posttoday

เหินฟ้ากู้ ‘หัวใจ’ เสี่ยงชีวิตเพื่อต่อชีวิต

19 พฤศจิกายน 2560

การทำความดีนั้นเป็นสิ่งที่ใครๆ ต่างถวิลหา แต่เมื่อโอกาสและความพร้อมมาบรรจบกัน แน่นอนว่า “อนุทิน ชาญวีรกูล”

โดย ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

การทำความดีนั้นเป็นสิ่งที่ใครๆ ต่างถวิลหา แต่เมื่อโอกาสและความพร้อมมาบรรจบกัน แน่นอนว่า “อนุทิน ชาญวีรกูล” ผู้กุมบังเหียนใหญ่แห่ง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยไม่ขอปล่อยผ่านไป

ด้วยฐานะหน้าที่การงานจัดอยู่ในระดับนักธุรกิจการเมืองแถวหน้าเมืองไทย เขาสามารถแสวงหาสิ่งของมีมูลค่ามาประดับบารมี และ “เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว” TBM 930 ภายใต้ทะเบียนไทย HS -SST เป็นทรัพย์สินอันมีค่าของ “เสี่ยหนู” ซื้อหามาฝึกบินตามใจรัก 

ทว่าเครื่องบินมูลค่าหลายร้อยล้านมิได้เป็นเครื่องบ่งบอกความมีฐานะเท่านั้น หากแต่ได้ถูกนำมาทำประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวมโดยไม่จำเป็นต้องบอกใคร ประหนึ่งการ “ปิดทองหลังพระ”  

เหินฟ้ากู้ ‘หัวใจ’ เสี่ยงชีวิตเพื่อต่อชีวิต

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อนุทินขับเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเดินทางไปสร้างสะพานบุญครั้งใหญ่ภายใต้จิตสำนึกส่วนรวม ด้วยการนำ “หัวใจ” และอวัยวะ มาปลูกถ่ายต่อชีวิตให้กับหลายชีวิตที่รอคอย ณ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  

“ผมไม่ใช่จิตอาสา มันเป็นจิตสำนึก เหมือนผมขับรถแล้วเห็นคนถูกรถชน ก็ต้องหยุดเพื่อช่วยเหลือ และเรื่องนี้ผมไม่เอามาเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะผมแฮปปี้” เสียงยืนยันหนักแน่นพร้อมรอยยิ้ม

จุดเริ่มหน้าที่กัปตันเครื่องบินเพื่อนำพาหัวใจมายืดชีวิตผู้คน มาจากที่เขารู้จักเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายแพทย์ผ่าตัดหัวใจผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่ได้สนิทสนมอะไรกัน วันหนึ่งหมอคนดังกล่าวเขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า มีเหตุต้องการเปลี่ยนหัวใจและทราบว่าอนุทินมีเครื่องบินส่วนตัว จึงได้สอบถามว่ายินดีไปรับหัวใจหรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวตอบตกลงและตัดสินใจไปทันที

“ในแต่ละวันมีคนต้องการหัวใจค่อนข้างเยอะ แต่ต้องได้จากคนเสียชีวิตกะทันหันและแข็งแรง ตัวอย่างเช่น บางกรณีเกิดเหตุต่างจังหวัด ไม่มีเที่ยวบิน แต่คนไข้ที่รอหัวใจอยู่ได้ไม่ถึง 6 โมงเช้า และมีเวลาไม่กี่ชั่วโมง เพื่อนที่เป็นหมอจะโทรหาผม ผมก็บินไปให้”

เหินฟ้ากู้ ‘หัวใจ’ เสี่ยงชีวิตเพื่อต่อชีวิต

“หน้าที่สำคัญของผม คือ ประจำรอบนเครื่อง เมื่อหมอได้หัวใจมาแล้ว ผมสตาร์ทเครื่องออกทันที ถ้าผมขับกลับมาไม่ทัน คนไข้มีสิทธิเสียชีวิต ซึ่งหัวใจมีเวลา 4 ชั่วโมงเมื่อออกจากผู้เสียชีวิต และทุกนาทีเซลล์จะตายไปเรื่อยๆ ดังนั้น ผมต้องไปอยู่ตรงนั้น”

ภารกิจเหินฟ้ากู้หัวใจทำมานานกว่า 2 ปี บินมาแล้วตั้งแต่เหนือ อีสาน ใต้ เขาช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ไปได้ประมาณ 20 ราย ขณะเดียวกัน การเดินทางแต่ละครั้งมิใช่ได้เฉพาะแค่หัวใจ หากแต่ยังมีอวัยวะอื่นๆ มาช่วยผู้คนด้วย เช่น ไต ปอด ดวงตา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะมีการพูดคุยกับทางญาติผู้เสียชีวิตก่อนมีความประสงค์บริจาคอวัยวะเหล่านั้นหรือไม่

แน่นอนภารกิจพิเศษแบบนี้ ไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆ ไหนต้องแข่งกับเวลา ไหนต้องเสี่ยงกับสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งอนุทินก็ผ่านประสบการณ์ความเสี่ยงเหล่านั้น  

“หากถามว่าเสี่ยงและกลัวกับภารกิจแบบนี้ไหม คำตอบ คือ กลัว แต่ต้องเชื่อว่ามันปลอดภัย” เสี่ยหนู บอก

เหินฟ้ากู้ ‘หัวใจ’ เสี่ยงชีวิตเพื่อต่อชีวิต

“เพราะเครื่องบินถ้าเท้าพ้นจากพื้นเมื่อไหร่เกิดความเสี่ยงหมด เมื่อทำไปได้ 2 ครั้ง ก็เกิดความชิน และคิดว่า เท่เป็นบ้า ไม่มีใครทำได้อย่างเรา จะไปกลัวทำไม ทำแบบนี้จะซวยได้ไง เอาชีวิตมาต่อชีวิต ต้องบอกตัวเองแบบนี้ เพราะบางรายต้องออกจากบ้านไปตอนตีหนึ่ง ตีสอง หรือห้าทุ่ม ออกไปตอนดึกๆ แล้วเอาเครื่องบินขึ้น มันก็ไม่มีอะไร”

สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้น เจ้าตัว บอกว่า ส่วนตัวเป็นคนออกทั้งหมดเพราะขับเอง เครื่องตัวเอง ไม่ต้องจ้างนักบินหรือเช่าเครื่องบินใคร คิดอย่างเดียว คือ น้ำมัน ซึ่งน้ำมันไปกลับ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ไม่เกิน 3 หมื่นบาท แต่ละภารกิจ ซึ่งเป็นต้นทุนส่วนตัว เหมือนมีรถ ขับรถไปบริการเพื่อน ดังนั้น จึงไม่มีปัญหา

ณ ปัจจุบัน เขาน่าจะเป็นเพียงคนเดียวในประเทศที่ทำภารกิจดังกล่าว แม้จะมีคนขับเครื่องบินได้จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นนักบินสมัครเล่น หรือมีเครื่องบินแต่ความเร็วเครื่องไม่ถึง เรดาร์บินกลางคืนไม่มี ทว่า เครื่องบินส่วนตัวมีระบบการเดินอากาศเทียบเท่ากับเครื่องบินพาณิชย์ที่ใช้โดยสาร

“ผมลงทุนซื้อเครื่องบิน เพราะมันเร็ว ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อะไรเลย แต่เครื่องบินผมทำความเร็วได้ 600 กม./ชม. มันเข้าสเปกพอดี และเครื่องที่มีถ้าเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง มันตีรัศมีใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ยกเว้นที่ไกลสุด คือ นราธิวาส 1.30 ชั่วโมง ฉะนั้น เครื่องบินผมกับภารกิจมันลงตัว ซึ่งอธิบายยากแต่มันสนุก”

เหินฟ้ากู้ ‘หัวใจ’ เสี่ยงชีวิตเพื่อต่อชีวิต

อนุทิน บอกด้วยว่า การทำภารกิจแบบนี้จะต้องแจ้งกับทางศูนย์ควบคุมการบิน เพื่อบอกว่ามีภารกิจในการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเร่งด่วน และขออนุญาตใช้เส้นทางบินตรง ซึ่งปกติต้องบินตามเส้นทางที่กำหนด เพราะถือเป็นเส้นทางจราจรทางอากาศ โดยการบินบางครั้ง
ก็เจออุปสรรคบ้าง แต่ส่วนตัวมีเที่ยวบินสูง 2,000-3,000 ชั่วโมง และทำตามเช็กลิสต์ ก็แก้สถานการณ์ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

“ผมคิดเสมอเวลาออกไปทำภารกิจ ถ้าเราถอดใจ คนที่รอความหวังจะเป็นอย่างไร หรือไม่ก็ต้องเสียชีวิต ฉะนั้นเราต้องพยายามหาทางออกนำหัวใจมาให้เขาให้ได้”

นั่นเป็นคำบอกเล่าของนักบินหัวใจใหญ่ที่ชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล”