posttoday

วิถีเกษตรกร ชาวนาสไตล์ ‘สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล’

30 กันยายน 2560

บทบาททางการเมืองเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

 โดย  ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

 แม้จะยุติบทบาททางการเมืองเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ ก่อนหันหน้าสู่เส้นทางใหม่ที่ใครหลายคนอาจไม่คาดคิดกับชีวิตเกษตรกร

 สุรพงษ์ กะเทาะถึงจุดเริ่มต้นวิถีชาวนา เกิดจากสมัยดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เพราะมีโอกาสเดินทางเยือนประเทศต่างๆ จนได้เห็นสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ แล้วมาลองคิดดูว่า จริงๆ ประเทศไทยมีทุกอย่างที่ดีพร้อม ทั้งอากาศ ดิน น้ำ ที่สมบูรณ์ รวมถึงลักษณะภูมิประเทศเหมาะแก่การเพาะปลูก

 สุรพงษ์ เล่าว่า จากนั้นเลยคิดจะลองปลูกข้าวโดยไม่ใส่สารเคมีและใช้ปุ๋ยธรรมชาติ จึงทดลองปลูกในพื้นที่ 3 ไร่ โดยเลือกปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ แต่ก่อนลงมือทำได้มีการไปปรึกษาลุงป้าที่เป็นชาวนามืออาชีพ และก็ได้รับความเมตตาให้คำแนะนำขั้นตอน

 ส่วนเหตุผลที่เลือกข้าวชนิดนี้ เนื่องด้วยบริเวณนาแถวบ้านนั้น ส่วนใหญ่เลือกปลูกข้าวเบาคือ ใช้ระยะเวลาปลูกสั้น แต่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวหนักต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ ทำให้ชาวนาบริเวณนั้นไม่นิยมที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ยังมีไม่มากมายนัก

 “ผมไปขอแบ่งเขามา โดยท่านที่แบ่งให้เป็นคนที่ทดลองสายพันธุ์นี้มานาน กว่าจะได้เมล็ดที่สมบูรณ์ ผมจำได้เลยท่านแบ่งให้มาแค่ 25 กิโลกรัม แล้วบอกว่าต้องไปทำให้เพิ่มเอาเอง ผมก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร คุณลุงคุณป้าก็แนะนำ หลังจากเตรียมนา เพื่อรอการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว และก็ไม่รู้ข้าว 25 กิโลกรัม ที่ได้มาจะพอกับเนื้อที่ 3 ไร่ หรือไม่”

 สุรพงษ์ เล่าด้วยรอยหน้าเปื้อนยิ้มว่า ซึ่งปกติเวลาปลูกข้าวต้องใช้ต่อไร่ 25-50 กิโลกรัม

 "แต่อันนี้ 3 ไร่ ใช้ 25 กิโลกรัม แต่คนที่แบ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวให้บอกว่าข้าวขึ้นทุกเมล็ดในใจก็แอบกลัว เพราะเป็นนาแรกที่จะลองทำไม่ต่างกับเด็กอนุบาล จึงคิดว่าเอาลองดู ไม่ลองไม่รู้ ลุงป้าชาวนาก็บอกกระบวนทำตั้งแต่เริ่มจนจบ สุดท้ายแล้วจากข้าว 25 กิโลกรัม ผลผลิตที่ได้เป็น 800 กิโลกรัม บนที่นา 3 ไร่

 “คุณลุงคุณป้า ชาวนาดีใจกันมาก เพราะไม่คิดว่าข้าวสีดำจะปลูกได้ในดินบริเวณนั้น อีกทั้งไม่เคยมีใครทำกัน ยาก็ไม่ฉีด ข้าวก็น้ำหนักดี ส่วนตัวแอบยิ้มในใจ อย่างน้อยก็เปลี่ยนแปลงความเชื่อว่าข้าวนี้ปลูกไม่ได้ และบังเอิญตอนปลูก มีแมวมองมาเห็นและขอซื้อข้าวในราคาตันละ 1.2 หมื่นบาท"

 สุรพงษ์ ตั้งใจว่า นาแรกจะปลูกเอาไว้กินเองก็เลยไม่ขาย เมื่อพอเกี่ยวเสร็จก็เอามาตากแดด เพื่อแบ่งเป็นเมล็ดพันธุ์และบางส่วนเก็บไว้กิน ซึ่งยอมรับว่าข้าวที่ปลูกเองครั้งแรก อร่อยอย่างบอกไม่ถูก แถมปลอดภัย ไม่มีสารเคมีโดยแท้จริง จากนั้นไม่นาน ชาวนาแถวบ้านก็เริ่มหันมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ และช่วยกันดูแล แลกเปลี่ยนความรู้

 อย่างไรก็ดี จนทุกวันนี้เริ่มมีคนโทรมาขอซื้อ ถึงขั้นต้องจองเพื่อให้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เพราะถ้าปลอดสารพิษ ราคาก็จะสูง ลดความเสี่ยงในการทำตลาด ไม่ต้องออกไปหาตลาด แต่ตลาดจะเข้ามาหาเอง เพราะคุณภาพข้าวจะอยู่ครบ ไม่ว่าจะเป็นจมูกข้าวที่มีประโยชน์มาก

 “ทางคนที่มาซื้อข้าวที่นาผม เขามาไกลมาก ยอมขับรถมาเพื่อที่จะได้ข้าวนาแถวนี้ เพราะคุณลุงคุณป้าช่วยกันรักษาคุณภาพ เราก็มีสิทธิต่อรองราคาได้ เพราะเขาส่งให้บริษัทเครื่องสำอาง เขาจะจองเลยว่าต้องการข้าวจากนาไหน นาไหนข้าวสมบูรณ์ เพราะว่าเป็นออร์แกนิกจริงๆ”

 สุรพงษ์ บอกทิ้งท้ายด้วยว่า บริเวณพื้นนาแถวนั้นก็หันมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่กันมากขึ้น แต่ก็คุยกันว่าต้องปลูกหลากหลายจะได้ไม่ล้นตลาด ก็จะถามกัน ถ้าปีนี้ใครปลูกไรซ์เบอร์รี่ก็จะหลีกให้กัน ผลผลิตจะได้ราคาดีกับข้าวทุกพันธุ์ที่ปลูก และส่วนตัวไม่ได้คิดจดสิทธิบัตร เพราะต้องการให้เกิดความหลากหลาย ผู้บริโภคจะได้มีโอกาสเลือกที่สำคัญคุณภาพต้องรักษาไว้