posttoday

เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์

21 ตุลาคม 2560

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โดย พรเทพ เฮง 

 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25-29 ต.ค. 2560 โดยวันที่ 26 ต.ค. 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ

 คณะรัฐมนตรีรับทราบมติที่คณะอนุกรรมการฯ ฝ่ายจัดการพระราชพิธีฯ กำหนดวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในระหว่างวันที่ 25-29 ต.ค. 2560 พร้อมทั้งพิจารณาหมายกำหนดการพระราชพิธีฯ และกำหนดจำนวนริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศไว้ดังต่อไปนี้

 + วันพุธที่ 25 ต.ค. 2560

 เวลา 17.30 น. พระราชพิธีพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

 + วันพฤหัสบดีที่ 26 ต.ค. 2560 (คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษด้วย

 เวลา 07.00 น. พระราชพิธีเชิญพระบรมศพออกพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง โดยริ้วกระบวนที่ 1 ริ้วกระบวนที่ 2 และริ้วกระบวนที่ 3

 เวลา 17.30 น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

 เวลา 22.00 น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง

 + วันศุกร์ที่ 27 ต.ค. 2560

 เวลา 08.00 น. พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ เชิญพระบรมอัฐิสู่พระบรมมหาราชวัง โดยริ้วกระบวนที่ 4

 + วันเสาร์ที่ 28 ต.ค. 2560

 เวลา 17.30 น. พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

 + วันอาทิตย์ที่ 29 ต.ค. 2560

 เวลา 10.30 น. พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยริ้วกระบวนที่ 5

 เวลา 17.30 น. พระราชพิธีเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร โดยริ้วกระบวนที่ 6

 ในห้วงเวลาแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้สร้างความโศกเศร้าอาดูรแก่พสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง แม้ต่างก็รับรู้ว่าการพรากจากเป็นธรรมดาของโลก ตามนัยแห่งศาสนาที่เชื่อมร้อยอยู่กับวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย

 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมิวเซียมสยาม ซึ่งได้จัดเสวนาเรื่อง “เสด็จสู่แดนสรวง : ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ” และได้จัดทำหนังสือชื่อเดียวกันออกมาเป็นที่ระลึกและแจกจ่ายกับประชาชนและโรงเรียนต่างๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ที่สืบทอดจากโบราณสู่ปัจจุบันและส่งต่อความถูกต้องไปสู่อนาคต

เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์

เสด็จสู่แดนสรวง

 จากบทบรรณาธิการของ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประมวลขมวดองค์ความรู้ของหนังสือ “เสด็จสู่แดนสรวง” ไว้ก็คือ จากจุดจบสู่จุดเริ่มต้น

 พิธีศพสามัญชนกับเจ้าต่างกันที่คติความเชื่อทางศาสนาและฐานันดรของผู้วายชนม์ที่กำกับทำให้พิธีการและพิธีกรรมมีความแตกต่างกัน ถ้าถอดสิ่งที่อาจเรียกว่าเป็นอาภรณ์อันห่อหุ้มพิธีศพออกทั้งหมดแล้ว พิธีศพทั้งสามัญชนและเจ้าต่างมีจุดร่วมกันคือ ความปรารถนาที่จะส่งดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่ภพภูมิที่ดีคือสรวงสวรรค์

 ทว่าด้วยคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธที่เปรียบพระมหากษัตริย์เป็นดังอวตารภาคหนึ่งของเทพเจ้าหรือเป็นพระโพธิสัตว์ในร่างของมนุษย์ ผสมผสานกับความเชื่อในเรื่องความตายดั้งเดิมของคนในภูมิภาคนี้ ทำให้งานพระบรมศพและพระศพของเจ้ามีการสร้างพระเมรุ เพื่อให้พระองค์กลับคืนสู่สวรรค์พิภพ ต่างจากสามัญชนที่ยังคงต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารต่อไป ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้พระราชพิธีและธรรมเนียมปฏิบัติของพระมหากษัตริย์เต็มไปด้วยรายละเอียดและขั้นตอนมากมายเพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพและงานพระเมรุได้โดยสะดวก สามารถแบ่งพระราชพิธีพระบรมศพออกได้เป็น 4 ส่วน

 หลักคือ ส่วนแรก เป็นการจัดการเกี่ยวกับพระบรมศพนับจากการสรงน้ำจนถึงบรรจุลงในพระโกศ ส่วนที่สอง เป็นพิธีกรรมต่างๆ ในระหว่างการตั้งพระบรมศพ และการปฏิบัติตนของผู้ที่มีชีวิต ส่วนที่สาม เป็นเรื่องของกระบวนแห่พระบรมศพและงานพระเมรุ สุดท้าย ส่วนที่สี่ เป็นการถวายพระเพลิงและพิธีกรรมที่เกิดขึ้นภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว

 จะเห็นได้ว่าในงานพระบรมศพและพระเมรุนั้นเต็มไปด้วยความรู้มากมายที่สะท้อนทั้งรากทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนในภูมิภาคนี้ และอิทธิพลของศาสนาพุทธและพราหมณ์ ซึ่งได้ผสมผสานกันและหลายสิ่งหลายอย่างยังคงสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์

พระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์

 พิธีพระบรมศพนับเป็นขั้นตอนประณีตมีรายละเอียดต่างๆ มาก บทความเรื่อง พระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์โดยสังเขป โดย ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดให้เห็นภาพรวมของขั้นตอนและแบบแผนเกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพนับตั้งแต่ต้นจนจบ คือ นับตั้งแต่ขั้นตอนการสรงน้ำและถวายเครื่องทรงพระบรมศพไปจนถึงการจัดเก็บพระบรมอัฐิ ทำให้เกิดภาพและความเข้าใจต่อพระราชพิธีชัดเจนขึ้น และมีความน่าสนใจในแง่มุมของประวัติศาสตร์ศิลปะด้วย

ผศ.ดร.พัสวีสิริ เขียนในบทความแจกแจงว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีนั้น เป็นช่วงเวลาอันยาวนานที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกร ดังจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ในขณะเดียวกันก็นับเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ได้ว่างเว้นจากการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน

 ความน่าสนใจบางประการจากการพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งสะท้อนถึงราชประเพณีที่มีมาแต่โบราณเป็นสำคัญ รวมถึงคติที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระพุทธรูปที่สัมพันธ์กับพระราชพิธีพระบรมศพ

 พระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นตามโบราณราชประเพณีอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศแห่งพระเจ้าแผ่นดิน ขั้นตอนอันสลับซับซ้อนต่างๆ ในการจัดการพระบรมศพของพระมหากษัตริย์เมื่อสวรรคต เป็นเรื่องเฉพาะสำหรับเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแม้ไม่ได้ปรากฏรายละเอียดอย่างชัดเจนในทุกรัชกาล แต่สันนิษฐานว่าขั้นตอนหลักของการจัดการพระบรมศพเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น น่าจะเป็นเช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา อาทิ การสรงน้ำชำระพระบรมศพและถวายพระสุคนธ์สรงพระบรมศพ การถวายพระภูษาอาภรณ์และเครื่องพระมหาสุกำ

 การประดิษฐานพระบรมศพภายในพระมหาปราสาท กระบวนแห่พระบรมศพและกำรออกพระเมรุมาศ เป็นต้น จากประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม 3 เรื่อง หลักฐานดังกล่าว ทำให้เห็นภาพขั้นตอนที่สำคัญของพระราชพิธีนี้ซึ่งคงได้ปฏิบัติถวายพระมหากษัตริย์เมื่อสวรรคต อันสะท้อนถึงคติความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนดั่งองค์สมมติเทพที่เสด็จจุติลงมาปกครองแผ่นดิน

 พระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นพระราชพิธีที่สะท้อนถึงแนวคิดและคติความเชื่อทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ขั้นตอนต่างๆ อันได้แก่ การสรงน้ำพระบรมศพ การถวายเครื่องพระมหาสุกำ การสร้างพระเมรุมาศ และการเก็บรักษาพระบรมอัฐิ ได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องจากธรรมเนียมในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อบริบททางสังคมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในพระราชพิธีนี้ให้ต่างไปจากเดิม ที่สำคัญ เช่น รูปแบบของพระเมรุมาศ การบรรจุพระบรมอัฐิที่พระพุทธอาสน์ของวัดประจำรัชกาล เป็นต้น

 สิ่งสำคัญที่น่าสังเกตประการหนึ่ง คือการถวายเครื่องต้นทรงพระบรมศพที่ประกอบด้วยภูษาอาภรณ์และเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ที่เสมือนเครื่องทรงของพระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างจักรพรรดิราช รวมถึงการนำพระชฎาและเครื่องประดับไปหลอมยุบเพื่อหล่อเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์นั้น สะท้อนถึงคติความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์เปรียบประดุจพระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นสมมติเทพ ขั้นตอนต่างๆ ที่ตามมาในพระราชพิธีพระบรมศพได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดดังกล่าวอย่างชัดเจน พระราชพิธีพระบรมศพจึงเป็นพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณีที่จัดขึ้นอย่างประณีตและยิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศแห่งพระเจ้าแผ่นดิน

เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์

พัฒนาการธรรมเนียมไว้ทุกข์ จากระเบียบรัฐสู่มารยาทสังคม

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เขียนบทความพัฒนาการธรรมเนียมไว้ทุกข์ จากระเบียบรัฐสู่มารยาทสังคม ได้สาธยายไว้ว่า นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต มีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับธรรมเนียมการไว้ทุกข์ โดยเฉพาะในเรื่องของการแต่งกายด้วยชุดสีดำทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ซึ่งเป็นขนบการไว้ทุกข์แบบใหม่ จนเป็นทำเกิดข้อฉงนในสังคม

 ทว่าแท้ที่จริงแล้ว ขนบการไว้ทุกข์ของไทยมีความหลากหลายมากมายตั้งแต่อดีต ทั้งนี้เพราะมีการรับเอาขนบจากโลกภายนอกมาไม่ว่าจากอินเดีย จีน และตะวันตก ผสมผสานกับขนบดั้งเดิมในภูมิภาค ทำให้มีการพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนตามสังคมและสภาวการณ์ของโลก ท้ายที่สุดการที่เราจะยึดติดว่าขนบไว้ทุกข์ที่เคยเห็นกันเมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นขนบดั้งเดิมจึงไม่ถูกต้องนัก เพราะสะท้อนการขาดความเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์ไป

 ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2442 ได้ให้คำจำกัดความว่า การแสดงเครื่องหมายตามธรรมเนียมประเพณีว่าตนมีทุกข์เพราะบุคคลสำคัญในครอบครัวเป็นต้นวายชนม์ไป แต่เอกสารรุ่นเก่าได้ให้สาเหตุของการไว้ทุกข์ ดังในประกาศนุ่งขาวว่า “เครื่องซึ่งแต่งตัวไว้ทุกข์ไปช่วยงานศพ” และในประกาศเรื่องโกนผมว่า “ให้ข้าในกรมโกนศีศะ เปนการแสดงความเคารพ”

 จากการสืบค้นเอกสารที่เก่ากว่ารัชกาลที่ 5 เช่น หมายโกนผมในคราวพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต ประกาศโกนผมในคราวพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พจนานุกรมฉบับของปาลเลอกัวซ์และของบรัดเลย์ ไม่ปรากฏศัพท์คำว่า “ไว้ทุกข์” แต่เพิ่งจะมาปรากฏในราชกิจจานุเบกษา สมัยรัชกาลที่ 5

 ดังนั้น จึงทำให้เชื่อว่ามีแนวความคิดบางประการที่เปลี่ยนแปลงไป ในสมัยรัฐจารีต นับจากกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เจ้านาย ข้าราชบริพาร และไพร่ จะมีธรรมเนียมการไว้ทุกข์ด้วยการแต่งกายด้วยชุดสีขาว ยกเว้นผ้านุ่งที่จะมีการกำหนดสีสันแตกต่างกันไปตามฐานันดรและตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม นอกจากนี้ ในอดีตยังมีการโกนผมด้วยเพื่อแสดงความอำลัย

 ต่อมาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4-5 เป็นต้นมา เมื่อราชสำนักสยามได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ทำให้มีการกำหนดสีเสื้อผ้าในการแต่งกายไว้ทุกข์ใหม่ สีขาวได้ถูกกำหนดให้ใช้กับผู้ตายที่มีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมสูงกว่า ในขณะที่สีดำถูกกำหนดให้ใช้ในทางตรงกันข้าม ด้วยการที่สังคมก้าวสู่รัฐสมัยใหม่ที่อิงกับการทำงานตามเวลามากขึ้น ทำให้ราชสำนักจำเป็นต้องกำหนดจำนวนวันในการไว้ทุกข์ที่แน่นอน และยังสร้างระเบียบต่างๆ ขึ้นผ่านเครื่องแบบและประกาศต่างๆ

 อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อำนาจของสถาบันกษัตริย์ได้ลดลง ทำให้งานพระเมรุถูกลดขนาดลง ไม่ก็ยกเลิกไปสำหรับเจ้านายบางพระองค์ ชุดไว้ทุกข์สีดำที่เป็นชุดของผู้น้อยได้ถูกเลือกขึ้นมาเป็นสีมาตรฐานของงานศพแทน แต่จุดหักเหที่สำคัญที่ทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีในการไว้ทุกข์ทั้งที่อุทิศให้กับเจ้าและขยายไปถึงพระสงฆ์กลับมา คือการก้าวขึ้นมามีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 อาจกล่าวได้ว่า ธรรมเนียมการไว้ทุกข์ได้มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อปรับให้ทันสมัยเป็นสากล และสะท้อนการรับเอาวัฒนธรรมที่หลากหลายในสังคม หากแต่ธรรมเนียมการไว้ทุกข์ที่ใช้ปฏิบัติกันในทุกวันนี้ แท้ที่จริงคือกฎระเบียบแบบแผนทางราชการที่ราษฎรนำมาใช้จนกลายเป็นมารยาททางสังคมในท้ายที่สุด

...........

เรียบเรียงข้อมูลจาก : หนังสือ “เสด็จสู่แดนสรวง : ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ”