posttoday

เส้นทางความมั่งคั่ง วัยรุ่นยุคมิลเลนเนียล

14 พฤศจิกายน 2560

ตลาดหุ้นสำหรับบางคนดูเป็นเรื่องไกลตัว แม้กระทั่งเรื่องการลงทุนบางคนก็ยังคิดว่าอายุยังไม่ถึงเวลา


ต่อไปนี้ใครจะมาปรามาสว่า วัยรุ่นมัวแต่ใช้เวลาเที่ยวเล่นไปวันๆ เงินทองไม่รู้จักหาจักเก็บ คงไม่ได้แล้วละ เพราะวัยรุ่นเจเนอเรชั่นวาย (Generation Y คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2523-2543) หรือคนยุคมิลเลนเนียล (Millennial Generation) เขาสนใจเรื่องการลงทุนและมองอนาคตสำคัญ

ตลาดหุ้นสำหรับบางคนดูเป็นเรื่องไกลตัว แม้กระทั่งเรื่องการลงทุนบางคนก็ยังคิดว่าอายุยังไม่ถึงเวลา หรือตัวเลขจำนวนเงินยังไม่เพียงพอต่อการแบ่งมาออมหรือนำไปลงทุน เงื่อนไขต่างๆ ในวันนี้ ที่อาจส่งผลกระทบต่ออนาคต  

หากสำหรับวัยรุ่นกลุ่มนี้ไม่ใช่...

นิสิตนักศึกษา 4 คน จากโครงการ Young Financial Star Competition 2017 เป็นตัวอย่างของวัยรุ่นยุคมิลเลนเนียลที่วางแผนอนาคตทางการเงินด้วยตัวเอง เพื่อที่จะหลุดพ้นจากสภาพเกษียณจนในอนาคต และมีอิสรภาพทางการเงินสูงในวันที่ร่างกายโรยแรง หรืออยากวางมือจากการทำงานได้โดยเร็ว

Young Financial Star Competition 2017 เกิดจากความร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต บริษัท ปตท. และหน่วยงานต่างๆ ในตลาดทุน

จัดแข่งขันต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 15 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนระดับอุดมศึกษาได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการวางแผนการเงินและการลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถและเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพบนถนนสายการเงิน

สร้าง Young Financial Star Networking กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านการเงินการลงทุนที่ทันสมัย มีวิสัยทัศน์ และความเป็นผู้นำกระแสแนวคิดการวางแผนการเงินและการลงทุนไปสู่สังคมในวงกว้าง

ในปีนี้ได้พาน้องๆ ผู้ชนะรางวัลในแต่ละสายไปศึกษาดูงานยังประเทศมาเลเซียและประเทศเกาหลี ด้วยการสนับสนุนการเดินทางจากบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต

 

ทำประกันคือการลงทุนกับชีวิตในอนาคต

“พิม-มนสิชา อุทิศชลานนท์” อายุ 22 ปี ศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรบริหารธุรกิจแบบบูรณาการ (ตรี-โท 5 ปี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ ผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศแบบเดี่ยว Muang Thai Life Assurance Star ที่สุดแห่งผู้เชี่ยวชาญการเงินและการประกันชีวิต และรางวัลชนะเลิศแบบกลุ่ม PTT RIT Star Team ที่สุดแห่งนักการเงินรุ่นใหม่หัวใจ RIT

นอกเหนือจากเงินรางวัล การไปศึกษาดูงานยังบริษัท Etiqa Insurance Bhd ประเทศมาเลเซีย ทำให้ได้ความรู้จากกูรูทางการเงินหลายด้านเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการเงินทองในชีวิตต่อไป

“ได้เข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินมากขึ้น ทั้งเรื่องการลงทุนและการทำประกันในช่วงชีวิตต่างๆ การดูงานเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุน การประกันแบบใหม่ที่เรายังไม่รู้จัก และประเทศไทยยังไม่ได้นำมาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เรามีความรู้และทำให้เกิดความคิดที่จะพัฒนาด้านการวางแผนทางการเงินของไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ที่สำคัญคือการที่ได้เจอผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และเพื่อนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ทำให้เรามีกำลังใจและแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาการเงินต่อไป”

เหมาะสมแล้วที่เลือกแข่งขันและคว้ารางวัลในสายประกันชีวิต เพราะ มนสิชา มีความรู้ความเข้าใจ ที่สำคัญการประกันชีวิตมีบทบาทต่ออนาคตการเงินของเธอ

 

เส้นทางความมั่งคั่ง วัยรุ่นยุคมิลเลนเนียล

 

 

“คุณแม่ได้ทำประกันให้ตั้งแต่เด็กๆ ประกันเลยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เวลาเกิดอุบัติเหตุ หรือต้องนอนโรงพยาบาล ประกันช่วยค่าใช้จ่ายเราได้เยอะมากๆ ถ้าไม่ได้ทำเอาไว้ อาจจะไม่ได้การรักษาพยาบาลที่สะดวกและดีแบบที่เคยได้รับมา

ประกันชีวิตสำคัญกับคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวมาก เพราะเมื่อเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ประกันที่ทำไว้จะเป็นหลักที่จะช่วยคนข้างหลังให้เริ่มชีวิตใหม่ได้อย่างไม่ลำบาก

การประกันชีวิตเป็นทั้งการออมและการลงทุน เพราะปัจจุบันมีประกันชีวิตให้เราสามารถเลือกได้หลายแบบมาก ทั้งแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งช่วยเรื่องการออมและการประกันไปพร้อมๆ กัน และประกันแบบยูนิตลิงค์ ทำให้เราสามารถแบ่งเงินจากเบี้ยประกันไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนได้ ประกันหลายๆ แบบก็จะมีเงินคืนระหว่างที่ทำให้ด้วย

ถ้ามองในแง่ของตัวเงินตอนที่เรายังไม่มีเหตุการณ์ที่จะต้องใช้อาจจะดูไม่คุ้ม แต่จริงๆ แล้วการทำประกันคือการลงทุนกับชีวิตตัวเองในอนาคต เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรากันไว้ก่อนแก้ ถ้าเกิดเหตุการณ์แล้วได้ใช้ประกันก่อนถึงจะเข้าใจว่าคุ้มมากๆ

พิมมีประกันชีวิตเกือบทุกแบบยกเว้นแบบบำนาญ เพราะคุณแม่ทำให้หลายฉบับ ส่วนการวางแผนทางการเงิน ทุกๆ เดือนเวลาได้เงินจากคุณแม่หรือทำงานก็จะเก็บเข้าบัญชีออมทรัพย์ก่อนเลย 10% เป็นเงินฉุกเฉินเผื่อเดือนไหนเกิดอุบัติเหตุหรือต้องใช้จ่ายด่วน เพราะบัญชีออมทรัพย์จะมีสภาพคล่องสูงกว่าอันอื่นๆ ฝาก-ถอนง่าย หากจำเป็นจริงๆ ก็มีเงินส่วนนี้คอยช่วย

มีการซื้อสลากออมสินเพื่อเพิ่มผลตอบแทน ซื้อทองคำไว้ส่วนหนึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และลงทุนในหุ้นส่วนหนึ่ง โดยสัดส่วนพอร์ตการออม การลงทุนพิมจะเป็นเงินฝากและสลากออมสิน 20% หุ้น 60% ทองคำ 10% แต่ตอนนี้กำลังเริ่มที่จะลงทุนในกองทุนต่างๆ เพราะไม่มีเวลามาตามหุ้นมากนักค่ะ”

 

ลงทุนให้ถูกจริตกับตัวเอง

“ซัน-บุญชัย วิโรจน์ศักดิ์เสรี” อายุ 23 ปี เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ใน 6 ของสมาชิกทีมที่คว้ารางวัล PTT RIT Star Team นำเสนอแนวคิดด้านการทำกิจกรรมที่สอดคล้องทั้ง 3 ด้าน ได้ดีที่สุด ในด้าน R-Responsibility for Society, I-Integrity and Ethics และ T-Trust and Respect

การที่เข้าร่วมโครงการทำให้บุญชัยได้เจอเพื่อนๆ ที่มีความสนใจในเรื่องการลงทุน ซึ่งยิ่งตอกย้ำความคิดของเขาที่มีก่อนนี้ว่า การลงทุนเพื่ออนาคตนั้นสำคัญและเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน

“เปิดพอร์ตได้เกือบ 2 ปี ทั้งพอร์ตหุ้นและพอร์ตกองทุน เพื่อนแนะนำเพราะเขาได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างโอเค เริ่มต้นศึกษาว่าจะซื้อหุ้นตัวไหน ดูงบการเงิน ดูข่าว หุ้นดีไหม สำหรับผมในการดูตัวเลขไม่ยาก แต่เล่นหุ้นยาก เพราะราคาหุ้นจริงๆ มันอยู่ที่สภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ มีข่าวไม่ดีกับประเทศ หุ้นก็ตกทั้งประเทศ 

ในส่วนของหุ้นผมอยากหาประสบการณ์ แต่กองทุนผมอยากให้เงินงอกเงย เปิดพอร์ตกองทุนครั้งแรก 1 แสนบาท เป็นเงินเก็บจากค่าขนมและทำงานช่วยอาจารย์ตรวจการบ้าน

 

 

เส้นทางความมั่งคั่ง วัยรุ่นยุคมิลเลนเนียล

 

 

กองทุนรวมเราไม่ต้องศึกษาตลอด มีคนคอยดูแลให้ แต่พอร์ตหุ้นเราต้องติดตามตลอด ผมเปิด 3 หมื่น มีเทรดบ้าง แต่ไม่ค่อยชอบ เพราะกังวล บางทีช่วงสอบเราไม่ได้ดูแลก็ขาดทุนไปเยอะ

ก่อนจะเปิดพอร์ตเขาจะมีการประเมินผลว่า เรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ผมรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง ขนาดกองทุนบัวหลวงทศพล ความเสี่ยงอยู่ที่ 5% เน้นลงทุนในหุ้นอย่างเดียวประมาณ 7% ก็สูงกว่าที่ผมรับได้ เขาก็เตือนมาแต่เราก็ซื้อ ก็มีกังวลช่วงหนึ่งที่ขาดทุนหลายพัน แต่ 2 ปีที่ผ่านมา บวกมาประมาณ 2-3 หมื่นบาท ซึ่งผลตอบแทนมันมากกว่าฝากประจำ

ผมมองว่า ข้อดีอย่างแรก ฝึกให้ตัวเองรู้จักออมเงิน เห็นตัวเลขในพอร์ตแล้วมีแรงจูงใจในการลงทุนมากขึ้น ข้อเสียไม่มี มีแค่ข้อควรระวัง คือ เราต้องดูด้วยว่าเงินที่ลงทุนในกองทุนรวมต้องไม่ใช่เงินที่จะนำมาใช้ในระยะเวลาใกล้ เพราะมันมีในเรื่องของค่าธรรมเนียม ซื้อครั้งแรกเสีย 1% ถ้าเราต้องใช้เงินที่ได้มาไม่คัฟเวอร์ค่าธรรมเนียม และการลงทุนในกองทุนรวมมีโอกาสขาดทุนไม่เหมือนฝากออมทรัพย์ ก็ต้องยอมรับความเสี่ยง แต่ระยะยาวมันคุ้มค่า”

 

การเงิน ไม่ใช่อาชีพ แต่มันคือการใช้ชีวิต

“กัน-อานนท์ ลีลาชุติพงศ์” อายุ 22 ปี เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของตำแหน่ง SET Investment Star รางวัลสำหรับผู้ที่สามารถวางแผนการลงทุนได้ดีที่สุด โดยสามารถวิเคราะห์และเลือกหลักทรัพย์เพื่อลงทุน รวมทั้งบริหารพอร์ตการลงทุนได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ความเสี่ยง และเป้าหมายของลูกค้าได้

ตอนนี้อานนท์กำลังทำงานอยู่ในสายการเงิน เกี่ยวกับการแนะนำกองทุนรวม แต่ยังไม่ใช่งานสุดท้ายที่เขามองไว้ เพราะระหว่างนี้กำลังรอทำงานในสายอื่นอยู่ แม้จะชื่นชอบเรื่องของการเงิน การลงทุนมากก็ตาม หากเขามองว่า ไม่ว่าจะทำอาชีพไหนทุกคนก็ต้องลงทุน และต้องมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการการเงินเพราะมันมีผลต่อชีวิต และเป็นพื้นฐานชีวิตที่ทุกคนควรใส่ใจ แต่ก็นั่นแหละไม่มีมหาวิทยาลัยไหนสอนเรื่องนี้ต้องขวนขวายเอง

“งานที่ทำไม่เกี่ยวกับสายที่เรียนมา แต่ใช้ทักษะที่ผมเรียนมาเรื่องของการวิเคราะห์ ทักษะการเงินผมได้จากการหาความรู้เอง ตอนเรียนปี 2 ฝึกงานแล้วรุ่นพี่แนะนำ ให้ผมลองไปศึกษาดู มันใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นศาสตร์ที่มีความจำเป็นที่ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้สอนเลย

ผมอ่านหนังสือ ดูยูทูบ อ่านบทความในอินเทอร์เน็ต ตอนนี้การศึกษาข้อมูลหลายอย่าง ความรู้ไม่จำเป็นต้องเรียนอย่างเดียว ความสนใจเราจะรู้ตัวเองเวลาว่างๆ เราจะมีความสุขในการหาข้อมูล ศึกษามัน โดยไม่ฝืนทำ ตอนนั้นผมรู้สึกตลาดทุนเป็นแนวคิดที่ดี”

อานนท์ใช้เวลาศึกษาอยู่ 3 เดือน ถึงเปิดพอร์ตบัญชีกองทุน และถัดมาอีก 6 เดือน เปิดบัญชีหุ้น “กองทุนเราพยายามดูความผันผวนของผลตอบแทน 3-5 ปี ทำผลตอบแทนได้ดีไหม แล้วดูความผันผวนว่าเยอะกว่าที่เรารับได้ไหม

การซื้อหุ้นเราต้องบริหารเงินเอง เราต้องสร้างพอร์ตผสมหุ้นหลายๆ ตัว แต่ละตัวมีคาแรกเตอร์ที่ต่างกัน หุ้นปลอดภัย อาหาร โรงแรม มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ความผันผวนด้านราคาจะต่ำไปเรื่อยๆ ตามตลาด มีหุ้นพลังงาน หุ้นเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ หุ้นกลุ่มเดินเรือจะมีความเสี่ยงสูง ต้องใช้การวิเคราะห์ที่มากกว่า”

 

เส้นทางความมั่งคั่ง วัยรุ่นยุคมิลเลนเนียล

 

 

การออมเงินต้องทำแบบพีระมิดให้รากฐานมั่นคง “ตั้งแต่เด็กผมฝากประจำที่ธนาคาร ดอกเบี้ย 2-3% โตมาหน่อยก็รู้จักสลากออมสิน ได้ผลตอบแทน 2 ส่วน คือ ดอกเบี้ย 2-3% อย่างสม่ำเสมอ และมีลุ้นรางวัลทุกๆ เดือน ผมก็มีประสบการณ์ลงทุนแบบนั้นมา

ตอนผมอายุ 21 ลงทุนประมาณ 5 หมื่น ตอนนี้ได้เงินเดือนมาตัดไปลงทุนก่อน 30% มันมีรีเสิร์ชต่างประเทศ การเกษียณที่ดีคือการตัดเงินมา 20-30% อย่างเสมอมาลงทุน

ประเทศไทยขาดทักษะตรงนี้มาก มีแต่คนสอนเลข สอนวิทย์ สังคม ไม่มีใครสอนเรื่องการบริหารเงิน การลงทุน วางแผนการประกันภัย การออมนี้พื้นฐานเลย

การจัดการออมจะเป็นพีระมิดขึ้น เริ่มแรกออมเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน เราตกงาน เข้าโรงพยาบาล นี่คือรากฐานของการจัดการเงินเลย การออมเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่ากินค่าใช้จ่ายทั่วไป

ต่อไปเรามีความมั่นคงระดับหนึ่งแล้วก็ไปด้านประกันคุ้มครอง ชีวิตคนคนหนึ่งเราไม่สามารถรีสตาร์ทได้ เราต้องมีการประกันความเสี่ยงไว้ ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น คนหนึ่งทำ 4 กรมธรรม์เลย เราสามารถโอนความเสี่ยงของเราที่มีผลกระทบชีวิตเรา 

อันสุดท้ายคือ การลงทุน การต่อยอดเงินของเรา ถ้าเราทำครบ 3 องค์ประกอบ ถ้ามีอะไรที่ไม่คาดฝันก็สามารถดึงเงินจากฐานพีระมิดมาใช้ได้ ไม่ต้องเอาเงินลงทุนมาใช้ เพราะการลงทุนคือ ระยะยาว เราต้องถือไม่ควรขาย การขายคือเราขาดทุนถาวร”

 

เลิกเล่นเกมออนไลน์ มาเล่นเกมชีวิต

“เต้น-ทยาวัต ศรอินทร์” อายุ 23 ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้า 2 รางวัล คือ ชนะเลิศ TFEX Derivatives Star ที่สุดแห่งผู้เชี่ยวชาญด้านอนุพันธ์ สามารถพัฒนาต่อยอดสร้างพอร์ตลงทุนจริงในตลาด TFEX ได้อย่างมีหลักการ พร้อมเป็นบุคลากรสู่ภาคธุรกิจและเป็นผู้ลงทุนที่มีคุณภาพในอนาคต และรางวัลรองชนะเลิศ SET Investment Star

“ผมเริ่มสนใจตลาดหุ้นตั้งแต่มัธยมปลาย ติดตามข่าวเศรษฐกิจ สนใจเรื่องผลตอบแทน การลงทุน แต่ตอนนั้นอายุยังไม่ถึง 20 ปี เปิดพอร์ตไม่ได้ ก็เก็บความรู้มาเรื่อยๆ

เริ่มลงทุน 1 แสน จำได้ ก.พ. 2014 เข้าไป 2 อาทิตย์ยอดขึ้นไปแล้วลงมา พอร์ตลดไป 50% แต่ไม่เครียดครับ เพราะตั้งใจไว้แล้วถ้าเสียเป็นเหมือนค่าเทอม เลยไม่ได้สาปส่งตลาดแล้วออกมา เรียนรู้มันไปเรื่อยๆ

ผมอ่านหนังสือเยอะมาก ทำให้เรามั่นใจ แต่พอมาเจอแบบนี้ ทำให้รู้ว่า ประสบการณ์สำคัญเหมือนกัน เหมือนหัดขี่จักรยาน เราอ่านแค่ทฤษฎีไม่ได้ต้องปั่นเอง ตอนแรกๆ เราต้องล้มเป็นปกติแต่ขี่จักรยานถ้าเป็นแล้วก็เป็นทักษะติดตัวไปเลย

ผมชอบเล่นเกมออนไลน์มาก ผมมองการเล่นหุ้นเป็นเกมชีวิตเกมหนึ่งชนะแล้วชนะเลย การที่เราเล่นเกมออนไลน์เราชนะกี่ครั้งเราก็เก่งแค่ในเกม ตั้งแต่เริ่มเล่นหุ้นผมเลิกเล่นเกมออนไลน์หมดเลย

 

เส้นทางความมั่งคั่ง วัยรุ่นยุคมิลเลนเนียล

 

 

ยิ่งเราเริ่มต้นตั้งแต่อายุน้อยยิ่งได้เปรียบในโลกของการลงทุน ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้เลย สอนวินัยการออมปกติ ผมศึกษาเองเลย

ผมมองว่า สิ่งที่ผมเข้ามาในตลาด ผมไม่ได้ต้องการเป็นเศรษฐี เล่นปีสองปีแล้วรวยเลย ผมมองมีเงิน 1 แสน จะเอาเงินไปทำอะไร เงินก้อนนี้ผมมองทุกอย่างเป็นเปอร์เซ็นต์ ผมอยากได้ปีละ 10-15% ต่อปีไปเรื่อยๆ อันนี้คือ เป้าหมาย

การเข้ามาในตลาดหุ้น มันสอนบทเรียนสำคัญผมเลย ปีแรกลบ 50% ปีที่ 2 บวก 50% ปีนี้บวก 20-30% ทำให้เรารู้ว่า อย่างแรก อย่ามองว่าได้กำไรเท่าไร การรักษาเงินต้นสำคัญมาก อย่างที่ 2 เรื่องของประสบการณ์ มันเหมือนขี่จักรยาน สุดท้ายเรื่องของจิตวิทยาการลงทุน เราต้องหาการลงทุนเหมาะกับจริตตัวเองให้เจอ ใครลงทุนยังถามคนอื่นอยู่น่าจะประสบความสำเร็จยาก

ปีที่ 3 ผมเริ่มรู้ว่าตัวเองเป็นใครแล้ว คือ การเทรด เพราะผมเชื่อในการจับจังหวะราคาของตัวเอง ผมใช้พื้นฐานเอามารวมกับเทคนิคอล ผมมีความเชื่อตรงนี้ เวลาเราถือหุ้นสบายใจ ยอมรับได้ไม่เป็นกังวล ถ้าบางคนถือหุ้นก็เป็นกังวลนั้นคงไม่ใช่วิธีเหมาะสมกับตัวเอง

ผมพยายามหาวิธีหาระบบใช้เวลาต่อวันไม่เกินครึ่งชั่วโมง ไม่ต้องเฝ้าจอ ก็ยังใช้ชีวิตอื่นๆ ได้ปกติ กินได้นอนหลับไม่กังวลเรื่องหุ้น”