posttoday

เปลี่ยนสไตล์ทำงาน ‘รุก’ ให้มากกว่า ‘รับ’

04 กันยายน 2560

ทำงานอย่างรอบคอบ ช่างสังเกต มองรอบด้าน และไม่กลัวปัญหา

 

สถานการณ์บีบบังคับให้ตอบสนอง เมื่อเกิดข้อผิดพลาดอย่างเช่นทำงานไม่ทันเดดไลน์ ถ้าคุณทำงานในสไตล์โทษสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ไว้ก่อนอื่นใดเลย แล้วในบางครั้งก็อาจมีความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีกต่างหาก โดยไม่มีการพิจารณาตัวเองเป็นหลัก การทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จไปวันๆ เท่านั้น ไม่มีการวางแผนการทำงานก่อนล่วงหน้า โดยไม่คำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ใครมีนิสัยเข้าข่ายที่ว่านี้... คุณคือคนทำงานเชิงรับ (Reactive) การเป็นคนทำงานวันต่อวัน เช้าชามเย็นชาม ทำแต่สิ่งที่ได้รับมอบหมายมาเท่านั้น ไม่ค่อยคิดถึงความก้าวหน้าหรือพัฒนาตัวเองเท่าใดนัก ไม่กล้าชนความยุ่งยาก ไม่มีไอเดียจัดการวางแผนใดๆ ล่วงหน้า ทำนายอนาคตได้เลยว่าความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน ต้องมีคนแซงนำไปก่อน

ตรงกันข้ามกับการทำงานเชิงรุก (Proactive) หมายถึง คนทำงานที่มีนิสัยชอบคิดวางแผน จัดการและเตรียมการ เพื่อพร้อมแก้ปัญหาและทำงานอย่างมีคุณภาพเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต การทำงานเชิงรุกนั้น เป็นอีกหนทางสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยทัศนคติเหล่านี้ 

มองโลกในแง่บวก

ปัญหาที่คนทำงานมักเผชิญกันเบาๆ หากใครรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ลักษณะของงานที่ทำอยู่ แต่เลือก “ยิ้มรับ” ให้กับปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น นอกจากทำให้กลายเป็นคนที่ดูหนักแน่น เก็บความรู้สึกและพฤติกรรมที่แท้จริงของตัวเองได้ดีแล้ว รอยยิ้มเบาๆ ยังช่วยบรรเทาความคิดในทางลบ หรือในทางไม่สร้างสรรค์ จะเป็นตัวทำลายความคิดในการทำงานเชิงรุกของเราได้อีกด้วย

ตรงกันข้ามกับคนทำงานเชิงรับ เมื่อเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต ต้องเผชิญปัญหา คนกลุ่มนี้ก็จะถอนหายใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือเอือมระอากับปัญหาที่เกิดขึ้น รู้สึกปัญหามีไว้ให้กลุ้มมากกว่ามีไว้ให้แก้ บางคนถึงขนาดโยนปัญหาไปให้ผู้อื่นรับผิดชอบ บอกปัดไปเสียทุกเรื่อง โดยไม่ช่วยเพื่อนร่วมงานคิดที่จะแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นเลย

คิดเป็น ‘ผู้ให้’ มากกว่า ‘ผู้รับ’

นี่คือพื้นฐานอีกข้อสำคัญของพื้นฐานของการทำงานเชิงรับ คิดว่ามีอะไรบ้างที่เราสามารถจะทำได้เพื่อให้องค์กรได้รับผลประโยชน์มากที่สุด มีความคิดทำงานให้องค์กรมากกว่าเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับ เพราะที่สุดแล้วหากองค์กรอยู่รอดได้ ก็ย่อมหมายถึงความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีของตัวเราด้วยเช่นกัน

หรือการปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงาน รู้จักการแบ่งปัน คนที่ทำงานเชิงรุกมักจะชอบช่วยเหลือผู้อื่น และไม่เคยหวังผลตอบแทน เพราะเขาเชื่อมั่นเสมอว่า การให้ย่อมทำให้เขามีความสุข และเมื่อความสุขเกิดขึ้น การลงมือทำสิ่งต่างๆ ย่อมนำมาสิ่งผลลัพธ์แห่งความสำเร็จขององค์กรร่วมกันได้

ทุกๆ อย่างต้องเป็นไปได้

การทำงานเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีพฤติกรรมการทำงานเชิงรุก (Proactive Approach) เนื่องจากมีการวางแผนล่วงหน้า และจัดการสิ่งใดด้วยวิจารณญาณอย่างรอบคอบจึงทำให้ไม่ค่อยมีความผิดพลาด ทั้งยังสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ การทำงานเชิงรุกจึงพร้อมตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง โดยเฉพาะเวลาเจอโจทย์งานใหม่ๆ ปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน คนกลุ่มนี้พร้อมที่จะมองไปข้างหน้า และหาหนทางก้าวข้ามผ่านไปได้อยู่เสมอ ทั้งการมีคุณสมบัติตั้งแต่ข้อแรกคือการคิดบวก ก็ย่อมสามารถนำพาชีวิตก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง

“วันพรุ่งนี้” ย่อมดีกว่า “วันนี้”

เหมาะกับคนทำงานชนิดที่เรียกว่า รอบคอบ ช่างสังเกต มองรอบด้าน และไม่กลัวปัญหา แม้ว่างานชิ้นนั้นจะยากและท้าทายความสามารถมากแค่ไหน ซึ่งการทำงานเชิงรุกนั้น เขาไม่เคยหยุดการพัฒนาตัวเอง แม้เป็นงานที่ถนัดและเขาทำได้ดีอยู่แล้ว เขาก็จะคิดว่า “พรุ่งนี้ต้องดีกว่า” แต่หากเขาทำผิดพลาด พรุ่งนี้เขาจะรีบแก้ไขโดยทันที คนที่ทำงานเชิงรุกจะได้ผลดีสูงสุดก็ต่อเมื่อทำงานที่รับมอบหมายโดยไม่คั่งค้าง ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

การทำงานแบบเชิงรุกช่วยลดปัญหาในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงพัฒนางานให้ดีขึ้น ระดับของพฤติกรรมเชิงรุกในการทำงาน ส่งผลโดยตรงต่อความก้าวหน้าในสายอาชีพของตัวเอง และการพัฒนาขององค์กรได้อย่างชัดเจน