posttoday

ทริกเด็ดถ่ายรูปให้เป๊ะปัง

26 กันยายน 2560

แบ่งปันเทคนิคการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟน โดยไม่ต้องผ่านแอพ ผ่านฟิลเตอร์

 

เราอยู่ในยุคที่อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีผลกับการใช้ชีวิต นอกจากพูดคุย ติดต่อสื่อสาร ยังเป็นพื้นที่สำหรับบอกเล่าเรื่องราวและไลฟ์สไตล์ผ่านข้อความหรือการถ่ายภาพ ซึ่งมิวเซียมสยามได้จัดเวิร์คช็อป “เทคนิคถ่ายภาพแนวสตรีท” ประกอบนิทรรศการ “ไทยทำ...ทำทำไม” โดยได้ ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร พิธีกร-ศิลปินผู้มีใจรักในงานศิลปะ หนึ่งในภัณฑารักษ์รับเชิญผู้ร่วมออกแบบนิทรรศการ และ ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ช่างภาพสตรีทหญิงผู้มีผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ มาร่วมแบ่งปันเทคนิคการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟน โดยไม่ต้องผ่านแอพ ผ่านฟิลเตอร์

 

ทริกเด็ดถ่ายรูปให้เป๊ะปัง

 

1) Exposure หรือการเปิดรับแสง

แสง ปัจจัยหลักที่ช่วยให้ได้ภาพสวย แต่ในทางปฏิบัติ สภาพแสงในทุกช่วงเวลาแตกต่างกัน ดังนั้น การปรับแสงก่อนกดชัตเตอร์จึงสำคัญมาก แต่เคยไหม เลือกมุม จัดแสง จัดโฟกัสเสียดิบดี หวังว่าจะฝากเพื่อนถ่ายภาพให้ กลับออกมาไม่ได้แบบที่ตั้งเอาไว้ นั่นก็เพราะในขณะที่คุณส่งมือถือให้คนอื่นนั้น เกิดการขยับเขยื้อนจนทำให้แสง โฟกัสนั้นเพี้ยนไปจากที่ต้องการ แต่ที่จริงแล้ว สมาร์ทโฟนมีคำสั่ง AE/AF Lock ที่สามารถล็อกแสง ล็อกโฟกัส โดยการกดโฟกัสหน้าจอค้างไว้ 1-2 วินาที จนมีตัวอักษรแจ้ง AE/AF Lock

2) Composition หรือการจัดองค์ประกอบภาพ

เคยไหม เวลาเห็นภาพบางภาพแล้วรู้สึกชอบแบบไม่สามารถอธิบายได้ แท้จริงแล้วเกิดจากการประมวลผลของสมอง ที่มีความซับซ้อนมากกว่าการมองด้วยตาเปล่า ประกอบกับภาพดังกล่าวมีการจัดคอมโพซิชั่น หรือองค์ประกอบภาพที่ลงตัว ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ควรรู้คือ กฎสามส่วน โดยแบ่งพื้นที่ภายในภาพออกเป็นสามส่วนเท่าๆ กัน ทั้งในแนวนอนและแนวดิ่ง เกิดเป็นตารางตัดกัน 9 ช่อง และเทคนิคง่ายๆ คือการนำวัตถุเด่นของภาพวางไว้ในบริเวณจุดตัดของตาราง ซึ่งระบบปฏิบัติการในโทรศัพท์มือถือปัจจุบันมีฟังก์ชั่นรองรับคอมโพซิชั่นดังกล่าว คือคำสั่งตาราง (Grid) เพื่อเป็นตัวช่วย

 

ทริกเด็ดถ่ายรูปให้เป๊ะปัง

3) Rhythm หรือจังหวะ

มีภาพถ่ายโดยตากล้องชื่อดังมากมาย ที่เราแค่เห็นก็ต้องร้องว้าว ซึ่งนอกเหนือจากความสามารถในการถ่ายภาพเฉพาะตัวแล้ว เบื้องหลังภาพถ่ายที่เราอาจไม่ทันนึกถึง นั่นคือพวกเขาเหล่านี้ใช้เวลานานนับเดือนกว่าจะได้ภาพถ่ายที่ต้องการเพียงภาพเดียว สำหรับใครที่เป็นสายถ่ายก่อนเลือกทีหลัง รัวชัตเตอร์ไม่ยั้ง คงต้องหันมาให้เวลากับภาพถ่ายขึ้นอีกสักนิด เทคนิคที่ง่ายแต่อาจจะปฏิบัติได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ไลฟ์สไตล์ผู้คนมีแต่ความเร่งรีบ และแข่งขันกับเวลา นั่นคือความอดทน

4) Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์

การวาดภาพในหัวสำหรับภาพถ่ายที่เราอยากได้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หากสามารถตอบตัวเองได้ว่า เราอยากได้ภาพถ่ายออกมาในรูปแบบไหน เพื่อสื่อสารอะไร จะทำให้ภาพถ่ายสามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ตรงกับความต้องการของเราได้เช่นเดียวกัน การใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในภาพ สามารถช่วยสร้างฟีลลิ่งให้กับภาพถ่ายของเรามากยิ่งขึ้น เช่น การเล่นกับแสงและเงา หรือการสังเกตรายละเอียดสิ่งเล็กๆ รอบตัว ที่บางครั้งเราอาจมองข้ามไป