posttoday

'หยุด' ตีตรา ผู้ติดเชื้อเอชไอวี

04 กันยายน 2560

เชื้อเอชไอวีถูกต้านด้วยยาต้านไวรัสติดต่อกันนาน 6 เดือน ก็จะไม่เจอเชื้อในร่างกาย

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (ThaiPlus.NET) ร่วมกับ “ครีเอทีฟอาสา” เปิดตัวคลิปหนังสั้นความยาว 1.50 นาที เป็นเหตุการณ์จำลองในการสัมภาษณ์งานทั่วไป ซึ่งลงท้ายด้วยคำถามที่ว่า คุณมีปัญหาสุขภาพอะไรหรือไม่?

เมื่อถูกสัมภาษณ์ยอมรับว่าตนเองมีเชื้อเอชไอวี (HIV) และถามคำถามกลับไปว่า “เรื่องนี้จะมีผลต่อการรับเข้าทำงานหรือไม่” “เจอแบบนี้...เป็นคุณจะตอบยังไง?”

หากคุณต้องชี้วัดคนเข้ามาร่วมงานกับคุณหรือองค์กร คุณจะวัดคนที่อะไร ความสามารถหรือผลเลือด จุดประสงค์ของการทำคลิปนี้ เพื่อหวังให้สังคมเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวี มากกว่าการตัดสินคนเพียงแค่ผลเลือด

'หยุด' ตีตรา ผู้ติดเชื้อเอชไอวี

 

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าทีมป้องกันการติดเชื้อ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ให้ทัศนะว่า การทำคลิปเผยแพร่ให้ผู้คนตระหนักถึงการปฏิบัติตนให้ถูกต้องกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นสิ่งที่จำเป็น สำคัญ และมีประโยชน์ แต่ติดตรงหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานด้านรณรงค์เกี่ยวกับโรคเอดส์ไม่มีงบประมาณที่มากพอ ทำได้เพียง 1-2 คลิป/ปี และเผยแพร่ในบางช่องทาง ถ้าให้ดีควรมีการออกคลิปรณรงค์อย่างต่อเนื่อง

“บางคนไม่รู้จริงๆ การได้ฟังทำให้เขาเปิดโลกทัศน์เพิ่มขึ้น และลดความเชื่อที่ผิดๆ เช่น หยุดตีตรา หยุดแชร์ เลิกเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้แล้ว เพราะโรงพยาบาลก็บริการให้ยาต้านไวรัสและรักษาฟรีอยู่แล้ว หยุดกลัวได้แล้ว เพราะมันไม่น่ากลัวก็ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน”

สถานการณ์โรคเอดส์ในปัจจุบัน

หัวหน้าทีมป้องกันการติดเชื้อ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบอัตราการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในกลุ่มวัยรุ่นสูงขึ้น สวนทางกับสถานการณ์การติดเชื้อในภาพรวมของประเทศที่ลดลง และที่น่ากังวล คือเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์อายุน้อยสุดเพียง 12-13 ปีเท่านั้น ซึ่งน่าจะติดตั้งแต่ครั้งแรกที่มีเพศสัมพันธ์

“ปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละปีราว 7,000-8,000 คน/ปี ที่น่ากังวล คือจำนวนไม่น่าลดลงไปกว่านี้ เราคาดหวังว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะลดลงเหลือแค่ 5,000-6,000 คน/ปี แต่เป้าหมายเราคือการยุติปัญหาเอดส์ในเมืองไทย และสิ่งที่น่ากังวลคือเรายังพบผู้เสียชีวิตปีละ 1-1.5 หมื่นคน/ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นในยุคนี้ ที่หากผู้ติดเชื้อรู้ตัวว่ามีเชื้อเอชไอวีและรับยาต้านไวรัส สามารถใช้สิทธิเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ฟรี ไม่ต้องรอคิว แต่ประเด็นคือ คนยังไม่ค่อยสบายใจในการออกมาตรวจเลือด ทำให้ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ส่งผลให้คนที่ได้รับเชื้อแล้วไม่กล้าออกมารักษา จนป่วยแล้วค่อยออกมาจนได้รับเชื้ออื่นๆ ตามมา จนฉุดภูมิคุ้มกันของตัวเองไม่ทัน”

อีกสิ่งที่ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น คือ มียากินเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ แปลว่า คนไม่ติดเชื้อ หากมีพฤติกรรมเสี่ยง หากตรวจแล้วไม่ติดเชื้อ จากนั้นป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ แต่คนส่วนหนึ่งไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยได้ในทุกครั้ง เพราะไม่มีอำนาจต่อรอง ทำให้อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ คนกลุ่มนี้สามารถกินยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ต้องกินทุกวัน หยุดกินต่อเมื่อไม่เสี่ยง เรียกว่า HIV PreExposure Prophylaxis หรือ PrEP

เอดส์รักษาได้ 100%

คำกล่าวที่ว่า โรคเอดส์รักษาได้ 100% แล้ว คุณหมอนิตยา กล่าวว่า เป็นความจริง เพราะการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่ง เราสามารถค้นพบยาจัดการกับเชื้อไวรัสตัวนี้ได้

“แต่ตัวเองรู้ไหมว่ามีเชื้อ ถ้ารู้ปุ๊บกินยาก็สามารถกดเชื้อไว้ได้แม้ไม่หายขาด ก็เหมือนเราป่วยเป็นเบาหวานหรือความดัน ตราบใดที่เรามีโรคเรากินยารักษาสม่ำเสมอ ในการประชุมวิชาการด้านเอดส์ระดับโลก  เราใช้คำขวัญว่า ถ้าตรวจไม่เจอ เท่ากับไม่แพร่เชื้อให้กับใครได้ เป็นประเด็นสำคัญที่เราพูดกันว่านาน 2-10 ปีแล้ว

ถ้าผู้ติดเชื้อรู้ แล้วกินยาต้านไวรัสติดต่อกันนาน 6 เดือน ก็จะไม่เจอเชื้อในร่างกาย และไม่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ แต่เราก็มักกลัวกันไปเอง จูบก็ไม่ติดนะคะ แม้เขาไม่ใส่ถุงยางอนามัยเชื้อก็ไม่แพร่แล้ว แต่เราจะรู้กันในเชิงการแพทย์ แต่เราไม่พูดกัน จึงเท่ากับเป็นการตีตรา ซึ่งเขาก็ควรยังต้องใส่ถุงยางเวลามีเพศสัมพันธ์อยู่ เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรคอื่นๆ ทางเพศสัมพันธ์ แต่สำหรับคนที่มีผัวเดียวเมียเดียวก็ไม่ต้องกลัว

บางคนกินยาต้านไวรัสมา 10 ปี ไม่กล้าหอมหรือกอดลูก ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด กอดได้หอมได้ปกตินะคะ” คุณหมอนิตยา กล่าว

อย่ากลัวและตั้งข้อรังเกียจ

พญ.นิตยา แนะนำถึงการอยู่ร่วมในสังคมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีว่าควรวางตัวปกติ “ต้องลบภาพที่ฝังอยู่ในหัวตั้งแต่เด็ก ว่าโรคเอดส์น่ากลัว อย่าเข้าใกล้ ติดแล้วตายนะ จนทำให้ข้อมูลพื้นฐานที่เราน่าจะรู้แต่ถูกลืมไป

เอชไอวีติดได้เพียง 3 ทาง คือ เพศสัมพันธ์ แม่สู่ลูก และเลือดเท่านั้น การใช้เข็มฉีดยาก็ไม่ติด ถ้าไม่ใช่ 3 ทางนี้ไม่มีทางติดได้เลย ดังนั้นหากมีสมาชิกในบ้านติดเชื้อ

เอชไอวีสามารถอยู่ร่วมกันได้ปกติ ถ้ารู้ว่าเพื่อนหรือสมาชิกในสังคมติดเชื้อก็อย่าละเลยเขา อย่านำเชื้อโรคอื่นๆ ไปติดเพื่อนที่ติดเชื้อเอชไอวี เพราะภูมิคุ้มกันเขาต่ำ คนที่กินยาต้านไว้รัสอยู่ เราต้องระวังไม่นำหวัดไปติดเขา อย่างเวลากินข้าวก็ควรใช้ช้อนกลาง เพื่อป้องกันไม่นำโรคหวัดหรือเชื้อโรคของคนปกติไปติดคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เราต้องระวังให้คนในครอบครัวเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ต่างจากการดูแลเด็กเล็กๆ หรือผู้สูงอายุเลย

อย่าคิดว่า ไม่ใช่ฉันหรอกที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้หญิงบริการบางคนเท่านั้นที่มีสิทธิติดเชื้อ บุคคลทั่วไปที่มีเพศสัมพันธ์กับสามี เราไม่มีทางรู้เลยว่าสามีเราก่อนมีเรา เขาเคยมีใครมาก่อนหรือเปล่า คำแนะนำถ้ามีเพศสัมพันธ์ครั้งหนึ่งควรไปตรวจสักครั้ง ถ้าตรวจไม่พบก็ป้องกันตัว ดังนั้นในบุคคลที่เสี่ยงควรไปตรวจหาเชื้อเอชไอวีปีละ 2 ครั้ง”

'หยุด' ตีตรา ผู้ติดเชื้อเอชไอวี

 

เปิดตัวคลิปรณรงค์

อภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวถึงจุดประสงค์การทำคลิปรณรงค์ “เจอแบบนี้...เป็นคุณจะตอบยังไง?” เพื่อการสร้างบรรยากาศความเข้าใจใหม่ในเรื่องเอดส์ รวมทั้งส่งเสริมมุมมองเรื่องสิทธิด้านเอดส์ให้แก่สังคมไทย เพื่อลดการรังเกียจ กีดกัน และเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยไม่นำผลเลือดหรือการมีเชื้อเอชไอวีมาใช้เป็นเงื่อนไขในการรับสมัครเข้าทำงานหรือเรียนหนังสือ เพราะการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“การมีเชื้อเอชไอวีไม่มีผลต่อการเรียน การทำงาน เรายังเรียนได้ ทำงานได้ ไม่ต่างจากคนที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี และการเรียนด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ก็ไม่ทำให้ใครติดเชื้อได้ แต่ที่ผ่านมามีสถานศึกษาหลายแห่ง สถานประกอบการ บริษัทใหญ่ๆ ไม่น้อย หน่วยงานภาครัฐบางแห่งที่ยังบังคับตรวจเลือดพนักงานเพื่อจะรับเฉพาะคนที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิด สาเหตุเพราะความเข้าใจผิดๆ ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่แข็งแรง ป่วยง่าย เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ และที่สำคัญกลัวว่าจะทำให้คนอื่นเสี่ยงติดเชื้อจากการอยู่ร่วมกัน

ผลกระทบที่ตามมาคือ การใช้ผลเลือดเอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการรับเข้าทำงานนั้น ทำให้ผู้ติดเชื้อพึ่งพาตัวเองไม่ได้ แทนที่จะได้ทำงานตามความถนัด ตามความรู้ความสามารถที่มี แต่กลับทำไม่ได้ ผู้ติดเชื้อต้องถูกคัดออกเพียงเพราะการมีเชื้อเอชไอวี พวกเราต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจใหม่ว่า การติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงเลย และต้องยืนยันว่าไม่เคยมีใครติดเชื้อจากการเรียนห้องเดียวกันหรือทำงานด้วยกัน” รองประธานเครือข่ายฯ กล่าว

ด้าน ณัฐศักดิ์ กิจบำรุง หัวหน้าทีมครีเอทีฟอาสา ผู้มีผลงานมากมายจากเอเยนซีโฆษณาและผู้สร้างสรรค์คลิปรณรงค์ชิ้นนี้ ซึ่งมีเนื้อหาที่เรียบง่าย ณัฐศักดิ์ ผู้ออกแนวคิดของคลิปรณรงค์ บอกว่า เขาต้องการเปลี่ยนความเข้าใจของคนในสังคมไทยให้หันมาเปิดใจและเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในแง่ของการทำงานร่วมกัน อยู่ร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันถึงแม้การรักษาจะพัฒนาไปไกลมาก ผู้ติดเชื้อสามารถมีลูกได้ โดยลูกไม่ได้รับเชื้อจากแม่แล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม คือความรู้สึกของคนในสังคมที่ยังเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจ และคิดไปเองว่าพวกเขาไม่สามารถทำงานร่วมกับเราได้

สิ่งที่เห็นในคลิป คือการถามกลับไปที่สังคมว่า วันหนึ่ง “ถ้าคุณเจอเหตุการณ์แบบนี้...เป็นคุณจะตอบยังไง?” คุณวัดคนที่ความสามารถหรือผลเลือด? แค่อยากให้ลองเปิดใจให้มากขึ้น เข้าใจกันให้มากขึ้น เชื่อว่าอีกไม่นาน...พวกเขาจะได้กลับมาทำงานร่วมกับสังคมอีกครั้ง

“เป็นเรื่องที่ยากมากในการเปลี่ยนทัศนคติที่ผิดๆ ของคนในสังคม เพราะในอดีตเราถูกป้อนการรับรู้หรือภาพจำของผู้ป่วยเอดส์ อันเนื่องมาจากไม่ได้เข้ารับการดูแลรักษา แน่นอนย่อมต้องป่วยหรือเสียชีวิต เนื้อหาของคลิปไปถ่ายในสถานการณ์จริง ผู้สร้างสรรค์เลือกอดีตเอชอาร์ที่เคยทำงานในองค์กรใหญ่ แต่ออกไปเพื่อเปิดธุรกิจส่วนตัว เพื่อป้องกันสิทธิของผู้ติดเชื้อ ส่วนน้องผู้หญิงไม่ได้ติด แต่เราบอกน้องว่า ปลายทางให้เขาพูดอย่างไร คือในเนื้อหาพอถึงประโยคที่เด็กผู้หญิงบอกว่า หนูติดเชื้อเอชไอวี ปฏิกิริยาของเอชอาร์บริษัทเปลี่ยนทันที แม้ปัจจุบันการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีก้าวไปไกลมาก แต่ความกลัวในจิตใจคนยังคงเหลืออยู่”

ไม่ใช่แค่คนที่ติดเชื้อเท่านั้นที่มีการตีตราในใจ เช่น เขาไม่เท่าคนอื่น เขาไม่เหมือนเดิม แม้ความสามารถในตัวเขายังมีเหมือนเดิม แต่ข้างในทุกข์จึงคิดสร้างสรรค์งานไม่ได้ กลายเป็นความกังวลในใจไปหมด

“ภาพจำที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีผอมๆ เป็นเชื้อราในสมอง ปอดบวม อันนั้นคือทำงานไม่ไหวเพราะไม่รักษา แต่ในทางกลับกัน วันนี้กับวันนั้นต่างกัน ซึ่งคนยังคิดแบบนั้นอยู่ เพราะแต่ก่อนเราถูกขู่ให้กลัว ซึ่งถ้ากลัวก็ต้องป้องกันตัวเอง ถ้าไม่อยากเป็นคือเจาะเลือด และหากมีเพศสัมพันธ์ให้ใช้ถุงยางอนามัย การกินน้ำแก้วเดียวกันไม่ติด การสักไม่ทำให้ติด การใช้ห้องน้ำเดียวกัน หรือทำงานร่วมออฟฟิศกันไม่น่ากลัวนะครับ” ณัฐศักดิ์ กล่าว