posttoday

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ นักเล่าศิลปะให้เป็นเรื่องสนุก

06 สิงหาคม 2560

เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ “โง่” เรื่องศิลปะ หลังได้อ่านหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องศิลปะแล้วรู้สึกว่ามันใกล้ตัวเราเหลือเกิน อย่าง

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ “โง่” เรื่องศิลปะ หลังได้อ่านหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องศิลปะแล้วรู้สึกว่ามันใกล้ตัวเราเหลือเกิน อย่าง “ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ” ของ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ นักเขียนและคอลัมนิสต์เกี่ยวกับภาพยนตร์ งานศิลปะในภาพยนตร์ งานดนตรีในภาพยนตร์ งานศิลปะในแฟชั่น ดนตรีร็อกย้อนยุค สถาปัตยกรรม และงานสัมภาษณ์มากมาย

ภาณุเป็นเด็กจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทิ้งระบบการศึกษาก่อนรับปริญญา แล้วนำพาตัวเองสู่โลกของตัวหนังสือ โดยหนังสือเล่มนี้เขาได้คัดเลือก 32 บทความจากคอลัมน์ อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ในนิตยสารรายสัปดาห์หัวหนึ่ง ซึ่งคัดเฉพาะบทความที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคมร่วมสมัย

 “เมื่อดูจากสื่อหรืออ่านหนังสือหรืออ่านคอมเมนต์ในเว็บไซต์ คนจะคอมเมนต์เรื่องศิลปะว่า เป็นสิ่งที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ หรืองานศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจยาก ต้องอาศัยการตีความหรือต้องปีนกระไดดู แต่ผมว่าศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจหรือพยายามเปิดใจ บางทีคนที่เขียนเรื่องงานศิลปะอาจจะติดเรื่องของทฤษฎีหรือศัพท์เทคนิค และเขาไม่สามารถอธิบายให้ทั่วไปเข้าใจง่ายและรับรู้ได้ แต่ดีที่ว่าผมทำงานด้านสื่อมวลชนมา ผมสัมภาษณ์ ผมเขียนหนังสือ ดังนั้นผมจะรู้วิธีการที่จะเล่าเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น ใช้การเปรียบเทียบเพื่อลดความยากหรือลดชั้นของภาษาลง”

ภาณุยกตัวอย่างบทแรก “ดูชองป์พ่อทุกสถาบัน” เกี่ยวกับศิลปินผู้โด่งดัง มาร์แซล ดูชองป์ ที่สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย เขาคิดว่า ศิลปินผู้นี้เป็นรากฐานของศิลปะหลังสมัยใหม่จึงเปรียบเสมือนเป็นพ่อของทุกสถาบัน ซึ่งการเปรียบเปรยด้วยคำง่ายๆ นี้ทำให้คนอ่านรู้สึกสงสัยและสนใจจนอยากอ่านต่อ จากความรู้ที่เป็นเหมือนยาขม น่าเบื่อ และชวนหลับ เมื่อใส่ความยียวน ความเซ็กซี่ลงไปสักเล็กน้อยก็จะทำให้ความรู้เปลี่ยนเป็นความน่าสนใจมากขึ้น

คลังความรู้ที่บรรจุอยู่ใน 340 หน้าเป็นการรวบรวมสิ่งที่ภาณุอ่านมาตั้งแต่เด็กทั้งนวนิยาย วรรณคดี บทกวี ปรัชญา วิทยาศาสตร์ การ์ตูน ศิลปะ ซึ่งเขาสารภาพว่า ตนเป็นเด็กเนิร์ดที่เรียนไม่เก่ง อ่านหนังสือที่ครูไม่ให้อ่าน และชอบสิงอยู่ในห้องสมุดเป็นบ้าเป็นหลัง จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่หยุดอ่าน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงอุดมไปด้วยความรู้ที่รู้จริง เพราะไม่เช่นนั้นคงอธิบายให้คนไม่รู้กลายเป็นเข้าใจไม่ได้

ภาณุยกคำพูดของ โจเซฟ บอยส์ ที่กล่าวไว้ว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการทำงานสร้างสรรค์ ถ้ามีความตั้งใจและอยากทำ เพราะศิลปินท่านนี้เป็นชาวเยอรมันที่สร้างสรรค์ประติมากรรมสังคม โดยเขาพยายามดึงคนธรรมดาหรือคนทั่วไปมามีปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะหรือนำศิลปะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการทำลายอภิสิทธิ์ของศิลปินเพราะศิลปินไม่จำเป็นต้องเป็นคนพิเศษ แต่คนธรรมดาสามัญที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีจิตใจที่ต้องการทำงานสร้างสรรค์ก็สามารถเป็นศิลปินได้ ดังนั้นทุกคนมีสิทธิวาดรูปหรือทำอะไรเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมา แต่คุณจะอยู่รอดหรือขายงานได้หรือเปล่ามันขึ้นอยู่กับการยอมรับของคนอื่น (งานเขียนก็เช่นกัน)

“หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของความบังเอิญ เพราะมันเริ่มจากผมเขียนลงในเพจเฟซบุ๊ก (Share Chairs) ของผมเล่นๆ เป็นการเขียนสนุกๆ ให้คนอ่าน โดยไม่คิดว่ามันจะถูกรวบรวมเป็นหนังสือเล่มและขายได้” อย่างที่เขาเขียนในคำนำในย่อหน้าหนึ่งว่า

...แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือวิชาการแต่อย่างใด หากแต่เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ (ที่ดูไม่เหมือนศิลปะ) ให้อ่านกันง่ายๆ ไม่ซีเรียสเคร่งเครียด อ่านเอาเพลินๆ แต่แถมพกความรู้แบบพอหอมปากหอมคอ พอเป็นกระษัย ถ้าอยากได้ความรู้จริงๆ จังๆ กว่านี้ แนะนำให้ไปหาได้ที่ห้องสมุดศิลปะใกล้บ้านท่านเอาก็แล้วกันนะครับ (อันนี้ไม่ได้ประชด แนะนำจากใจจริงนะเออ!)

 “ตอนเรียนศิลปะเราอยากอ่านหนังสือแบบไหน เราก็เขียนหนังสือแบบนั้นออกมา อย่างหนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือที่นักศึกษาซื้อไปอ่าน เพราะมันทำให้เขาเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะสนุกขึ้น นอกจากนี้ ผมคิดว่าหนังสือศิลปะของบ้านเรายังหยุดอยู่แค่โมเดิร์นอาร์ต ยังไม่มีคนเขียนศิลปะแบบโพสต์โมเดิร์นเท่าไร เพราะว่ามันยังไม่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการมาก เป็นศิลปะที่ค่อนข้างจะหลากหลาย และไม่มีระบบคิดที่เป็นรากฐานในเชิงสุนทรียะ ทำให้อาจารย์หรือคนที่เรียนศิลปะไม่เข้าใจว่างานศิลปะแบบนี้พยายามจะบอกอะไร อย่างเช่นโถฉี่ดูชองป์ที่ไม่อ้างอิงกับระบบสุนทรียะ ไม่อ้างอิงกับความงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องมาถกกันในบริบทของความไม่งามว่าทำไมศิลปะที่ไม่งามสามารถอยู่ในโลกของศิลปะได้”

 แท้จริงแล้ววิชาประวัติศาสตร์ศิลปะคือ เรื่องบันเทิง ไม่ใช่แค่เรื่องท่องจำ หากเล่าเป็นเกร็ดความรู้ที่มีสีสันมันจะกลายเป็นเรื่องที่น่าจดจำและจำได้ไปอีกนาน

 “ผมไม่รู้ว่าคนอื่นจะยอมรับในหนังสือเล่มนี้ แต่ผมอยากให้มหาวิทยาลัยซื้อใส่ห้องสมุดในฐานะของพ็อกเกตบุ๊กบันเทิง ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือวิชาการ อยากให้นักศึกษาอ่านในฐานะหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกสนุกและเก็บไปเล่าให้เพื่อนฟัง ผมอยากให้หนังสือเล่มนี้สร้างความหลากหลายทางความรู้ เพราะความรู้มันไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียด ความรู้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องหลีกให้ห่างเพราะมันน่าเบื่อ เพราะจริงๆ แล้วความรู้มันสนุกถ้ารู้วิธีถ่ายทอดมัน”

 เขากล่าวทิ้งท้ายด้วยคำพูดของไอน์สไตน์ที่ว่า คนที่อธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดความรู้ อย่างทฤษฎีสัมพันธภาพที่หากพูดในแง่วิทยาศาสตร์จะซับซ้อน แต่ไอน์สไตน์อธิบายไว้ว่า มันเหมือนกับเมื่อคุณนั่งอยู่กับหญิงสาว 1 ชม. แต่เหมือนนั่งอยู่แค่ 1 นาที แต่เมื่อคุณนำมือไปจับของร้อน 1 นาที แต่จะรู้สึกมันนาน 1 ชม. ก็คงไม่ต่างจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ที่ใช้เวลาอ่าน 1 ชม. แต่ได้อะไรมากกว่าการเรียนศิลปะ 1 ปี