posttoday

หลักสูตรอินเตอร์ ทางเลือกอนาคตของเด็กไทย

18 กันยายน 2560

เป็นเวลามากกว่า 20 ปี ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย เริ่มเปิดหลักสูตรนานาชาติ หรือเรียกติดปากว่าหลักสูตรอินเตอร์

 

เป็นเวลามากกว่า 20 ปี ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย เริ่มเปิดหลักสูตรนานาชาติ หรือเรียกติดปากว่าหลักสูตรอินเตอร์ จากที่เคยมีให้เลือกเพียงไม่กี่คณะในแต่ละมหาวิทยาลัย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่เวลานี้มีมากกว่าแทบจะเรียกได้ว่าเปิดหลักสูตรนานาชาติเกือบจะครบทุกหลักสูตรกันเลยทีเดียว อะไรที่ทำให้มหาวิทยาลัยเลือกที่จะเปิดหลักสูตรนานาชาติกันมากขึ้น และเด็กนักเรียนไทยที่จะเข้าเรียนในหลักสูตรอินเตอร์จะได้อะไรกลับมาบ้าง

รองรับประชาคมอาเซียน

ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น รองอธิการบดีอาวุโส สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายถึงความจำเป็นของมหาวิทยาลัยในการเปิดหลักสูตรนานาชาติขึ้นมา ว่า เหตุผลมีค่อนข้างหลากหลาย แต่เหตุผลอย่างแรกก็คือตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็จะสังเกตได้ว่ามีการเปิดหลักสูตรนานาชาติเพื่อรองรับ เพราะการจะสื่อสารกันได้ต้องมีการใช้ภาษากลาง ซึ่งเป็นภาษาสากลที่ทั่วโลกยอมรับ

หลักสูตรอินเตอร์ ทางเลือกอนาคตของเด็กไทย

 

เหตุผลต่อมาก็คือเป็นการเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา รวมทั้งอาจารย์และนักวิจัยต่างๆ ได้กว้างมากขึ้น เมื่อมีพื้นที่ที่สื่อสารกันด้วยภาษาสากล โอกาสต่อยอดงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดก็จะสูงขึ้น อาจจะเป็นในเรื่องของการนำเอาหลักสูตรในต่างประเทศเข้ามาใช้ หรือว่านำอาจารย์ชาวต่างชาติที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะเข้ามาสอนในประเทศไทยก็มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งทำให้วงการศึกษาในบ้านเรามีการแข่งขันเปิดกว้างรับองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามา และทำให้นักศึกษาของเราได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น เปิดโลกทัศน์ของนักศึกษาทำให้เขาเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก เกิดความเคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรม

อีกอย่างหนึ่งประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย ปัจจุบันพวกเขาก็ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นอินเตอร์เกือบจะทุกหลักสูตรอยู่แล้ว และต่อไปจะมีการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีความสามารถไปทั่วโลก ซึ่งการที่เราต้องเปิดก็เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล

ถ้ามีคณะใหม่เปิดขึ้นมาก็จะปรับให้เป็นหลักสูตรอินเตอร์ไปเลย เช่น วิทยาลัยการบินและวิทยาลัยการแพทย์ มีการลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับต่างประเทศ ให้เชื่อมโยงหลักสูตรกันให้ได้มากที่สุด ทำให้เด็กไทยที่เรียนหลักสูตรอินเตอร์ อาจจะเรียนที่ประเทศไทย 2 ปี และอีก 2 ปีที่อังกฤษ แล้วได้ประกาศนียบัตร 2 ใบพร้อมกัน ซึ่งแต่ละคณะก็จะมีรายละเอียดในหลักสูตรการเรียนการสอน และการจัดสรรงบประมาณที่แตกต่างกันออกไป  ซึ่งต้นทุนหลักๆ จะเป็นอาจารย์จากต่างประเทศ ซึ่งการที่จะจ้างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศมาสอนโดยใช้อัตราจ้างราชการไทย คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่การเปิดหลักสูตรนานาชาติ นำค่าเทอมที่ได้รับมาเป็นค่าจ้างอาจารย์ ก็จะสามารถทลายข้อจำกัดตรงนี้ลงไปได้

อีกประเด็นหนึ่ง คนมองว่าเป็นการแก้ปัญหาเด็กสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยน้อยลง ด้วยการเปิดหลักสูตรนานาชาติให้สามารถเปิดรับเด็กต่างชาติให้เข้ามาเรียนในประเทศไทยได้นั้น ต้องบอกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร จำนวนของเด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัยก็จะเริ่มลดลงเป็นเรื่องจริง ที่ทำให้บางมหาวิทยาลัยเริ่มประสบปัญหาขาดเด็กสมัครเข้าเรียน

สำหรับมหาวิทยาลัยหลักที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ที่ผ่านมายังไม่ได้ประสบปัญหาตรงนี้โดยตรง เพราะว่าในแต่ละปีที่มีการสอบเข้าก็สามารถรับได้ตามจำนวนโควตาที่เปิดรับทั้งหมด เพราะมีความต้องการที่จะเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ดังนั้นเหตุผลของการเปิดหลักสูตรอินเตอร์ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย คงไม่ใช่เหตุผลที่จะเปิดเพื่อหาเด็กต่างชาติเข้ามาเรียนทดแทนในตรงจุดนั้น

“ถ้ามองในแง่ของการมีเด็กต่างชาติเข้ามาเรียน เป็นเรื่องดีในการเสริมสร้างทักษะประสบการณ์ให้กับนักศึกษาไทย อีกอย่างหนึ่งเด็กนักเรียนแลกเปลี่ยนส่วนมากก็จะเป็นเด็กที่มีความสามารถ อย่างสหรัฐอเมริกา มีเด็กต่างชาติเข้าไปเรียนมากมาย และเด็กต่างชาติเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยในการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีให้กับสหรัฐด้วยเช่นกัน ผมจึงมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า”

ไม่ได้สอบเข้ากันง่ายๆ

เกรียงศักดิ์ ไชยวินิจ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอินเตอร์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ สถาบันวอร์วิค (Warwick Institute) อดีตนักเรียนหลักสูตรอินเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ผันตัวมาเป็นติวเตอร์ ติวเด็กนักเรียนสอบเข้าหลักสูตรอินเตอร์ของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงเรื่องค่านิยมในการเข้าเรียนหลักสูตรอินเตอร์ของเด็กไทยที่ผ่านมาว่า เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หลักสูตรอินเตอร์อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แล้วก็เป็นทางเลือกที่อยู่นอกสายตาของคนทั่วไป เพราะว่าหลักสูตรภาคภาษาไทยนั้นก็ค่อนข้างที่จะเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว

 

หลักสูตรอินเตอร์ ทางเลือกอนาคตของเด็กไทย

 

“สมัยก่อนบอกว่าการเข้าอินเตอร์นั้นเข้าง่ายกว่าหลักสูตรไทย ดูได้จากผลคะแนนสอบที่สอบเข้าไปนั้นก็ไม่ได้สูงมากนัก บางคนก็อาจจะพูดถึงในขั้นที่ว่าแค่มีเงินก็สามารถเข้าเรียนได้แล้ว แต่ในปัจจุบันการสอบเข้าหลักสูตรอินเตอร์นั้นค่อนข้างที่จะเข้มงวดอย่างมาก เกณฑ์การใช้คะแนนสอบนั้นสูงขึ้นทุกปี เพราะมีการแข่งขันเข้าไปเรียนค่อนข้างเยอะ ถ้าเกิดผมเทียบคะแนนสอบเข้าคณะบัญชีจุฬาฯ หลักสูตรอินเตอร์ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กับตอนนี้บอกได้เลยว่าผมไม่มีสิทธิที่จะได้เรียนแน่นอน คะแนนในตอนนั้นผมได้อยู่ที่ 1,120 ก็เข้าได้แล้ว แต่ตอนนี้คะแนนสอบขั้นต่ำที่เข้าได้อยู่ที่ 1,320 จาก 1,600 คะแนนเต็ม เรียกได้ว่าสูงขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อ 8 ปีที่มีสถาบันกวดวิชาเข้าหลักสูตรอินเตอร์แค่ไม่กี่โรงเรียน แต่ตอนนี้ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แล้วก็มีนักเรียนสมัครเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี 8 ปีที่แล้วมีอยู่ 82 คน ตอนนี้สมัครกันเข้ามามากกว่า 400 คน เพราะเด็กๆ เริ่มมองเห็นว่าการเข้าเรียนหลักสูตรอินเตอร์มหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่จะได้งานที่ดีกว่า

ในสมัยที่มีคำคำหนึ่งก็คือ โลกาภิวัตน์ (Globalization) ผมมองว่าอนาคตภาษาอังกฤษจะมีความสำคัญอย่างมาก และจะมีองค์กรข้ามชาติเข้ามาเปิดในประเทศไทยมากขึ้น และทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แม้กระทั่งคุณทำงานองค์กรไทยคุณก็ต้องมีการติดต่อประสานงานกับองค์กรข้ามชาติอยู่ดี อีกอย่างการเรียนอินเตอร์นอกจากจะได้ทำงานกับบริษัทข้ามชาติได้แล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อในต่างประเทศหรือทำงานในต่างประเทศได้อีกด้วย

นั่นทำให้เกิดการแข่งขันในการสอบเข้าสูงขึ้นทุกปี ทำให้เด็กนักเรียนจากแต่ก่อนที่เริ่มเตรียมตัวตอนอยู่ชั้น ม.6 ตอนนี้ต้องเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่อยู่ชั้น ม.4-5 กันแล้ว เพราะมีการแข่งขันสอบเข้าสูงมาก ในขณะเดียวสิ่งที่ต้องรู้ก็คือนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอินเตอร์ จะเป็นเด็กที่มีความคิดที่ว่าค่อนข้างอิสระกล้าที่จะแสดงความเห็น ความรู้สึกออกมาตรงๆ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาเองก็จะรู้ว่า สังคมไทยมีกรอบมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ดังนั้นเราจะได้เห็นความผสมผสาน ระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งยังมีความเป็นไทย เช่น ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง การลำดับของให้ความเคารพครูบาอาจารย์ก็ยังมีอยู่

สำหรับเด็กที่จะสอบเข้าในหลักสูตรอินเตอร์เมื่อรู้ความต้องการที่ชัดเจนว่าเรามีความประสงค์อยากจะเข้าเรียนในคณะอะไร ก็ต้องดูเรื่องคุณสมบัติในการสอบเข้าคณะนั้นๆ อย่างแรกที่ต้องมีก็คือความรู้พื้นฐานทางด้านภาษาอังกฤษที่ดี แล้วดูว่ามีเกณฑ์อะไรอีกบ้างที่ต้องการแล้วก็ใช้เวลาพัฒนาในจุดนั้น บางคณะต้องใช้คะแนนคณิตศาสตร์สูง บางคณะก็ต้องการคะแนนภาษาอังกฤษสูง แนะนำว่าเด็กที่จะเข้าเรียนต้องมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนถึงอนาคตของตัวเอง และใช้เวลาเตรียมพร้อมฝึกฝนให้มากคะแนนสอบก็จะสูงขึ้นและมีโอกาสสอบติดอย่างแน่นอน”

ยากที่สุดคือการปรับตัว

สิรีนทร์ ดวงอุดมรัชต์ บัณฑิตใหม่จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (ภาคภาษาอังกฤษ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันเธอทำอยู่ที่บริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง เล่าประสบการณ์ในการเรียนหลักสูตรอินเตอร์ในมหาวิทยาลัยไทยว่า ไม่ได้เป็นสังคมของโรงเรียนอินเตอร์ล้วนๆ เหมือนในต่างประเทศ จะค่อนข้างหลากหลายเชื้อชาติ แต่มากกว่าครึ่งเป็นนักเรียนไทย

 

หลักสูตรอินเตอร์ ทางเลือกอนาคตของเด็กไทย

 

“อาจารย์ที่สอนเป็นชาวต่างชาติ หลักสูตรก็จากต่างประเทศ ดังนั้น วิธีการเรียน วิธีการคิด จะไม่เหมือนกับที่คุ้นเคยในโรงเรียนไทยมาก่อน ซึ่งต้องปรับตัว ปรับวิธีคิดตั้งแต่สอบเข้าจนถึงช่วงที่ต้องเข้ามาเรียนใหม่ทั้งหมด

การที่เราเข้าเรียนหลักสูตรอินเตอร์ เพราะคิดว่าน่าจะให้อะไรกับเราได้มากกว่าการเรียนในระบบปกติ จึงตัดสินใจติวเข้มในภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ เพราะว่าในการสอบในหลักสูตรอินเตอร์นั้น โจทย์คณิตศาสตร์จะเป็นอีกแบบที่แตกต่างจากคณิตศาสตร์ที่เราเรียนกันในชั้นมัธยมปลายอย่างสิ้นเชิง ต้องใช้ทักษะการคิดการฝึกฝนจนชำนาญถึงจะสามารถทำข้อสอบได้

ระหว่างการสอบก็จะไม่เหมือนกับการสอบเอนทรานซ์โดยทั่วไป จะมีการสอบแค่ไม่กี่วิชาแล้วนำคะแนนที่ได้ไปสมัคร อย่างคณะบัญชีจุฬาฯ อินเตอร์ จะใช้เพียงแค่ภาษาอังกฤษกับคณิตศาสตร์ คะแนนสอบอย่างอื่นไม่ต้องใช้เลย ถามว่าง่ายกว่าไหมก็ดูเหมือนจะง่าย แต่มันก็ไม่ได้ง่ายเสียทีเดียว เพราะข้อสอบส่วนกลางมาจากต่างประเทศ ไม่ใช่การเอาข้อสอบภาษาไทยมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ อาจารย์คุมสอบเป็นชาวต่างชาติ ระบบการสอบก็เป็นของต่างประเทศ ดังนั้นเวลาสอบที่จะเข้าอินเตอร์เน็ตต้องวิธีคิดใหม่ทั้งหมด ไม่สามารถเอาประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนในโรงเรียนไทย ไปใช้ในการสอบหลักสูตรอินเตอร์ได้เลย

พอเข้าไปเรียนแล้วก็ต้องปรับตัวอีกเยอะ เรียกได้ว่าอาจจะใช้เวลาปรับตัวถึง  2-3 ปี สิ่งที่ต้องปรับอย่างแรกคือปรับหู เพราะอาจารย์ที่เข้ามาสอนในแต่ละท่านจะมีสำเนียงภาษาอังกฤษที่แตกต่างกันออกไป ถ้าเป็นอาจารย์ที่มาจากประเทศอังกฤษหรืออเมริกา มีสำเนียงการพูดที่เราคุ้นเคยก็จะฟังออกง่าย แต่ถ้าเกิดเป็นอาจารย์ที่มาจากประเทศอื่นๆ ก็จะฟังยาก ต้องใช้วิธีอัดเสียงในระหว่างการสอนและเอามาแกะคำที่บ้านว่าอาจารย์พูดอะไรไปบ้าง ทำให้การเรียนนั้นยากขึ้นไปอีก 3 เท่า ในเนื้อหาวิชาก็ยากอยู่แล้วเจอภาษาเข้าไปก็ยากยิ่งขึ้นไปอีก แต่พอเวลาผ่านไปเราจะเริ่มคุ้นหูคุ้นชินกับการใช้ภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นทุกอย่างก็จะผ่านไปได้เรื่อย”

สุดท้าย สิรีนทร์ บอกกับเราว่า พอเรียนจบออกมาแล้วก็รู้สึกว่าคิดไม่ผิดที่เลือกเรียนอินเตอร์ เพราะทำให้ได้เห็นโลกได้กว้างขึ้น หางานได้ง่ายกว่าที่คิด และมีโอกาสอื่นที่เราสามารถทำได้อีกมาก ไม่เสียแรงกับสิ่งที่ทุ่มเทมาตลอด

“สำหรับน้องๆ ที่สนใจอยากจะเข้าเรียนต่อในหลักสูตรอินเตอร์ แนะนำว่าขอให้รู้ตัวเองว่าต้องการอะไร และตั้งใจใช้ทำให้เต็มที่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะเป็นของทุกคน”