posttoday

ชวินดา หาญรัตนกูล วางแผนเกษียณแบบผู้จัดการกองทุน

14 ตุลาคม 2560

การทำงานในภาคการเงินนั้น ชีวิตค่อนข้างวุ่นวายและเคร่งเครียด

โดย  จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

 การทำงานในภาคการเงินนั้น ชีวิตค่อนข้างวุ่นวายและเคร่งเครียด เพราะทุกวันต้องอยู่กับตัวเลข แต่ในอีกแง่มุมก็เป็นข้อดี เพราะการได้ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับเรื่องบริหารเงินคนอื่น ก็ทำให้ไม่ลืมใส่ใจการบริหารเงินของตัวเองเช่นกัน

 ชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย ก็เป็นหนึ่งในคนที่คร่ำหวอดอยู่ในภาคการเงินมานาน เป็นผู้จัดการกองทุน รับหน้าที่ดูแลกองทุนมานานกว่า 20 ปีแล้ว แน่นอนว่า ชวินดา ไม่ลืมการวางแผนชีวิตของตัวเองเพื่อรองรับวัยเกษียณ

 ชวินดา เล่าว่า วางแผนการเงินของตัวเองไว้นานแล้ว ทันทีที่เริ่มวางแผนก็เห็นการเติบโตที่ดีด้านการเงิน ในช่วงแรกของการวางแผนการเป็นเพราะถูกบังคับด้วยความจำเป็นที่ต้องบริหารภาษีของตัวเอง แต่ต่อมาก็เริ่มนึกถึงอนาคตมากขึ้น การบริหารนั้นได้แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การบริหารสภาพคล่องของตัวเอง การบริหารเงินทุนระยะยาวของตัวเอง และการบริหารสินทรัพย์ เช่น ที่อยู่อาศัย ที่มองว่าควรมีผสมเข้ามาอยู่ในพอร์ตการเงินตัวเองไว้ด้วย

 การใช้จ่ายเงินแต่ละเดือนของชวินดา จะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนตามสไตล์คนมีครอบครัว ส่วนแรกจะคำนวณไว้เลยว่าควรมีสภาพคล่องไว้ใช้เท่าไรที่จะครอบคลุมการดูแลลูกด้วย ส่วนต่อมาก็แบ่งไปลงทุน และอีกส่วนเป็นการแบ่งเงินที่จะใช้บริหารภาษี เมื่อจัดแบ่งไว้ชัดเจนแล้ว ก็จะทำให้รู้ตัวว่าควรจะใช้เงินสดเท่าไร ใช้บัตรเครดิตเท่าไรต่อเดือน

 ชวินดา เชื่อว่า เมื่อเกษียณแล้วคงห่วงอะไรแล้ว เมื่อมีการวางแผนไว้แล้ว แต่ถ้าให้มองวันนี้ก็คงยังไม่คิดเกษียณเร็วกว่ากำหนด เพราะเป้าหมายชีวิตยังไม่ได้ลุล่วง เมื่อไรก็ตามเป้าหมายในชีวิตสำเร็จลุล่วงแล้วก็คงพร้อมเกษียณแต่โดยดี ซึ่งก็น่าจะเป็นการเกษียณตามเวลาปกติที่คนอื่นเกษียณกัน โดยหลังเกษียณ ชวินดา วาดฝันไว้ว่า อยากไปทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่

ชวินดา หาญรัตนกูล วางแผนเกษียณแบบผู้จัดการกองทุน

 “การอยู่บนโลกการเงิน ทำให้หลังเกษียณไปแล้วก็มองว่า หากไม่ไปทำอะไรเลยก็คงจะบริหารเงินของตัวเอง แต่สิ่งที่อยากทำคือช่วยเด็กรุ่นใหม่ ด้วยการมีโอกาสไปอบรมสั่งสอนเด็กรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูก”

 สิ่งที่ ชวินดา มองว่าจะช่วยเด็กรุ่นใหม่ได้คือ การให้ความรู้ทางการเงิน เพราะทุกวันนี้สังคมไทยเลวร้าย ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะเลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อเด็กไทยมีหนี้สูง และไม่ได้เป็นหนี้ที่จะสร้างความมั่งคั่งในอนาคต แต่เป็นหนี้เพื่อที่จะอวดตัวตน ซึ่งคนเหล่านี้คือคนที่ชวินดาอยากช่วย เพราะคนรุ่นใหม่คือพื้นฐานสำคัญของประเทศ สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ก็ต้องมาจากการวางพื้นฐานเด็กรุ่นใหม่ในวันนี้

 นอกเหนือจากเรื่องการบริหารจัดการเงิน และวางแผนสิ่งที่จะทำไว้หลังเกษียณแล้ว อีกสิ่งที่ชวินดา ทำควบคู่ไปด้วย คือ การบริหารใจ บริหารสุขภาพร่างกายตัวเอง

 ชวินดา ยอมรับโดยดีว่า การอยู่ในโลกของการเงิน ทำให้ใจไม่สงบเลย เพราะบทบาทหน้าที่ที่ต้องทำมีความจำเป็นต้องเกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก ต้องบริหารทั้งคนและบริหารเงินของลูกค้า

 อย่างไรก็ตาม ชวินดา ก็พยายามบริหารตัวเองเพื่อให้ใจสงบลงได้ด้วยการนั่งสมาธิก่อนนอนอย่างน้อย 15 นาทีถึงครึ่งชั่วโมง ส่วนช่วงกลางวันก็จะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการออกกำลังกายด้วยการเดิน ตั้งเป้าหมายอย่างน้อยที่สุดต้องเดินให้ได้ 1 หมื่นก้าวต่อวัน

 ข้อดีของการเดินคือ เมื่อต้องไปทำงานที่ต่างประเทศซึ่งต้องเดินมากๆ ก็สามารถเดินได้สบายๆ และจากสิ่งที่ทำอยู่นี้ก็น่าจะทำให้ตัวเราเป็นคนเกษียณอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

 “สิ่งที่เราต้องดูแลให้ดีที่สุดคือสุขภาพ เพราะถ้ามีเงินแค่ไหนก็ไม่พอสำหรับอนาคตถ้าสุขภาพไม่ดี แต่เรื่องสุขภาพก็พูดยาก บางคนดูแลสุขภาพดีมาทั้งชีวิตก็ยังไม่ปลอดภัยจากโรค อย่างไรก็ตามเมื่อมีโอกาสก็ควรจะดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุด ทำใจให้สบาย”

 เหล่านี้คือวิถีชีวิตเพื่อเกษียณอย่างมีความสุขแบบฉบับผู้จัดการกองทุน