posttoday

รู้จัก‘แฝก’ หญ้ามหัศจรรย์ มีดีมากกว่าคลุมดิน

18 ธันวาคม 2560

จากสายพระเนตรอันกว้างไกลในวันนั้น ยังประโยชน์ให้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

 

หลังจากที่ธนาคารโลกได้ส่งเสริมเรื่องการใช้หญ้าแฝกเป็นพืชป้องกันการชะล้างหน้าดิน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ในปี 2534 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกไว้มากมาย ด้วยทรงเล็งเห็นว่า หญ้าแฝกเป็นพืชที่ระบบรากลึก แผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นแผงเหมือนกำแพงช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษาและทดลองปลูกในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง

จากสายพระเนตรอันกว้างไกลในวันนั้น ยังประโยชน์ให้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน เพราะนอกจากหญ้าแฝกจะมีประโยชน์ช่วยป้องกันการพังทลายของดิน ไม่ให้หน้าดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์จนส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ใบของหญ้าแฝกยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากมายอย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง จนทำให้หญ้าแฝกได้รับการขนานนามว่าเป็น “หญ้ามหัศจรรย์” ที่ไม่ได้มีประโยชน์แค่เป็นพืชคลุมดิน ใช้ใบมุงหลังคา หรือสานตะกร้า แต่หญ้าแฝก...เป็นได้(แทบ)ทุกอย่าง   

 

รู้จัก‘แฝก’ หญ้ามหัศจรรย์ มีดีมากกว่าคลุมดิน

ทาสแมวต้องกรี๊ด ‘ที่นอนแมวจากหญ้าแฝก’

เพื่อตอบโจทย์คนรักน้องเหมียว ที่ยอมปวารณาตัวเป็นทาสแมว แต่ก็ยังไม่วายห่วงใยโลกใบนี้ทั้งหลาย จึงกลายเป็นที่มาของไอเดียสุดบรรเจิดของ รัฐพล อนุชิตานุกูล นักออกแบบผลิตภัณฑ์หนุ่มในการแปลงโฉมหญ้าแฝกสู่ที่นอนแมวสุดอีโค ที่ไม่มีดีแค่ดีไซน์ที่น่ามอง แต่ยังใช้งานง่าย แถมสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก

“ตอนนี้เทรนด์การออกแบบสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยงกำลังมา สะท้อนไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ที่หันมามองหาสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยงที่ต้องมีดีไซน์ ดีต่อโลก และยังสามารถใช้เป็นของแต่งบ้านได้ด้วย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเลือกนำหญ้าแฝกมาใช้เป็นวัสดุในการออกแบบที่นอนแมว โดยผมเลือกใช้หญ้าแฝกของ อ.ภูซาง จ.พะเยา เพราะศึกษาแล้ว พบว่า คุณสมบัติของหญ้าแฝกที่นี่ค่อนข้างอ่อนนุ่มและมีความยืดหยุ่นดี”

รัฐพล ดีไซเนอร์คนเก่ง ที่มีผลงานเข้าตากรรมการจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทสินค้าตกแต่งบ้านจากเวที “100 ดีไซน์ 2017 : เวทิเวอร์ ดีไซน์ คอนเทสต์” มาครองได้สำเร็จ กล่าวว่า เขาลงพื้นที่ไปที่ อ.ภูซาง เพื่อถ่ายทอดไอเดียให้ชาวบ้านช่วยสร้างสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานตามแบบที่ต้องการ โดยเขาเลือกออกแบบรูปทรงที่นอนแมวเป็นรูปวงกลม เพื่อให้ง่ายต่อการผลิตสะดวกต่อการสานลวดลายอย่างลายเม็ดข้าว ลายเม็ดแตง เนื่องจากชาวบ้านมีทักษะอยู่แล้ว ส่วนที่เป็นโดมแมวขึ้นด้วยผ้าแคนวาส เมื่อจับจีบจะทำให้ตั้งทรงอยู่ได้ มีสายรั้งขึ้นมาทำเป็นสายสะพายสามารถพาน้องแมวไปในที่ต่างๆ ได้

“ผมลงไปทำงานกับชาวบ้าน เพื่อคัดเลือกใบแฝกที่สามารถนำมาสานได้ จากนั้นนำไปผ่านกรรมวิธีตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการนำไปอบกำมะถัน เพื่อไล่ความชื้น ไม่ให้หญ้าแฝกขึ้นรา นอกจากนี้ยังใส่ไอเดียการดีไซน์ ด้วยการออกแบบให้ส่วนที่นอนกับโดมแยกชิ้นส่วนกันได้ เพื่อให้ง่ายต่อการขนส่งสามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้

 

รู้จัก‘แฝก’ หญ้ามหัศจรรย์ มีดีมากกว่าคลุมดิน

 

กระเป๋าหญ้าแฝก ทรงงอบ ล้อเกวียน กระบือ

จากของแต่งบ้านมาเอาใจสายแฟชั่น ด้วยกระเป๋าดีไซน์ชวนมองจากทีม Come Back Home ผลงานออกแบบของกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปี 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทสินค้าแฟชั่นจากเวที  “100 ดีไซน์ 2017 : เวทิเวอร์ ดีไซน์ คอนเทสต์” มาครอง เล่าถึงไอเดียการสร้างสรรค์ผลงานว่า ได้แรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตชาวบ้านอย่าง หมวกงอบ ล้อเกวียน และกระบือ นำมาต่อยอดสู่รูปทรงของกระเป๋า

“พวกเราลงพื้นที่ไป อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เพื่อศึกษา เรียนรู้ และทำงานร่วมกับชาวบ้านในการสานแฝกตามต้นแบบที่ออกแบบไว้ ซึ่งแฝกของที่นี่มีจุดเด่นตรงที่ใบสูงยาว เนื้อแฝกมันหนา นุ่ม โดยเราจะนำใบแฝกชั้นที่ 1-2 ซึ่งมีความนิ่มมาทำลายควั่นเกลียวชั้นที่ 3-4 มีความหนานุ่มมาทำลายสานลายเม็ดแตง และชั้นที่ 5 ซึ่งแข็งนำมาขึ้นโครงออกมาเป็นกระเป๋ารูปทรงที่งอบ เกวียน และกระบือ ตกแต่งด้วยหนังเทียมและโลหะรมควันดำ 

เศรษฐ์โภคิน เศรษฐ์สัตยาโภคิน ตัวแทนของทีม กล่าวว่า นี่เป็นผลงานออกแบบจากหญ้าแฝกครั้งแรก ทำให้รู้จักหญ้าแฝกซึ่งเป็นหญ้ามหัศจรรย์มากขึ้นจริง และหวังว่างานออกแบบครั้งนี้จะมีส่วนช่วยจุดประกายให้สินค้าจากหญ้าแฝกเป็นที่รู้จักและถูกใจกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น  

 

รู้จัก‘แฝก’ หญ้ามหัศจรรย์ มีดีมากกว่าคลุมดิน

 

เครื่องประดับสุดเก๋จากหญ้าแฝก

ต่อด้วยผลงานเครื่องประดับที่กล้าแตกต่างด้วยไอเดียอย่าง Heritage ผลงานการออกแบบของฐากร ถาวรโชติวงศ์ เจ้าของรองชนะเลิศจากเวทีเดียวกันเลือกนำแนวคิดจากเครื่องแขวนดอกไม้สด ที่มีความพลิ้วไหวอ่อนโยนมาผสานเข้ากับโครงสร้างสถาปัตยกรรม เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างชิ้นงานเครื่องประดับ อย่างสร้อยคอ ต่างหู จากใบหญ้าแฝก

“ผมเริ่มตีความจากวัสดุอย่างใบหญ้าแฝกว่าเปรียบเสมือนสมบัติของชาติ แล้วค่อยมองหาสิ่งที่จะมาเป็นตัวแทนสมบัติของชาติเช่นกัน ผมนึกถึงเครื่องแขวนดอกไม้สด ซึ่งผู้หญิงไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลางทำเป็นงานฝีมือ เพื่อใช้ประดับตามสถาปัตยกรรมเพื่อสร้างความพลิ้วไหว ผมจึงเลือกนำไอเดียนี้มาต่อยอดสู่เครื่องประดับโดยใช้รายละเอียดของเครื่องแขวน อย่างการร้อยเป็นรูปตาข่าย ความพลิ้วไหวของอุบะมาอยู่บนเรือนร่างของสตรี เพื่อปกปิดและลดทอนรูปร่างบางส่วนให้ดูมีความพลิ้วไหว สร้างเงาตกกระทบให้ดูมีเสน่ห์น่าค้นหา”

ทั้งนี้ การออกแบบรูปทรงของเครื่องประดับจะอ้างอิงถึงความงามจากเครื่องแขวนดอกไม้สดของไทย ผสมผสานกับวัสดุที่มีคุณสมบัติแวววาว เพื่อให้ชิ้นงานมีคุณค่าและต้องสายตาเมื่ออยู่ภายใต้แสงไฟ

“ความยากในการสร้างชิ้นงานคือ ต้องทดลองเยอะมาก เนื่องจากต้องนำมาใช้เป็นเครื่องประดับบนเรือนร่างของสตรีจริงๆ เพราะฉะนั้นการออกแบบต้องคำนึงถึงความคงทน ความสวยงาม และสัดส่วน ผมเลือกใช้ใบหญ้าแฝกที่ อ.โคกปรง จ.เพชรบูรณ์ เพราะชาวบ้านที่นี่มีเอกลักษณ์ในการทำลายเม็ดมะยม ซึ่งเข้ากับแรงบันดาลใจในการออกแบบชิ้นงานของผมพอดี”

พืชล้านประโยชน์

ขณะที่ จารุพัชร อาชวะสมิต ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอและที่ปรึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับโครงการร้านภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา สะท้อนมุมมองต่อหญ้าแฝกอย่างน่าสนใจว่า แฝกเป็นวัสดุที่นักออกแบบรุ่นใหม่อาจจะยังไม่คุ้นเคย แต่มีประโยชน์และจุดเด่นหลายอย่าง เพราะเป็นพืชที่มีเส้นใยยาว สามารถนำมาถักทอเป็นเส้นเชือกได้โดยไม่ต้องต่อเยอะ ปลูกง่ายใช้น้ำน้อย ไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง

“ข้อสำคัญในการปลูกแฝกคือ ห้ามให้ออกดอก เพราะพอออกดอกแล้วจะยืนต้นตาย ดังนั้น ทุก 3 เดือนต้องคอยตัด ในอดีตแฝกนอกจากจะใช้ป้องกันหน้าดินแล้ว ยังใช้ทำหลังคา อาหารสัตว์ แต่เมื่อผลผลิตที่ได้มากขึ้น จึงเริ่มมีการนำมาต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ  เท่าที่ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติหญ้าแฝกมา เชื่อว่าสามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้ไม่จำกัด เพียงแต่ที่ผ่านมานักออกแบบและสังคมยังไม่รู้จัก เลยไม่กล้าทดลองนำมาใช้ โจทย์ท้าทายของนักออกแบบคือจะทำอย่างไรเพื่อสร้างมูลค่าให้หญ้าแฝก พัฒนาให้กลายเป็นมากกว่าเทรนด์ แต่เป็นส่วนของไลฟ์สไตล์อย่างแท้จริง”