posttoday

ลัษมณ อรรถาพิช นักเศรษฐศาสตร์ เอดีบี ขอเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ

26 สิงหาคม 2560

แทบทุกเวทีเกี่ยวกับงานสัมมนาแนวโน้มเศรษฐกิจ หรือเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ มักจะมีชื่อ ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

 แทบทุกเวทีเกี่ยวกับงานสัมมนาแนวโน้มเศรษฐกิจ หรือเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ มักจะมีชื่อ ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เป็นวิทยากรมาแลกเปลี่ยนความรู้มุมมองเศรษฐกิจมหภาค

 ดร.ลักษมณ เป็นนักเรียนทุนของกระทรวงการคลัง หลังจากเรียนจบก็กลับเข้ามารับข้าราชการที่กระทรวงการคลัง ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ครั้งใหญ่ (ต้มยำกุ้ง)  

 นับว่าเป็นงานท้าทายมากสำหรับเด็กจบใหม่ในสมัยนั้น ที่จะต้องมาประชุมหารือกับองค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยต่างๆ ที่จะระดมสมองแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจไทย  

 ในช่วงแรกที่ทำงานที่กระทรวงการคลังนั้น ดร.ลัษมณ รับผิดชอบทำงานด้านภาษีตลาดเงินตลาดทุน ต่อมาก็ได้รับผิดชอบดูแลเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศ

 นอกจากนี้ เธอยังมีส่วนร่วมในการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เพื่อเป็นองค์กรหลักในการเข้ามาสะสางปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินที่กำลังท่วมท้นรุมเร้าด้วยปัญหาหนี้ และภาคธุรกิจล้มละลาย คนตกงานเป็นแพ หลังจากที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

 ดร.ลัษมณ ยังได้รับโอกาสเข้าร่วมทีมงานวิชาการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น โดยมีหน้าที่วิเคราะห์นโยบายการคลัง การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ การเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และนโยบายพลังงาน

ลัษมณ อรรถาพิช นักเศรษฐศาสตร์ เอดีบี ขอเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ

 นับย้อนกลับไปเมื่อ 20 ที่แล้ว เธอก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์วิกฤตไทยต้มยำกุ้ง 20 ปีผ่านพ้นไปนั้น

 จากวันนั้นถึงวันนี้ แม้เวลาผ่านไป 20 ปีแล้ว ประเทศไทยได้รับบทเรียนอะไรบ้าง จากในมุมมองจากเด็กจบใหม่ที่ชั่วโมงยังน้อย จนปัจจุบันเป็นนักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าของประเทศ 

 ดร.ลัษมณ บอกว่า 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยนั้นได้รับบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจและผ่านมาทำได้ดีมาก เฉพาะภาคการเงิน ไทยเรียนรู้จากความเจ็บปวดจากตรงนี้ ทำให้ปัจจุบันสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมากขึ้น จะเห็นจากการเกิดปัญหาวิกฤตซับไพรม์ หรือวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา ไทยไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะสถาบันการเงินไทยมีเงินทุนที่แข็งแรง และมีความระมัดระวังความเสี่ยงการปล่อยเงินกู้

 "นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าสถาบันการเงินไทยมีการเรียนรู้จากบทเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก ในส่วนนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีการเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว (Managed Float) ฐานะการเงินของประเทศ และดุลบัญชีก็มั่นคงมาก หนี้ต่างประเทศก็ลดลง

 "อีกด้านหนึ่งคือที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านตลาดทุน ที่ผ่านมาไทยมีการพึ่งพิงเงินทุนจากสถาบันการเงินมากเกินไป ซึ่งระบบการเงินจะต้องมี 3 สาขา คือ ตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดพันธบัตร ปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาโครงการสร้างตลาด (สตรักเจอร์) เยอะขึ้นมาก"

 ดร.ลัษมณ เล่าต่อว่า หลังจากที่เธอย้ายงานจากกระทรวงการคลัง และย้ายมาทำงานที่ "เอดีบี” นั้น เพราะชอบการทำงานด้านการพัฒนา งานวิจัย  

 "ในช่วงที่ทำงานกระทรวงการคลังได้ประสานงานกับเอดีบีมาตลอด ก็ได้เห็นลักษณะการทำงานว่าเอดีบีได้เข้ามามีส่วนช่วยการพัฒนาประเทศไทย พอเอดีบีเข้ามาตั้งสำนักงานในไทยก็ ก็ตัดสินใจมาร่วมกับเอดีบี เท่ากับเราก็ช่วยประเทศได้ด้วยอีกมุมหนึ่ง" 

 บทบาทหน้าที่ของ ดร.ลัษมณ จะรับผิดชอบติดตามรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งด้านเศรษฐกิจมหภาค การเงินภาคประชาชนดูแลโครงการความช่วยเหลือด้านวิชาการจากเอดีบีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินการคลัง การพัฒนาตลาดทุน ด้านธรรมาภิบาล รวมถึงเรื่องของสังคม เช่น ระบบบำเหน็จบำนาญ เรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการน้ำ

"เอดีบีกับประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีมาโดยตลอด ซึ่งไทยไม่ได้ต้องการพึ่งพาเงินกู้จากเอดีบีมากนัก แต่เราต้องการความรู้ที่บุคลากรเอดีบีที่มีการสะสมการทำงานความรู้ด้านการพัฒนามากว่า 30-40 ประเทศ 

 "สิ่งที่เราต้องการจาก 'เอดีบี' คือด้านวิชาการความรู้ มุมมองจากต่างประเทศ ตรงนี้มีความสำคัญมาก แต่เอดีบีก็มีการให้เงินสนับสนุนในงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ในประเทศไทยปีๆ หนึ่งก็ประมาณ 1-2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็จะนำมาเป็นเงินทุนเพื่อวิจัยด้านต่างๆ ร่วมกับองค์กรของไทย เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง เป็นต้น" 

  ดร.ลัษมณ ยกตัวอย่างโครงการเอดีบีให้การสนับสนุนด้านวิชาการและงานวิจัยกับไทย เช่น เอดีบีได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาเรื่องระบบบำเหน็จบำนาญ รวมถึงให้ความสำคัญเรื่องระบบบำนาญของประกันสังคม ซึ่งเอดีบี และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

ลัษมณ อรรถาพิช นักเศรษฐศาสตร์ เอดีบี ขอเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ

 "ก็เตือนมา 10 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2550 ว่า หากกองทุนประกันสังคมไม่มีการเปลี่ยนแปลง อีก 30 ปี กองทุนประกันสังคมจะต้องเจ๊ง เพราะมีเงินที่จะจ่ายบำนาญให้กับผู้สูงอายุ และเห็นด้วยที่ประกันสังคมจะขยายอายุการรับเงินบำนาญจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ในส่วนภาครัฐเองก็พยายามที่จะออกมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนรับผู้สูงวัยทำงาน รวมถึงต้องมีมาตรการมารองรับปัญหาสูงวัยในอนาคต 

 "ทิศทางของโลกจะมีผู้สูงวัยมากขึ้น และมีการปรับวัยเกษียณอายุมากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้อายุ 60 ปี ก็ไม่ใช่ว่าจะแก่ทำงานไม่ได้ บางอาชีพก็ต้องอาศัยประสบการณ์ทำงาน ซึ่งประเทศสแกนดิเนเวียเกษียณอายุ 67 ปี ญี่ปุ่นก็เริ่มจะเกษียณ 63-65 ปี" 

 ถามถึงสิ่งที่เอดีบีให้ความสำคัญนั้น ดร.ลัษมณ บอกว่า เอดีบีจะให้ความสำคัญเรื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นที่กับประเทศเพื่อนบ้าน การปฏิรูปการศึกษาเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 

 "ไม่ใช่เน้นการศึกษาเฉพาะในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น จะต้องวางแผนแรงงานเพื่อเตรียมพร้อมการไปสู่สังคมผู้สูงอายุ เรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ"

 ดร.ลัษมณ แสดงมุมมองที่น่าสนใจว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นหว่งคือเรื่องทรัพยากรมนุษย์ หรือเรื่องคน ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตก

 "เป็นปัญหามานานแล้ว และพูดมาโดยตลอดว่าเราไม่สามารถพึ่งพาแรงงานที่ราคาถูกมาได้ตั้งนาน และมีการนำเครื่องจักรกลมาทำงานแทนคนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่พอ สเต็ปต่อไปคือจะต้องนำเทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรม (อินโนเวชั่น) มาใช้ ต้องมีนักวิจัยพัฒนามาคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งระบบบการศึกษาและคนของเรายังไม่รองรับตรงนี้อย่างเพียงพอ

 “เอดีบีพูดอยู่เสมอว่าเราต้องมีการปฏิรูปการศึกษาแล้ว รัฐบาลก็ทราบถึงปัญหานี้ แต่มันก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับค่านิยมของสังคมซึ่งเรื่องนี้แก้ยากมาก เป็นค่านิยมของสังคม เพราะพ่อแม่ก็อยากจะให้ลูกเรียนจบปริญญาตรี ใครที่เรียนอาชีวะดูว่าด้อย

 "ในตลาดแรงงานต้องการทักษะการทำงาน (สกิล) มากกว่าใบปริญญาหรือวุฒิบัตร สกิลแบบนายช่างมันหายาก ไม่ค่อยมีใครเรียน ไม่มีใครผลิตแรงงานที่มีทักษะ มีแต่แรงงานที่มีใบปริญญาออกมาเต็ม เพราะค่านิยมคนไทยเห็นปริญญามีค่ามากกว่าอาชีวะ วิชาชีพ  มันก็กลายเป็นปัญหาโลกแตก ลำพังรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกันอย่างน้อยก็เปลี่ยนทัศนคติค่านิยม"

 ดร.ลัษมณ เล่าว่า ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.คลัง และ รมว.ต่างประเทศ เคยพูดไว้ ถึงปัญหาระดับเงินเดือนระหว่างอาชีวะกับปริญญาตรีแตกต่างกัน โดยภาครัฐกำหนดระดับเงินเดือนแตกต่างกันมาก 

 "คนที่จบอาชีวะได้เงินเดือนน้อยกว่าปริญญาตรี ภาคเอกชนก็ไปลอกอัตราเงินเดือนมาจากภาครัฐ พ่อแม่ยิ่งเห็นว่าเงินเดือน ปวช. ปวส. ได้เงินเดือนน้อย ก็ยิ่งไม่อยากให้ลูกเรียนอาชีวะ เพราะลูกจบไปแล้วจะเงินเดือนน้อยกว่าปริญญาตรี ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้"

 ท้ายสุด ดร.ลัษมณ มีมุมมองว่าการปฏิรูปทั้งในด้านการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับคุณภาพแรงงาน อันนำพาไปสู่การหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูงนั้น เป็นเรื่องที่มาถูกทางแล้ว แต่การจะก้าวไปสู่จุดเป้าหมายดังกล่าว สิ่งสำคัญที่ต้องมี ได้แก่ ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าวประเทศไทยยังต้องบริหารจัดการให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยในระยะอันใกล้นี้

 และยังมีงานอีกมากมายที่ท้าทาย ดร.ลัษมณ ซึ่งขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมในการพัฒนาประเทศต่อไป