posttoday

สารานุกรมไทย อย่าให้เป็นเล่มสุดท้าย!

08 พฤศจิกายน 2560

ใครเคยได้ยินชื่อโครงการสารานุกรมไทยบ้าง ไม่ใช่สารานุกรมของชาวตะวันตกที่เผยแพร่ทั่วไปแบบเรียงตัวอักษรนะ แต่เป็นสารานุกรมไทยที่คนไทยคิดและคนไทยทำ


ใครเคยได้ยินชื่อโครงการสารานุกรมไทยบ้าง ไม่ใช่สารานุกรมของชาวตะวันตกที่เผยแพร่ทั่วไปแบบเรียงตัวอักษรนะ แต่เป็นสารานุกรมไทยที่คนไทยคิดและคนไทยทำ รู้หรือไม่คนไทยคนแรกที่คิดทำเอนไซโคลพีเดียฉบับภาษาไทย ก็คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9

นับตั้งแต่เล่มแรกที่ตีพิมพ์ในปี 2516 ถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 48 ปีแล้ว มีหนังสือที่เผยแพร่ออกไป 41 เล่ม มีวิชาความรู้ต่างๆ ที่เผยแพร่ให้ศึกษาค้นคว้าได้ 300 เรื่อง ล่าสุดคือการจัดทำหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับเทิดพระเกียรติ ธรรมิกราชาธิคุณ ประมวลหลักธรรมซึ่งทรงยึดถือ พระราชพิธี และขนบประเพณีที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ดำรงอยู่เป็นเอกลักษณ์และมรดกชาติ

 

สารานุกรมไทย อย่าให้เป็นเล่มสุดท้าย!

 

เช่นเดียวกับตัวโครงการสารานุกรมไทยฯ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ได้มีพระบรมราโชบายที่จะสืบสานพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ ในการจัดทำสารานุกรมไทยสืบไป

 

 

สารานุกรมไทย อย่าให้เป็นเล่มสุดท้าย!

 

ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ เลขาธิการโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังมีพระราโชบายด้านการศึกษา 4 ประการ คือ

1.ทัศนคติที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเกี่ยวกับบ้านเมืองและสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ครอบครัวและชุมชน

2.ให้สร้างพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง โดยสอนให้รู้จักว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง ปฏิเสธสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

3.สร้างการมีงานทำและสร้างอาชีพ ระบบการศึกษาต้องมุ่งให้ผู้สำเร็จการศึกษามีงานทำ

4.ต้องสร้างคนให้เป็นพลเมืองดีของบ้านเมือง

ดร.ฑิตติมา เล่าถึงหลักการจัดทำหนังสือว่า สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ฯ เป็น “หนังสือของพ่อ” เล่มเดียวที่มีพระราชประสงค์ให้ทุกคนได้อ่าน เนื่องจากเป็นสารานุกรมแบบไทยที่คนไทยทำ โดยทรงกำหนดหลักการของการบรรจุสรรพวิชาและเนื้อหาสาระ เพื่อตอบสนองความสามารถในการอ่านของเยาวชนในแต่ละระดับด้วยพระองค์เอง คือส่วนเด็กเล็ก ส่วนเด็กกลางและส่วนเด็กโต

 

 

สารานุกรมไทย อย่าให้เป็นเล่มสุดท้าย!

  

“ผู้อ่านย่อมบังเกิดด้วยความรู้ ความคิด ความฉลาดและความดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต อันจะช่วยบุคคลสามารถให้ประโยชน์แก่ส่วนรวม และสามารถพึ่งพาส่วนรวมได้ในอนาคต”

ดร.ฑิตติมา เล่าว่า ด้วยพระราชประสงค์นี้ สารานุกรมไทยฯ จึงมีหลักในการออกแบบให้แต่ละเล่มมีสาระความรู้ที่หลากหลาย ในแต่ละเล่มจะมี 7 สาระวิชาบรรจุอยู่ เช่น วิทยาศาสตร์และการแพทย์ เทคโนโลยี ขนบประเพณี วัฒนธรรมไทย เป็นต้น การบรรจุสรรพวิชาดังกล่าว ก็เนื่องจากทรงเห็นว่าความรู้เชื่อมโยงกัน แต่ละสาขาวิชาต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ต้องต่อยอดซึ่งกันและกัน โลกทั้งโลกเชื่อมถึงกันหมด ความรู้ก็เช่นเดียวกัน

“การที่คนคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมานั้น ต้องอาศัยสรรพวิชาที่กว้างขวาง ความรู้แต่อย่างเดียวไม่พอ หากต้องรอบรู้และรู้รอบ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตของตัวเองได้ แก้ไขปัญหาสังคมได้ ประโยชน์สูงสุดที่หมายของพระองค์ท่านคือชาติบ้านเมือง” ดร.ฑิตติมา เล่าอนาคตของโครงการสารานุกรมฯ คือการเผยแพร่หนังสือสารานุกรมออกไปให้กว้างขวางสมกับพระราชประสงค์ โดยเมื่อครั้งที่โครงการสารานุกรมฯ ดำเนินงานครบ 30 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า “สารานุกรมฯ นี้ เป็นงานด้านการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเอาพระทัยใส่ที่สุด”

ดร.ฑิตติมา เล่าว่า การได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ทำงานที่โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นรางวัลชีวิตที่หาค่ามิได้ ทั้งนี้ จะได้น้อมนำพระราชดำริเพื่อดำเนินนโยบายโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ในอนาคต โดยปีหน้า 2561 มีแผนจัดสร้างเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ที่บรรจุเนื้อหาจากหนังสือลงในเว็บไซต์ เพื่อให้ทันกับการเผยแพร่ข้อมูลในระบบโซเชียลมีเดีย

“โครงการสารานุกรมไทยฯ ตั้งเป้าหมายเป็นห้องสมุดดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบภายใต้มาตรฐานสากล ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปอ่านหนังสือได้ทุกเล่มในโครงการฯ จากทุกอุปกรณ์” ดร.ฑิตติมา เล่า

 

 

สารานุกรมไทย อย่าให้เป็นเล่มสุดท้าย!

 

นอกจากนี้คือโครงการที่จะผลักดันให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม สนองพระราชปณิธานให้สารานุกรมไทยได้แพร่หลายอย่างทั่วถึง โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนบริจาคเงินเท่าราคาหน้าปกสารานุกรมไทย 1 เล่ม 250 บาท ในทุกวันเกิดและในวันสำคัญของชาติไทย วันที่ 5 ธ.ค.ของทุกปี

“อุปสรรคคือทุนดำเนินงานที่จำกัด โดยโครงการฯ ไม่สามารถขึ้นราคาหนังสือได้ คงราคา 250 บาท มาตั้งแต่เล่มแรกปี 2516 ถึงปัจจุบัน ทั้งที่ต้นทุนต่อเล่มคือ 444 บาท”

ปัจจุบันโครงการฯ มีนโยบายในการแจกและจำหน่ายอย่างละครึ่งของยอดพิมพ์ต่อปี 1.5 หมื่นเล่ม นั่นหมายความ ต่อปีมีเพียง 7,500 เล่มเท่านั้น ที่จะได้ส่งต่อไปยังกลุ่มเยาวชนเป้าหมาย ได้แก่ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

“มีโรงเรียน 3 หมื่นโรงเรียน แต่เรามีความสามารถแจกได้แค่ปีละ 7,500 เล่มเท่านั้น นั่นหมายความว่า เราต้องหาเงินสนับสนุนให้ได้ปีละ 10 ล้านบาท ถึงจะแจกให้ได้ 1 เล่มต่อ 1 โรงเรียนทั่วประเทศเป็นอย่างน้อย” ดร.ฑิตติมา กล่าว

ล่าสุด เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มดาราจิตอาสา นำโดย “ฝันดี-ฝันเด่น” ชักชวนเพื่อนดารานักร้องคนดัง 60 คน ทุกคนถือสารานุกรมไว้ในมือและถ่ายรูปโพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเอง รณรงค์ให้ช่วยกันอุดหนุนหนังสือสารานุกรมฉบับเทิดพระเกียรติ ธรรมิกราชาธิคุณ กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ที่ทุกคนกล่าวขวัญ

ทั้งหมดถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ รวมทั้งเป็นนิมิตหมายที่จะก้าวต่อด้วยนโยบายเชิงรุกปีหน้า เงินบริจาคสำหรับเท่าๆ กับการตระหนักรู้ของประชาชนในชาติว่า “หนังสือของพ่อ” มีความหมายสำหรับ “พ่อ” แค่ไหน

“ไม่เพียงโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนจะดำรงอยู่ต่อไป แต่พระราชประสงค์ของพระองค์ที่ทรงต้องการให้เยาวชนไทยมีโอกาสที่จะรอบรู้สรรพวิชาที่เชื่อมโยง และหนังสือได้เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วถึง ก็จะดำรงอยู่ต่อไปด้วย” ดร.ฑิตติมา เล่า