posttoday

กวิณ โอภาสวงการ มือปั้น ‘สตาร์ทอัพ’

14 สิงหาคม 2560

กวิณ โอภาสวงการ เป็นทายาทคนโตของ ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์

โดย...พูลศรี เจริญ

กวิณ โอภาสวงการ เป็นทายาทคนโตของ ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ วาณิชธนากรแถวหน้าของไทย

กวิณ เลือกแล้วที่จะสร้างอาณาจักรของตัวเอง คือ เป็นนักลงทุน หลังคิดตกผลึกว่าการเป็นลูกจ้างเป็นเส้นทางที่ไม่ใช่

“หลังกลับไทยผมก็มาทำงานที่ เอเซีย พลัส ได้สักพัก จึงตัดสินใจลาออกเพราะไม่ชอบทำงานประจำ” กวิณ เปิดประโยคสัมภาษณ์กับ “โพสต์ทูเดย์”

กวิณ เรียนจบปริญาโท ด้านบริหารธุรกิจและการเงินที่อังกฤษ จากนั้นกลับมาทำงานที่ เอเซีย พลัส ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ก่อนผันมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวด้วยการก่อตั้ง “ชิฟ เวนเจอร์ส” กับกลุ่มเพื่อนๆ

นอกจากนี้ ได้ระดมเงินทุนจากนักลงทุนและนักธุรกิจที่บางส่วนมีสายสัมพันธ์จากผู้พ่อ หรือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ลงทุนในตลาดหุ้นอยู่แล้ว

ชิฟ เวนเจอร์ส มีเป้าหมายชัดว่าจะเป็นแหล่งสนับสนุนการลงทุนครบวงจรสำหรับธุรกิจตั้งต้นใหม่ หรือ “สตาร์ทอัพ” ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. 2559 เกิดจากการรวมตัวของนักธุรกิจ 3 แกนนำ ประกอบด้วย วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง ซึ่งเคยทำงานกับบริษัทสตาร์ทอัพที่ซิลิคอนวัลเลย์ วิเลิศ อรวรรณวงศ์ มีประสบการณ์ทางด้านซอฟต์แวร์และดิจิทัลเอเยนซี และกวิณ

กวิณ กล่าวว่า มีแผนลงทุนในสตาร์ทอัพ 2-3 ราย/ปี เป็นธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ

วงเงินลงทุนในประเทศตั้งเป้าบริษัทละ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป (ประมาณ 6.65 ล้านบาทขึ้นไป คำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยน 33.25 บาท/ดอลลาร์) ส่วนการลงทุนต่างประเทศตั้งงบ 5-6 หมื่นปอนด์/บริษัท

ขณะที่ตั้งเป้า 5 ปี ถอนเงินลงทุนออกเพื่อทำกำไร 2 บริษัท รูปแบบการขายหุ้นจะมีทั้งการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และขายกิจการต่อให้คนอื่น ตั้งเป้ากำไร 5-10 เท่า

ล่าสุด ชิฟ เวนเจอร์ส ได้ใส่เงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว 3 บริษัท เฟ้นมาจาก 70-80 บริษัท หนึ่งในนั้นมีดีลยักษ์ คือ การลงทุนในบริษัท แสนรู้ (Zanroo) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลการทำการตลาดผ่านสังคมออนไลน์ เป็นเงิน 7.4 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 259 ล้านบาท

“กรณีของบริษัท แสนรู้ ตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 3-5 ปีข้างหน้า เป้าหมายของเจ้าของ คือ มาร์เก็ตแคป 3 หมื่นล้านบาท”

กวิณ โอภาสวงการ มือปั้น ‘สตาร์ทอัพ’ กวิณ โอภาสวงการ

กวิณ กล่าวว่า การลงทุนในบริษัท แสนรู้ ถือว่าเดินมาถูกทางจากผลการดำเนินงานที่ดี โดยมีรายได้จากการทำตลาดเดือนแรกของการก่อตั้งบริษัทที่ 1 ล้านบาท ด้วยจุดเด่นของซอฟต์แวร์ที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังขยายตลาดต่างประเทศจนกลายเป็นเบอร์ 1 ในมาเลเซีย และมีแผนขยายตลาดไปยังต่างประเทศอีกหลายประเทศ รวมถึงตั้งเป้าเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ บทบาทของ ชิฟ เวนเจอร์ส นอกจากสนับสนุนเรื่องเงินทุนแล้ว ยังให้คำปรึกษาและช่วยจัดการเรื่องภาษีที่ต้องเสียในแต่ละประเทศให้คุ้มค่าที่สุดด้วย รวมถึงจะแนะนำผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้เพิ่มเติม เพื่อเสริมแกร่งในการทำธุรกิจ และจะช่วยหาลูกค้าในยุโรปและเกาหลีให้อีกด้วย

สำหรับสตาร์ทอัพที่อยู่ระหว่างการเจรจาในขณะมี นี้2 บริษัท เป็นผู้ประกอบการในอังกฤษ มีหนึ่งรายที่เป็นฟินเทค ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและโอนเงินข้ามประเทศ อยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่า ได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ โดยบริษัทดังกล่าวได้ใบอนุญาตให้โอนเงินในยุโรปได้แล้ว และคาดว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี

ส่วนอีกบริษัทเป็นธุรกิจแฟชั่นออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าให้นักร้อง

กวิณ บอกว่า ดีลนี้คุณพ่อของเขาบินไปกับทีมงาน ชิฟ เวนเจอร์ส เพื่อร่วมเจรจาด้วย สุดท้ายก็ปิดดีลสำเร็จ โดยคุณพ่อให้ความเห็นว่าควรลงทุนหลังลงมือสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจด้วยตัวเองกับคำถามที่เข้มข้นและเคี่ยวตามสไตล์ของมือวาณิชธนากรที่ผ่านการทำดีลมามากต่อมาก 

“การลงทุนต่างประเทศตอนนี้จะมีคุณพ่อเป็นพี่เลี้ยงร่วมเจรจา ส่วนลงทุนในประเทศผมและเพื่อนจะตัดสินใจด้วยตัวเอง”

กวิณ บอกสาเหตุที่ต้องมีคุณพ่อร่วมด้วยช่วยตัดสินกรณีลงทุนต่างประเทศ เพราะท่านมีประสบการณ์สูง โดยทั้งสองจะมีพรรคพวกเพื่อนฝูงที่อังกฤษช่วยดูให้ด้วย 

“ผมมีเพื่อนที่เป็นทนายความช่วยดู ส่วนคุณพ่อมีเพื่อนที่เป็นนายธนาคารช่วยคัดกรองให้ด่านแรก ซึ่งผมและคุณพ่อเห็นตรงกันว่าถ้าผ่าน 2 คนนี้มาแล้วก็มั่นใจได้”

การก้าวออกจากพนักงานประจำใน เอเซีย พลัส ซึ่งเป็นธุรกิจที่พ่อสร้างและปั้นจนเติบใหญ่ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปที่ 7,706 ล้านบาท (ณ วันที่ 10 ส.ค. 2560) กวิณ บอกว่า เขาคิดถูก เพราะทำให้มีเวลาสร้างอาณาจักรและธุรกิจของตัวเอง

ธุรกิจที่สนใจในตอนนี้ คือ สกินแคร์ เนื่องจากมองว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในเอเชีย และก็เช่นเคย แบรนด์ที่จะนำเข้ามาขาย มาจากอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่กวิณและพ่อคุ้นเคย

“พอหลุดออกจากจอคอมพิวเตอร์ (หมายถึงการทำงานประจำที่ เอเซีย พลัส) ผมรู้สึกประสบความสำเร็จมากพอสมควร เพราะทำให้มีสมาธิและมีเวลาคิดมากขึ้น” กวิณ กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการสัมภาษณ์