posttoday

มูลนิธิณภาฯ ในพระดำริ พระองค์ภาฯ ตัวกลาง 'การให้' ผู้ด้อยโอกาส

07 ธันวาคม 2560

ผู้ด้อยโอกาส นอกจากต้องการได้รับโอกาสแล้ว การปรับทัศนคติ เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะ การประกอบอาชีพ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่มูลนิธิณภาฯ

 

ผู้ด้อยโอกาส นอกจากต้องการได้รับโอกาสแล้ว การปรับทัศนคติ เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่มูลนิธิณภาฯ ในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นตัวกลางในการแสวงหาโอกาส และช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งสร้างความตระหนักแก่สังคมให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มคนเหล่านี้

คณะทำงานได้ริเริ่มดำเนินการมาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสตั้งแต่ปี 2551 ในนามสำนักงานผลิตภัณฑ์ในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา แล้วเริ่มดำเนินการมาเรื่อยๆ ขยายผลเพื่อช่วยชาวบ้าน อดีตผู้ต้องขัง ผู้พิการได้มากขึ้น

จากสำนักงานผลิตภัณฑ์ในพระราชดำริ เมื่อองค์กรมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น คณะทีมงานจึงคิดว่าต้องจัดตั้งเป็นมูลนิธิณภาฯ มีความหมายว่า ท้องฟ้า โดยมี เอกภพ เดชเกรียงไกรสร นั่งในตำแหน่งรองประธานมูลนิธิณภาฯ ซึ่งปัจจุบันการทำงานช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส จะดำเนินมาครบ 1 ทศวรรษแล้ว และให้การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสแล้วราว 5,000 คน

 

มูลนิธิณภาฯ ในพระดำริ พระองค์ภาฯ ตัวกลาง 'การให้' ผู้ด้อยโอกาส

 

1 ทศวรรษของมูลนิธิณภาฯ

เอกภพ รองประธานมูลนิธิณภาฯ เปิดเผยการทำงานของมูลนิธิณภาฯ ว่า เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2557 ซึ่งจริงๆ แล้วคณะทำงานได้เริ่มทำงานกันมาก่อนหน้านั้น คือตั้งแต่ปี 2551 การทำงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แรกเริ่มให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยเน้นกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบทางกฎหมายเป็นหลัก สอนวิชาชีพให้แก่พวกเขา ส่งเสริมทักษะในการผลิตสินค้าและจัดจำหน่าย โดยเรามุ่งหวังให้ผู้ต้องขังสามารถสร้างอาชีพและพึ่งพาตัวเองได้ภายหลังพ้นโทษ

ต่อมาคณะทำงานพบว่าผู้พ้นโทษจำนวนไม่น้อยมีโอกาสในการกระทำความผิดซ้ำ เพราะพวกเขาไม่ได้รับโอกาส และไม่ได้การยอมรับจากสังคมภายนอก คณะทำงานจึงได้เริ่มวางแนวทางในการช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาตัวเองให้กลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข โดยมีการจัดโครงการเข้าฝึกอบรมวิชาชีพและการผลิต ภายในเรือนจำและภายในมูลนิธิณภาฯ เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เป็นการแสดงศักยภาพและความสามารถผ่านทางผลิตภัณฑ์ ตลอดจนนำไปจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของณภาฯ อันก่อให้เกิดรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

มูลนิธิณภาฯ ยังมุ่งหวังให้ปลายน้ำก่อให้เกิดการมีอาชีพที่ยั่งยืน และมีอาชีพที่สุจริต ผู้ด้อยโอกาสและอดีตผู้ต้องขังสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ต่อไปในอนาคตตามความตั้งใจในการก่อตั้งมูลนิธิ โดยมีรับสั่งให้ เอกภพ เป็นหนึ่งในคณะทำงานในตำแหน่งรองประธานมูลนิธิ โดยมีพระองค์ภาฯ เป็นประธานมูลนิธิตลอดชีพ

“ตอนนี้คนรับข้อมูลค่อนข้างแยกไม่ออกว่าเราช่วยเหลือผู้ต้องขังอย่างเดียวเหรอ จริงๆ เราช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ที่พิการ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงสังคม กฎหมาย และผู้ที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ การเฟ้นหาคนกลุ่มนี้ เช่น คนพิการที่มีอยู่ในมูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ ก็ส่งมาหาเรา พอเข้ามาหาเรา เราจะสัมภาษณ์ และเราจะรับเขาเข้าทำงาน เราไม่ปิดกั้นเพราะเรามีศูนย์ฝึกอาชีพ และมีงานออฟฟิศให้ทำ เช่น คนพิการจบด้านการออกแบบ เราก็ให้นั่งทำงานออกแบบในออฟฟิศ ผู้ต้องขังพ้นโทษหรือสุขภาพไม่ดี เราก็ช่วยเหลือให้เขามีปัจจัยสี่ที่พร้อม เพื่อไม่เป็นภาระในสังคม”

 

มูลนิธิณภาฯ ในพระดำริ พระองค์ภาฯ ตัวกลาง 'การให้' ผู้ด้อยโอกาส

 

ปรับทัศนคติให้ผู้ด้อยโอกาสมีภูมิคุ้มกัน

ในการทำงานระยะเริ่มแรกมีข้อจำกัดมากมายมหาศาล รองประธานมูลนิธิณภาฯ ยกตัวอย่างเรื่องการดำเนินการตลาดหรือดีไซน์สินค้า แล้วไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ จึงรับเข้ามาทำงานกับมูลนิธิ

“เพราะเรามีโรงเรียนฝึกวิชาชีพ เราสอนทำผลิตภัณฑ์ทั้งของกินและของใช้ เช่น ไอศกรีม อาหาร เบเกอรี่ แต่เราไม่อยากบอกว่าทำภายใต้แบรนด์อะไร เพราะเราไม่อยากให้คนซื้อเพราะรู้สึกสงสาร แต่อยากให้ซื้อเพราะของกินมีรสชาติอร่อย และของใช้มีคุณภาพดี” ซึ่งมูลนิธิณภาฯ ให้การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทั้งหญิงและชาย

“คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเราช่วยเหลือแต่ผู้ต้องขัง แต่เราย้ำว่ามูลนิธิณภาฯ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทั้งหญิงและชาย ไม่จำกัดวัย การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสสำหรับเราคือ เราจะนำผู้พิการไปพบกับผู้ต้องขัง เราจะให้เขาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่น ผู้ต้องขังเห็นว่าผู้พิการขาขาดไม่ครบ 32 แต่เขายังสู้ได้เลย ดังนั้นฉันจึงต้องเปลี่ยนตัวเอง ในขณะเดียวกันพอผู้พิการเห็นว่าแม้ตัวเองไม่ครบ 32 แต่เขายังดำเนินชีวิตข้างนอกได้ แล้วทำไมเขาจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขาจะได้เห็นค่าซึ่งกันและกัน”

เนื่องเพราะผู้ด้อยโอกาสแต่ละคนค่อนข้างมีต้นทุนที่ติดลบ การให้การช่วยเหลือค่อนข้างยาก ต้องปรับตัวหมดเหมือนเป็นกรุ๊ปบำบัด

“บางคนอาจโดนทำร้ายร่างกายมา โดนแฟนทิ้งอกหักรักคุด กิจการล้มละลาย แต่มันไม่ได้หมายความว่ามานั่งคุยกันแล้วบำบัดด้วยกัน อย่างคนด้อยโอกาสบางคนไม่เหลืออะไรแล้วจริงๆ แล้วเราไปบอกเขาว่าเราเชื่อมั่นในตัวเขานะว่าเขาทำได้ ดังนั้นสิ่งที่เราทำไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์ หรือการนั่งทำงานในออฟฟิศ เขาสามารถทำงานและดำเนินชีวิตในรูปแบบปกติได้”

 

ฝึกฝนด้านกีฬา

รูปแบบการช่วยเหลือ นอกจากมีพระองค์ภาฯ ทรงเป็นประธานตลอดชีพแล้ว ยังมีคณะกรรมการทำงานอีก 7 คน การทำงานแบ่งฝ่ายต่างๆ อาทิ ฝึกอบรม และการคัดสรร

“ส่วนที่เป็นผู้ต้องขังที่พ้นโทษหรือว่าผู้ด้อยโอกาสในช่วงแรก จะมีทีมงานคัดเองทั้งหมดด้วยการสัมภาษณ์ เพื่อที่จะนำเขามาทำวิชาชีพกับเรา คือข้างในเรือนจำจะมีกฎเกณฑ์ของเขาอยู่แล้วว่า ผู้ต้องขังจะต้องมีอะไรยังไงถึงจะได้เรียน แต่ว่าพอพ้นโทษช่วงแรกยุคแรก

หากเรารู้ว่าผู้ต้องขังคนไหนที่เขาอยากจะทำงาน เขาจะบอกเราตั้งแต่ข้างในแล้วว่าเขาอยากเปลี่ยน อยากทำงาน สิ่งที่เราทำคือวันที่พ้นโทษเมื่อไหร่ เราไปรับเขาหน้าประตูเรือนจำ จากนั้นพาไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ทั้งหมด เพราะบางคนไม่มีญาติ หาที่อยู่ให้เขา เริ่มสอนตั้งแต่เขาไม่เป็น บางคนติดนานๆ 5 ปี 10 ปี เปิดคอมพิวเตอร์ยังไม่เป็น จากนั้นให้เขาพัฒนาตัวเองเพื่อให้เขาคิดคำนวณราคาต้นทุนได้ คำนวณค่าโลจิสติกส์ ค่าจัดเก็บ คิดได้หมด”

1 ทศวรรษแห่งการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เอกภพ เผยว่า การดำเนินงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ในเครือข่ายของมูลนิธิณภาฯ ได้รับผลตอบรับที่ดีจากประชาชน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และเพิ่มการส่งเสริมด้านกีฬาเข้าไปด้วย

“อีกหนึ่งโครงการได้แก่ BBG (Bounce Be Good) เมื่อเด็กออกจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เด็กบางคนพ่อแม่ยังอยู่ในเรือนจำ บางคนไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ กีฬาจึงเป็นอีกหนึ่งทางออกซึ่งพระองค์ทรงเล็งเห็นถึงคุณค่าความสำคัญ และทรงมอบโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชน ผ่านการดำเนินงานของโครงการนี้  

เราผลักดันให้พวกเขาได้มีโอกาสในการฝึกเป็นนักกีฬาอาชีพ โดยกีฬาชนิดแรกที่หยิบมาใช้คือ ปิงปอง เนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มาก สามารถฝึกซ้อมได้ง่าย และช่วยให้เกิดสมาธิ รวมถึงช่วยเสริมทักษะในเรื่องของการตัดสินใจและการปฏิบัติตัวในภาวะคับขัน ซึ่งโครงการได้จัดการดูแลให้อยู่แบบนักกีฬาอาชีพอย่างจริงจัง มีพี่เลี้ยง โค้ชกีฬา นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอน และให้ทุนในการเรียนต่อจนจบปริญญาตรี โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องกลับมาให้โอกาสกับบุคคลรุ่นหลังๆ ที่ต้องการโอกาสเช่นเดียวกับตัวเอง” โดยในขณะนี้ยังขยายไปอีก 1 ชนิดกีฬา ได้แก่ แบดมินตัน เริ่มเปิดที่บ้านกรุณา มีเด็กในโครงการ 20 คน

“สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ฯ เราเรียกว่า R908 ตอนนี้ทำงานร่วมกันด้านกีฬาอยู่ 3 หน่วยงาน คือ BBG แล้วก็มูลนิธิณภาฯ พระองค์จะทรงมีโครงการต่างๆ ที่พระองค์ทรงทำ เช่น สร้างวัด สร้างอุโบสถ วัดพัชรกิตติยาภาราม งานหล่อพระ เป็นต้น ส่วนบ้านกีฬาแม้ไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิ แต่ว่าเมื่อเรามีโอกาสที่เราต้องทำเราก็ผลักดัน” 

เอกภพ ทิ้งท้ายว่า ต้องการให้มูลนิธิณภาฯ เป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นห้างร้าน บริษัท หรือบริษัทมหาชน ก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้ “คุณช่วยคนอื่นได้ในรูปแบบที่คุณทำได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราหวังไว้ว่าวันหนึ่งณภาจะเป็นตราประทับทำให้คนอื่นได้เห็นว่าทำสำเร็จ เราสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการช่วยคน”

 

มูลนิธิณภาฯ ในพระดำริ พระองค์ภาฯ ตัวกลาง 'การให้' ผู้ด้อยโอกาส

 

ได้ชุบชีวิตใหม่

อดีตนักโทษหญิงผู้ได้รับโอกาส จิ๋ว-ประมวลคำ (นามสมมติ) วัย 47 ปี เล่าว่า ก่อนจะได้รับโอกาส เธอไม่ได้มีอาชีพอะไร ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ 

“ตอนอยู่ในเรือนจำก็เคยทำงานในนั้น เวลาเรือนจำออกบูธก็ได้ไปช่วยขายของ มีวันหนึ่งพระองค์ภาฯ เสด็จ ดิฉันขายกาแฟอยู่ พระองค์รับสั่งถามว่าสนใจขายกาแฟไหม มีบีชโปโลนะ สนใจไหม พอสนใจ พระองค์ก็ทรงส่งไปเรียนทำไอศกรีม เรียนชงกาแฟ ก็เลยทำได้ และสามารถชงได้รสชาติดี ก็ได้มาออกบูธในนามมูลนิธิณภาฯ ซึ่งไม่มีการปิดกั้น หากวันหนึ่งดิฉันมีทุน ท่านก็สนับสนุนให้ไปเปิดร้านเอง เพราะดิฉันมีวิชาในมือแล้ว 

มูลนิธิให้โอกาสหลายอย่าง ตอนออกมาจากเรือนจำใหม่ๆ ดิฉันเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ออกไปแล้วจะไปทำอะไร สังคมจะให้โอกาสเราไหม พอได้มาทำงานกับมูลนิธิชีวิตก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ทำงานกับมูลนิธิ 7 ปีแล้ว”

อดีตนักโทษหญิงยังกล่าวด้วยว่า อยากฝากบอกไปถึงผู้ด้อยโอกาสคนอื่นๆ ว่า อย่าคิดว่าคนอื่นจะไม่ให้โอกาส สังคมให้โอกาสเราเสมอ อยู่ที่ว่าเราจะรับหรือไม่ เมื่อรับโอกาสแล้วก็ต้องตั้งใจทำให้ดี

“ถ้าไม่ได้มาร่วมงานกับมูลนิธิ คงเป็นสาวโรงงานเย็บผ้า คิดว่าจะมีความสุขระดับหนึ่ง แต่อยู่ตรงนี้มีทั้งความมั่นคงทางด้านจิตใจและเงินทอง ลูกดิฉันก็ทำงานอยู่ที่มูลนิธิพระองค์ภาฯ ลูกก็มีความสุข”