posttoday

Hapz ตั๋วที่คนซื้อกำหนดราคาเอง

07 กันยายน 2560

สองหนุ่มจากสิงคโปร์ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ในวงการตั๋ว ด้วยการให้ผู้ซื้อกำหนดราคาที่พอใจ

แต่ไหนแต่ไรมาราคาบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตจะถูกกำหนดโดยผู้จัดงานเป็นหลัก โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง อาทิ ความดังของศิลปิน สถานที่จัดงาน แต่สองหนุ่มจากสิงคโปร์ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ในวงการตั๋ว ด้วยการให้ผู้ซื้อกำหนดราคาที่พอใจและพร้อมจะควักเงินจ่ายด้วยตัวเอง หากราคาแมทช์กับช่วงราคาที่กำหนดไว้ก็ปิดดีลซื้อขายทันที หากไม่แมทช์ก็เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อได้ซื้อในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่เสนอไว้

แพลตฟอร์มที่ว่านี้คือ Hapz ที่เกิดจากไอเดียของ เคนดริก หว่อง ที่ปรึกษาการจัดอีเว้นท์และออร์แกไนเซอร์วัย 29 ปี และ ไหล ซิน จู ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้วัย 28 ปี จากประสบการณ์ด้านออร์แกไนเซอร์ของ หว่อง เขาพบว่าความท้าทายใหญ่ของคนจัดงานคือการจับกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง ส่วนในมุมของคนที่อยากไปร่วมงานคือ บางครั้งก็พลาดข้อมูลอีเว้นท์ที่พวกเขาสนใจเข้าร่วม

Hapz ตั๋วที่คนซื้อกำหนดราคาเอง

 ภาพ : ไหล ซิน จู (ซ้าย) /เคนดริก หว่อง (ขวา) www.digitalnewsasia.com

Hapz จึงถูกพัฒนาขึ้นจากความต้องการเป็นสะพานเชื่อมออร์แกไนเซอร์และคนที่สนใจร่วมกิจกรรมเข้าด้วยกัน โดยสองผู้ร่วมก่อตั้งเคลมว่า เป็นแพลตฟอร์มแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้บริการตั๋วหลากหลายประเภทแบบครบวงจร ตั้งแต่ให้ข้อมูลอีเว้นท์ต่างๆ การจำหน่ายตั๋ว ดีลพิเศษ ไปจนถึงงานบริการลูกค้า

ในช่วงเริ่มแรก Hapz โฟกัสเฉพาะอีเว้นท์การวิ่งเพียงอย่างเดียว โดยเริ่มทดลองระบบจากการจัดงานวิ่งแข่งโดยที่ผู้เข้าร่วมจะต้องเตรียมแพ็กอุปกรณ์การวิ่งมาเอง ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีเกินคาด สองหนุ่มจึงเริ่มลงมือพัฒนาแพลตฟอร์มการจองตั๋วร่วมงานอีเว้นท์ต่างๆ อย่างจริงจัง โดยปัจจุบันมีให้บริการจองตั๋วทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ วิ่ง คอนเสิร์ต เทศกาลต่างๆ การแสดง และตั๋วเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวหรือสวนสนุก

การตั้งราคาของ Hapz จะเป็นแบบยืดหยุ่น ไม่ตายตัว (Dynamic Price) โดยจะทำงานร่วมกับออร์แกไนเซอร์ของอีเว้นท์นั้นๆ เพื่อกำหนดช่วงราคาซึ่งจะขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ ที่นั่งที่ยังว่าง ระยะเวลาก่อนถึงวันจัดงาน (ยิ่งเหลือเวลามากยิ่งถูก) และราคาของคู่แข่งรายอื่น โดยช่วงราคาของ Hapz จะเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยข้างต้น เพื่อให้ผู้จัดงานสามารถคำนวณจุดคุ้มทุนของตัวเองได้

แม้ปัจจุบันจะมีผู้ให้บริการการจองตั๋วอีกหลายเจ้าในตลาด แต่ ไหล มองว่า จุดต่างของ Hapz คือ พวกเขาจะให้บริการทั้งลูกค้าและผู้จัดงาน และมองว่าผู้จำหน่ายตั๋วรายอื่นเป็นเสมือนพาร์ทเนอร์ทางการค้ามากกว่า เนื่องจากตั๋วที่ลูกค้าซื้อจาก Hapz อาจเป็นตั๋วที่มาจากผู้จำหน่ายตั๋วรายอื่น

ความท้าทายของ Hapz คือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เนื่องจากช่วงแรกที่ทั้งคู่เปิดตัวแพลตฟอร์มนี้ มักจะมีคำถามจากลูกค้าตามมาเสมอว่า เป็นเว็บไซต์หลอกจำหน่ายตั๋วหรือเปล่า เนื่องจากราคาตั๋วของ Hapz มักต่ำกว่าท้องตลาด แต่หลังจากดำเนินการมากว่า 4 เดือน คำถามดังกล่าวก็ค่อยๆ หายไป

ปัจจุบันมีผู้ลงชื่อเข้าใช้บริการแล้วกว่า 8,500 คนในสิงคโปร์ ผ่านการร่วมงานกับอีเว้นท์ใหญ่ๆ อาทิ Ultra Singapore และ Dreamworks Day Asia โดยมีเป้าหมายจะขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย