posttoday

ระวังไว้! มะเร็งร้ายใกล้ตัวผู้หญิง

19 กันยายน 2560

เรื่องสุขภาพของคุณสาวๆ พึงระวัง หากเกิดความ ผิดปกติต้องรีบตรวจเช็ก

เรื่องสุขภาพของคุณสาวๆ พึงระวัง หากเกิดความผิดปกติต้องรีบตรวจเช็ก ก่อนจะเป็นภัยที่คุกคามชีวิตผู้หญิงได้ พญ.ดวงมณี ธนัพประภัศร์ สูตินรีแพทย์และมะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลวัฒโนสถ ให้ข้อมูลเอาไว้

มะเร็งรังไข่ มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบมากเป็นอันดับที่ 7 ของมะเร็งสตรีทั่วโลก และพบเป็นอันดับที่ 6 ของมะเร็งสตรีในประเทศไทย รองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ได้ทุกช่วงอายุ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 50-60 ปี สัญญาณเตือนที่ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หากมีอาการท้องอืดเป็นประจำ อาหารไม่ย่อย ปวดท้องเรื้อรัง รับประทานยาลดกรดไม่ดีขึ้น มักมีอาการท้องโตกว่าปกติและคลำพบก้อนในท้องน้อย หรือปวดแน่นท้อง ตามด้วยอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ในระยะท้ายๆ ของโรคอาจมีน้ำในช่องท้องทำให้ท้องโตขึ้นกว่าเดิม ผอมแห้งและภาวะขาดอาหารร่วมด้วย

การตรวจและวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ มักทำร่วมกับการตรวจภายใน ซึ่งจะพบก้อนเนื้อได้ในสตรีวัยหมดประจำเดือนร้อยละ 30 มักเป็นมะเร็งของรังไข่ สำหรับการตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ช่วยบอกได้ว่ามีก้อนหรือมีน้ำในช่องท้อง สำหรับในบางรายที่อ้วนหรือหน้าท้องหนามาก การตรวจร่างกายตามปกติอาจตรวจได้ยาก

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีความละเอียดแม่นยำสูง สามารถเห็นภาพลักษณะ ขนาด และจำนวนก้อนในท้อง สามารถตรวจต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้องได้ อาจมีการตรวจเลือดประกอบเพื่อช่วยในการวินิจฉัย และติดตามการรักษา โดยสตรีที่มีอายุ 30-35 ปีขึ้นไป ควรมีการตรวจเช็กสุขภาพ และตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปี

มะเร็งปากมดลูก พบได้บ่อยที่สุดสำหรับอวัยวะสืบพันธุ์สตรี การค้นหาสามารถทำได้ง่ายและสามารถป้องกันได้ แต่ยังมีสตรีชาวไทยเสียชีวิตจากมะเร็งของปากมดลูกเฉลี่ยแล้วประมาณวันละ 10 คน อาการแสดงของมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติ แต่ถ้าเป็นมากพอสมควร อาจมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปกติ การมีระดูขาวที่ผิดปกติ มีกลิ่น ถ้ากระจายไปยังอวัยวะอื่นอาจมีอาการปวด ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือดได้ ซึ่งระยะมะเร็งที่เพิ่งเริ่มต้น การรักษาทำได้ง่าย มีโอกาสที่จะหายขาดได้สูง วิธีที่จะทราบได้ คือ การตรวจภายใน เพื่อนำเซลล์จากปากมดลูกมาตรวจ ที่เรียกกันว่า ตรวจแป๊ป (Pap Smear) และถ้าตรวจร่วมกับการหาเชื้อไวรัส HPV จะทำให้ได้รับความแม่นยำมากขึ้น

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง และมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด แต่ความน่ากลัวของมะเร็งเต้านมจะลดลงตามความเร็วในการตรวจค้นพบ โดยมะเร็งเต้านมสามารถเกิดได้กับผู้หญิงทุกคน และยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ สิ่งที่ทำได้ คือ การตระหนักว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม สตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อยกว่า 12 ปี หรือประจำเดือนหมดหลังอายุ 55 ปี ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การใช้ยาฮอร์โมนทดแทนสำหรับวัยทองติดต่อกันเป็นเวลานาน ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ และการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง

การคัดกรองมะเร็งเต้านมให้ตรวจพบได้ระยะแรกๆ คือ การตรวจคลำเต้านม โดยตรวจด้วยตัวเอง เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และไม่มีค่าใช้จ่าย แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองเดือนละหนึ่งครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ หลังหมดประจำเดือนหนึ่งสัปดาห์ แต่หากต้องการตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งเต้านมได้เร็วยิ่งขึ้น วิธีที่ได้รับการยอมรับและเป็นมาตรฐาน คือ การตรวจด้วยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการตรวจหาความผิดปกติของเต้านม แม้เพียงขนาดเล็กระดับมิลลิเมตร

สตรีที่มีอายุ 30-35 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ด้วยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งควรตรวจห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม