posttoday

อ่านการ์ตูน ทำให้เรียนเก่งได้จริงหรือ?

23 มกราคม 2561

การ์ตูนยังมีอิทธิพลต่อเด็กๆ ทุกยุค เพียงแต่เปลี่ยนแพลตฟอร์มจากกระดาษไปอยู่หน้าจอกระจกแบบออนไลน์แทน

เรื่อง : พริบพันดาว

วงการสื่อสิ่งพิมพ์กำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะหนังสือการ์ตูนร่วมสมัยที่มีวางจำหน่าย ต่างหายไปจากแผงและร้านหนังสือ สำนักพิมพ์การ์ตูนต่างๆ เป็นจำนวนมากต่างปิดกิจการไม่มีการพิมพ์หนังสือการ์ตูนออกมา เนื่องจากบรรดาเด็กรุ่นใหม่หันมาอ่านการ์ตูนบนแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนกันแบบออนไลน์เสียเป็นส่วนใหญ่

แสดงให้เห็นว่าการ์ตูนไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนแพลตฟอร์มจากกระดาษไปอยู่หน้าจอกระจกแบบออนไลน์แทน

การ์ตูนก็ยังมีอิทธิพลต่อเด็กๆ ทุกยุค แม้ปัจจุบันนี้การ์ตูนชุดความรู้ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กในยุคปัจจุบันอยู่ และเป็นเรื่องที่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองควรตรองและเข้าใจ

การ์ตูนให้อะไร? ในแบบฉบับ 'น้าต๋อย เซมเบ้'

ใน TEDxBangkok 2016 หัวข้อ "ไทม์แมชชีนการ์ตูน สู่ความฝันวัยเด็ก" โดยน้าต๋อย เซมเบ้-นิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์ ได้มาพูดสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการ์ตูนว่า 36 ปีกับการพากย์การ์ตูน ตัวเขาเองใฝ่ฝันถึงการพากย์การ์ตูนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ใช้แรงมานะทุ่มเททุกอย่างเพื่อจะมาเป็นนักพากย์การ์ตูน

"การ์ตูนสอนอะไรเราบ้าง การ์ตูนให้อะไรเราบ้าง การ์ตูนให้ความเป็นฮีโร่ในสมัยก่อน ไม่มีใครอยากเป็นผู้ร้าย การ์ตูนให้ความสนุกสนานในช่วงเวลาเด็กๆ ความใฝ่ฝันในอดีต พอโตขึ้นก็ลืมความรู้สึกถึงความสุขและคุณธรรมที่ได้จากการ์ตูนในอดีต การ์ตูนให้ความรู้สึกที่ดี ให้ความรู้สึกว่าต้องเป็นคนดีของสังคม"

น้าต๋อย พูดในคราวนี้ด้วยว่า ดูการ์ตูนเป็นความสุข เพ้อฝัน เขาเคยไปถามเด็กอนุบาลรัศมี เรียนชั้นอนุบาล 2 ถามว่าดราก้อนบอลกระโดดจากภูเขาโน้นไปภูเขานี้ หนูทำได้หรือเปล่า?

"เด็กตอบว่า บ้าหรือเปล่าน้า คนธรรมดาทำได้อย่างไร เด็กตัวขนาดนี้ 4 ขวบยังรู้เลย เด็กเขามีสามัญสำนึก มีวิจารณญาณในการดูหรืออ่านการ์ตูนอยู่แล้ว"

การ์ตูนทำให้เป็นสังคมของครอบครัว น้าต๋อย ย้ำว่าเป็นความอบอุ่นของครอบครัวสมัยก่อน การ์ตูนให้ความเป็นครอบครัว

"ลูกอยู่กับพ่อ มีความสุขกับแม่ แล้วการ์ตูนสอนสั่งให้เป็นคนที่มีคุณธรรมเป็นฮีโร่ ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี เด็กที่ดูการ์ตูนโตขึ้นไปเขาคงเป็นคนดีของประเทศชาติ เป็นการตอบของผมในช่วงปี 2530 ในการประชุมเรื่องการ์ตูนมอมเมาเยาวชนจริงหรือ? ที่คุรุสภา

อ่านการ์ตูน ทำให้เรียนเก่งได้จริงหรือ?

 

การ์ตูนสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับผู้คน มองในสิ่งที่ดีๆ แล้วก็จะได้สิ่งเหล่านั้นมา ลองนึกถึงวัยเด็กจะจุดพลังฮีโร่ขึ้นมาในใจเรา การเป็นฮีโร่ไม่ใช่การประสบความสำเร็จ แต่ความสุขของความฝันคือการได้ทำในสิ่งที่คุณอยากจะทำ นั่นคือความสุข ซึ่งไม่ใช่ความสำเร็จ นี่คือความสุขที่ได้รับจากการ์ตูน"

เหรียญทองวิทยาศาสตร์ เก่งกับการ์ตูน

"เพราะหนูชอบอ่านหนังสือค่ะ เริ่มต้นคุณแม่ซื้อหนังสือการ์ตูนความรู้ครอบครัวตึ๋งหนืดมาให้อ่าน หนูก็อ่านจนจบชุดรู้สึกว่ามันสนุกมาก หลังจากนั้นก็หาชุดอื่นๆ มาอ่านอีกเรื่อยๆ ที่หนูอ่านเป็นหนังสือการ์ตูนความรู้ที่มีความรู้เยอะมากทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์และความรู้รอบตัว เพราะ 1 เล่มต่อ 1 หัวข้อ เนื้อหาข้างในก็จะเจาะลึกเรื่องนั้นๆ ซึ่งทำให้หนูมีพื้นฐานมาก่อนเมื่อไปเรียนในชั้นเรียน

ในชั้นหนูก็ตั้งใจเรียน เมื่อครูพูดถึงเรื่องที่เรารู้มาก่อน ก็เหมือนช่วยทบทวนความรู้ของเรา หนูพยายามมาเรียนอย่างสม่ำเสมอไม่เคยขาด หากมีการสอบคุณแม่จะหาข้อสอบเก่ามาให้ทำทุกวัน วันละ 10 ข้อ หากเนื้อหาตรงไหนหนูไม่เข้าใจคุณแม่ก็ช่วยอธิบายให้หนูฟังจนเข้าใจ หนังสือการ์ตูนความรู้อ่านง่ายและสนุก คุณแม่จึงไม่เคยห้าม หนูว่างเมื่อไหร่ก็จะหยิบมาอ่าน แต่ก็ต้องทำการบ้านจนเสร็จก่อนด้วยนะคะ"

เป็นคำบอกเล่าของ ด.ญ.อาทิชา ไตรรงค์ทอง อายุ 9 ขวบ ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ จ.ลำปาง ที่สามารถคว้าเหรียญทองชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศ ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประจำปี 2560 จากโครงการประเมินและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า TEDET มาครอง

ด.ญ.อาทิชา ยังมีผลการเรียนและรางวัลอีกมากมายมาช่วยยืนยันว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนที่ได้เกรด 4.00 มาตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาลจนถึงปัจจุบัน ชนะเลิศการประกวดตอบคำถามวิชาการประเภททีม ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชนะเลิศอันดับ 1 ของ จ.เพชรบูรณ์ สาขาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จาก TEDET ปี 2559 และสอบได้คะแนนรวมสูงสุด อันดับ 1 ของ จ.เพชรบูรณ์ ในวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-ป.3) ในปี 2559 จากโครงการสอบแข่งขันวัดความรู้ความสามารถทางวิชาการ Top Test Center เมื่อตอนเรียนอยู่ ป.2 โรงเรียนเซนต์โยเซฟศรีเพชรบูรณ์

อ่านการ์ตูน ทำให้เรียนเก่งได้จริงหรือ?

 

ถึงแม้ ด.ญ.อาทิชา จะต้องย้ายโรงเรียนตามคุณพ่อบ่อยๆ เพราะคุณพ่อรับราชการเป็นผู้พิพากษา แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ กับผลการเรียน ซึ่งผลงานที่ผ่านมานั้นถือเป็นรางวัลที่สั่งสมมาให้สามารถก้าวสู่ระดับประเทศในที่สุด

พญ.กัณต์กัลยา ตัณชวนิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู คุณแม่ของ ด.ญ.อาทิชา บอกว่า โดยส่วนตัวอยากให้น้องเอ่เอ้สนใจภาษาจีน จึงหาหนังสือการ์ตูนมาให้อ่าน

"เลือกครอบครัวตึ๋งหนืดตะลอนทัวร์ตอนหนีห่าวเมืองจีนมาให้อ่าน เราดูเนื้อหาภายในแล้วตัวละครน่ารักดี มีความรู้สอดแทรกตลอดทั้งเล่ม เนื้อหาไม่หนักอ่านง่าย ที่สำคัญคือไม่มีคำพูดหยาบคาย พอลูกอ่านก็ชอบมากเป็นเล่มแรกที่อ่านเองได้จนจบ จากนั้นลูกก็อยากอ่านเล่มอื่นๆ อีกและซื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มบ้านเป็นร้อยๆ เล่ม"

เมื่ออ่านการ์ตูนเยอะๆ อ่านไปอ่านมาปรากฏว่า ด.ญ. อาทิชา ชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ คุณแม่ของเธอก็ส่งเสริมไปในทิศทางที่ลูกชอบ

"เราก็ไม่ห้ามค่ะ อยากอ่านอะไรเราก็ส่งเสริม ก่อนซื้อเราจะอ่านเพื่อคัดกรองก่อนเสมอ ที่ผ่านมาไม่เคยบังคับให้อ่าน หรือต้องเรียนพิเศษเสริม แต่เราเชื่อว่าการอ่านจะทำให้น้องเกิดจินตนาการ ฝึกเรื่องการอ่านให้คล่อง และยังทำให้ไม่เครียด อีกทั้งจดจำได้ดีกว่าการเรียนพิเศษ เพราะถ้าเรียนพิเศษต้องกำหนดเวลาและทำให้เครียดกว่า ในขณะที่หนังสือการ์ตูนก็สอนความรู้เหมือนกัน แต่สามารถหยิบมาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้"

วิธีการส่วนตัวของ พญ.กัณต์กัลยา ที่ทำให้ลูกสาวเรียนเก่งคือ ให้อ่านเยอะๆ แต่ต้องไม่เครียด

"เราจึงเลือกหนังสือการ์ตูนความรู้ให้อ่าน ซึ่งเหมือนเป็นการอ่านเพื่อผ่อนคลาย แล้วยังได้ความรู้ไปด้วย ส่วนทีวีจะให้ดูเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ หลังทำการบ้านเสร็จแล้ว ให้ดูประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก่อนสอบประมาณหนึ่งเดือนจะให้ทำข้อสอบเก่าประมาณวันละ 10-15 ข้อ เพื่อทบทวน

แต่ถ้าวันไหนไม่อยากทำก็ให้อ่านหนังสือเล่มที่อยากอ่าน หรือเปิดยูทูบดูเรื่องที่สนใจ และมีข้อตกลงร่วมกันว่า ถ้าสอบได้คะแนนระดับไหนจะได้รางวัลอะไรจากคุณแม่ เช่น พาไปเที่ยวสวนน้ำ ขอดูการ์ตูนทางยูทูบ ส่วนวันหยุดเราก็หากิจกรรมทำร่วมกันไปเรื่อยๆ"

อ่านการ์ตูน ทำให้เรียนเก่งได้จริงหรือ?

 

เข็มทิศเมื่อลูกชอบอ่านการ์ตูน

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คอลัมนิสต์ด้านจิตวิทยา และนักวิจารณ์การ์ตูน ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องเด็กชอบอ่านการ์ตูนว่า การอ่านหนังสือการ์ตูนหรือนิยายภาพกราฟฟิก เป็นการส่งเสริมทักษะการอ่านให้ลูกเรียนรู้ได้ดีขึ้นด้วย

โดย นพ.ประเสริฐ ได้อ้างข้อมูลของ มิเชล กอร์แมน ผู้เขียน "Getting Graphic! Using Graphic Novels to Promote Literacy with Preteens and Teens" ที่อธิบายว่า การ์ตูนและภาพต่างๆ ในหนังสือก็เป็นนัยของเนื้อหาแบบหนึ่งที่ ช่วยต่อเติมความเข้าใจจากการอ่านได้ อย่างไรก็ตามลองมาดูการ์ตูนที่ลูกอ่านหน่อยก็ไม่เลว

1. เรื่องแบบไหนที่ลูกสนใจบางทีดูจากปกคุณอาจไม่รู้ ลองถามเขาเล่นๆ ก็ได้ว่า เป็นเรื่องของอะไร อย่างน้อยคุณจะได้รู้แนวที่ลูกชอบ

2. ดูสำนักพิมพ์ลองสังเกตดูว่าสไตล์เรื่องที่ลูกชอบนั้นเป็นหนังสือของสำนักพิมพ์อะไร ถ้าหากว่าสำนักพิมพ์นั้นผ่านมาตรฐาน ของคุณ ต่อไปลูกจะได้เลือกซื้อหนังสือได้ง่ายขึ้น

3. ลองอ่านด้วยแฟนการ์ตูนญี่ปุ่น ลองอ่านไปด้วยก็จะดีไม่น้อย แต่หากไม่สามารถทำได้ สิ่งที่ควรทำคือ ไม่ให้ลูกหมกมุ่นกับการ์ตูนมากเกินไปจนกระทบกิจกรรมจำเป็นอื่นๆ ที่เขาต้องทำก็ แล้วกัน

นอกจากนี้ นพ.ประเสริฐ เคยให้สัมภาษณ์ถึงการ์ตูนว่า มีความปรารถนาดีต่อการ์ตูนจึงเขียนวิจารณ์การ์ตูนออกมาให้คนอ่าน ตั้งใจเขียนให้คุณพ่อคุณแม่อ่านเพื่อลดทัศนคติที่เป็นลบของพ่อแม่ลงบ้าง ให้เข้าใจเด็กๆ ที่อ่านการ์ตูนหรือติดการ์ตูนมากขึ้น อย่าไปตำหนิเด็กมากเกินไป อยากให้สังคมมองการ์ตูนในแง่ดี อยากให้เด็กๆ อ่านแล้วคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป ได้อะไรมากอีกนิดนอกจากความสนุก