posttoday

กรกิจ ดิษฐาน ไขรหัสประวัติศาสตร์

07 มกราคม 2561

ในเพจบน Facebook ชื่อ Kornkit Disthan มีหลายคนที่ติดตามอ่านงานเขียนของ “กรกิจ ดิษฐาน”

โดย นกขุนทอง ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

ในเพจบน Facebook ชื่อ Kornkit Disthan มีหลายคนที่ติดตามอ่านงานเขียนของ “กรกิจ ดิษฐาน” ซึ่งแสดงทัศนะนานา โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่นำเกร็ดแง่มุมต่างๆ มานำเสนอ แต่นอกจากงานเขียนในพื้นที่สื่อสาธารณะ เขายังมีผลงานหนังสือมาแล้วหลายเล่ม

หนังสือ “วิญญูชน คนยุทธจักร” ใช้นามปากกาว่า “จอหงวนคะนอง” เขียนให้กับปล่อยสำนักพิมพ์ ว่าด้วยการวิเคราะห์เบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ของนิยายกำลังภายใน เขียนโดย กิมย้ง ซึ่งถ้าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้จริงๆ หลายคนไม่รู้ว่าคือนามปากกาของกรกิจ และเขาก็ไม่ได้บอกกล่าว อีกเรื่องเป็นงานแปลจากวรรณกรรมจีน “วิวาห์นางจิ้งจอก” เรื่องนี้ขายดิบขายดี จะพิมพ์ครั้งที่ 2 พร้อมกับเล่ม 2

“ผูสงหลิงมีเรื่องสั้นตั้ง 400-500 กว่าเรื่อง ผมว่าจะค่อยๆ แปลไปจนครบ น่าจะได้สัก 10 กว่าเล่มแปลไทย แต่งานแปลยาก โดยเฉพาะการแปลจากภาษาจีนวรรณกรรม หรือ เหวินเหยียน ไหนจะต้องทำเชิงอรรถอีก ผมเลยทิ้งงานนี้ไว้ก่อน”

นอกจากนี้ ยังมีงานแปลบทกวีของ ที.เอส.เอลเลียต The Waste Land และกำลังแปลงานใหญ่ของเจมส์ จอยซ์ อยู่เล่มหนึ่ง คืบหน้าพอสมควร แต่งานวรรณกรรมมันขายยาก เพราะคนอ่านน้อยไม่เหมือนงานประวัติศาสตร์

ส่วนงานชุดล่าสุด เป็นแนวชีวประวัตินักดาบคนสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เล่มแรก ฮิโตะคิริ 4 มือสังหาร อุดมการณ์ปฏิวัติ ว่าด้วยประวัติมือสังหาร 4 คนที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของญี่ปุ่น

กรกิจ ดิษฐาน ไขรหัสประวัติศาสตร์

เล่มที่ 2 อิโต อิตโตไซ ดาบเดียวพิฆาต ว่าด้วยประวัติของอิโต อิตโตไซ นักดาบพเนจรที่เป็นบูรพาจารย์ของนักดาบรุ่นหลังที่วางรากฐานวิชาเคนโด ชื่อของอิตโตไซคนทั่วไปอาจไม่รู้จักนัก แต่ในหมู่ผู้ที่สนใจวิชาดาบและศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นจะรู้จักดี

ทั้งสองเล่มนี้เขียนยากพอสมควร เพราะไม่มีข้อมูลในภาษาไทยเลย ผมต้องค้นข้อมูลทั้งอังกฤษและญี่ปุ่นอย่างหนักหน่วงกว่าจะได้มา ทั้งสองเล่มจึงเป็นงานที่รักเพราะทุ่มเทกับมันอย่างสูง

เล่มที่ 3 คือ มิยะโมะโตะ มุซาชิ ดาบพเนจรไร้พ่าย ว่าด้วยเรื่องราวของมุซาชิ นักดาบที่โด่งดังที่สุดของญี่ปุ่น เล่มนี้ขายดีมากเพราะไม่ยากในการประชาสัมพันธ์ต่างจากสองเล่มก่อนที่คนไม่ค่อยรู้จัก

นอกจากนี้ยังมีเล่มที่ 4 ว่าด้วยพวกยางิว ตระกูลนักดาบสำคัญ ที่คนรู้จักกันแพร่หลายพอสมควร ในบรรดาทั้ง 4 เล่มนี้ ผมคิดว่า ยางิวเป็นเล่มที่รู้สึกสนุกกับการเขียนที่สุด (จะตีพิมพ์เร็วๆ นี้)”

สังเกตได้ว่า ผลงานของกรกิจทุกเล่มเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ซึ่งเขาได้ไขปมนี้ว่า “ประวัติศาสตร์เหมือนนิทาน ใครบ้างละไม่ชอบนิทาน อีกอย่างมันเหมือนการเล่าเรื่องที่ถูกปกปิดไว้ ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังฟังเรื่องซุบซิบที่น่าตื่นเต้นเร้าอารมณ์ แต่เป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ความจริงของประวัติศาสตร์ก็มีหลายแง่มุม เวลาผมจะเขียนเล่าอะไรสักอย่างต้องบอกให้ชัดว่ามาจากปากคำของฝ่ายไหน เพราะเรื่องเล่าเรื่องเดียวกันอาจไปกันคนละทางหากมาจากปากคำของคนอื่นๆ”

ประวัติศาสตร์ชาติใดที่สะกิดใจกรกิจที่สุด คำตอบหนีไม่พ้น ประเทศไทย “ไม่มีอะไรที่จะเร้าใจไปกว่าเรื่องของไทย เพราะความเป็นไทยผสมผสานจากความหลากหลาย ทุกวันนี้ไทยก็ยังรักษาความหลากหลายเอาไว้อย่างมั่นคง แต่ที่ทำให้ไทยน่าตื่นเต้นคือประวัติศาสตร์ไทยคลุมเครืออย่างที่สุด มันจึงเอื้อต่อการวิเคราะห์และตีความ การตีความเป็นเหมือนกีฬาเอ็กซ์ตรีมของนักวิชาการ ยิ่งได้ข้อมูลที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ยิ่งมีทักษะในการเขียนและเล่า ยิ่งรู้สึกฟิน นอกจากไทยแล้วผมยังสนใจเรื่องของเอเชียทั้งหมด เรื่องตะวันตกผมก็ถนัด และเริ่มต้นความสนใจจากภูมิภาคนี้มาก่อน แต่ตอนนี้รามือไป”

ในงานเขียนกรกิจได้นำประวัติศาสตร์มาสอดแทรกรัดพันเกี่ยวโยงประหนึ่งเรื่องจริงเดียวกัน “งานเขียนของผมไม่ใช่นิยาย แต่เป็นสารคดีประวัติศาสตร์ แต่อย่างที่บอกไว้ บางครั้งประวัติศาสตร์ก็คล้ายนิยายหากเล่าจากปากคำของหลายฝ่ายจนเกินไป แน่ล่ะ มีวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เป็นมาตรฐาน แต่สุดท้ายแล้ว ความจริง (สัตยะ) เป็นเพียงการรับรู้ของแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ผมเชื่อว่ามโนทัศน์ของมนุษย์มีจำกัด จะทำให้คนอื่นเชื่อมโนทัศน์ของเรามีแต่การโน้มน้าวเท่านั้น ไม่ว่าจะโน้มด้วยเหตุผล กำลัง หรืออคติก็ตาม”

ส่วนข้อเขียนในเพจ กรกิจยังขยันเขียนลงอย่างต่อเนื่อง “ผมมีความคิดอย่างหนึ่งว่าไอ้เรามันก็พอจะมีความรู้อยู่บ้าง น่าจะเผยแพร่ให้คนอื่นได้รู้บ้าง ไม่ได้หวังเงินทองอะไร หวังแค่ทำประโยชน์ให้สาธารณะเท่าที่จะทำได้ พอมีโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็เริ่มเขียนเรื่องที่มีสาระลงเฟซบุ๊ก เขียนมาตั้งแต่ปี 2013 จนคนเริ่มติดตาม โดยเฉพาะบทความแนวแสดงทัศนะคนจะชอบอ่านเป็นพิเศษ อัตราการแชร์ก็มาก คนที่มาติดตามก็ยิ่งมาก

กรกิจ ดิษฐาน ไขรหัสประวัติศาสตร์

จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยชอบแสดงความเห็นในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพราะเหนื่อยที่จะต้องมาตอบคนโน้นทีคนนี้ที ช่วงหลังเลยตัดสินใจว่าใครอยากอ่านทัศนะของผมต้องอ่านจากหนังสือพิมพ์เท่านั้น (M2F /โพสต์ทูเดย์)

ในโซเชียลเน็ตเวิร์กจะเน้นความรู้แปลกๆ ที่น่าสนใจ ทีนี้พอมีคนติดตามมาก ก็มีสำนักพิมพ์มาติดต่อขอให้เขียนเรื่องที่ผมถนัด คือพวกประวัติศาสตร์ เกร็ดความรู้ต่างๆ อย่างสำนักพิมพ์ยิปซีที่พิมพ์หนังสือชุดซามูไรที่เขียนขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ ทั้ง 3 เล่ม รอ เล่มที่ 4 ในอีกไม่นานเกินรอ

ผมชอบแนวความรู้ทั่วไป คำว่าทั่วไปนี่มันกว้างนะแต่ไม่รู้จะสรรหาคำไหนมานิยามจริงๆ เพราะผมชอบหลากหลาย ที่เขียนมากก็เรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา นิรุกติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม กลุ่มผู้อ่านก็ค่อนข้างหลากหลาย เพราะเจตนาของผมที่เขียนในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็เพื่อประโยชน์สาธารณะ เลยไม่มีเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น

เวลาเราทำอะไรด้วยเป้าหมายแบบนี้ ผลที่ได้รับมันจะน่าเหลือเชื่ออยู่เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญคือต้องรักษาความเป็นกลางเอาไว้ บางคนอาจคิดว่าผมสงวนท่าทีเกินไป ไม่แสดงจุดยืนทางการเมือง ไม่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง แต่ที่ผมสงวนท่าทีแบบนี้ก็เพื่อทำให้ทุกคนรู้สึกสบายใจเวลาอ่าน”