posttoday

กาแฟต้นแรก - การเลี้ยงแกะ สู่ชีวิตที่ดีของชนเผ่าแบบยั่งยืน

26 กันยายน 2560

จากจุดเริ่มต้นด้วยพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่น ในการทรงอยากแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นของราษฎรบนยอดดอย

 

จากจุดเริ่มต้นด้วยพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่น ในการทรงอยากแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นของราษฎรบนยอดดอย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเริ่มต้นงานด้านการทดลองงานวิจัยเพื่อคัดสรรพืชพันธุ์ที่ดีและเหมาะสมกับการทำการเกษตรบนที่สูง จนเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการหลวงตั้งแต่ปี 2512

ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ถาวรมั่นคงและยั่งยืน ในการช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรบนที่สูง สืบเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

กว่าจะเป็นรายได้และอาชีพให้แก่ราษฎรอย่างยั่งยืน พระองค์ทรงทุ่มเททรงงานอย่างหนัก ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง น้อมนำเรื่องราวอาหารจากแผ่นดินเป็นธีมหลักในการจัดงาน “รอยัล โปรเจกต์ แอด สยามพารากอน” มี 2 ส่วนที่น่าสนใจ คือ การปลูกกาแฟพันธ์ุอราบิกาที่เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรต้นแรก สู่การพัฒนาเป็นรายได้เสริมที่ยั่งยืน และการพัฒนาพันธ์ุแกะ เพื่อนำขนมาทอเป็นเครื่องนุ่งห่มของชนเผ่า ถือเป็นการสืบสานงานหัตถศิลป์ให้คงอยู่สืบไป

กาแฟต้นแรก - การเลี้ยงแกะ สู่ชีวิตที่ดีของชนเผ่าแบบยั่งยืน

กาแฟต้นประวัติศาสตร์

ณ บ้านหนองหล่ม มีต้นกาแฟประวัติศาสตร์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยเสด็จฯ มาทอดพระเนตร จนนำไปสู่งานส่งเสริมกาแฟอราบิกาที่แพร่หลาย จากกาแฟเพียงต้นเดียวที่ให้ชนเผ่าทดลองปลูกแทนการปลูกฝิ่น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกาแฟอราบิกาโครงการหลวง

เจ้าหน้าที่ประสานงาน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ดอยอินทนนท์ จักรพันธ์ จันทศรี เล่าว่า เมื่อปี 2517 แม้ถนนหนทางจะเข้าไปยังบ้านหนองหล่ม อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้ยากลำบาก ต้องเดินเท้าถึง 7 กิโลเมตร แต่ก็ทรงไม่ย่อท้อ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรต้นกาแฟต้นแรกที่คาดว่าเข้ามาพร้อมกับยูเอ็นที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาปลูกฝิ่น โดยบาทหลวงได้นำเมล็ดกาแฟมาปลูกเอาไว้

ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งว่า ถ้าเสด็จฯ เข้ามาแม้มีกาแฟเพียงต้นเดียว ก็จะได้ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าต้นกาแฟต้นนี้มีความสำคัญอย่างไร จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม นอกจากการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ พอในหลวงเสด็จฯ มาถึง ลุงพะโย่ ตาโร ได้เข้าเฝ้าและนำเมล็ดกาแฟขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก็ทรงแปลกใจว่าแถวนี้มีต้นกาแฟด้วยหรือ ทรงรับสั่งถาม ลุงพะโย่ ก็ทูลกลับไปว่า มีไม่กี่ต้นเอง ซึ่งครั้งแรกสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ตามเสด็จฯ ด้วย

กาแฟต้นแรก - การเลี้ยงแกะ สู่ชีวิตที่ดีของชนเผ่าแบบยั่งยืน

ลุงพะโย่ ชาวปกาเกอะญอ อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านหนองหล่ม อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ วัย 76 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองหล่ม ผู้ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันนั้น เล่าว่า พระองค์ต้องเสด็จฯ ด้วยพระบาทไปตามไหล่เขาสูงชันกว่า 7 กิโลเมตร เมื่อเสด็จฯ มาถึงต้นกาแฟ ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าต้นกาแฟสมบูรณ์ดี ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า กาแฟสามารถปลูกที่นี่ได้ ให้ช่วยกันส่งเสริม แต่ต้องใส่ปุ๋ย และนำหญ้ามาใส่ที่โคนต้นด้วย และทรงพระราชทานเมล็ดกาแฟที่ลุงพะโย่ทูลเกล้าฯ ถวายกลับมา เพื่อให้ไปแจกจ่ายกับราษฎรคนอื่นๆ ปลูกต่อไป

พระสหายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ลุงพะโย่ ปัจจุบันยังคงมีอาชีพทำสวนกาแฟอราบิกา เพราะเสด็จฯ มาทรงเยี่ยมพระสหายหลายครั้ง ทุกครั้งที่ทรงมาก็ถ่ายรูปพระสหายเก็บไว้ทุกครั้ง ลุงพะโย่เล่าย้อนอดีตไปเมื่อ 43 ปีก่อน ในขณะนั้นลุงอายุเพียง 30 ต้นๆ ขณะที่กำลังเลี้ยงสัตว์อยู่ในไร่ ได้ยินข่าวว่าในหลวงจะเสด็จฯ ด้วยความที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมาก แค่จะเดินทางเข้าตัว อ.จอมทอง ยังต้องใช้เวลาถึง 2 วัน ทำให้ลุงพะโย่ไม่มั่นใจกับสารที่ได้รับ

หากไม่กี่วันหลังจากได้รับข่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ มาที่บ้านหนองหล่มจริงๆ ทรงเยี่ยมราษฎร ถามถึงทุกข์สุข เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือ ช่วงเวลานั้นชนเผ่าปกาเกอะญอ พูดไทยได้น้อยมาก หน้าที่รับเสด็จฯ และถวายรายงานจึงตกเป็นของลุงพะโย่

“บ้านลุงมีต้นกาแฟอราบิกาปลูกไว้ใกล้ๆ ปลูกโดยพ่อตาของลุงไว้นานมากแล้ว ในสมัยนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เดินทางมาครั้งแรกพร้อม ม.จ.ภีศเดช รัชนี ผู้ติดตามใกล้ชิด ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับชาวบ้านว่ามีความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ข้าวพอกินไหม ตอนนี้ทำอะไรอยู่ ซึ่งลุงถวายคำตอบว่า ชาวบ้านไม่มีผ้าห่ม วัว หมู ที่เลี้ยงอยู่ก็ไม่พอ อยู่กันแบบอดอยาก จึงรับสั่งถามต่อว่า ถนนหนทางมีไหม แล้วก็ทรงเปิดแผนที่ที่ทรงถืออยู่ในพระหัตถ์เพื่อทอดพระเนตร

ตอนที่เสด็จฯ มา ชาวบ้านยากจนมาก รองเท้าไม่มีใส่ มีเสื้อผ้าเพียงชุดเดียว เสด็จฯ มาถึงตอนค่ำและอยู่นานถึง 3 ชั่วโมง และจากนั้นไม่นานก็มีเจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงนำผ้าห่มและพันธุ์หมู พันธุ์วัวพระราชทานมาให้

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงขอช่วยเอาพืชเมืองหนาวมาให้ชาวบ้านปลูกทดแทนปลูกฝิ่น ทรงแนะนำว่า ปลูกกาแฟไว้แล้วไส่ขี้วัวขี้ควายด้วย ตอนนั้นมีกาแฟต้นแรกแล้ว ทรงมีรับสั่งว่า อยากให้ชาวบ้านปลูกกาแฟทดแทนการปลูกฝิ่น ทรงกลับไปและให้คนจากโครงการหลวงนำเมล็ดกาแฟอราบิกามาให้ ตอนนั้นลุงรู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก”

ลุงพะโย่ เล่าต่อว่า หลังจากโครงการหลวงให้การสนับสนุน 20 ปี ชีวิตของชนเผ่าก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนื้ถือเป็นอาชีพหลักมีชาวบ้านปลูกกาแฟประมาณ 5 ครัวเรือน ณ บ้านหนองหล่ม และเสด็จฯ มาทรงเยี่ยมราษฎร ณ หนองหล่ม อย่างน้อย 13 ครั้ง ลุงพะโย่บอกด้วยน้ำตาซึมว่า หากวันนั้นในหลวงไม่ได้เสด็จฯ มาชีวิตชาวบ้านคงยังลำบากมาก เพราะปัจจุบันเมล็ดกาแฟที่ชาวบ้านปลูกได้ มูลนิธิโครงการหลวงก็คอยส่งเสริมและรับซื้อผลผลิตไปจำหน่ายต่อ รวมทั้งมีการพัฒนาสายพันธ์ุอย่างไม่หยุดนิ่ง และกาแฟต้นแรกของพระองค์ที่พระองค์เสด็จฯ มาทอดพระเนตร ได้กลายเป็นต้นกาแฟตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบมา

“สายพันธุ์ที่ปลูกในภาคเหนือปลูกแต่อราบิกา เพราะเป็นพันธุ์ที่เหมาะกับการปลูกในสภาพอากาศเย็น มีการวิจัยและปรับปรุงสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ และได้แปรรูปเป็นกาแฟโครงการหลวง และมีวิสาหกิจชุมชน ทำเป็นกาแฟไปหลายหมู่บ้าน หลากผลิตภัณฑ์ เช่น ชนเผ่าที่หมู่บ้านหนองหล่ม ยังได้พัฒนาในละแวกบ้าน นอกจากปลูกกาแฟแล้วยังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมของชาวต่างชาติ เป็นการนำเป็นรายได้เสริมให้ชาวบ้านด้วย” จักรพันธ์ เล่า

เมล็ดกาแฟจากกาแฟต้นแรก ยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกาแฟอราบิกาออร์แกนิก ที่โครงการหลวงสนับสนุนให้ปลูกทั่วทั้ง 38 ดอย เป็นการปลูกในป่าและพื้นที่ของชาวบ้าน ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมให้ปลูก มีผลผลิตเมล็ดกาแฟกะลา (กาแฟที่ผ่านการกะเทาะเปลือกและตากให้แห้งสนิท จะได้เมล็ดกาแฟดิบ) ปีละหลายร้อยตัน และพัฒนากาแฟไทยจนได้มาตรฐานสากล โดยส่งเมล็ดกาแฟกะลาไปจำหน่ายยังร้านกาแฟชั้นนำ และมีการพัฒนาพันธุ์และการปลูกกาแฟอราบิกาอย่างต่อเนื่อง

พัฒนาขนแกะ สืบสานงานหัตถศิลป์

นอกจากพระราชทานพืชพันธุ์ต่างๆ แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการสนับสนุนงานด้านปศุสัตว์ ได้นำสัตว์เลี้ยงพันธุ์ดี หนึ่งในนั้นคือพระราชทานแกะให้ชาวบ้านหลายหมู่บ้านได้เลี้ยง จากนั้นทรงสนับสนุนให้มีการทดลองวิจัยด้านพันธุ์สัตว์ เพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงบนที่สูง เช่น แกะสายพันธุ์ของประเทศออสเตรเลีย ที่ปศุสัตว์ ณ สถาบันเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้เลี้ยงเพื่อทำงานวิจัยอยู่ที่หน่วยวิจัยผาตั้ง

สมสิทธิ์ พรมมา นักวิชาการสถาบันเกษตรหลวงอินทนนท์ ดูแลงานปศุสัตว์ ณ หน่วยวิจัยผาตั้ง เล่าว่า หน่วยวิจัยแห่งนี้ได้รับพระราชทานแกะจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 32 ตัว

กาแฟต้นแรก - การเลี้ยงแกะ สู่ชีวิตที่ดีของชนเผ่าแบบยั่งยืน

“งานปศุสัตว์ของที่นี่ มีจุดประสงค์หลักเพื่อดำเนินงานในด้านผ้าทอขนแกะ ปกติเกษตรกรของที่นี่ส่วนใหญ่ทำการปลูกผักไม้ผลไม้ดอก และทำผ้าทอในช่วงเวลากลางคืน ถือเป็นงานประณีต การเลี้ยงแกะเริ่มเลี้ยงราวปี 2553 ได้แก่ พันธุ์บอนด์, ดอร์เซท ซึ่งเป็นแกะพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลียและอังกฤษ มาเลี้ยงกับพันธุ์พื้นเมือง และพัฒนาสายพันธ์ุจนได้ลูกผสมระหว่างบอนด์ กับดอร์เซท นำไปเป็นผ้าทอขนแกะ

เรามีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีขนนุ่ม ให้ขนต่อตัวเยอะ ให้ผลผลิตต่อตัวสูงประมาณตัวละ 3 กิโลกรัม ตอนนี้ขยายพันธุ์ได้ 160 ตัว ลูกได้ 50 ตัว/ปี แบ่งเป็นเพศผู้ 25 ตัว เพศเมีย 25 ตัว”

เมื่อถึงเดือนที่เหมาะสมในการตัดขนแกะ เจ้าหน้าที่จะทำการนำแกะไปอาบน้ำให้สะอาด แล้วทำการตัดขนแกะ เพื่อส่งต่อให้ชาวบ้าน บ้านแม่กลางหลวง อากาน้อย และผาหมอน ทำการทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เสื้อ ผ้าคลุมไหล่ และอื่นๆ

“ส่วนที่ดีที่สุดของแกะ คือ ช่วงหัวไหล่ ตัดรวมกันได้ประมาณ 1.5-3 กิโลกรัม/ตัว ทอเป็นผ้าคลุมไหล่กันหนาว ให้ราคาที่ดีที่สุด ส่วนอื่นๆ ของขนแกะ นำไปทอเป็นผ้าปูเตียง ถุงย่าม ผ้าคลุมโต๊ะ ตอนนี้จำหน่ายในเมืองไทยได้ 3 ปีแล้ว โดยโครงการหลวงจะทำการรับซื้อไว้ทั้งหมด ซึ่งชาวบ้านจะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทอผ้าขนแกะแบบผ้าฝ้าย ที่ต้องใช้ฝีมือทางหัตถศิลป์

กาแฟต้นแรก - การเลี้ยงแกะ สู่ชีวิตที่ดีของชนเผ่าแบบยั่งยืน

ตอนนี้หน่วยวิจัยผาตั้งกำลังพัฒนาขนและพัฒนาเนื้อแกะ ซึ่งประเทศไทยยังไม่นิยมรับประทานมากนัก เราจึงมุ่งเน้นพัฒนาคุณสมบัติของขนควบคู่กับพัฒนาเนื้อแกะด้วย แต่ทางศูนย์ยังไม่ขายเนื้อแกะ เพราะคุณภาพของเนื้อขึ้นอยู่กับอาหารที่แกะกินเข้าไป เมืองไทยมีปัญหาเรื่องความชื้น ต่อไปจากขนแกะตัดได้ปีละครั้ง ตอนนี้เรากำลังพัฒนาสายพันธุ์ให้ย่นเวลาตัดให้ได้ 3 ครั้ง ต่อ 2 ปี คือเลี้ยงไป 8 เดือนแล้วค่อยตัดขน

ปริมาณการให้ขนต่อปีตอนนี้ยังไม่แน่นอน เพราะกลุ่มชาวบ้านที่ทอขนแกะยังเล็กอยู่ เพราะต้องใช้คนใจรักในงานฝีมือจริงๆ ในการทอ พอทำงานฝีมือในการทอขนแกะ ชาวบ้านจะใช้ฝ้ายผสมเข้าไปด้วย เพื่อป้องกันการแพ้ขนแกะ ระยะยาวจากนี้การขยายการจัดตั้งกลุ่มต้องรวมกลุ่มให้ได้ อุปกรณ์สำหรับการทอขนสัตว์บางชนิดต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ” สมสิทธิ์ เล่า

งานรอยัล โปรเจกต์ แอด สยามพารากอน จะจัดระหว่างวันที่ 23-30 พ.ย.นี้ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของพืชผัก ผลไม้ และปศุสัตว์ รวม 9 ชนิด ให้ประชาชนได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด