posttoday

เปลี่ยนแนวคิด ฝึกสร้างสรรค์นอกกรอบ

14 สิงหาคม 2560

หลายครั้งที่การคิดนอกกรอบเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับใครหลายคน นำมาซึ่งคำถามที่ว่าทำไมเราถึงคิดสร้างสรรค์นอกกรอบได้ยากเย็นนัก

โดย...กั๊ตจัง ภาพ : เอพี, รอยเตอร์ส

หลายครั้งที่การคิดนอกกรอบเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับใครหลายคน นำมาซึ่งคำถามที่ว่าทำไมเราถึงคิดสร้างสรรค์นอกกรอบได้ยากเย็นนัก และจะมีวิธีอะไรบ้างที่ทำให้เราสามารถผ่านข้อจำกัดของสมองและทำสิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้น

เนื้อหาบางช่วงบางตอนจากหนังสือเรื่อง “คิดให้เจ๋ง เก่งนอกกรอบ” เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.สตีเฟ่น ลุนดิน แปลโดย พรศักดิ์ อุรัจฉัทชัยรัตน์ แนะนำว่า วิวัฒนาการของความเป็นมนุษย์ของพวกเรานั้นมีเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ช่วยให้พวกเราเอาชีวิตรอดมาได้อย่างแอบแฝงมาด้วย นั่นก็คือพวกเราสามารถสร้างงานอดิเรก งานประจำซ้ำซาก และกำหนดแนวทางปฏิบัติงานต่างๆ เพียงเพื่อให้พวกเราสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างปลอดภัย เป็นสิ่งที่ดีอยู่หรอกยกเว้นแต่เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ก็คือ ไม่ดีต่อการสร้างนวัตกรรม

คนเราบางทีก็เหมือนแมว แต่โชคไม่ดีอย่างหนึ่งก็คือแมวทุกตัวนั้นเหมือนกันไปหมด ที่ชอบใช้เวลาอยู่กับกล่องกระดาษของตัวเองเข้าๆ ออกๆ เล่นซ่อนแอบ ลับเล็บ ได้ทั้งวัน

สำหรับมนุษย์อย่างเราก็มีกล่องเหมือนกัน แต่ไม่ได้ทำจากกระดาษหรือพลาสติก ทำขึ้นมาจากงานประจำซ้ำซากและความไม่สามารถที่จะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากกล่องแมว ไม่ว่าคุณจะเรียกกล่องแมวนี้ว่าเป็นงานประจำ ความปกติสามัญ หรือว่าเป็นแบบจำลองก็ตามที แต่ก็คือกล่องใบหนึ่งเท่านั้นเอง

วิธีการเก่าๆ ที่ว่า ถ้าเราต้องการทำอะไรสักอย่าง เราจะต้องมองเห็นภาพของมันออกมาเป็นฉากๆ ให้ได้อย่างชัดเจนก่อน แล้วเดินตามภาพมันไปอย่างไม่มีขาดไม่มีเกิน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวไปทำงานตอนเช้า การขับรถออกจากบ้านหรืออื่นๆ อีกมากมาย เราจะมีขั้นตอนต่อไปวางกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว และเราจะใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตไปกับการคิดสร้างงานประจำทำซากเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้สึกผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งความปกติธรรมดานี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราขาดความสามารถในการมองอนาคตในการสร้างนวัตกรรม

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1981 บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ เคยกล่าวว่า ความจุข้อมูล 640 กิโลไบต์ ก็เพียงพอแล้วสำหรับทุกๆ คน แต่ในปัจจุบันขนาดความจุของคนเราที่ต้องการมีมากกว่า 1 เทราไบต์/คน

เค็น โอลสัน ประธานแห่งดิจิทัลอิควิปเมนท์ เคยกล่าวไว้เมื่อปี 1977 ว่าตลาดของคอมพิวเตอร์ทั่วทั้งโลกคงมีเพียงแค่ 5 เครื่องเท่านั้น  หรือคำกล่าวของเฮ็ช ดูลล์ หัวหน้ากองสิทธิบัตรแห่งสหรัฐได้เคยกล่าวไว้เมื่อปี ค.ศ. 1899 ว่า ทุกสิ่งประดิษฐ์ได้ถูกคิดค้นออกมาจนหมดสิ้นแล้ว

เปลี่ยนแนวคิด ฝึกสร้างสรรค์นอกกรอบ

สังเกตเห็นไหมว่า คนที่เป็นเจ้าของคำคมหรือวลีเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นคนเก่งๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงกันแทบทั้งนั้น แต่พวกเขาได้ประเมินสถานการณ์จากสิ่งที่อยู่รอบตัวพวกเขาในเวลานั้น ทำให้เขามองอนาคตต่ำกว่าที่ควรจะเป็นจริงมากมายเลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่าคนที่อยู่ภายในองค์กรจะปรับตัวให้เคยชินกับงานประจำ และระบบการทำงานจนทำให้มองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่แตกต่างออกไปจากเดิม แต่ถ้าเพียงเราจะหันหัวออกไปเพียง 10 องศา ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้แล้ว

เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างงานประจำและนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์เป็นอีกมุมมองหนึ่งของความท้าทายในการเป็นปกติสามัญธรรมดามนุษย์ โดยทั่วไปโครงสร้างเหล่านี้ก็จะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปแบบในชีวิตประจำวัน ที่ทำให้เราสามารถดำเนิน
ชีวิตได้อย่างราบรื่นปลอดภัย แถมยังไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำให้การคิดนอกกรอบมีแนวโน้มที่จะแบ่งแยกให้เกิดความโดดเดี่ยว เพราะสภาพสังคมบีบบังคับ

ในที่ทำงานการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม เรามักจะพูดกันว่า นี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายการตลาด ส่วนนั่นเป็นหน้าที่ของพนักงานขายคนนี้ นั่นคือการตีกรอบของเราเอาไว้ ให้ไม่สามารถคิดนวัตกรรมออกไปให้พ้นกรอบได้นั่นเอง

เนื่องจากว่านวัตกรรมส่วนใหญ่เกิดมาตรงรอยพรมแดนระหว่างแผนก บทบาท หน้าที่ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ยิ่งเส้นแบ่งดินแดนแข็งแรงมากเท่าไรมันก็ยิ่งยากที่ใครจะสามารถมองเห็นได้ว่านวัตกรรมจะเกิดขึ้นมาทำไม ถ้าเราต้องการมองเห็นนวัตกรรมที่ตั้งอยู่บนเส้นพรมแดนเราจำเป็นต้องทำให้เส้นแบ่งแยกดินแดนเหล่านั้น เปราะบางลง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ท้าทายความเป็นสามัญธรรมดาอย่างมาก เพราะความสามัญธรรมดานั้นคือการตีกรอบลงไปในทุกสิ่งทุกอย่าง

จนบางทีคุณอาจจะไม่รู้สึกถึงความสามัญธรรมดาที่ชัดเจน หากอยากจะคิดนอกกรอบลองเปลี่ยนเส้นทางเดินจากบ้านไปที่ทำงาน ลองเปลี่ยนตำแหน่งเก้าอี้นั่งในโบสถ์ ถ้าคุณชอบเดินออกทางประตูหลัง ลองออกทางประตูหน้าบ้าง ลองเปลี่ยนจุดจอดรถดูบ้าง เปลี่ยนลำดับการทำกิจกรรมตอนเช้าลองถือแปรงสีฟันด้วยมืออีกข้างหนึ่ง ลองสวมนาฬิกาด้วยมือข้างหนึ่ง เรายื่นมือข้างซ้ายออกไปจับมือแทนมือข้างขวาอย่างที่เคยทำ

เมื่อคุณทดลองให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คุณจะรู้สึกไม่ชินในเบื้องต้น แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งคุณก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่เกิดตามมาคือความกล้าที่จะคิดสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ อีกต่อไปเริ่มตั้งแต่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแล้วจะขยับไปสู่การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในงานของคุณโดยไม่รู้ตัว เพราะคุณเริ่มใช้ชีวิตเดินบนเส้นพรมแดนระหว่างความธรรมดาสามัญและความคิดสร้างสรรค์แล้วนั่นเอง