posttoday

สถานการณ์สัตว์ป่า...ผ่านเลนส์

31 ธันวาคม 2560

อีกหนึ่งปีกำลังจะสิ้นสุด ขณะที่วันเวลากำลังเดินทางไปข้างหน้า แต่สถานการณ์เรื่องสัตว์ป่ากลับถดถอย

เรื่อง เพ็ญแข สร้อยทอง ภาพ Brent Stirton

อีกหนึ่งปีกำลังจะสิ้นสุด ขณะที่วันเวลากำลังเดินทางไปข้างหน้า แต่สถานการณ์เรื่องสัตว์ป่ากลับถดถอย หลายสปีชีส์ยังคงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่อย่างนั้น เพราะมนุษย์ที่ไม่ยอมถอดวิญญาณนักล่า บูชาเงิน และเชิดชูความเชื่อที่ไม่อาจจะพิสูจน์ได้ว่าจริง

ด้วยภาพแรดดำจากพื้นที่ป่าสงวนในแอฟริกาใต้ ที่ถูกฆ่าเพื่อเอานอไปขายให้คนทำ "ยา" นี้บอกเล่าเรื่องราวและสถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้งชัดเจน ภาพนี้ถูกเลือกให้เป็นภาพสัตว์ป่าแห่งปี เป็นผลงานการลั่นชัตเตอร์ของ เบรนต์ สเตอร์ตัน เจ้าของรางวัลช่างภาพข่าวสัตว์ป่าแห่งปี ติดต่อกัน 3 ปี จากการ จัดมอบรางวัลของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งสหราชอาณาจักร

ภาพชื่อ อนุสรณ์สายพันธุ์ (Memorial to a Species) นี้ เบรนต์ถ่ายได้ระหว่างปลอมตัวไปทำงานเชิงสืบสวนสอบสวนเรื่องเกี่ยวกับการค้านอแรดอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่อุทยานฮลูฮลูเว-อัมโฟโลซี แอฟริกาใต้

นายพรานน่าจะเป็นชาวบ้านจากชุมชนใกล้ๆ อุทยาน พวกเขารับใบสั่งให้เข้ามาพื้นที่สงวนซุ่มเฝ้าแรดที่แหล่งน้ำ ก่อนยิงมันจนสิ้นชีวิตด้วยปืนล่าสัตว์ที่มีอานุภาพสูง แล้วจึงตัดนอและหลบหนีไป นอแรดจะถูกขายให้กับพ่อค้าคนกลาง และส่งต่อไปยังประเทศจีนหรือเวียดนาม เป็นสินค้าราคาสูงในหลายประเทศแถบเอเชีย เพราะเชื่อว่าสามารถนำไปผลิตเป็น "ยา" ที่รักษาได้สารพัดโรค แม้แต่มะเร็ง!

ทุกวันนี้ยังมีความต้องการนอแรดอย่างมาก จากการสำรวจในปี 2015 แรดดำมีหลงเหลืออยู่ในป่าประมาณ 5,000 ตัว และนักอนุรักษ์เชื่อว่าตัวเลขนี้ลดลงเรื่อยๆ เพราะมีการรุกล้ำป่าและล่าสัตว์มากขึ้น แรดดำจึงมีโอกาสสูญพันธุ์หากไม่มีการดูแลอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ

ช่างภาพมือรางวัล เบรนต์ สเตอร์ตัน เกิดที่แอฟริกาใต้ เขามีชื่อเสียงและได้การยอมรับในแวดวงสารคดีโลกมาเนิ่นนาน เขาทำงานให้เก็ตตี้อิมเมจ มีผลงานเผยแพร่ผ่านสื่อชั้นนำอย่างเช่น เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก, จีโอ, เลอ ฟิกาโร, เลอ มอนเด, วานิตี แฟร์, นิวส์วีก, ไทม์, เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ฯลฯ เคยร่วมงานกับองค์กรต่างๆ อาทิ องค์การสหประชาชาติ, องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล, มูลนิธิคลินตัน, มูลนิธิเกตส์, มูลนิธิไนกี, สภาเศรษฐกิจโลก เป็นต้น นอกจากทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม เบรนต์ยังสนใจประเด็นเรื่องเชื้อเอชไอวี/เอดส์ สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม และอื่นๆ

ผลงานของเบรนต์ถูกนำไปแสดงในหลายประเทศทั่วโลก เขาเคยนำทีมทำรายการโทรทัศน์ไปทำงานในอุทยานแห่งชาติวีรูงกา คองโก พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ภายหลังสารคดีเรื่องนี้ได้รับรางวัล เอ็มมีและบาฟตา สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ขณะเริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าว เบรนต์ พบว่า ไม่มีช่างภาพคนไหนต้องการลงพื้นที่ที่มีความขัดแย้งร่วมกับเขา ในวัย 22 ปี เบรนต์ จึงไปซื้อกล้องมือสองมา อ่านคู่มือ และหัดถ่ายภาพด้วยตัวเอง ก่อนเดินทางไปทำงานที่แอฟริกาใต้ รวันดา คองโก โซมาเลีย ฯลฯ เบรนต์ได้รับรางวัลสื่อมวลชนโลกครั้งแรกตอนอายุ 27 ปี และเขาไม่เคยวางกล้องตั้งแต่วันนั้น

หนึ่งในภาพถ่ายอันยอดเยี่ยมของเบรนต์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ ภาพกอริลลาหนักเกือบ 300 กก. 1 ใน 6 ลิงยักษ์ที่ถูกฆ่าที่อุทยานแห่งชาติวีรูงกา และเจ้าหน้าที่นับสิบกำลังแบกร่างมันออกจากป่า เป็นความสูญเสียอันสืบเนื่องมาจากการลักลอบทำเหมืองแร่ (เพื่อนำมาผลิตโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เพลย์ สเตชั่น ฯลฯ) อย่างผิดกฎหมาย เมื่อภาพนี้ตีพิมพ์ในนิวส์วีกและสร้างความรู้สึกสะเทือนใจแก่ผู้คนทั่วโลก

ปัจจุบัน เบรนต์ สเตอร์ตัน วัย 48 ปี ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเดินทางไปทั่วโลกราว 50 ประเทศ/ปี เขาทำงาน "สืบสวนสอบสวน" เป็นโครงการระยะยาวเกี่ยวข้องกับเรื่องสัตว์ป่า การอนุรักษ์ ความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม ในฐานะช่างภาพ เบรนต์ เชื่อว่า เขาสามารถช่วยโลก สังคม และผู้คนได้ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวสถานการณ์ต่างๆ "ผ่านเลนส์" (ชมผลงานอันน่าทึ่งของเขาได้ทาง brentstirton.com)

ภาพของเบรนต์บอกกับเราว่า การอนุรักษ์สัตว์ป่าไม่ได้เป็นแต่เพียงความรับผิดชอบของผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถช่วยได้ โดยไม่สนับสนุน (ทั้งทางอ้อมและทางตรง) ให้เพื่อนร่วมโลกของเราถูกมนุษย์คุกคาม รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าของสัตว์ป่า

เมื่อได้เห็นภาพถ่าย "อนุสรณ์สายพันธุ์" ของ เบรนต์ สเตอร์ตัน ผู้ชมจะสัมผัสรับรู้โศกนาฏกรรม ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกหลากหลาย ทั้งตกใจ เศร้าใจ สงสาร รวมทั้งรังเกียจความโหดร้ายของมนุษย์ ลูอิส แบล็คเวลล์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินภาพสัตว์ป่าแห่งปี บอกว่า "รูปถ่ายนี้จะดึงเราเข้ามา เชิญชวนให้เราสำรวจความรู้สึกตอบสนอง และความรับผิดชอบของเรา" n