posttoday

ไข้เลือดออก มหันตภัยเงียบ

07 ตุลาคม 2560

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) เผยว่าโรคไข้เลือดออกยังคงระบาดมากขึ้นทั่วโลก

 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) เผยว่าโรคไข้เลือดออกยังคงระบาดมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ได้รับการรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง รวมถึงอาจมีการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน

 รายงานการระบาดไข้เลือดออก สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2560 รายงานว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วจำนวน 34,459 รายทั่วประเทศ โดยพบการระบาดของไข้เลือดออกมากที่สุดในภาคใต้ รวมถึง จ.สงขลา พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส และนครศรีธรรมราช ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศไทยถึง 49 ราย ในปี 2560 ซึ่งน่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก

 โรคไข้เลือดออกนั้นถือเป็นโรคติดเชื้อที่มากับยุง โดยมีอาการคล้ายคลึงกับไข้หวัดในช่วงแรก วัฏจักรของไวรัสไข้เลือดออกนั้น มียุงลายเป็นพาหะและมนุษย์เป็นเหยื่อ โดยยุงลายตัวเมียที่ติดเชื้อเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสไข้เลือดออกสู่มนุษย์ผ่านการกัด

 โรคไข้เลือดออกได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และแพร่หลายโดยเฉพาะประเทศแถบเขตร้อนชื้น โดยการแพร่กระจายสูงสุดเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย.

 อาการของโรคไข้เลือดออกในผู้ที่ติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 4-7 วัน หลังจากที่ถูกยุงกัด โดยอาการเบื้องต้นนั้นมักถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นโรคไข้หวัด หรือการติดเชื้ออื่นๆ โดยอาการของโรคไข้เลือดออกสามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้

ไข้เลือดออก มหันตภัยเงียบ

 + มีไข้สูงเฉียบพลัน (สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส)

 + ปวดหัวอย่างรุนแรง

 + มีอาการปวดตามข้อและกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง

 + มีผื่นคัน

 + มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนตั้งแต่เล็กน้อยถึงระดับรุนแรง

 + มีเลือดออกในจมูก หรือเหงือก

 + มีอาการฟกช้ำ

 + มีอาการชัก

 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อมาไขข้อข้องใจ และตอบคำถามเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกอย่างเจาะลึกทุกประเด็นในโครงการ “ครอบครัวปลอดภัย รู้ทัน ป้องกันไข้เลือดออก” สู่ภาคใต้ ที่จัดโดยบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของโรคไข้เลือดออก

 โดยคุณหมอได้แนะนำถึงการสังเกตอาการสำคัญในระยะแรกคือ ไข้สูง ปวดหัว ปวดตัว อาจร่วมกับการเบื่ออาหารและคลื่นไส้ในระยะแรก บางคนมีจุดแดงเล็กๆ ใต้ผิวหนัง กระทั่งเลือดกำเดาไหลหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ เนื่องจากเลือดออกจากทางเดินอาหาร

 นอกจากนี้แล้ว โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยยุงลายจะเป็นพาหะ ไวรัสเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ และพบการระบาดในไทยทั้ง 4 สายพันธุ์

 ดังนั้น คนไทยจึงสามารถป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้ง โรคไข้เลือดออกระบาดหนักในช่วงหน้าฝนคือช่วงเดือน มิ.ย.-พฤศจิกายน ในปัจจุบันยังไม่พบยารักษาโดยตรง เพียงแค่รักษาตามอาการเท่านั้น

 สิ่งควรระวังคือ การเลือกใช้ยาลดไข้ ห้ามให้ยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟน เพราะอาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร และแอสไพรินมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้เกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น ควรเลือกใช้ตัวยาพาราเซตามอลแทน และในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้เกินขนาดเพราะอาจส่งผลเสียต่อตับ

 นพ.มนูญ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าโรคไข้เลือดออกกับไข้หวัดนั้นเป็นโรคเดียวกัน เนื่องจากความคล้ายคลึงของอาการเบื้องต้น และมักจะใช้ยาแก้ปวด ลดไข้ตามร้านขายยาทั่วไป อย่างไรก็ตามการใช้ยาที่ผิดอาจทำให้อาการของโรคร้ายแรงขึ้นได้

 “โดยเฉพาะการใช้แอสไพรินและไอบูโพรเฟน รักษาโรคไข้เลือดออก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันจึงแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาอาการเบื้องต้น โดยใช้ยาพาราเซตามอล ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงปริมาณยาให้เหมาะสมกับอายุและน้ำหนัก และหากรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด อาจส่งผลต่อการทำงานของตับและเกิดภาวะตับเป็นพิษได้”

 ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่สามารถรักษาโรคไข้เลือดออกได้เฉพาะ โดยกรมควบคุมโรคได้แนะนำให้รักษาโรค ด้วยยาบรรเทาอาการปวด และลดไข้โดยใช้ยาพาราเซตามอลที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไป และผู้ป่วยควรเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟน

 เนื่องจากตัวยาทั้งสองอย่างนี้จะทำให้เกิดอันตราย และสามารถก่อให้เกิดภาวะเลือดออกมากขึ้น และเกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกจะอยู่ในภาวะเกล็ดเลือดและการแข็งตัวของเลือดบกพร่อง และยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟนสามารถทำให้ผู้ป่วยเลือดออกผิดปกติ และทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะช็อกได้ ซึ่งนับว่าเป็นระยะวิกฤตและต้องนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างเร่งด่วน

 ดังนั้น การใช้ยาราพาเซตามอลในการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกนั้นควรพักผ่อนและดื่มน้ำเพื่อบรรเทาอาการ หากอาการป่วยทรุดลงหลังจาก 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์โดยทันที

 ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคไข้เลือดออก ดังนั้นความเข้าใจที่ถูกต้องและการร่วมมือป้องกันโรคไข้เลือดออกควรเริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน ณัฐวุฒิ สกิดใจ ดาราชื่อดังที่พาครอบครัวมาร่วมโครงการ “ครอบครัวปลอดภัย รู้ทัน ป้องกันไข้เลือดออก” ในฐานะตัวแทนของครอบครัวสกิดใจ เขาบอกว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มอบความรู้และเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวไทย

 “ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเทศแถบร้อนชื้นอย่างประเทศไทย เนื่องจากโรคไข้เลือดออกนั้นเกิดขึ้นในทุกปี และส่งผลต่อทุกครอบครัว ดังนั้นเราจึงต้องมีความรู้และเข้าใจอาการของโรคไข้เลือดออกที่ถูกต้อง และพร้อมรับมือในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันน้อยกว่า และมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงได้มากกว่า หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้

 ทุกคนในครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยภายในบ้าน ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และสามารถแบ่งหน้าที่ได้ ดังนี้ คุณพ่อสามารถดูแลความสะอาดของถังขยะ คอยนำขยะไปทิ้ง และเก็บบริเวณบ้านให้สะอาด คุณแม่สามารถช่วยทำความสะอาดบ้าน และลูกๆ สามารถช่วยได้ โดยการปิดฝาภาชนะน้ำที่มีภายในบ้าน ด้วยขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ สามารถปกป้องและดูแลสภาพแวดล้อมของคนที่เรารักได้” ณัฐวุฒิ กล่าว