posttoday

สวนหยาดเหงื่อพระราชา จากใจเราถึงพ่อ

11 ตุลาคม 2560

ในสวนหยาดเหงื่อพระราชา ดอกดาวเรืองถูกวางเรียงรายเป็นเลข ๙ อย่างสวยงาม แต่ยังเหลือพื้นที่ว่างอีกมากที่รอให้เราทุกคนมาเติมเต็มด้วยการนำต้นดาวเรืองมาวางเรียงราย

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี

ในสวนหยาดเหงื่อพระราชา ดอกดาวเรืองถูกวางเรียงรายเป็นเลข ๙ อย่างสวยงาม แต่ยังเหลือพื้นที่ว่างอีกมากที่รอให้เราทุกคนมาเติมเต็มด้วยการนำต้นดาวเรืองมาวางเรียงราย ให้เราระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้วยตัวเอง

ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความดี

ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ หนึ่งในตัวแทนทีมผู้จัดงาน เล่าที่มาที่ไปของโครงการหยาดเหงื่อพระราชา และที่มาของ สวนนี้ว่า โครงการสวนหยาดเหงื่อพระราชา ใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เริ่มต้นเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน ดร.สาธิต วิทยากร ซึ่งท่านเป็นผู้บริหารมูลนิธิพงษ์ศักดิ์ วิทยากร บอกว่าท่านมีพื้นที่ตรงถนนรัชดาซอย 8 ก็มีความคิดว่าอยากจะทำความดีบางสิ่งบางอย่างถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ปรึกษากับผู้ใหญ่อีกท่าน จนได้ออกมาเป็นโครงการหยาดเหงื่อพระราชา

แนวความคิดมาจากการได้เห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปิดทองหลังพระมานานมาก แรกๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่า ปิดทองหลังพระแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร จนกระทั่งวันหนึ่งวันที่พระองค์ท่านจากเราไป เราถึงได้รู้ซึ้งถึงการปิดทองหลังพระว่าที่ท่านทำมาตลอดนั้นคืออะไร

ทองที่อยู่หลังพระมากมายมหาศาลที่ในหลวงท่านปิดทองเอาไว้ วันนี้ได้ไหลออกมาสู่ด้านหน้าองค์พระ แผ่ไพศาลความดีงามให้เราทุกคนได้เห็น ให้คนทั้งโลกให้เห็นความดีงามของพระองค์ท่าน ได้ซาบซึ้งว่าการปิดทองหลังพระนั้นเกิดประโยชน์อย่างไร

ทั้งชีวิตของท่าน ท่านปิดทองหลังพระมาตลอด เต็มไปด้วยความทุ่มเทแรงกายแรงใจให้เราเห็นถึงหยาดเหงื่อของพระองค์ท่านมากมายมหาศาลที่หยดลงสู่แผ่นดินไทยแห่งนี้ จึงกลายเป็นคำว่า "หยาดเหงื่อพระราชา" เพื่อสะท้อนความดีงามที่พระองค์ท่านทำเพื่อพวกเรา

ที่สำคัญโครงการนี้ ใช้เวลาในการดำเนินการสั้นมาก ไม่ถึงเดือน ก่อนพิธีเปิดงานเลยด้วยซ้ำ แค่มีผู้ใหญ่เริ่มให้แนวความคิด ก็มีอาสาสมัครมากมายที่เข้ามาร่วมช่วยให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง เพราะเราทุกคนล้วนมีแนวคิดแบบเดียวกัน ไปในทิศทางเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมาย งานเริ่มต้นเร็วมาก ทุกคนที่เข้ามาทำงานในโครงการนี้ รับไม้และส่งต่อทันทีโดยไม่ต้องมีรายละเอียดอะไรกันมากมาย ไม่มีความวุ่นวาย

บางคนไม่เคยรู้จักและทำโครงการนี้มาจนเริ่มก็ไม่เคยเห็นหน้ากันด้วยซ้ำ แต่เราก็ทำงานด้วยกันได้ดีรวดเร็วตรงกับสิ่งที่ทุกคนคิด ทุกอย่างเป็นไปโดยธรรมชาติแห่งความดีงามที่ส่งต่อถึงกัน ซึ่งเราจะรู้กันว่าเราควรจะทำอะไรในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้านี้"

สวนหยาดเหงื่อพระราชา จากใจเราถึงพ่อ

 

70 ปีกับ 4,685 โครงการ

ไม่มีอะไรจะอธิบายถึงคำว่า "หยาดเหงื่อพระราชา" ให้เป็นรูปธรรมได้ดีกว่า 4,685 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้ทรงมอบไว้ให้กับพวกเรา สะท้อนให้เห็นถึงการทรงงานอย่างหนัก เพื่อหวังให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นในทุกๆ ด้านไม่เคยมีวันหยุดพัก หยาดเหงื่อทุกหยดของพระองค์ท่านที่ไหลลงสู่พื้นแผ่นดินไทยทุกตารางนิ้ว มานานกว่า 70 ปีนี้ จึงเป็นดั่งน้ำทิพย์ที่หล่อเลี้ยงให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้ามาได้จนถึงปัจจุบัน แต่ยากนักที่จะใส่โครงการทั้งหมดไว้ในที่แห่งเดียว

สวนแห่งความจงรักภักดี จึงได้สอดแทรกศาสตร์พระราชา ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมงานรู้สึกถึงความรัก ความอบอุ่น ที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรไว้ด้วย โดยย้อนรำลึกให้เห็นว่า พระองค์ทรงอยู่รอบตัวเรามาโดยตลอด อยู่ในดิน ในน้ำ ในนา ในข้าว และในใจคนไทยทุกคน เพียงเดินเข้ามาในบริเวณงาน ก็จะสามารถสัมผัสถึงความรักของพระองค์ได้จากทุกมุมของสวนแห่งความภักดีนี้

การจัดงานจะถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ โดยโซนแรกที่สะท้อนถึงสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อชาวนาไทย ก็คือการจัดสวนด้วยนาข้าว...ขณะออกรวงสีเหลืองทอง เพื่อระลึกถึงพระบิดาแห่งข้าวไทย ผู้เปลี่ยนวังให้กลายเป็นแปลงนาสาธิต โรงเลี้ยงโคนม และโรงสีข้าว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งว่างเว้นไปหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงปี 2479-2502 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ชาวนา

จากบันทึกของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เล่าถึงในหลวงกับข้าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีวิถีชีวิตของพระองค์ที่เรียบง่ายที่สุด "ผมเคยถามพระองค์ว่าทรงโปรดเสวยอะไร พระองค์ท่านบอกคำเดียวว่า ข้าว"

ต่อเนื่องจากการปลูกข้าว ก็คือการปลูกไร่ปอเทือง (เกษตรทฤษฎีใหม่ เรื่องการปรับปรุงดิน) จากแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงแนะนำให้แก่เกษตรกรทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยพืชสดใช้เอง เพื่อนำมาใช้แก้ความเป็นกรดให้แก่ดินของเกษตรกร ทดแทนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนที่มีราคาแพงได้

สวนหยาดเหงื่อพระราชา จากใจเราถึงพ่อ

 

ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพในการแนะนำด้านการเกษตร ด้วยการแนะนำให้ปลูกปอเทือง ที่มีแร่ธาตุสารอาหารที่เหมาะแก่การบำรุงดิน หว่านปอเทือง 1 ครั้ง เท่ากับการปรับปรุงโครงสร้างดินได้ถึง 15 ปี เลยทีเดียว และที่สำคัญปอเทือง ออกดอกสีเหลืองสวยงามเต็มท้องทุ่ง สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้และภายในโครงการ "หยาดเหงื่อพระราชา" เราจะได้เห็นไร่ปอเทืองขนาดใหญ่ที่สุดใจกลางเมือง

ตามด้วยพื้นที่จัดแสดง "สวนศาสตร์พระราชา" ซึ่งเราจะได้จำลองผลงานจริงให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ในเรื่องราวที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างการจัดสวนด้วยต้นข้าวที่กำลังออกรวง เรื่องราวของบ่อปลานิลแห่งแรกของประเทศไทยก่อนจะมาเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของคนไทย

การจำลองฝายแม้ว และหญ้าแฝก โครงการตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับวิศวกรรมแบบพื้นบ้าน ฝายแม้วเป็นฝายชะลอน้ำกึ่งถาวรประเภทหนึ่ง โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น กิ่งไม้ ก้อนหิน เพื่อกั้นชะลอน้ำในลำธาร เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เกิดความชุ่มชื้นมากพอที่ จะพัฒนาการเป็นป่าสมบูรณ์ขึ้นได้ จนเป็นตัวอย่างให้กับ โครงการอื่นๆ ในเวลาต่อมา

ที่จะพลาดไม่ได้เลยก็คือพื้นที่จัดแสดง สมบัติพระราชาทั้ง 12 ชิ้น ซึ่งก็คือสมบัติที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ เพื่อสอนให้ประชาชนของพระองค์ใช้ชีวิตด้วยความพอเพียง ประหยัด และใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้คนไทยรู้จักที่จะดำเนินชีวิตในสังคม ด้วยความสามารถที่จะอุ้มชูตัวเองได้ โดยที่ตัวเองและคนอื่นนั้นไม่เดือดร้อน

อีกทั้งต้องดูแลตัวเองและครอบครัวให้มีความพอมี พอกิน พอใช้ ไม่หวังที่จะร่ำรวยแต่เพียงอย่างเดียว หากทำได้จะเกิดความสุขถ้วนทั่วกัน นั่นก็เพราะพระองค์เองก็ทรงเป็นต้นแบบของความเรียบง่าย ความประหยัด และความพอเพียงมาโดยตลอด ดังที่เราชาวไทยเคยได้ยิน ได้ฟัง เรื่องราวของท่านมาหลายครั้งหลายครา

สวนหยาดเหงื่อพระราชา จากใจเราถึงพ่อ

 

หนึ่งดอกแทนหนึ่งใจ

รัณนภันต์ ยิ่งยืนพูนชัย หรือ แพท ศิลปินวงเคลียร์ เล่าถึงไฮไลต์ของสวนหยาดเหงื่อพระราชาว่า ส่วนตัวแล้วทำงานให้กับมูลนิธิพงษ์ศักดิ์ วิทยากร มานานแล้ว และแพทเองก็ทำงานเป็นสถาปนิกด้วย ก็มีส่วนช่วยในการออกแบบสวนแห่งนี้ แต่งานหลักๆ ก็คือ ประสานงานในส่วนต่างๆ ให้งานออกมาในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแพทคิดว่างานนี้เป็นงานหนึ่งที่ทำเพื่อถวายพระองค์ท่าน ด้วยการช่วยกันจัดสวนประดับด้วยต้นดาวเรืองเต็มพื้นที่เป็นเลขเก้าไทย

"ถ้าเดินเข้ามาในงานก็จะเห็นว่าในสวนเลขเก้านั้นยังเหลือพื้นที่อีกมากที่รอให้ทุกคนนำดอกดาวเรืองเข้ามาร่วมกันปลูกและถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึกร่วมกัน ซึ่งเราพยายามที่จะปลูกดอกดาวเรืองให้บานพร้อมๆ กันในช่วงสัปดาห์แห่งงานพระราชพิธี ให้เป็นดอกไม้แทนใจของพวกเราทุกคน"

ธเนศ เสริมว่า การมาที่สวนนี้ อยากให้ทุกคนเข้ามาเดินดูไปเรื่อยๆ ชวนลูกๆ หลานๆ มาเดินเล่นได้ สำหรับเด็กๆ เราอาจจะยังไม่ต้องใส่ข้อมูลอะไรให้พวกเขามากนัก ให้เขาได้วิ่งเล่นได้เดินดูรอให้เขาเกิดคำถามในใจขึ้นมาเองว่าสิ่งที่เห็นในสวนนี้คืออะไร แล้วเราค่อยเล่าไปว่า คืออะไรแล้วใครเป็นคนคิดคนทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

"ไม่ใช่อยู่ๆ แล้วเดินเข้าไปแล้วก็รีบๆ ปลูกต้นดาวเรืองแล้วถ่ายรูปแล้วก็กลับ นั่นก็ดีอยู่ก็ได้ประโยชน์ แต่ผมคิดว่าจะได้ประโยชน์ ถ้าเกิดเราค่อยๆ ได้มองช่วงเวลาที่ผ่านมา ในสิ่งที่พระองค์ได้เคยทำให้พวกเรามาทั้งหมดอันนี้ก็เป็นแนวคิดและในระหว่างที่เดินทางจากนั้นยังมีปริศนาธรรมอยู่ในการจัดวางอีกมากมายค่อยๆ ดูไปจะเห็นอะไรหลายๆ อย่างอยู่ในนั้น

ในตอนนี้ความเป็นจริงอย่างอื่นก็คือพ่อได้จากพวกเราไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงด้านหนึ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา ไม่ได้ยินด้วยหู คือความจริงที่สำคัญว่าเมื่อไหร่ที่เราลงมือกระทำสิ่งที่ดีงามตามพระองค์ท่าน เมื่อนั้นเราจะกำลัง อยู่ข้างๆ ท่าน เพราะพระองค์ท่านคือสิ่งดีงามทั้งหมดทั้งปวง เมื่อไหร่ที่เรานึกถึงพระองค์ท่าน เมื่อไหร่ที่เราลงมือทำสิ่งที่ดี ท่านจะยังอยู่กับเราตลอดไป เกิดเป็นความสุขเล็กๆ ข้างในจิตใจของเราเอง"

สวนหยาดเหงื่อพระราชา จากใจเราถึงพ่อ