จากนั้นก็มาทำแพ็กเกจจิ้ง ทำแบรนดิ้ง และมีขายออนไลน์ด้วยส่วนหนึ่ง

ทุกอย่างต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่  ทั้งการปลูก การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ดูแลรักษา โดยเฉพาะพันธุ์ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น ที่ต้องดูแล ทั้งสภาพอากาศ ดิน แมลง ศัตรูพืช  ต่างจากสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่พัฒนาในเมืองไทย จะปลูกง่ายหน่อย  เพราะมีภูมิต้านทานอยู่แล้ว รสชาติก็ใกล้เคียงกัน ถ้าพันธุ์ญี่ปุ่นเป็นพันธุ์แชมป์ พันธุ์ที่พัฒนาในเมืองไทยก็เป็นรองแชมป์ ซึ่งอาจารย์ที่ดีที่สุดก็คือ ต้นเมล่อน ที่จะเป็นครูคอยสอนเรา  หรือหากมีปัญหาก็ไลน์คุยกับเพื่อนที่ญี่ปุ่น 

“ถามว่าดูแลยากไหมต้องบอกว่าดูแลยิ่งกว่าลูก  ต้องดูใกล้ชิด  เข้าสวน 6 โมงเช้า ออก 6 โมงเย็น เพราะถ้าจะดูให้ได้เพอร์เฟกต์ จริงๆ ต้องลงไปดูอย่างใกล้ชิด หนึ่งต้น หนึ่งลูก จากหลายๆ ลูก ต้องเลือกคัดให้เหลือหนึ่งลูก  เพราะฉะนั้น พลาดไปแค่ครึ่งวันก็เสียหายได้ บางทีก็เจอราน้ำค้าง บางวันก็เจอเพลี้ยไฟ  หรือศัตรูพืชอื่น เพราะพวกนี้ลามเร็วมาก เราปลูกแบบกรีนเฮาส์ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง หากเจอราก็ต้องใช้สารปราบศัตรูพืชที่เป็นชีวภาพ”

ความสุขสไตล์ 'ชาวสวน' เหรียญอีกด้านของ อลงกรณ์ พลบุตร

“ความยากใดๆ ก็สู้ความพยายามไม่ได้” อลงกรณ์สรุป พร้อมอธิบายว่า ช่วงหลังๆ เริ่มอยู่ตัวก็เทรนคนขึ้นมาทำแทน และไปเริ่มทำเรื่องอื่นๆ อย่างเลี้ยงล็อบสเตอร์คอนโด ที่เป็นการเลี้ยงแบบสมัยใหม่  ทำเป็นศูนย์สาธิต ทดลองทำให้ต้นทุนต่ำมากที่สุด เพื่อให้ชาวบ้านทั่วไปได้เรียนรู้ทำเป็นอาชีพเสริม แม้แต่คนที่อยู่ในเมือง  ภาคเหนือ ภาคอีสาน ก็สามารถเลี้ยงได้ เป็นอาชีพที่ใช้พื้นที่น้อย แค่กล่องพลาสติกเรียงกันเป็นชั้นๆ เหมือนคอนโด โครงการต่อไปก็จะเลี้ยงปูทะเล คนภาคอีสาน ภาคเหนือก็สามารถมีปูทะเลกิน 

ทุกวันนี้ เริ่มมีกลุ่มต่างๆ มาดูงานเพื่อนำไปใช้ทำในพื้นที่อื่นๆ ทั้งคณะครู คณะเกษตรประเทศลาว  เพราะลาว เป็นแลนด์ล็อกไม่มีพื้นที่ออกทะเล เขาก็เห็นจากเว็บไซต์บ้าง ปากต่อปากบ้าง  กลุ่มที่เคยมาดูแล้วก็ไปบอกต่อๆ  กัน  ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากที่เราลงไปหาข้อมูลเองทั้งหมด ดูเว็บไซต์  ทีวีเกษตร  หนังสือ ไปคุยกับทางมหาวิทยาลัย หรือร่วมมือทำวิจัย  อย่างเช่น  เพลี้ยไฟ ซึ่งเป็นศัตรูพืชที่ประเทศไทยยังกำจัดไม่ได้ เราก็ร่วมมือกับคณะเทคโนโลยีเกษตร  มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ชะอำ ร่วมวิจัย กำจัดเพลี้ยไฟ ที่ทำมา 6 เดือน แล้วเริ่มเห็นผล

อลงกรณ์ เปรียบเทียบว่า บทบาทใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมนั้นเหมือนเป็นอีกด้านของเหรียญ  ที่ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น ได้อยู่ในพื้นที่ที่เรารัก  ได้ถ่ายทอดความรู้  เป็นศูนย์เรียนรู้ ชีวิตเปลี่ยนแต่ก็ยังเป็นคนเดิม  เหมือนสองด้านของเหรียญ

ส่วนจะหวนกลับสู่ถนนการเมืองหรือไม่นั้น  หากการเมืองยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับวงจรอุบาทว์ มีคอร์รัปชั่น ขายสิทธิ ซื้อเสียง  ยังไม่ปฏิรูป ไม่เปลี่ยนแปลงก็อาจจะทบทวนกลับมาต่อสู้อีกครั้ง

“ส่วนตัวผมปล่อยวางได้ทั้งหมด เป็นคนไม่ได้ยึดติดอะไรมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ได้มีความอยากได้อยากมี เป็นห่วงก็เพียงแต่ว่า การสืบสานการปฏิรูปให้เดินหน้าปฏิรูปประเทศ ยกระดับอัพเกรดให้ดีขึ้นกว่าเดิม หัวใจทั้งหมดอยู่ที่การปฏิรูปการเมือง เป็นหัวใจของการเดินหน้าประเทศ ถ้าบ้านเมืองไม่สงบ มีแต่แปลกแยก  แบ่งฝักแบ่งฝ่าย  มีการครอบงำพรรคการเมืองโดยนายทุน ผูกขาด และตอบแทนคืน ด้วยการคอร์รัปชั่น ยังเวียนว่ายตายเกิดในสิ่งเหล่านี้ ประเทศไม่มีทางเติบโตได้ เดินไปข้างหน้าได้ แต่เติบโตไม่ได้ เพราะผุกร่อนอยู่ข้างใน”

ความสุขสไตล์ 'ชาวสวน' เหรียญอีกด้านของ อลงกรณ์ พลบุตร

“ถ้าเป็นเช่นนี้ผมจะกลับไปต่อสู้อีกครั้ง รวมคนดีที่มีความรู้เข้าไปต่อสู้ เพื่อเปลี่ยนแปลง สู่การเมืองยุคสร้างสรรค์ให้ได้ นี่คือสิ่งเดียวที่จะกลับไป”

“นั่นคือจุดที่จะต้องออกจากจุดที่เราอยู่อย่างดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต คือการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เราอยู่ในบลูโอเชียน จะกลับไปเรดโอเชียนคงไม่มีใครประสงค์อยู่แล้ว”

อลงกรณ์ อธิบายว่า การกลับไปไม่ใช่ไปทำลายล้างใคร แต่ไปช่วยให้ก้าวพ้นหลุมโคลน หลุมทรายให้ขึ้นมาได้  ถ้าทุกคนไม่ช่วยก้าวขึ้นด้วยตัวเอง ปีนป่ายขึ้นมาเอง ระบบการเมืองก็ยังเหมือนเดิม คอร์รัปชั่นเหมือนเดิม เราต้องตีโจทย์นี้ให้แตกโดยไม่โทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงบนแนวทางการปฏิรูป   ก้าวข้ามระบบโครงสร้างเดิม ที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยเทียม ถ้าไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ประเทศก็เดินต่อไปไม่ได้