posttoday

สัญญาณเตือนที่ต้องเปลี่ยน เพื่อลูกสุขภาพดี

12 กันยายน 2560

ประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่เตี้ยกว่าเกณฑ์ประมาณ 10% น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ 7%

สํานักงานสถิติแห่งชาติ (MICS) ปี 2015 รายงานภาวะโภชนาการว่า ประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่เตี้ยกว่าเกณฑ์ประมาณ 10% น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ 7% ในขณะที่เด็กอ้วนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในปี 2552 เป็น 8.5% ในปี 2558 เป็นเครื่องหมายคำถามให้กับพ่อแม่ที่ต้องกลับไปคิด

รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า พ่อแม่ต้องตระหนักว่าโภชนาการที่ดีส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก โดยใส่ใจพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพและวางพื้นฐานให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพตนได้เต็มที่ การขาดโภชนาการที่ดีจะกีดขวางการเจริญเติบโตของเด็ก ทำให้พัฒนาการล่าช้า ลดทอนศักยภาพในอนาคต

“พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตพัฒนาการลูก รวมถึงพฤติกรรมที่เป็นเสมือนสัญญาณเตือนให้ต้องเริ่มเปลี่ยน 3 ข้อ ได้แก่ การที่ลูกเริ่มไม่กินผักผลไม้ ดื่มน้ำน้อย และติดหน้าจอ ไม่ค่อยวิ่งเล่น หรือออกกำลังกาย เพราะอาจทำให้เด็กวัย 3-5 ขวบ มีพัฒนาการทางร่างกายไม่สมวัย เช่น อ้วน ผอม หรือส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กวัยนี้ และเป็นภาพสะท้อนว่าเด็กอาจกำลังมีปัญหาด้านโภชนาการ”

ด้าน กนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) กล่าวว่า เนสท์เล่ เจ้าของโครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี (United for Healthier Kids) เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงจัดกิจกรรม “1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน” ให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองและครูที่เข้าร่วมโครงการ

“ในกิจกรรมนี้เราได้แนะนำการสร้าง 3 สุขนิสัยในชีวิตประจำวันที่จะทำให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงและร่างกายสมส่วน ได้แก่ 1.การดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน 2.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณพอเหมาะ โดยปริมาณอาหารที่เหมาะสมต่อมื้อของเด็กอายุ 3-5 ปี ประกอบด้วยข้าว หรือแป้ง 1 ทัพพีครึ่ง เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ ผักสุกครึ่งทัพพี หรือผักดิบ 1 ทัพพี (ประมาณ 1 ฝ่ามือเด็ก) และผลไม้ 4 ชิ้นคำ 3.การขยันขยับเคลื่อนไหวร่างกาย เนื่องจากเด็กสมัยนี้โตมาพร้อมกับเทคโนโลยี บางคนอาจเกิดการติดจอ ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน ครอบครัวจึงควรหากิจกรรมออกกำลังง่ายๆ ที่สามารถสนุกร่วมกัน”

รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวเสริมว่า จริงๆ แล้วพ่อแม่ส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโภชนาการและเห็นความสำคัญของพฤติกรรมการกินที่ดีเพียงแต่ขาดการลงมือทำ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากหากมีความตั้งใจและพยายาม บางคนบอกว่าทำงานหนักจนไม่มีเวลา หรือไม่มีเงินพอจะหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ลูกกิน หรือไม่มีความรู้ด้านโภชนาการเพียงพอ แต่จริงๆ ความรู้ทางโภชนาการไม่ใช่ของหายาก และอาหารที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง มีผักผลไม้มากมายในตลาดที่ราคาถูกและเต็มไปด้วยสารอาหาร

“การปลูกฝังนิสัยการกินผักผลไม้ให้ลูกควรเริ่มแต่เนิ่นๆ เมื่อเด็กเริ่มกินอาหารอื่นนอกจากนมแม่โดยไม่ต้องปรุงรสชาติ เพื่อให้เด็กคุ้นชินกับรสชาติแบบธรรมชาติและฝึกนิสัยกินง่าย หากเด็กมีปัญหากินยาก สามารถใช้หลัก Food Chain โดยสังเกตสิ่งที่เด็กชอบกินและให้เด็กค่อยๆ ลองกินอาหารชนิดใหม่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน หรือการให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกผัก ผลไม้ และช่วยเตรียมอาหารจะทำให้เด็กมีแนวโน้มกินผักผลไม้มากขึ้นโดยไม่ต้องบังคับ” รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าว