posttoday

"ไม้ดัด" วัดคลองเตยใน สืบสานงานศิลป์และเอกลักษณ์ไทย

28 สิงหาคม 2560

สุดยอดของการเล่นต้นไม้ก็คือไม้ดัด แต่ไม่ใช่ใครก็ดัดได้ ของพวกนี้มีแบบมีแผนมีตำราที่สืบสานกันมาแต่โบราณ

โดย...วรธาร ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์

สุดยอดของการเล่นต้นไม้ก็คือไม้ดัด แต่ไม่ใช่ใครก็ดัดได้ ของพวกนี้มีแบบมีแผนมีตำราที่สืบสานกันมาแต่โบราณ คนที่ดัดเป็นและดัดสวยต้องลักษณะถูกเป๊ะตามตำราไม้ดัดไทยจริงๆ นั้นส่วนใหญ่มักจะได้รับการถ่ายทอดและการสอนวิชาศิลปะการดัดมาจากครูหรือผู้ที่มีความชำนาญในอดีตมาแล้วทั้งนั้น

ทว่าทุกวันนี้ผู้ที่มีความชำนาญในศิลปะแขนงดังกล่าว และยังสืบสานยึดตามแบบโบราณมีอยู่น้อยมาก เพราะคนที่จะสืบสานศิลปะมรดกไทยนี้ไว้ต้องมีใจรักและมีความอดทนอย่างสูงจึงจะทำได้ เชื่อไหมว่า ที่วัดคลองเตยใน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร มีไม้ดัดไทยโบราณจำนวนมาก มากถึงขนาดว่า ถ้าพูดถึงไม้ดัด...ต้องไปวัดคลองเตยใน

"ไม้ดัด" วัดคลองเตยใน สืบสานงานศิลป์และเอกลักษณ์ไทย

ใช่เลย...ถ้าใครไปวัดคลองเตยในก็จะเห็นไม้ดัดสวยงามจำนวนมากถูกเลี้ยงอยู่ในกระถางลายครามและกระถางอื่นๆ ตั้งรายรอบโบสถ์ ทั้งบริเวณด้านในและด้านนอก และยังอยู่บนชั้น 2 ของศาลาการเปรียญอีกมาก ซึ่งนอกจากมีไม้ดัดแล้วยังมีเขามอที่เป็นของคู่กันอีกจำนวนมาก โดยผู้ที่อนุรักษ์และสืบสานศิลปะการดัดไม้ไทยโบราณคือ “พระราชสิทธิสุนทร” เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน ที่ใช้เวลาว่างทำเป็นงานอดิเรก แต่มากคุณค่ามาเป็นเวลากว่า 40 ปี

ผลงานที่ท่านรังสรรค์ขึ้นมาเหล่านี้ได้ถูกขอให้นำไปจัดแสดงในงานต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน เช่น ที่อุทยาน ร.2 จ.สมุทรสงคราม งานนิทรรศการไม้งามอร่ามตาที่สวนหลวง ร.9 แต่ที่เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของท่าน คือไม้ดัดไทยโบราณวัดคลองเตยในได้ถูกนำไปประดับบริเวณรอบพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ล่าสุดได้รับการประสานจากกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขอใช้ไม้ดัดไทยโบราณและเขามอร่วมประดับตกแต่งในบริเวณมณฑลพิธีพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีกด้วย

"ไม้ดัด" วัดคลองเตยใน สืบสานงานศิลป์และเอกลักษณ์ไทย

แรงบันดาลใจที่ทำให้พระคุณเจ้าวัย 70 รูปนี้สนใจในศิลปะไม้ดัดไทยโบราณ ต้องย้อนไปเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว เมื่อวันหนึ่งท่านได้เดินบิณฑบาตไปแถวคลองเตย แล้วบังเอิญไปเห็นไม้ดัดตามบ้านคนรู้สึกว่าสวยงามดีก็เกิดความสนใจขึ้นมา จากนั้นจึงเริ่มหาตำราศึกษาค้นคว้าและพยายามเสาะหามาเลี้ยง  จุดแรกที่ไปซื้อคือสนามหลวงที่เมื่อก่อนมีตลาดนัด

“เลี้ยงอยู่พักหนึ่ง พอไปเจอชุดสองสวยกว่าก็เอาชุดแรกให้คนอื่น ไปอีกครั้งเห็นชุดที่สามสวยกว่าชุดที่สองก็เอาชุดที่สองให้คนอื่นอีก จนกระทั่งวันหนึ่งนั่งรถผ่านไปแถววิภาวดีรังสิต เห็นซุ้มต้นไม้ขายข้างทางก็แวะลง เห็นไม้เขน (หนึ่งในไม้ดัดไทยโบราณ) คู่หนึ่งเลยถามคนขายว่าไม้พวกนี้ยังมีคนทำอยู่หรือ เขาบอกมีอยู่ที่ศรีราชา ชลบุรี อาตมาก็ไปดูถึงที่ เป็นสองตายายทำ ก็ถามว่าโยมทำได้ยังไง เขาเล่าว่าได้ความรู้จากพ่อชื่อนิตย์ เอี่ยมปรีชา (ตอนนั้นอายุ 90 ปี) ซึ่งได้รับการสอนมาอีกต่อหนึ่งจากกำนันแนบ สักเนตร บ้านใกล้กันอยู่แถวบางจาก พระโขนง อาตมาก็เรียนรู้จากเขาและโยมนิตย์พ่อของเขาก็เคยมาสอนอาตมาถึงที่วัด เท่ากับท่านเหล่านี้เป็นครูอาตมา จากนั้นอาตมาก็สร้างสรรค์ไม้ดัดไทยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน”

"ไม้ดัด" วัดคลองเตยใน สืบสานงานศิลป์และเอกลักษณ์ไทย

พระราชสิทธิสุนทร เล่าต่อว่า จริงๆ แล้วไม้ดัดเริ่มมีการปลูกเลี้ยงมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เริ่มนิยมในหมู่เจ้าขุนมูลนายหรือคหบดีเท่านั้น จากนั้นพอมายุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ได้รับความนิยมอีกและยังคงอยู่ในหมู่เจ้านายและขุนนาง โดยในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 เรื่อยมาถึงรัชกาลที่ 5 การปลูกเลี้ยงเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ จากในวัง บ้านข้าราชการก็ขยายมาวัดและบ้านเรือนประชาชนทั่วไป และนิยมปลูกเลี้ยงในกระถางลายครามตั้งประดับตกแต่งบ้าน

“สมัยนั้นไม้ดัดมีเกือบทุกวัด มีทั้งปลูกในสนามหญ้าและปลูกในกระถาง ที่วัดโพธิ์มีเยอะ วัดคลองเตยเราก็มี ในตำราบอกว่าแถวบางล่างตั้งแต่บางลำพูล่าง (คลองสานในปัจจุบัน) ลงมาถึงคลองเตย บางจาก พระโขนง มีคนทำไม้ดัดสวยงามเป็นแบบนิยมระดับบรมครู สามารถระบุชื่อได้ 3 ท่าน คือ พระอาจารย์ปุ่น วัดบางน้ำผึ้งนอก กำนันแนบ สักเนตร อยู่บางจากแถวโรงเรียนบพิธวิทยา และนายเอม กรเกษม อยู่คลองเตย จึงไม่แปลกที่อาตมาจะได้วิชานี้ทางสายกำนันแนบ สักเนตร”

"ไม้ดัด" วัดคลองเตยใน สืบสานงานศิลป์และเอกลักษณ์ไทย

พระราชสิทธิสุนทร เล่าอีกว่า ไม้ดัดไทยโบราณมีลักษณะการดัดตามแบบแผนที่กำหนดไว้ 9 แบบ แต่ละแบบมีชื่อเรียกและวิธีการดัดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้แก่ ไม้กระบวน ไม้ฉาก ไม้กำมะลอ ไม้หกเหียน ไม้เขน ไม้ป่าข้อม ไม้ตลก ไม้เอนชาย และไม้ญี่ปุ่น ซึ่งกว่าที่กิ่ง ก้าน หุ่น (หุ่น-ต้นไม้ที่จะนำมาทำเป็นไม้ดัด) และช่อของไม้จะงดงามด้วยลีลาที่เปลี่ยนทิศจากซ้ายแล้วย้ายไปขวา หรือจากบนวกลงล่างแล้วย้อนกลับขึ้นบนด้วยกลวิธีในการตัดแต่งลำต้น กิ่ง และหุ่นให้ออกท่าทางต้องรอคอยนานแรมปีให้ต้นไม้คงรูปตามจินตนาการและเป็นไปตามรูปแบบ คนที่ทำต้องใจอดทนและมีใจรักจริงๆ

“ยกตัวอย่างไม้กระบวนนิยมทำเป็นไม้กระบวน 5 ช่อ 7 ช่อ 9 ช่อ เป็นไม้ที่มีหุ่นเวียนขึ้นชูยอดชี้ฟ้าเข้าหาแนวศูนย์กลาง จะวนขึ้นเวียนขวาหรือซ้ายก็ได้ โดยการดัดให้ทรงต่ำ จะมีส่วนต้นตรงหรือคดน้อยก็ได้ ถือเอาทรงงามเป็นสำคัญ ดัดกิ่งวกเวียนให้ได้ช่องไฟได้จังหวะให้กิ่งกระจายตามหุ่นรอบตัว ซึ่งไม่กำหนดกิ่งก้านว่าจะเป็นรูปร่างอย่างไร แต่งพุ่มให้เรียบร้อย อาจจะมีต้นแอบด้วย ไม้ดัดชนิดนี้นิยมดัดกันมาก เนื่องจากดัดเข้าหุ่นง่ายกว่าแบบอื่น เมื่อดัดแล้วไม้มีความสมส่วนดี เทียบได้กับไม้ตั้งตรงที่ถูกเถาวัลย์เหนี่ยวรั้งกดทับ ประกอบกับการทิ้งกิ่งและเสียส่วนยอดไปเป็นเวลานานจนกิ่งที่เหลือทำหน้าที่ยอดแทน”

"ไม้ดัด" วัดคลองเตยใน สืบสานงานศิลป์และเอกลักษณ์ไทย

เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน กล่าวว่า ไม้ดัดแต่ละแบบมีความสวยงามและมีเสน่ห์อยู่ในตัวของมัน เช่น ไม้เขน ที่นิยมดัดทำกิ่งและช่อพุ่มใบ 3 กิ่ง แต่ละกิ่งจะมีหลายช่อใบก็ได้โดยไม่กระจายออกรอบตัว แต่ละกิ่งจะชี้ต่างทิศกัน นิยมให้กิ่งลงล่างหนึ่งกิ่ง ไปทางข้างหนึ่ง ขึ้นบนหนึ่ง หรือในสามกิ่งนั้นจะเฉไฉไปอย่างใดก็ได้ให้ต่างทิศกัน ไม่ควรทำกิ่งให้หันเหไปในทิศทางเดียวกัน จำไว้ว่าไม้เขนต้องมี 3 กิ่ง ถ้ามากนั้นไม่เป็นไม้เขน ไม้เขนจะมีลีลาสอดคล้องกับอิริยาบถของนางรำ นักมวย หรือผู้เต้นเขนในโขน จึงเป็นไม้ดัดที่มีเสน่ห์ ตรึงตราตรึงใจแก่ผู้พบเห็น

สำหรับพันธุ์ไม้ที่นิยมนำมาดัดนั้น พระราชสิทธิสุนทร กล่าวว่า มีหลายชนิด เช่น ตะโก ข่อย โมก มะขาม ชาฮกเกี้ยน แต่ไม้ที่โดดเด่นและหายากและเป็นที่ต้องการของคนเป็นที่หนึ่งคือตะโก ยิ่งแก่ยิ่งสวยเพราะลำต้นจะดำและการเล่นไม้ดัดจะเล่นกันที่การทำกิ่ง ส่วนต้นข่อยก็เป็นที่ต้องการเช่นกันเพราะหายาก ขณะที่โมกสมัยโบราณเป็นไม้หาง่าย ปลูกแทบทุกบ้าน จึงไม่เป็นที่อยากได้มาก แต่ก็นำมาดัดกันมากเพราะหาง่ายนั่นเอง ส่วนที่วัดคลองเตยจะมีตะโก ข่อย โมก และมะขามก็มีบ้าง

"ไม้ดัด" วัดคลองเตยใน สืบสานงานศิลป์และเอกลักษณ์ไทย

พระราชสิทธิสุนทร ย้ำว่า ต้องการอนุรักษ์และสืบสานไม้ดัดไทยโบราณนี้ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ เพราะนับวันศิลปะไม้ดัดไทยโบราณหาดูได้ยากลงไปทุกที เนื่องจากในช่วงหลังๆ ขาดคนรุ่นใหม่ที่สนใจมาสานต่อ ส่วนถ้าใครอยากเรียนรู้ก็พร้อมถ่ายทอด เพราะไม่อยากให้ภูมิปัญญาของคนโบราณสูญหายไปกับกาลเวลา

"ไม้ดัด" วัดคลองเตยใน สืบสานงานศิลป์และเอกลักษณ์ไทย