posttoday

การเข้าชิงซีไรต์ครั้งที่สอง ของ ภู กระดาษ

05 พฤศจิกายน 2560

เข้าสู่ฤดูกาลของงานเขียนซีไรต์อีกครั้ง มีทั้งนักเขียนหน้าเก่าและหน้าใหม่เข้ามาสู่สนามนักเขียน

โดย อณุสรา  ทองอุไร

เข้าสู่ฤดูกาลของงานเขียนซีไรต์อีกครั้ง มีทั้งนักเขียนหน้าเก่าและหน้าใหม่เข้ามาสู่สนามนักเขียน และสำหรับเขาคนนี้ ถนัด ธรรมแก้ว เจ้าของนามปากกา ภู กระดาษ ได้รับชื่อเข้าชิงซีไรต์เป็นครั้งที่สองจากงานเขียนชื่อ “ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ” ที่พิมพ์มาได้ 2 ปี
กว่าแล้ว  ครั้งแรกเขาได้เข้าชิงจากนิยายเรื่องยาวชื่อเนรเทศ งานเขียนของเขาจะเป็นสไตล์งานหนักๆ สะท้อนปัญหาสังคม ไม่ใช่งานใสๆ สนุกอ่านง่ายแบบนั้น และไม่ว่าจะได้ซีไรต์หรือไม่ เขาก็คงเขียนหนังสือต่อไปไม่มีผลให้ชีวิตเปลี่ยนไปมากนัก

จากนักศึกษาที่ชอบทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยสู่นักเขียนเลือดอีสาน ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์งานเขียนเชิงสังคมผ่านปลายปากกาที่นักอ่านคุ้นเคยอย่าง ภู กระดาษ ขณะนี้เขามีงานเขียนออกมาแล้วทั้งหมด 4 เล่ม คือ ชั่วโมงก่อนพิธีสวนสนาม ไม่ปรากฏ ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ และ เนรเทศ

การเข้าชิงซีไรต์ครั้งที่สอง ของ ภู กระดาษ

เขาเริ่มเขียนหนังสือจริงจังเมื่อ 10 ปีก่อน คือปี 2006  โดยเขียนเล่นๆ เอาไว้อ่านเอง  เขียนแล้วก็เก็บไว้เฉยๆแทบจะไม่ส่งไปที่สำนักพิมพ์ที่ไหนเลย เคยส่งไปบางสำนักพิมพ์เพื่อหวังจะได้รวมเล่ม แต่ที่สุดก็ไม่ผ่าน ตลอดเวลาที่เขียนมา 20 ปี ยังมีงานเขียนเก็บไว้อีกจำนวนพอสมควรก็หวังจะได้รวมเล่มได้ในอนาคต  แต่ก็ไม่กล้าหวังมาก เพราะเขาก็รู้ว่างานของเขาไม่ใช่งานแนวที่คนทั่วไปนิยมอ่านกัน ไม่ใช่งาน POP เป็นงานเฉพาะคนกลุ่มหนึ่งอ่านในวงแคบ

“ผมใช้เวลาเขียนหนังสือตอนดึกๆ ถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง เพราะกลางวันเขาทำงานประจำเป็นผู้จัดการอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรกที่รักมาก หากตอนดึกไม่ได้เขียน เขาจะตื่นตี 4 จนถึง 6 โมงเช้าแล้วไปทำงานต่อเลย หรือบางวันเลิกงานประมาณบ่าย 2 ก่อนที่จะไปเตะฟุตบอลก็อาจเขียนก่อน แล้วค่อยไปออกกำลังกาย เขาชอบตื่นช่วงตี 2 เพื่อดูฟุตบอล ก็เลยคิดว่าถ้าตื่นมาดูฟุตบอลได้ ก็น่าจะตื่นมาเขียนหนังสือได้เช่นกัน (หัวเราะ)” เขาเล่าอย่างอารมณ์ดี

เขาจึงนอนน้อยมากในแต่ละวัน วัตถุดิบที่นำมาใช้ในงานเขียนก็มาจากเรื่องราวรอบตัว สังคม การเมือง ชีวิตผู้คน จากหนังสือที่เราอ่าน การเขียนงานแต่ละครั้งเขาจะวางพล็อตเรื่องไว้ก่อน มีกรอบคร่าวๆ เพื่อไม่ให้หลงทิศทาง แล้วค่อยแตกแขนงเรื่องออกไปตามกรอบที่วางไว้กว้างๆ แต่ก็จะพยายามพัฒนางานเขียนของตัวเองอยู่ตลอดเวลา

การเข้าชิงซีไรต์ครั้งที่สอง ของ ภู กระดาษ

ส่วนงานที่เขาถนัดก็คือเรื่องสั้น ซึ่งมีหลักการอยู่ 2 อย่าง หนึ่ง พยายามเขียนในสิ่งที่รู้ดี แต่บางครั้งในเรื่องเดียวกันก็จะมีทั้งสิ่งที่รู้กับสิ่งที่ไม่รู้ และสอง คือเขียนในสิ่งที่เขาสงสัย อยากจะรู้ แล้วไปค้นคว้าต่อ ยิ่งค้นคว้า ก็ยิ่งทำให้รู้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าจะเขียนแต่สิ่งที่เขารู้อย่างเดียว  ต้องคิดเสมอว่าคนอ่านเก่ง ซึ่งคนเขียนก็เหมือนคนอ่าน เมื่อก่อนมักจะคิดว่าคนเขียนเก่งมากเลย สำหรับเขาแล้วไม่ใช่  เขาคิดว่าคนอ่านเก่งกว่าเยอะ ผู้อ่านสามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แลกเปลี่ยนกับผู้เขียนได้เช่นกัน

ด้านการศึกษานั้นเขาสำเร็จการศึกษาจากสาขาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  เขาทำงานเป็นพนักงานบริษัท ในตำแหน่งผู้จัดการ มีงานเขียนหนังสือเป็นงานรองลงมา แม้จะรักงานเขียนมากเพียงใดเขาก็ไม่คิดจะลาออกจากงานประจำมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว เพราะเขาชอบที่จะทำสองอย่างไปควบคู่กัน หากลาออกมาเขียนหนังสืออย่างเดียวชีวิตมันจะว่างเกินไปแล้วจะติดสบาย การทำงานด้วยเขียนไปด้วยทำให้ชีวิตมีความหลากหลาย มีมุมมองที่ต่างออกไป