posttoday

ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รูปหล่อ ร.9 ศิลปะวิจิตรบรรจง แทนดวงใจตราบนิรันดร์

04 พฤศจิกายน 2560

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีผู้คนจำนวนมากเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ

โดย นิติพันธุ์ สุขอรุณ

 กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีผู้คนจำนวนมากเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ เข้ามาแสวงหาอาชีพ และมุ่งหวังความก้าวหน้าเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว จึงเป็นความรับผิดชอบของข้าราชการ กทม. ทุกคนที่ต้องช่วยคลายทุกข์ร้อนให้ผู้คนได้อยู่ดีมีสุข

 หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ยังคงทำหน้าที่ขะมักเขม้นแข็งขันคอยช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่าง ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ได้สั่งสมประสบการณ์ในสายงานวิศวกรรมโยธา กระทั่งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักการโยธา จากนั้นก้าวเข้าขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง

ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รูปหล่อ ร.9 ศิลปะวิจิตรบรรจง แทนดวงใจตราบนิรันดร์

 ด้วยผลงานโดดเด่น เชื่อมโยงการทำงานระหว่างฝ่ายบริหารกับข้าราชการประจำได้เป็นอย่างดี จึงได้รับความไว้วางใจจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เลือกให้ขึ้นมาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ในที่สุด

 ทวีศักดิ์ เริ่มต้นเล่าถึงความประทับใจครั้งเข้าเฝ้าฯ ถวายงาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2554 เรื่องการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดรอบโรงพยาบาลศิริราช พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์ด้านงานวิศวกรรม โดยวางแผนให้ทำโครงการต่อขยายสะพานอรุณอมรินทร์พร้อมทางขึ้น-ลง

 “โครงการนี้จะสามารถรองรับปริมาณการจราจรในอนาคต ลดการติดขัดบริเวณทางแยก และทางเข้า-ออก โรงพยาบาลศิริราช เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนที่เข้ามาติดต่อโรงพยาบาล โดยพระองค์ท่านทอดพระเนตรแผนที่แสดงโครงการอย่างตั้งใจ และสอบถามข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องทุกด้านอย่างละเอียด

 "เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้พระองค์ท่านจะประทับอยู่ที่โรงพยาบาล แต่พระองค์ท่านก็ยังคงทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งพระองค์ท่านมีคำแนะนำด้วยความเป็นกันเอง เข้าใจปัญหาความเดือดร้อน ผมจำได้ดีว่าบรรยากาศในขณะนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งยังตราตรึงไม่ลืมเลือน” ทวีศักดิ์ กล่าว

 เมื่อกล่าวถึงของรักของสะสม รองผู้ว่าฯ กทม.ผู้นี้บอกว่า รูปหล่อสำริด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือของรักที่เก็บรักษาไว้อย่างดี ตั้งไว้เคารพบูชาทั้งที่บ้านและที่ห้องทำงาน

ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รูปหล่อ ร.9 ศิลปะวิจิตรบรรจง แทนดวงใจตราบนิรันดร์

 ชิ้นแรกเป็นรูปปั้น ร.9 ขณะทรงผนวช ในอิริยาบถยืนสงบนิ่ง ขนาด 15 คูณ 16.5 คูณ 62 เซนติเมตร อัญเชิญภาพเหตุการณ์ระหว่างออกรับบิณฑบาตจากประชาชนทุกแห่ง โดยไม่สวมฉลองพระบาท เมื่อปี 2499 มาเป็นต้นแบบ เพราะท่านทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา และทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

 งานปั้นทุกชิ้นทำขึ้นโดย วัชระ ประยูรคำ ประติมากรที่จบมาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สร้างผลงานประติมากรรมรูปเหมือนต้นแบบ เป็นผู้ปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มากที่สุดในประเทศไทย เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากพระองค์ท่านในหลายด้าน กระทั่งถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาผ่านงานปั้นอย่างวิจิตรบรรจง ให้ชื่องานว่า “ธรรมราชา” (พระราชาผู้ทรงธรรม) มีจุดเด่นอยู่ที่สามารถถอด ฉลองพระเนตร (แว่นตา) ได้ ถือว่าเป็นชิ้นงานที่รักมากที่สุด เพราะต้องเสาะแสวงหาด้วยความตั้งใจอย่างมาก

 ทวีศักดิ์ กล่าวว่า พระบรมรูปที่ปั้นโดยวัชระ สามารถเก็บรายละเอียดสำคัญเล็กน้อยได้ครบถ้วน อาทิ เม็ดเหงื่อที่เกิดจากการทรงงาน สัดส่วนของลำคอ กล้ามเนื้อ เนื่องจากพระองค์ทรงมีรูปร่างอย่างนักกีฬา รอยยิ้ม ไปจนถึงแววตาทั้งสองข้างที่ไม่เหมือนกัน ทั้งหมดได้ถ่ายทอดอารมณ์เสมือนจริง ทำให้เกิดคุณค่าของชิ้นงานได้เป็นอย่างดี

 สำหรับรูปปั้นชิ้นที่ 2 ได้รับการปั้นอย่างพิถีพิถัน มีความสูงประมาณ 2 ฟุต ตั้งบนฐานตั้งหินอ่อนสั่งทำพิเศษ ในอิริยาบถขณะเป่าแซกโซโฟน มีสีที่แตกต่างกันระหว่างรูปหล่อสำริดกับแซกโซโฟนที่มีสีทองเด่นชัดออกมา เสื้อสูทเรียบร้อยสมจริง ส่วนด้านหลังรูปปั้นจะมีเลข 9 ไทย ลักษณะพลิ้วไหวโดดเด่น พร้อมลงลายเซ็นของประติมากรวัชระ ไว้ด้วย

ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รูปหล่อ ร.9 ศิลปะวิจิตรบรรจง แทนดวงใจตราบนิรันดร์

 "สะท้อนถึงความทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี พระราชนิพนธ์เพลงทั้งสิ้น 48 เพลง ทุกเพลงล้วนมีทำนองไพเราะ ประทับใจผู้ฟัง สอดคล้องกับเนื้อร้อง ซึ่งมีคตินานัปการ และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ซึ่งส่วนตัวมีความภูมิใจมากที่ได้รับมาองค์หนึ่ง พร้อมใบประกาศและลายเซ็นของอาจารย์วัชระ ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงเชื่อว่างานศิลป์เช่นนี้ไม่มีการทำขึ้นอีก และไม่ใช่ใครจะมีได้ง่ายๆ"

 ทั้งนี้ ทวีศักดิ์ บอกว่า รูปปั้นหล่อสำริดทุกแบบจะถูกหล่อขึ้นเพียง 99 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่ได้แบ่งมาส่วนหนึ่ง เพราะงานปั้นจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อใดขึ้นอยู่ที่ช่างฝีมือ ราคาก็ไม่ได้ระบุ ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับมูลค่าทางจิตใจ

 "สำหรับชิ้นงานที่ใฝ่ฝันอยากได้มากที่สุดคือ รูปหล่อสำริดภาพของคุณยายตุ้ม จันทนิตย์ รอรับเสด็จพร้อมดอกบัวสายสีชมพู ตั้งแต่เช้าจนบ่ายทำให้แสงแดดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย เมื่อในหลวงเสด็จฯ มาถึง ตรงมาที่คุณยายได้ยกดอกบัวสายโรยราสามดอกนั้นขึ้นจนเหนือศีรษะ แสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง 

 "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงโน้มพระองค์ลงมาจนพระพักตร์เกือบชิดกับศีรษะของคุณยาย ทรงแย้มพระสรวลอย่างอ่อนโยน พระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของเกษตรกรชาวภาคอีสานอย่างนุ่มนวล แต่งานชิ้นนี้เรียกได้ว่าหายากมาก"

 ทวีศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องด้วยพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปทั่วเหนือจรดใต้ และพระองค์ท่านทรงงานทุกวัน ทำงานอย่างเข้าถึงประชาชน ทำให้รู้สึกว่าพระองค์ท่านคือแบบอย่างของผู้ที่ปิดทองหลังพระ ในฐานะของคนเป็นข้าราชการที่ต้องช่วยเหลือทุกข์ร้อนให้กับประชาชนต่อไป จึงอยากจดจำท่านเป็นแบบอย่างดีงามไปชั่วนิรันดร์