posttoday

กวิณ โอภาสวงการ ความสำเร็จอยู่ที่โอกาส ไขว่คว้า ลงมือทำ

09 กันยายน 2560

กวิณ โอภาสวงการ ทายาทคนโตของ ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์

 โดย พูลศรี เจริญ

 กวิณ โอภาสวงการ ทายาทคนโตของ ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ วาณิชธนากรฝีมือดีแถวหน้าของไทย

กวิณ จบไฮสคูลที่โรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี กรุงเทพ จากนั้นไปเรียนต่อปริญญาตรีด้านบริหาร ที่มหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ แห่งลอนดอน และปริญญาโทด้านบริหารที่คิงส์คอลเลจ ลอนดอน อังกฤษ ผ่านการฝึกงานในสถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกหลายต่อหลายแห่งเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์

เมื่อจบปริญญาโท กวิณตั้งใจเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะกลับบ้านเกิด ด้วยเหตุผลอยู่อังกฤษก็ไม่เหมือนอยู่บ้านเรา จากนั้นมาทำงานที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจกลยุทธ์ บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์"

คุณพ่ออยากให้ผมเรียนด้านการบริหารและการเงิน ท่านบอกว่าไม่ว่าจะทำงานอยู่สายงานไหน อย่าทิ้งเรื่องการเงิน เพราะการเงินถือเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวัน"

ปัจจุบัน กวิณ อายุ 26 ปี แต่เขาดูเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ เจ้าตัวบอกว่าอาจเป็นเพราะต้องไปอยู่เมืองนอกตั้งแต่วัยเด็กต้องรับผิดชอบตัวเอง

กวิณ โอภาสวงการ ความสำเร็จอยู่ที่โอกาส ไขว่คว้า ลงมือทำ

กวิณ ทำงานที่เอเซีย พลัส ได้ประมาณ 1 ปี ตัดสินใจลาออกมาสร้างอาณาจักรของตัวเอง ด้วยการก่อตั้ง ชิฟท์ เวนเจอร์ส กับกลุ่มเพื่อนๆ หลังคิดตกผลึกว่าการเป็นลูกจ้างเป็นเส้นทางที่ไม่ใช่

การก้าวออกจากพนักงานประจำใน เอเซีย พลัส ซึ่งเป็นธุรกิจที่พ่อสร้างและปั้นจนเติบใหญ่ กวิณ บอกว่า เขาคิดถูก เพราะทำให้มีเวลาคิดเรื่องต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายของชิฟท์ เวนเจอร์ส

“พอหลุดออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งหมายถึงการทำงานประจำที่ เอเซีย พลัส ผมประสบความสำเร็จมากพอสมควร ”

ชิฟท์ เวนเจอร์ส ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. 2559 เกิดจากการรวมตัวของนักธุรกิจ 3 แกนนำ ประกอบด้วย วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง ซึ่งเคยทำงานกับบริษัทสตาร์ทอัพที่ซิลิคอนวัลเลย์ วิเลิศ อรวรรณวงศ์ มีประสบการณ์ทางด้านซอฟต์แวร์และดิจิทัลเอเยนซี และกวิณ

กวิณ อธิบายว่า ชิฟท์ เวนเจอร์ส เป็นส่วนผสมระหว่างไพรเวทอิควิตี้ หรือกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในกิจการที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และกองทุนร่วมลงทุน หรือเวนเจอร์แคป

อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ชิฟท์ เวนเจอร์ส เป็นสังคมหรือเป็นคอมมูนิตี้ นอกจากมีกวิณ และเพื่อนๆ แล้วก็ยังมีผู้ที่ร่วมลงขันตั้งกองทุนดังกล่าว โดยมีทั้งนักลงทุนรายบุคคลและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนผู้ที่มีธุรกิจดั้งเดิมอยู่แล้ว

"กลุ่มผม คือ ชิฟท์ บวกนักลงทุนในคอมมูนิตี้ของเรา กลุ่มเรามีอายุตั้งแต่อายุ 25-26 ปี และ 60 กว่าปี มีทั้งนักลงทุนและนักธุรกิจที่บางส่วนมีสายสัมพันธ์จากคุณพ่อ หรือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ลงทุนในตลาดหุ้นอยู่แล้ว"

กวิณ บอกว่า ชิฟท์ เวนเจอร์ส มีเป้าหมายชัดว่าจะเป็นแหล่งสนับสนุนการลงทุนครบวงจรสำหรับธุรกิจตั้งต้นใหม่ หรือ “สตาร์ทอัพ”

แผนลงทุนในสตาร์ทอัพ 2-3 ราย/ปี เป็นธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ วงเงินลงทุนในประเทศตั้งเป้าบริษัทละ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป (ประมาณ 6.65 ล้านบาทขึ้นไป คำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยน 33.25 บาท/ดอลลาร์) ส่วนการลงทุนต่างประเทศตั้งงบ 5-6 หมื่นปอนด์/บริษัท

ขณะที่ตั้งเป้าลงทุนบริษัทละ 5 ปี จากนั้นถอนเงินลงทุนออกเพื่อทำกำไร 2 บริษัท รูปแบบการลดสัดส่วนการลงทุน จะมีทั้งขายหุ้นออกบางส่วนด้วยการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และขายกิจการต่อให้คนอื่น ตั้งเป้ากำไร 5-10 เท่า

บทบาทของ ชิฟท์ เวนเจอร์ส นอกจากสนับสนุนเรื่องเงินทุนแล้ว ยังให้คำปรึกษาและช่วยจัดการเรื่องภาษีที่ต้องเสียในแต่ละประเทศให้คุ้มค่าที่สุดด้วย รวมถึงจะแนะนำผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้เพิ่มเติม เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการทำธุรกิจ

ล่าสุด ชิฟท์ เวนเจอร์ส ได้ใส่เงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว 3 บริษัท เป็นการคัดมาจาก 70-80 บริษัท หนึ่งในนั้นมีบริษัทที่กวิณ และเพื่อนภูมิใจนักหนาว่าเป็นดีลใหญ่ นั่นก็ คือ การลงทุนในบริษัท แสนรู้ (Zanroo) เป็นเงิน 7.4 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 259 ล้านบาท

แสนรู้ คือบริษัทสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจแบบ B2B โดยเฉพาะ บริษัทนี้ทำเกี่ยวกับระบบโซเชียล มอนิเตอริ่ง (Social Monitoring) เป็นหลัก และนำข้อมูลแบบบิ๊กดาต้า (Big Data : ข้อมูลขนาดใหญ่) บนโลกโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ พันทิป อินสตาแกรม ฯลฯ ที่คนพูดถึงในง่มุมต่างๆ มาวิเคราะห์เป็นข้อมูลเชิงการตลาด

กรณีของบริษัท แสนรู้ ตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 3-5 ปีข้างหน้า เป้าหมายของเจ้าของ คือ มาร์เก็ตแคป 3 หมื่นล้านบาท

กวิณ โอภาสวงการ ความสำเร็จอยู่ที่โอกาส ไขว่คว้า ลงมือทำ

"การลงทุนในบริษัท แสนรู้ ถือว่าเราเดินมาถูกทาง วัดจากผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง โดยลงทุนได้ 2 เดือน มีลูกค้า 100 บริษัท มีลูกค้าทั้งที่เป็นธุรกิจอาหาร และโรงแรม เปิดให้บริการแล้ว 9 ประเทศ ผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ออกมาเท่ากับปีที่แล้วทั้งปี"

กวิณ บอกว่าจุดเด่นของแสนรู้ คือ การมีซอฟต์แวร์ที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังขยายตลาดต่างประเทศจนกลายเป็นเบอร์ 1 ในมาเลเซีย และมีแผนขยายตลาดไปยังต่างประเทศอีกหลายประเทศ รวมถึงตั้งเป้าเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทยอีกด้วย

อีกบริษัทที่ได้ลงทุนไปแล้ว คือ บริษัท ลอคค์ บอกซ์ (Lock Box) กวิณ บอกว่าผู้ก่อตั้งเป็นเพื่อนเขา มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท กวิณ ถือหุ้นอันดับ 2 บริษัทดังกล่าวยังต่อยอดรายได้ด้วยการให้เช่าพื้นที่ของลอคค์ บอกซ์ เพื่อลงโฆษณา เท่ากับว่ามีรายได้ 2 ทาง

ลอคค์ บอกซ์ เป็นเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ให้บริการตู้รับฝากของตามแนวรถไฟฟ้า ปัจจุบันมี 20 จุด ไม่รวมการให้บริการบนห้างสรรพสินค้า ซึ่ง กวิณ บอกว่าจะขยายพื้นที่และทำเลการให้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เหตุผลที่มีเจ้าล็อกเกอร์สีเหลืองแบรนด์ Lock Box เรียงรายอยู่ตามแนวสถานีรถไฟฟ้า เกิดจากจากการที่กลุ่มผู้ก่อตั้งได้เล็งเห็นว่าประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่กลับไม่มีผู้ให้บริการรับฝากสัมภาระ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนนักช็อป และผู้ที่ไม่ต้องการหิ้วสัมภาระระหว่างการเดินทาง อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการขนส่งมวลชนและการท่องเที่ยวไทย ให้ขึ้นไปสู่มาตรฐานบริการระดับสากล

นอกจาก 2 บริษัทข้างต้นแล้ว ชิฟท์ เวนเจอร์ส ยังทำงานกันหนักเพื่อเฟ้นหาบริษัทที่จะลงทุนกันไปเรื่อยๆ โดยล่าสุด ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพอีก 1 บริษัท เป็นธุรกิจแฟชั่นในอังกฤษ ที่ออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าให้นักร้องเจ้าของเคยทำแบรนด์ใหญ่มาก่อน

สตาร์ทอัพอีกบริษัท เป็นฟินเทค ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและโอนเงินข้ามประเทศ อยู่ระหว่างการเจรจาคาดว่า ได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ โดยบริษัทดังกล่าวได้ใบอนุญาตให้โอนเงินในยุโรปได้แล้ว และคาดว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี

กวิณ บอกว่าการลงทุนต่างประเทศ เขาและเพื่อนยังต้องอาศัยคุณพ่อ (ก้องเกียรติ) ช่วยดูและร่วมเจรจาด้วย

ธุรกรรมธุรกิจแฟชั่นผ่านการคัดกรองอย่างดี ทั้งกวิณ เพื่อน และพ่อของเขาให้ความเห็นว่าควรลงทุนหลังลงมือสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจด้วยตัวเองกับคำถามที่เข้มข้นและเคี่ยวตามสไตล์ของมือวาณิชธนากรที่ผ่านการทำธุรกรรมมามากต่อมาก

“การลงทุนต่างประเทศตอนนี้จะมีคุณพ่อเป็นพี่เลี้ยงร่วมเจรจา ส่วนลงทุนในประเทศผมและเพื่อนจะตัดสินใจด้วยตัวเอง”

สาเหตุที่ต้องมีคุณพ่อร่วมด้วยช่วยตัดสินกรณีลงทุนต่างประเทศ กวิณว่า พ่อของเขามีประสบการณ์สูง โดยทั้งสองคนจะมีพรรคพวกเพื่อนฝูงที่อังกฤษช่วยดูให้ด้วย

“ผมมีเพื่อนที่เป็นทนายความช่วยดู ส่วนคุณพ่อมีเพื่อนที่เป็นนายธนาคารช่วยคัดกรองให้ด่านแรก ซึ่งผมและคุณพ่อเห็นตรงกันว่าถ้าผ่านสองคนนี้มาแล้วก็มั่นใจได้”

สำหรับธุรกิจที่ ชิฟท์ เวนเจอร์ส สนใจอีกธุรกิจ คือ เครื่องสำอาง เนื่องจากมองว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในเอเชีย และก็เช่นเคย แบรนด์ที่จะนำเข้ามาขายมาจากอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่กวิณและพ่อคุ้นเคย

การก้าวเดินในแต่ละก้าวของกวิณตั้งแต่เล็กจนเป็นนักธุรกิจหนุ่มน้อยในวันนี้ เขาถูกปูพื้นฐานมาอย่างดีและเป็นระบบจากบุพการี

กวิณ โอภาสวงการ ความสำเร็จอยู่ที่โอกาส ไขว่คว้า ลงมือทำ

"คุณพ่อคุณแม่สอนว่า ก่อนจะทำอะไรให้วิเคราะห์ให้ดี ทั้งการทำธุรกิจ การใช้ชีวิต คนที่คบหา และพาร์ตเนอร์ธุรกิจ"

หลักคิดสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่จากกวิณคลื่นลูกใหม่ที่กำลังมาแรง เขาบอกว่าต้องชอบในสิ่งที่ทำ เมื่อชอบแล้วความตั้งใจก็จะตามมา แต่ต้องให้มั่นใจว่าสิ่งที่ชอบต้องตอบโจทย์ทั้งตัวเองและนักลงทุน

"คุณพ่อสอนว่า ให้ทำในสิ่งที่ชอบ และต้องรักษาสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตให้ดี นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่สอนว่าใน 1 อาทิตย์ ควรมี 1 วันที่ต้องพักให้เต็มที่" 

 กวิณ กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการสัมภาษณ์ว่า ความสำเร็จในชีวิตอยู่ที่โอกาส การไขว่คว้าและลงมือทำจริง ที่สำคัญคือ ตัวเขาเองเป็นคนที่ชอบทำธุรกิจมาตั้งแต่วัยเด็ก และหนุ่มน้อยคนนี้ได้สานฝันตัวเองแล้ว