posttoday

วรรณกรรมเพลงไทยคลาสสิก ที่สุดแห่งรัตนโกสินทร์

03 มกราคม 2561

สืบเนื่องมาจากงานดนตรีสร้างสรรค์เชิงวิชาการที่ดิฉันพยายามรณรงค์ให้เกิดขึ้นมาตลอด

 

จากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มอบทุนอุดหนุนการวิจัยมนุษยศาสตร์ให้ทีมนักวิจัยดนตรีคุณภาพระดับแถวหน้าของเมืองไทยจำนวน 5 คน นำโดย ศ.ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ดำเนินการวิจัยโครงการวิจัยสร้างสรรค์ด้านดุริยางคศิลป์ชุดใหญ่เรื่อง “วรรณกรรมเพลงไทยคลาสสิกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ระยะเวลา 1 ปีครึ่ง (1 ก.ค. 2559- 31 ธ.ค. 2560) และวันที่ 24 พ.ย. 2560 สกว.ได้จัดสัมมนาปิดโครงการ โดย ศ.ดร.ณัชชา หัวหน้าโครงการและเจ้าของโครงการย่อย “สดับทิพย์ธรณินทร์” ได้นำทีมอาจารย์ดนตรีอีก 4 คน เสนอผลงานการประพันธ์เพลงและเรียบเรียงเพลงไทยเดิมทั้งสิ้น 50 เพลง นับเป็นผลงานเพลงไทยชุดใหญ่ในประวัติศาสตร์แห่งยุครัตนโกสินทร์เลยทีเดียว

งานวิจัยต่อยอดจากดนตรีสร้างสรรค์เชิงวิชาการ

ศ.ดร.ณัชชา กล่าวว่า โครงการชุดนี้ต้องการสร้างสรรค์บทเพลงไทยคลาสสิกด้วยการคัดสรรเพลงไทยเดิมบทสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์มาเรียบเรียงด้วยเทคนิคการประพันธ์เพลงของตะวันตกสำหรับวงดนตรีประเภทต่างๆ ผลงานสุดท้ายจากการวิจัยประกอบด้วยบทเพลง 50 บทเผยแพร่ในรูปของแผ่นบันทึกเสียง และโน้ตเพลงฉบับสมบูรณ์พร้อมคำอธิบายเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ด้านการประพันธ์เพลงที่เป็นแบบอย่างในระดับอุดมศึกษา

“สืบเนื่องมาจากงานดนตรีสร้างสรรค์เชิงวิชาการที่ดิฉันพยายามรณรงค์ให้เกิดขึ้นมาตลอด งานดนตรีสร้างสรรค์ก็คือการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีที่เพียบพร้อมด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการ เพื่อประสิทธิภาพด้านการเรียนการสอนและการพัฒนาด้านดนตรีที่ยั่งยืนในระดับอุดมศึกษาของไทย เริ่มจากงานวิจัยเรื่องมิติใหม่ของดนตรีสากลในประเทศไทย : ดนตรีสร้างสรรค์เชิงวิชาการซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว.เช่นกัน หลังจากงานวิจัยชุดใหญ่ซึ่งมีคณะนักวิจัยถึง 10 คน ก็มาถึงงานวิจัยต่อยอดชุดนี้ซึ่งยังคงดำเนินการในลักษณะเดียวกับงานดนตรีสร้างสรรค์เชิงวิชาการ คือนักวิจัยต้องสร้างสรรค์งานดนตรีออกมาเป็นเสียงเพลงและเขียนอธิบายองค์ความรู้ที่พบในกระบวนการทำงาน ต้องเผยแพร่องค์ความรู้ด้วย

วรรณกรรมเพลงไทยคลาสสิก ที่สุดแห่งรัตนโกสินทร์

เราสร้างสรรค์เพลงไทยคลาสสิกที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสากลในรูปแบบของวงดนตรีประเภทต่างๆ ได้ผลงานที่เป็นบทเพลงมาตรฐานสากล เผยแพร่ในระดับนานาชาติได้ และในฐานะที่ทุกคนเป็นอาจารย์ เราสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการประยุกต์ใช้ทฤษฎีดนตรีสากลในบริบทของเพลงไทย เราจัดทำโน้ตเพลงเผยแพร่ในระดับสากลพร้อมอรรถาธิบายที่แสดงความก้าวหน้าทางวิชาการซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ และผลพลอยได้ที่แยบยลคือทำให้คนไทยรุ่นหลังรู้จักเพลงไทยเดิมบทสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้เกิดกลวิธีในการอนุรักษ์ สืบทอดและต่อยอดเพลงไทยเดิมอันเป็นสมบัติทรงคุณค่าของชาติ เราคัดเลือกเพลงไทยเดิมมา 40 เพลง นักวิจัยเลือกเพลงซ้ำกันบ้าง ทำให้ได้บทเพลงเรียบเรียงมาทั้งสิ้น 50 เพลง ส่วนทำนองเพลงเก่าไม่ทราบนามผู้ประพันธ์มีถึง 23 เพลง อาจแต่งขึ้นในยุครัตนโกสินทร์หรือก่อนนั้น แต่เรารวบรวมมาเรียบเรียงให้เกิดขึ้นใหม่ในยุครัตนโกสินทร์”

ศ.ดร.ณัชชา กล่าวว่า บทเพลงส่วนหนึ่งเป็นที่คุ้นหูเพราะถูกนำมาแต่งเป็นเพลงไทยสากลและเพลงลูกทุ่ง ในโครงการนี้ใช้ชื่อเพลงตามต้นฉบับเพื่อให้เกียรติผู้แต่ง เมื่อจำแนก 40 เพลงตามผู้ประพันธ์เพลง พบว่าเป็นเจ้านาย 5 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม มีบางเพลงลิขสิทธิ์เพลงที่ยังไม่หมดอายุ ทางโครงการได้รับความกรุณาจากมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ และมูลนิธิมนตรี ตราโมท ในพระราชูปถัมภ์ฯ

“ตัวอย่างชื่อเพลงไทยที่อยู่ในโครงการนี้ เช่น เขมรชมดง เขมรปี่แก้ว เขมรพวง เขมรลออองค์ แขกต่อยหม้อ แขกบูชายัญ แขกปัตตานี จีนลั่นถัน ชมแสงทอง ทองย่อน ธรณีร้องไห้ นางครวญ น้ำลอดใต้ทราย ปฐมดุสิต พม่าเห่ พราหมณ์ดีดน้ำเต้า มอญดูดาว มอญรำดาบ มะลิซ้อน ลาวจ้อย ลาวสวยรวย ลาวสองคอน วิลันดาโอด โศกพม่า สาลิกาชมเดือน หกบท”

การสร้างสรรค์ดนตรีจากใจและมุมมองของนักวิจัย

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ศิลปินศิลปาธร ผู้ประพันธ์เพลง “ซิมโฟนีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” กล่าวว่า “ผมมองเพลงไทยผ่านแท่งแก้วปริซึม แสงสวยๆ ที่ออกมาจากปริซึม เป็นความงามที่ผมเห็นแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นเสียงเพลงที่ผมเขียน ผมเลือกเพลงที่เป็นบทพระราชนิพนธ์ของเจ้านายชั้นสูง 4 พระองค์มาเป็นชื่อท่อน” โดยเพลงที่อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์เลือกมาคือ เพลงราตรีประดับดาว (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 7) เพลงบุหลันลอยเลื่อน (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2) เพลงเขมรลออองค์ (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 7) และเพลงแขกมอญบางขุนพรหม (พระนิพนธ์ของทูลกระหม่อมบริพัตร)

ผศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ อาจารย์จุฬาฯ ที่มีผลงานดนตรีหลากหลายมากมาย ผู้อำนวยเพลง ผู้เรียบเรียงผลงานชุดสุนทราภรณ์ และนักไวโอลิน นักร้อง ในโครงการนี้ได้ทำโครงการย่อยสยามดุริยางค์เครื่องสาย ใช้ประสบการณ์ด้านการเรียบเรียงเสียงประสานนำเพลงไทยมาเรียบเรียงให้กับวงเครื่องสายฝรั่ง “ผมเพิ่มเครื่องดนตรีอื่นเช่น ฟลุต โอโบ เป็นเครื่องดนตรีเดี่ยวในบางเพลงด้วย มีเพลงที่ผมเขียนเป็นวงเครื่องสายกับไวโอลินเดี่ยว คือ เพลงแขกมอญบางขุนพรหม ใช้เทคนิคไวโอลินขั้นสูง ผมเลือกเฉพาะเพลงที่ตัวเองคุ้นเคย 12 เพลง รักทุกเพลงมานานแล้ว” 

วรรณกรรมเพลงไทยคลาสสิก ที่สุดแห่งรัตนโกสินทร์

 

ด้าน ผศ.ดร.พิมพ์ชนก สุวรรณธาดา นักเปียโน สอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้รับผิดชอบโครงการย่อย “สยามดุริยางค์เชมเบอร์” เริ่มทำเพลงในฐานะนักเรียบเรียงเพลงไทยเมื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่จุฬาฯ หลังจากนั้นกล้าที่จะผจญภัยมากขึ้นโดยเรียบเรียงเพลงไทยให้กับวงเชมเบอร์เล็กๆ โดยมีเปียโนเป็นเครื่องดนตรีในกลุ่ม รวมทั้งมาริมบาด้วย

“ตอนนี้มั่นใจมากขึ้นที่จะเขียนเพลง ทั้งหมดเกิดจากความรักที่มีต่อเพลงไทย เก็บเกี่ยวประสบการณ์จกการเรียนดนตรีไทยและดนตรีสากลมาตลอดชีวิต ได้อาจารย์ณัชชากับอาจารย์ณรงค์ฤทธิ์คอยแนะนำ รวมทั้งเพื่อนนักดนตรีทุกคนที่มาร่วมผลิตซีดีชุดนี้ ก็ช่วยได้มากด้านการตีความ ทำให้ขัดเกลาผลงานจนสำเร็จออกมาเป็นสยามดุริยางค์เชมเบอร์”

ขณะ ดร.ยศ วณีสอน เจ้าของโครงการย่อย “สยามดุริยางค์เครื่องลม” ได้เรียบเรียงเพิ่มเติมเพลงวิลันดาโอด โดยเพิ่มเครื่องดนตรีไทยในคอนเสิร์ต 130 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ออกแสดงโดยวงดนตรีเฟอโรชิ ฟิลฮาร์โมนิค วินด์ส แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร อำนวยเพลงโดย ยาสุฮิเดะ อิโตะ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2560 ณ ทามะ ชิมินกน ฮอลล์ เมืองคาวาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ตอนหนึ่งของการบรรยายกล่าวว่า “ผมเป็นคนเชียงใหม่ สำเนียงเพลงของผมทำอย่างไรออกมาก็ติดสำเนียงเหนือ ผมนำประสบการณ์จากการเล่นคลาริเน็ตและอยู่ในวงโยธวาทิตมาตั้งแต่เด็ก เล่นคลาริเน็ตมาตลอดชีวิต และได้สอนนักเรียนจำนวนมาก ควบคุมวงเครื่องลม มาเรียบเรียงเพลงให้เกิดเสียงใหม่ๆ ในผลงานชุดนี้”

ผลงานบันทึกเสียงด้วยแผ่นซีดีคุณภาพสูง

ในการทำงานชุดนี้จุดขายคือเสียง โครงการจบที่แผ่นบันทึกเสียง ไม่ใช่การแสดงคอนเสิร์ต เนื่องจากปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างสูงของยูทูบ ทำให้การฟังดนตรีอย่างตั้งใจด้วยหู ถูกลดทอนความสำคัญลง ผู้คนชินกับการดูคลิปในทุกกรณี

อาจารย์ณัชชาเสริมว่า “เมื่อตั้งใจจะให้ผู้คนหันมาฟังดนตรีอย่างจริงจัง เราจึงผลิตแผ่นซีดีด้วยคุณภาพสูง ใช้เทคโนโลยีในระดับสากล พิถีพิถันในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกนักวิจัย ต้องมีผลงานต่อเนื่อง ทำงานแบบมืออาชีพ ตรงเวลา นักดนตรีที่เราคัดเลือกมาบันทึกเสียงเป็นนักดนตรีฝีมือดี เราได้วิศวกรเสียงมือหนึ่งคือ คุณประทีป เจตนากูล มาบันทึกเสียงและมิกซ์เสียงให้ ปรับแต่งเสียงจนไพเราะ นั่นก็คือเสียงที่ส่งมอบให้ผู้ฟัง สุดท้ายคือ เราได้รับความกรุณาจาก ศ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ ออกแบบปกทั้งหนังสือและซีดีทั้งชุด งานของเราจึงออกมาทั้งสวยและไพเราะ”

คณะนักวิจัยทีมนี้เชื่อว่า ผลงานจากการสร้างวรรณกรรมเพลงไทยคลาสสิกชุดใหญ่จะมีผลกระทบสูงในวงการดนตรี จะเป็นแบบอย่างการสร้างงานดนตรีของอาจารย์มหาวิทยาลัย สามารถนำเสนอในงานสัมมนาทางวิชาการในระดับชาติและระดับนานาชาติได้ การเขียนโน้ตสากลทำให้วงดนตรีต่างชาติบรรเลงได้เพื่อการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ซีดีที่บันทึกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงจะเป็นสื่อสำคัญที่เผยแพร่เสียงเพลงไทยคลาสสิกได้ไม่จำกัด รวมทั้งการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

อนึ่งแม้ว่าผลงานตามเงื่อนไขของโครงการจะสิ้นสุดที่การผลิตซีดีเพื่อเผยแพร่เสียงเพลง แต่บางโครงการย่อยได้รับความสนใจเผยแพร่บนเวทีแล้ว เช่น ผลงานของอาจารย์ณัชชากับอาจารย์พิมพ์ชนกออกแสดงที่หอแสดงดนตรีจุฬาฯ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา โครงการสยามดุริยางค์เครื่องสายของอาจารย์นรอรรถจะออกแสดงที่จุฬาฯ ในวันที่ 5 ม.ค. 2561 ส่วนวันที่ 31 ม.ค. อาจารย์ณัชชาจะแสดงงานบางส่วนที่ มินาโตะ-กุ คูมิน เซ็นเตอร์ ฮอลล์ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับนักเปียโนชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา

หากใครสนใจผลงานชุดนี้ติดต่อได้ที่ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ (โทร. 02-218-4604) หรือที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (โทร. 02-278-8200 ต่อ 8354) เสียงเพลงชุดนี้จะเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตเร็วๆ นี้โดยใช้คำสืบค้นว่า “Rattanakosin Repertoire”