posttoday

'ลูกอีสาน' คำพูน บุญทวี

06 สิงหาคม 2560

“ลูกอีสาน” เป็นหนังสือนวนิยายของ คำพูน บุญทวี ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีไรต์) ประจำปี 2522

โดย...พริบพันดาว

“ลูกอีสาน” เป็นหนังสือนวนิยายของ คำพูน บุญทวี ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีไรต์) ประจำปี 2522 และได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ลูกอีสาน ในปี 2525 รวมทั้งยังได้รับการจัดให้เป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่านอีกด้วย

ก่อนหน้าได้รางวัลซีไรต์ ลูกอีสาน ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2519 ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทนิยาย ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปีเดียวกัน 

ผู้เขียนซึ่งเป็นชาวอีสานโดยกำเนิดได้นำเอาประสบการณ์และเกร็ดชีวิตเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนออกมาเขียน เล่าชีวิตช่วงเด็กในแผ่นดินที่ราบสูงสะท้อนออกมาเป็นเรื่องราว ชีวิตชนบทแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่สภาวะธรรมชาติ ความสุข ความทุกข์ และการต่อสู้อย่างทรหด อดทนกับความแปรปรวนของธรรมชาตินับได้ว่าเป็นงานเขียนที่มีค่าต่อการศึกษาสังคมท้องถิ่นอีสานอย่างมาก

คำพูน บุญทวี เกิดเมื่อ 26 มิ.ย. 2471 และเสียชีวิต 4 เม.ย. 2546 ถือเป็นรางวัลซีไรต์เป็นคนแรกของไทย และได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี 2544

เมื่อมาดูบทวิเคราะห์จากงานวิจัยหัวข้อ “สำนึกเรื่องถิ่นฐานในนวนิยายเรื่องลูกอีสานของคำพูน บุญทวี” ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของ ฮร็อน สเตอร์ลอกดอตตีร์ ในปี 2553 ซึ่งทำการวิจัยโดยสร้างกรอบ
ของการจำกัดความของสำนึกเรื่องถิ่นฐาน โดยใช้บริบททางมานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จะเห็นภาพของนวนิยายเล่มนี้ว่า

คำพูน บุญทวี สามารถพิเคราะห์และคัดเลือกสิ่งที่เฉพาะเจาะจงในเหตุการณ์ต่างๆ แล้วนำมาประกอบเป็นฉากชีวิตประจำวันในนวนิยาย ดังจะเห็นได้จากการแสดงความเห็นอกเห็นใจของชาวบ้าน ความผูกพันในระบบเครือญาติที่เข้มแข็ง ผนวกกับความรักในถิ่นฐานของตนเอง ความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ การผสมผสานของศาสนาและความเชื่อต่างๆ ความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับพืชและสัตว์ ภูมิปัญญาชาวบ้าน อาหารการกินตั้งแต่วิธีการล่าสัตว์จนถึงรสชาติของอาหาร รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์และฝีมือทางศิลปะดังที่เห็นได้ในงานหัตถกรรมต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนส่งเสริมสำนึกเรื่องถิ่นฐานในนวนิยายเรื่องดังกล่าว โดยสื่อผ่านแก่นเรื่องที่เป็นสากลและวิธีการเล่าเรื่องที่ตรงไปตรงมา แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดของเด็กชายที่เป็นตัวละครเอก คำพูน บุญทวี ได้ทำให้ภาพของชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องราวน่าทึ่ง นอกจากนั้นเขายังได้นำเสนอประเด็นเรื่องสำนึกเรื่องถิ่นฐานอันซับซ้อนผ่านรายละเอียดที่งดงามด้วยชั้นเชิงทางศิลปะของนวนิยายแนวสัจนิยมกึ่งชีวประวัติอย่างเรื่องลูกอีสาน

'ลูกอีสาน' คำพูน บุญทวี

ที่น่าสนใจสำหรับบทวิเคราะห์ทางวรรณกรรมของนวนิยายเล่มนี้อีกชิ้นคือ บทความ “มีอะไรในลูกอีสาน” ของ นพพร ประชากุล นักวิชาการและนักวิจารณ์วรรณกรรม ที่เขียนลงในวารสารภาษาและหนังสือ ฉบับ 15 ปีซีไรต์ โดยมีสาระสำคัญ อาทิ

“ข้อสังเกตประการแรกที่เกี่ยวกับ ลูกอีสาน ของ คำพูน บุญทวี ก็คือนวนิยายรางวัลซีไรต์ของไทยเรื่องแรกนี้ มิได้แฝงปรัชญาอันลุ่มลึกชวนตื่นตะลึง มิได้สาธิตวรรณศิลป์อันวิจิตรตระการตา มิได้แม้แต่ตีแผ่ปัญหาสังคมเพื่อปลุกเร้าจิตสำนึกใดๆ หากผลงานของคำพูน บุญทวี เล่มนี้เล่าถึงชีวิตชนบทอันเรียบง่ายด้วยวิธีเล่าที่แลดูโปร่งใส ตรงไปตรงมา ซึ่งถ้าจะกล่าวตามสำนวนนักวิจารณ์ฝรั่งสมัยใหม่ ก็ต้องว่า ‘งานชิ้นนี้เฉียดใกล้ศูนย์องศาแห่งการประพันธ์วรรณกรรม’ เอาเลยทีเดียว”

 “...คุณลักษณะของนิยายแห่งการเรียนรู้ปรากฏให้เห็นได้ในองค์ประกอบของการเล่าเรื่องที่สำคัญ นั่นคือการใช้มุมมอง ลูกอีสาน เป็นการเล่าเรื่องผ่านสายตาและความนึกคิดของตัวละครเอก คือเด็กชายคูน สายตาของเด็กผู้กระหายใคร่เรียนรู้ มีคุณสมบัติขยายทุกสิ่งทุกอย่างให้ใหญ่ไปหมด เป็นสายตาแห่งการค้นพบที่จับเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมาในความนึกคิด อาจกล่าวได้ว่าสายตาของเด็กเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมเชิงการเล่าเรื่อง (Narrative Legitimacy) ให้กับรายละเอียดทางวัฒนธรรมพื้นบ้านที่บรรยายอย่างยืดยาวพิสดาร รายละเอียดเหล่านี้ยังอยู่ในกรอบความสมจริงของการเล่าเรื่องก็ด้วยเหตุที่สัมพันธ์กับมุมมองของเด็กโดยจำเพาะเท่านั้น…”

 “...การที่ คำพูน บุญทวี ใช้ขนบของนิยายแห่งการเรียนรู้ ทำให้ลูกอีสานเสนอภาพลักษณ์ของอีสานที่แตกต่างจากนวนิยายสัจนิยมเพื่อชีวิตที่ว่าด้วยท้องถิ่นนี้อย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่นวนิยายทั้งสองแนวก็ใช้วัตถุดิบเดียวกัน คือ ความลำบากยากแค้น แต่เมื่อนำมาจัดฉากและผูกเรื่องไม่เหมือนกัน ก็ทำให้สื่อความไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ในลูกอีสานคุณค่าของความเป็นอีสานอยู่ที่การเรียนรู้ที่จะ ‘อยู่’ กับความยากลำบาก ความสามารถที่จะต่อสู้กับมันอย่างมีศักดิ์ศรี สรุปแล้วคือ ความเป็นอีสานอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่ต้องให้ใครอื่นมาสงสาร เพราะความสงสารมักควบคู่ไปกับการดูถูกแบบลึกๆ นั่นเอง…”

 14 ปี ผ่านไปจากการลาล่วงลับโลกไปของ คำพูน บุญทวี แต่นวนิยาย “ลูกอีสาน” อยู่คู่กับคนไทยไม่เคยจางไปตามวันเวลา