posttoday

เพิ่มโอกาสรอดชีวิต เมื่อหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

06 มกราคม 2561

การเสียชีวิตกะทันหันด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นได้ทันท่วงที

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล         [email protected]

 การเสียชีวิตกะทันหันด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นได้ทันท่วงที และที่น่าเสียใจไปกว่านั้น หากต้องพบเห็นผู้ที่เสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา ขณะที่รอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยที่ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย

 ปัจจุบันประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากโรคหัวใจเฉลี่ยปีละ 5.4 หมื่นคน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ

 จากข้อมูลเมื่อ 2 ปีที่แล้วของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติพบว่า มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นถึง 495 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

 ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) หมายถึงภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างทันที คือภาวะซึ่งหัวใจทำงานผิดปกติ จนกระทั่งไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นโดยทันที และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงร่างกายส่วนต่างๆ เกิดอาการของการทำงานผิดปกติที่อวัยวะต่างๆ

 ที่เห็นได้อย่างหนึ่งคือการทำงานของสมอง ซึ่งเมื่อไม่มีเลือดเลี้ยงทำให้หมดสติ การช่วยเหลือโดยการช่วยฟื้นชีวิตในทันที จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิต

 เพราะฉะนั้นบ่อยครั้งที่อาการแสดงแรกว่าเป็นโรคหัวใจ อาจเป็นอาการสุดท้ายและทำให้เสียชีวิตทันที หากมีหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันโดยไม่คาดฝันจนเสียชีวิตใช้ศัพท์ว่า Sudden Cardiac Death

 เมื่อมาดูสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากมีโรคหัวใจอยู่เดิมโดยที่คนป่วยอาจไม่ทราบ หรือไม่เคยตรวจมาก่อน และถ้าในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในหนึ่งชั่วโมงหลังมีอาการ เราจะเรียกภาวะนี้ว่า “Sudden Cardiac Arrest” ซึ่งภาวะนี้เกิดได้กับใครก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหัวใจ หรือมีโรคประจำตัวอื่นใดมาก่อน

เพิ่มโอกาสรอดชีวิต เมื่อหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจเต้นผิดปกติที่เรียกว่า Ventricular Fibrillation ในภาวะปกติหัวใจจะผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวอย่างเป็นจังหวะ ซึ่งจะส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่เมื่อเกิดหัวใจเต้นผิดปกติชนิด Ventricular Fibrillation กระแสไฟฟ้าที่ส่งออกจากหัวใจจะเร็วและไม่เป็นจังหวะจนทำให้หัวใจไม่บีบตัวและเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงร่างกายได้

 ผู้ป่วยจะหมดสติในไม่กี่วินาทีและเสียชีวิตในไม่กี่นาที แต่อาจจะช่วยให้ปลอดภัยได้ โดยการช็อกด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Shock) จากเครื่องมือที่เรียกว่า Defibrillator ซึ่งเดิมทีเครื่องมือชนิดนี้มีใช้เฉพาะในโรงพยาบาล หรือรถพยาบาล

 สำหรับคนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มักจะเกิดในคนที่ดูปกติและไม่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจมาก่อน แต่โดยความเป็นจริงแล้วเขาเหล่านั้นมักจะมีโรคหัวใจแฝงอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุหลักๆ คือ

 1.หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ ซึ่งพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และสูบบุหรี่

 2.กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (Low Ejection Fraction EF)

 คนทั่วไปอาจรู้จักแค่การทำซีพีอาร์ (Cardiopulmonary Resuscitation-CPR) คือการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ และมีการไหลเวียนออกซิเจนรวมทั้งเลือดกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยวิธีนี้จะเป็นการกดหน้าอกอย่างถูกต้องและทันท่วงที

 อย่างไรก็ตาม ยังมีเครื่องมือเออีดี (Automated External Defibrillator-AED) ซึ่งเป็นเครื่องวินิจฉัยการเต้นของหัวใจสามารถกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า อุปกรณ์นี้สามารถตรวจวัดค่าทางไฟฟ้าของหัวใจ และหากตรวจพบว่าผู้ป่วยนั้นมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติเครื่องก็จะมีเสียงแนะนำให้ผู้ใช้งานกดปุ่ม Shock เพื่อตัวกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า 

 การใช้งานเครื่องมือเออีดี ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการแพทย์ แต่จะต้องทำตามขั้นตอนที่ออกแบบมาให้สั้น รัดกุม โดยวางแผ่นโลหะ (Electrode Pads) ไว้ที่ตำแหน่งทแยงกลางหน้าอกตามภาพล่างนี้  เพื่อการปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้ากระตุกในทิศทางที่ถูกต้อง

 กัญญ์จรีย์ พระสิงห์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (N Health) บอกว่าในต่างประเทศนั้น การรับมือกับผู้ป่วยภาวะหัวใจวายหรือหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาลนั้น จะรอแต่เจ้าหน้าที่กู้ชีพอย่างเดียวไม่ได้ 

 “จากสถิติของประเทศญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกานั้นพบว่า หากประชาชนใช้เครื่องเออีดีในการช่วยชีวิตผู้ป่วยสลับกับการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน หรือซีพีอาร์ ก่อนที่ทีมแพทย์จะเดินทางเข้าให้ความช่วยเหลือ จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับประชาชนในประเทศของเขาได้ และสามารถช่วยผู้ป่วยให้รอดได้มากถึง 50%

 จากเดิมถ้าเราเริ่มต้นช่วยผู้ป่วยแล้วรอเจ้าหน้าที่กู้ชีพมารับเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตเพียงแค่ 27% แต่ถ้าใช้เครื่องเออีดี มาช่วยด้วยโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยก็จะมากขึ้นไปด้วย”

 การให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่ภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากในสภาวะความเป็นความตายนั้น ผู้ที่อยู่รอบข้างต้องมีสติในการช่วยเหลือ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเครื่องเออีดีได้ที่โทร. 02-762-4000