posttoday

อรณ ยนตรรักษ์ เพิ่มมูลค่าแมลงเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป

12 สิงหาคม 2560

พีท-อรณ ยนตรรักษ์ หนุ่มน้อยวัย 16 ปี นักเรียนเกรด 11 (ม.5) โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวไกล

โดย...ภาดนุ ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

 พีท-อรณ ยนตรรักษ์ หนุ่มน้อยวัย 16 ปี นักเรียนเกรด 11 (ม.5) โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวไกล พร้อมทั้งมีใจที่เป็นจิตอาสาชอบช่วยเหลือผู้คนในสังคม

 ล่าสุด พีทได้ต่อยอดความคิดจากงานวิจัยแมลงที่ทำร่วมกับพี่สาว จนปิ๊งไอเดียนำจิ้งหรีดมาสร้างมูลค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์แมลงกินได้ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สู่ชุมชนในภาคอีสาน

 “จุดเริ่มต้นของการทำโครงการจิตอาสากันเองเริ่มจากเมื่อ 7 ปีที่แล้ว คุณครูท่านหนึ่งที่โรงเรียนนานาชาติแฮร์โรว์ ซึ่งเป็นครูหัวหน้าสีของผมและพี่สาว ชื่อว่า ‘มิสเตอร์มอนต์โกเมอรี่’ ได้เรียกผมกับพี่สาว (แพท-พริมา ยนตรรักษ์) ไปคุยตอนสอบ ซึ่งเรามีคะแนนที่ดีมาก โดยเฉพาะพี่สาวผมซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับ 1 มาตลอดเกือบทุกวิชา

 "คุณครูบอกกับเราว่า การเรียนหนังสือเก่งอย่างเดียวและได้คะแนนสูงๆ มันยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประสบความสำเร็จและทำให้เราเป็นคนโดยสมบูรณ์ แต่การที่เราจะเป็นคนโดยสมบูรณ์และมีคุณค่าอย่างแท้จริงได้ก็คือ การที่เรามองไปยังผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลือและไม่ได้โชคดีอย่างเรา ซึ่งมีมากมายในเมืองไทยและลงมือช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้นอย่างจริงจัง เพื่อให้พวกเขามีความสุขหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในชีวิตคนเหล่านั้นได้ จากคำสอนของคุณครูท่านนี้เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตผมและพี่สาว”

 พีทบอกว่า จากวันนั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขารู้จักมองและคิดที่จะช่วยเหลือหรือทำประ โยชน์ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส พี่สาวจึงชวนเขาและเพื่อนๆ ของเธอ ตั้งกลุ่มจิตอาสาที่ชื่อว่า “The Lion Heart Society” ขึ้นมา โดยเริ่มจากสมาชิกแค่ 8 คน จนตอนนี้มีสมาชิกและอาสาสมัครทั้งหมดกว่า 100 คนแล้ว

 “ปัจจุบันนี้ผมรับหน้าที่หัวหน้ากลุ่มและผู้ก่อตั้งกลุ่มฯ ต่อจากพี่สาว เนื่องจากเธอต้องไปเรียนต่อ ปริญญาตรี และปริญญาโท ที่สหรัฐ โครงการหลักๆ ที่เราทำมีมากมาย แต่มีอยู่โครงการหนึ่งที่เราต้องไปช่วยเหลือโรงเรียนที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2553 ที่นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของการมองเห็นปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันของโรงเรียน ผมและพี่สาวจึงริเริ่มทำโครงการอาหารกลางวันให้แก่เด็กๆ ขึ้นในปี 2555 เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนต่างๆ อาทิ โรงเรียนบ้านโนนรัง โรงเรียนบ้านซับใต้ โรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี โรงเรียนบ้านห้วยลุง โรงเรียนบ้านหนองไม้ตาย โรงเรียนหนองกก และหมู่บ้านใกล้เคียงใน อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

อรณ ยนตรรักษ์ เพิ่มมูลค่าแมลงเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป

 "จึงพบว่าเด็กนักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก เกือบ 80% ของเด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ต้องไปทำงานหาเงินในกรุงเทพฯ หรือตามเมืองใหญ่ ปู่ย่าตายายก็แก่เกินกว่าจะเลี้ยงดูหลานได้อย่างเพียงพอ แล้วยังได้ทราบจากครูที่โรงเรียนว่า ค่าอาหารกลางวันที่รัฐบาลจ่ายเพื่อเลี้ยงดูเด็กเป็นเงินที่น้อยนิดมาก ตอนปี 2555 เด็กได้ค่าอาหารกลางวันคนละ 13 บาทต่อคนต่อวันเท่านั้น เด็กๆ จึงไม่สามารถมีอาหารกลางวันที่เพียงพอได้ เราจึงริเริ่มโครงการอาหารกลางวันขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ตามโรงเรียนเหล่านี้มีอาหารกลางวันกินอย่างเพียงพอ และที่เหลือยังสามารถนำกลับไปกินที่บ้าน หรือนำไปขายทำรายได้เพื่อนำมาเป็นทุนหมุนเวียนในโครงการอีกด้วย โดยเริ่มจากการเลี้ยงปลาดุก เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงกบ เพาะเห็ด และปลูกผักปลอดสารพิษ”

 พีทเล่าว่า ต่อมาพี่สาวของเขาสังเกตเห็นว่า แม้เด็กๆ เหล่านี้จะมีฐานะที่ยากจนมาก แต่สุขภาพโดยรวมของเด็กๆ กลับแข็งแรงดี เมื่อนำเด็กๆ มาชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง แล้วนำไปเปรียบเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตตามมาตรฐานของเด็กไทยในวัยเดียวกัน ก็พบว่าเด็กๆ เหล่านี้กว่า 90% มีการเจริญเติบโตตามมาตรฐานทั้งส่วนสูงและน้ำหนัก

 “พี่สาวผมจึงถามชาวบ้านว่า โดยปกติแล้วเด็กๆ กินอะไรกัน ชาวบ้านก็เล่าให้ฟังว่า เด็กส่วนใหญ่กินแมลงหรือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติรอบๆ ตัวโดยไม่ต้องซื้อหา พี่สาวผมจึงเกิดความสนใจ จนนำ ไปสู่การศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของแมลงต่างๆ ในแหล่งธรรมชาติของภาคอีสานที่ชาวบ้านนิยมกินกัน จนเป็นที่มาของงานวิจัยแมลงและหนังสือที่ชื่อว่า 'แมลงกินได้' ของเธอในเวลาต่อมา

 "ตลอดระยะเวลาที่พี่สาวไปทำการวิจัย ผมจะติดตามไปเป็นผู้ช่วยด้วยเสมอ ต่อมาเราได้ส่งแมลงต่างๆ ไปที่มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เจ้าหน้าที่วิจัยหาคุณค่าทางโภชนาการต่างๆ ก็พบว่า แมลงส่วนใหญ่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก มีทั้งโปรตีนและแคลเซียมสูง แถมมีไขมันต่ำ แมลงหลายชนิด เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมงเม่า มีโปรตีนต่อกรัมสูงกว่า หมู เนื้อ และไก่ด้วยซ้ำ”

 จากงานวิจัยแมลงที่พีทได้มีส่วนร่วมช่วยพี่สาวนี้เอง วันหนึ่งเขาจึงคิดที่จะต่อยอดงานวิจัยชิ้นนี้ให้เกิดประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างแท้จริง เขาจึงริเริ่มนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาต่อยอดไปสู่โครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มรายได้ให้กับโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งชาวบ้านในชุมชนให้พึ่งพาตัวเองและมีรายได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

 “จุดมุ่งหมายของผมคือ ต้องการส่งเสริมให้โรงเรียนที่เราได้ไปช่วยเหลือเรื่องอาหารกลางวัน ได้ริเริ่มการเลี้ยงแมลงเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้แก่นักเรียนอย่างจริงจัง และเนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแมลงโปรดของผมตั้งแต่เด็ก รวมทั้งจากการศึกษาพบว่า จิ้งหรีดมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และชาวบ้านในภาคอีสานนิยมกินกันอยู่แล้ว แถมยังเลี้ยงง่าย และวงจรในการเลี้ยงจากไข่จนโตเต็มวัย สามารถกินได้ใช้เวลาแค่ 40-50 วันเท่านั้นเอง แล้วยังไม่ต้องเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงด้วย เพราะอาหารของจิ้งหรีดก็เป็นพวก ผักบุ้ง ผักกาดขาว แตงโม และฟักทอง ที่ชาวบ้านมีอยู่แล้ว ผมจึงเริ่มให้นักเรียนในโรงเรียนบางแห่งเลี้ยงจิ้งหรีดในปี 2557 เมื่อได้ผลดีจึงส่งเสริมให้เลี้ยงอย่างจริงจังตามโรงเรียนต่างๆ ในปี 2558 มาจนถึงปัจจุบัน

 "สำหรับเงินค่าใช้จ่ายที่นำมาใช้ช่วยเหลือชาวบ้านในโครงการนี้ ผมนำมาจากการขายผักปลอดสารที่ครอบครัวของเราปลูกเองเพื่อเป็นงานอดิเรกที่ อ.ปากช่อง ซึ่งบ้านเราปลูกไว้เพื่อกินเองมากว่า 10 ปีแล้ว ปกติคุณพ่อคุณแม่จะไม่ขายใคร เอาไว้กินเองและแจกเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง พอผมคิดริเริ่มโครงการ ผมจึงขออนุญาตครอบครัวนำผักปลอดสารมาขาย ซึ่งในปีนึงเราขายได้เป็นแสนบาทเลยล่ะ เพราะปลูกเป็นไร่ โดยยกร่องปลูกให้มี 60-70 ร่อง โดยที่ขาย อ.ปากช่อง รวมทั้งนำมาขายที่โรงเรียนผมบ้าง บางครั้งก็ส่งขายร้านอาหารที่รู้จักกันบ้างครับ”

อรณ ยนตรรักษ์ เพิ่มมูลค่าแมลงเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป

 พีทเสริมว่า เมื่อการเลี้ยงจิ้งหรีดในโรงเรียนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ต่อมาเขาจึงใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ชาวบ้านมาศึกษาหาความรู้ทางด้านการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งโรงเรียนต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้แก่ โรงเรียนบ้านหนองไม้ตาย โรงเรียนบ้านหนองกก โรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี ซึ่งอยู่ที่ อ.สีคิ้ว เป็นต้น

 “เมื่อการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดประสบความสำเร็จด้วยดี ผมก็คิดต่อไปอีกว่า ถ้าขายแค่จิ้งหรีดสด ราย ได้ที่ได้รับก็ไม่มากนัก เพราะขายเพียงกิโลกรัมละ 90 บาทเท่านั้น แต่ถ้าส่งเสริมให้โรงเรียนและเด็กๆ นำผลผลิตจิ้งหรีดที่ได้ไปทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปล่ะ ก็น่าจะขายได้ราคาที่มากขึ้น แล้วยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย

 "คิดได้แบบนั้นผมจึงทำคู่มือเล่มเล็กๆ ให้โรงเรียนไว้เพื่อแจกเด็กๆ และผู้ปกครองที่สนใจ เนื้อหาในคู่มือจะเป็นวิธีการเลี้ยงจิ้งหรีด และตัวอย่างการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ชนิดใดจะได้รับความนิยมมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ซื้อแต่ละแห่งที่จะนิยมแตกต่างกันไป เช่น ตามต่างจังหวัด น้ำพริกจิ้งหรีดแห้ง และน้ำพริกจิ้งหรีดสด จะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่เมื่อผมลองนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดมาหาความนิยมของคนในกรุงเทพฯ ผลิตภัณฑ์พวกโปรตีนบาร์ ข้าวพองคลุกจิ้งหรีด กลับได้รับความนิยมมากกว่า

 "ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดที่ผมส่งเสริมอยู่นี้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนได้ แทนที่จะขายแต่จิ้งหรีดสดที่เพาะจากฟาร์มแค่กิโลกรัมละ 90-100 บาท เมื่อแปรรูปก็จะได้ราคาเพิ่มขึ้นอีก เช่น น้ำพริกจิ้งหรีดชนิดแห้งและชนิดสด จากจิ้งหรีด 1 กิโลกรัม ทำน้ำพริกได้ 10 กล่อง กล่องละ 30 บาท (รวมเป็น 300 บาท) โปรตีนบาร์ จากจิ้งหรีดสด 1 กิโลกรัม ทำโปรตีนบาร์ได้ 12 ชิ้น ชิ้นละ 15 บาท (รวมเป็น 180 บาท) จิ้งหรีดคั่วเกลือ จิ้งหรีดคั่วสมุนไพร จากจิ้งหรีด 1 กิโลกรัม ทำได้ 10 ถุง ถุงละ 20 บาท (รวมเป็น 200 บาท) สุดท้าย ข้าวเม่าจิ้งหรีด จากจิ้งหรีด 1 กิโลกรัม ทำได้ 5 กล่อง กล่องละ 40 บาท (รวมเป็น 200 บาท) เป็นต้น”

 พีทเสริมว่า ในแต่ละแห่งชาวบ้านจะเลือกทำผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดใด ก็ขึ้นอยู่กับความนิยมของคนซื้อในพื้นที่นั้นๆ ที่ผ่านมาการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปของโรงเรียนและชาวบ้านก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ล่าสุดสินค้าเหล่านี้ก็ค่อยๆ ก้าวขึ้นไปสู่ผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP) ประจำตำบลแล้ว แต่ก็คงต้องใช้เวลาและชุมชนที่เข้มแข็งร่วมมือกัน โดยมีโรงเรียนเป็นจุดศูนย์กลางความรู้ต่อไป

 “ผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดแปรรูปที่ผมส่งเสริมจะไม่กระทบต่อสินค้าแบบดั้งเดิมแน่นอน เพราะในขณะนี้ยังไม่มีใครทำแบบนี้เลยครับ ปกติถ้าเป็นชาวบ้านที่เขามีการเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่บ้าง เขาก็จะนำไปขายที่ตลาดเป็นจิ้งหรีดสด นอกจากนี้ยังมีจิ้งหรีดคั่วที่ขายตามรถเข็น และจิ้งหรีดอบกรอบที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่บ้าง ก็ไม่แน่นะครับ เผื่อเขาจะได้ไอเดียไปทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างที่ผมกำลังส่งเสริมอยู่บ้าง (ยิ้ม)

 "สิ่งที่ผมคาดหวังก็คือ อยากจะเห็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเหล่านี้กลายเป็นสินค้าประจำตำบลของชาวบ้านและโรงเรียนที่ผมได้ไปช่วยมาหลายปี ที่สำคัญผมก็หวังจะได้เห็นเด็กๆ และชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถนำการเลี้ยงจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์แปรรูปเป็นแหล่งหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้ เพราะถ้าพวกเขาสามารถหารายได้ในท้องถิ่นที่อยู่อาศัยได้ ชาวบ้านก็จะได้ไม่ต้องไปหางานทำในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ที่อื่น พ่อแม่ก็จะได้อยู่กับลูก มีเวลาอบรมเลี้ยงดูเด็กๆ เมื่อครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น ปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น เด็กต้องเลิกเรียนก่อนเกณฑ์บังคับ เด็กสาวท้องก่อนวัยอันสมควร หรือวัยรุ่นติดยา ก็จะลดน้อยลงไปด้วย”

 ด้วยความเป็นเด็กที่มุ่งมั่นทำความดีและชอบช่วยเหลือผู้อื่น พีทจึงได้รับรางวัลต่างๆ มามากมาย อาทิ รางวัลกลุ่มเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2557 สาขาพัฒนาเยาวชน บำเพ็ญประโยชน์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รางวัลเยาวชนผู้สร้างชื่อเสียง สาขาเยาวชนต้นแบบดีเด่น จากสมาคมศิลปินแห่งชาติ ได้รับโล่เกียรติคุณสืบสานพระราชปณิธานสร้างผลงานเพื่อแผ่นดิน ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สาขาเยาวชนผู้เป็นต้นแบบสังคมดีเด่น และรางวัล โกลด์ ไท อวอร์ด ออฟ เดอะ เยียร์ 2017 จากโรงเรียนนานาชาติแฮร์โรว์ เป็นต้น

 โอ้ว! ไม่มีข้อสงสัยเลยล่ะว่า ทำไมพีทถึงได้รับรางวัลมามากมาย เพราะการที่จะดูว่าใครทำความดีและทุ่มเทเพื่อสังคมจริงๆ นั้น สามารถดูได้จากเจตนาที่ดีและการกระทำของเขา เพราะมันจะเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวตนและคุณค่าในตัวของคนคนนั้นได้เป็นอย่างดี