posttoday

ตามรอยพ่อ… ผ่าน 3 สถานที่แห่งความทรงจำ

19 ตุลาคม 2560

ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แต่พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีต่อพสกนิกร จะสถิตในดวงใจของชาวไทยทั่วหล้าตราบนิรันดร์

 

ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แต่พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีต่อพสกนิกร จะสถิตในดวงใจของชาวไทยทั่วหล้าตราบนิรันดร์
ใครที่คิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 สุดหัวใจ หรือต้องการซึมซับพระอัจฉริยภาพและแนวพระราชดำริที่พระองค์ทรงวางรากฐานไว้เป็นอย่างดีให้คนไทยได้นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ สามารถไปตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่าน 3 สถานที่แห่งความทรงจำอันทรงคุณค่าที่คัดสรรมาแล้วว่าควรค่าแก่การไปเยือน

รับรองว่ามาแล้วไม่เพียงกลับไปพร้อมความภาคภูมิใจที่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินไทย แต่ยังได้แรงบันดาลใจดีๆ มากมายกลับไปเป็นของแถม เพราะทุกพระจริยวัตร และพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ล้วนเป็นแบบอย่างอันดีงามที่พสกนิกรน้อมนำไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ที่สำคัญแต่ละแห่งที่คัดสรรมานั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้มีวันหยุดยาว เพราะแต่ละแห่งสามารถเดินทางเช้าไปเย็นกลับได้แบบสบายๆ 

 

ตามรอยพ่อ… ผ่าน 3 สถานที่แห่งความทรงจำ

 

ยลมรดกศิลป์แห่งแผ่นดิน ณ หออัครศิลปิน

ผู้ที่ชื่นชอบในงานศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหนก็ตาม ต้องมาเยือนหออัครศิลปิน แหล่งรวมมรดกศิลป์อันล้ำค่าของแผ่นดินที่ควรค่าแก่การศึกษา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยมุ่งใช้เป็นสถานที่แสดงผลงานด้านศิลปวัฒธรรมอันทรงคุณค่าของพระองค์ ในฐานะองค์อัครศิลปินทั้ง 9 ด้าน ได้แก่ ด้านหัตถกรรม กีฬา วรรณศิลป์ จิตรกรรม ถ่ายภาพ ภูมิสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ดนตรี และการพระราชนิพนธ์เพลง นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่จัดแสดงประวัติและผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติอีกด้วย

อาคารสีขาวของหออัครศิลปิน โดดเด่นด้วยหลังคาทรงไทยหน้าจั่วสูงแบบไทยประยุกต์ 3 ชั้น ประกอบด้วยอาคารหลัก ซึ่งใช้จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระปรีชาสามารถด้านศิลปะ รวมทั้งผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ขององค์อัครศิลปินรายล้อมด้วยอาคารรูปตัวยู (U) ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด “อัครศิลปินรายล้อมด้วยศิลปินแห่งชาติ ซึ่งพระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์” ภายในนิทรรศการมีการใช้สื่อผสมที่ทันสมัย ได้แก่ วีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย และวิดีโอซีดี เพื่อเพิ่มอรรถรสในการเยี่ยมชมให้กับผู้มาเยือน

ไฮไลต์ที่มาแล้วห้ามพลาดคือ ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์จำนวนทั้งสิ้น 37 ภาพ โดยมีภาพฝีพระหัตถ์องค์จริง ซึ่งเป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบที่ไม่ปรากฏชื่อจำนวน 4 ภาพ และภาพสำเนา 33 ภาพ ส่วนด้านหัตถกรรม นำเสนอแบบจำลองเรือใบซูเปอร์มด และเครื่องมือที่ทรงใช้ในการต่อเรือ ด้านประติมากรรมและการถ่ายภาพ จัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุญาตมาจัดแสดงจำนวน 40 ภาพด้วยกัน และด้านคีตศิลป์และการพระราชนิพนธ์เพลงโดยเฉพาะ ห้องนี้พลาดไม่ได้เพราะมีการนำเสนอบทเพลงพระราชนิพนธ์ในรูปแบบดนตรี 3 มิติเป็นแห่งแรกในประเทศไทย

ตามรอยพ่อ… ผ่าน 3 สถานที่แห่งความทรงจำ  

 

ซึมซับเรื่องราวของ “พ่อ” ผ่านหอจดหมายเหตุฯ

หลังจากชมหออัครศิลปินเสร็จแล้ว ถ้ายังไม่หมดแรง สามารถเดินต่อมาที่ “หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน โดยกรมศิลปากรได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้นในมหามงคลโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เพื่อเป็นศูนย์กลางการรวบรวม เก็บรักษาเอกสารสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนเอกสารการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติต่างๆ  

บนพื้นที่ 75 ไร่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติฯ ถูกออกแบบให้เป็นอาคารแบบไทยประยุกต์ ประกอบด้วย 4 อาคาร คือ อาคารสำหรับเก็บเอกสารจดหมายเหตุ และอาคารให้บริการค้นคว้า ส่วนอีก 2 หลังเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจรวม 27 หัวข้อ ตลอดจนภาพถ่ายที่หาชมได้ยาก พร้อมกับเอกสาร จดหมายเหตุ สื่อโสตทัศนศึกษา

อาคารจัดแสดงต้อนรับผู้มาเยือนด้วยหลากหลายโซนให้เดินชมเพลินๆ ไฮไลต์คือ “โซนพสกนิกรจงรักภักดี” ชวนให้เพลินไปกับการจำลองบรรยากาศบ้านเรือนในอดีตที่มีการแสดงออกถึงความจงรักภักดีของประชาชนในแต่ละยุคสมัย ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ดวงตราไปรษณียากร ปฏิทิน วารสาร และนิตยสาร นอกจากนี้ยังมีการจำลองร้านตัดผมและร้านถ่ายรูปในอดีตที่มีการประดับพระบรมฉายาลักษณ์ และธงเฉลิมพระเกียรติ

ก่อนจะย้อนวันวานไปศึกษาพระราชประวัติตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จพระบรมราชสมภพ ณ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงปฐมบทแห่งการพัฒนา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มาสู่โครงการในพระราชดำริมากมาย ปิดท้ายด้วยโซนพระบารมีปกเกล้า จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ในหัวข้อรูปที่ประชาชนชาวไทยทุกบ้านมีไว้สักการะ  

ทั้งหออัครศิลปินและหอจดหมายเหตุฯ ตั้งอยู่ที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เปิดให้บริการวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เปิดตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น. เข้าชมได้ฟรี 

 

ตามรอยพ่อ… ผ่าน 3 สถานที่แห่งความทรงจำ

 

วิถีเกษตรตามรอยพ่อ ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นในปี 2539 ก่อนจะแยกตัวเป็นองค์การมหาชนในปี 2552 บนอาณาเขตอันกว้างใหญ่กว่า 300 ไร่ ถูกแบ่งออกเป็น 2 โซนหลัก ได้แก่ กลุ่มพิพิธภัณฑ์ภายในอาคาร ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกสนาน” ผ่านนิทรรศการจัดแสดงเรื่องราวพระราชกรณียกิจ พระเกียรติคุณ พระอัจฉริยภาพ ทั้งด้านเกษตร ดิน และน้ำ ด้วยสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3 มิติ โฮโลแกรม นิทรรศการ 4 มิติ และกลุ่มพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง พร้อมลงมือปฏิบัติ” โซนนี้เปิดโอกาสให้ซึมซับกับวิถีเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่แบบนอกตำรา ถูกใจเกษตรตัวจริงและคนเมืองที่สนใจทำเกษตร

ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์มีชีวิตนี้ ชวนให้ตื่นตาตื่นใจตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในอาคาร ด้วยคณะหุ่นจำลองขบวนพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถัดเข้ามาจะพบกับโซน “กษัตริย์เกษตร” ต้อนรับทุกคนด้วยโรงภาพยนตร์ขนาด 120 ที่นั่ง ที่เตรียมไว้สำหรับฉายภาพยนตร์การ์ตูน 3 มิติ ที่เกี่ยวเนื่องกับกษัตริย์เกษตร 5 เรื่อง ได้แก่ “เรื่องของพ่อในบ้านเรา” “แผ่นดินของเรา” “ทรัพย์ดินสินนํ้า” “เมล็ดสุดท้าย” และ “ไผ่รวกกับตะวันผู้ยโส” จากบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะฉายหมุนเวียนตามรอบ แต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 15 นาที โดยผู้ชมจะได้รับแว่น 3 มิติเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชม

 

ตามรอยพ่อ… ผ่าน 3 สถานที่แห่งความทรงจำ

  

ชมภาพยนตร์จบแล้ว ยังสามารถเดินชมโซนต่างๆ ภายในอาคาร อาทิ นิทรรศการ “วิถีเกษตรของพ่อ” “นวัตกรรมของพ่อ” แสดงนวัตกรรมที่ทรงคิดค้นและจดสิทธิไว้เป็นมรดกทางปัญญา แต่ที่พลาดไม่ได้คือโซน “คิดถึงพ่อไม่ลืมเลือน” ซึ่งจัดทำขึ้นใหม่เพื่อถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการจำลองกำแพงพระบรมมหาราชวัง และภาพบรรยากาศของพสกนิกรชาวไทยที่หัวใจหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในวันที่เดินทางมาร่วมขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่สนามหลวง พร้อมฉายวีดิทัศน์ย้อนวันวานอันแสนเศร้า นับตั้งแต่สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์

ทัวร์จนทั่วอาคารแล้ว ใครที่ยังพลังเหลือสามารถเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์อาคารอื่นๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์วิถีน้ำ พิพิธภัณฑ์ดินดล หรือจะขึ้นรถพ่วงไปชม “พิพิธภัณฑ์เกษตรตามรอยพ่อ” และ “พิพิธภัณฑ์เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งจะมีการสาธิตไร่นา และการทำสวนตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงเต็มพื้นที่อันเขียวขจีรอบๆ พิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน ยังจัดให้มีตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียงให้ช็อปสินค้าเกษตรปลอดภัยกลับบ้านด้วย

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่ที่ถนนพหลโยธิน ตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช (นวนครเดิม) จ.ปทุมธานี เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์และวันนักขัตฤกษ์) เปิดตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมขึ้นอยู่กับอาคารที่เข้าชม สำหรับผู้ใหญ่เริ่มต้นที่ 40 บาท เด็กเริ่มต้นที่ 20 บาท

สุดสัปดาห์นี้ใครที่กำลังมองหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ อย่าพลาดตามไปสัมผัสเรื่องราวของ “พ่อ” ให้ครบทั้ง 3 แห่ง