posttoday

อนุวัฒน์ ร่วมสุข ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา

05 สิงหาคม 2560

ถ้าเอ่ยชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร คนในแวดวงตลาดทุนทั้งในและนอกประเทศรู้จักเป็นอย่างดี เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวมคนเก่งๆ

โดย...ประลองยุทธ ผงงอย

 ถ้าเอ่ยชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร คนในแวดวงตลาดทุนทั้งในและนอกประเทศรู้จักเป็นอย่างดี เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวมคนเก่งๆ ที่ทำงานระดับประเทศและนานาชาติไว้มาก

 อนุวัฒน์ ร่วมสุข วัย 44 ปี ผู้บริหารรุ่นใหม่ บล.ภัทร กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน สายงานวาณิชธนกิจและตลาดทุน มีบทบาทสำคัญในการผลักดันธุรกรรมของบริษัทให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผ่านสายงานวาณิชธนกิจที่ต้องมีสายสัมพันธ์ที่หลากหลายระดับนานาชาติ และมีฝีมือเป็นที่ยอมรับของลูกค้าเป็นอย่างดี

 เขาเริ่มทำงานที่ ภัทร ตั้งแต่เรียนจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ภาควิชาสถิติ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2537

 จุดเริ่มต้นเกิดจากการแนะนำของคุณแม่ที่รู้จักคนในภัทร จึงลองมาสมัครทำงานและเริ่มงานช่วงปีนั้นจนถึงปีนี้ 23 ปีแล้ว

 ช่วงเริ่มต้นทำงานเป็นนักวิเคราะห์ฝ่ายวาณิชธนกิจประมาณ 3 ปี จากนั้นเปลี่ยนมาจับงาน Equity Capital Markets (ECM) ถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างบางดีลที่เคยผ่านมือในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชน (ไอพีโอ) ของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ในกลุ่ม ปตท. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกองแรกของไทย รวมถึงดีลปัจจุบันที่กำลังทำใกล้เสร็จคือ กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์กองแรกของประเทศที่รัฐบาลเป็นผู้ออก

อนุวัฒน์ ร่วมสุข ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา

 "มีความภูมิใจในทุกดีลที่มีโอกาสได้ทำไม่ว่าจะเป็นดีลที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ไม่ซับซ้อนมาก จนถึงดีลที่มีขนาดใหญ่มีความซับซ้อน หรือแม้แต่ดีลที่ต้องใช้โครงสร้างที่ไม่เคยมีใช้มาก่อนในประเทศไทยก็ตาม เพราะอย่างน้อยสามารถช่วยลูกค้าระดมทุนได้สำเร็จตามเป้าหมาย และมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพิ่มสำหรับนักลงทุน

 "ที่สำคัญสำหรับผมคือผมได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นจากดีลที่ได้ทำ ทั้งการเรียนรู้จากลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระบบความคิด ความสำเร็จ เรียนรู้จากนักลงทุน จากหน่วยงานกำกับ เพื่อนร่วมงานที่ร่วมกันทำมาด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากสถานศึกษา หรือคอร์สฝึกอบรมได้ และทีมงานของผมเองจะเก่งขึ้น เพราะจะได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปพร้อมกัน" อนุวัฒน์ เริ่มคุยถึงงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ก่อนเท้าความหลังกลับไปในอดีต

 "การทำงานช่วงแรกของสายงานวาณิชธนกิจจะเหมือนเด็กจบใหม่ทั่วไปทำงานไปแบบวันๆ เพราะยังไม่ค่อยเข้าใจงานที่ทำอยู่จนกระทั่งผ่านไป 3-4 ปี"

 จนถึงจุดที่อนุวัฒน์คิดว่าโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว กลับมาดูงานที่ทำเกิดความสนุกมีความท้าทาย ต้องการให้งานที่ทำออกมาดีขึ้น และเริ่มรู้ว่าชอบในสิ่งที่กำลังทำอยู่

 "จึงเปลี่ยนแผนชีวิตที่เคยวางไว้ว่าจะทำงานงานนี้ 2 ปีแล้วลาออกไปเรียน ตัดสินใจทำงานต่อเพราะอยากเรียนรู้และเข้าใจในงานที่มากขึ้น มองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในงานนี้ เพราะหากมีความเก่งหรือมีความสามารถ แต่ขาดความชอบหรือรักในงานนี้จะทำงานในระยะยาวไม่ได้เพราะเป็นงานที่มีความเครียดค่อนมากต้องใช้ความคิดตลอดเวลา และต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจและเวลามากด้วย"

 เส้นทางการเติบโตในฐานะผู้บริหารภัทร ตำแหน่งแรกคือผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการโดยอยู่ในตำแหน่งนี้ประมาณ 3 ปีที่แล้วจนปัจจุบันก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการประมาณ 1 ปี

 ในช่วงปี 2541-2546 ที่ภัทรกลายเป็น "เมอร์ริล ลินช์" ถือว่าเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่ที่ทำงานในภัทรมีพัฒนาการที่สูงสุด เพราะได้เรียนรู้อย่างมากกับการทำงานของเมอร์ริล ลินช์ ที่ในช่วงนั้นต้องยอมรับว่าตลาดทุนในต่างประเทศพัฒนาก้าวกว่าของไทย อาทิ ด้านระบบงาน ด้านฐานข้อมูล ทำให้คนภัทรยุคนั้นมีพัฒนาการดีและคิดว่าไม่ต้องไปเรียนต่อก็ได้

อนุวัฒน์ ร่วมสุข ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา

 เขายึดหลักในการทำงานที่ว่า ข้อแรกตั้งแต่เริ่มใช้ชีวิตทำงานจะคิดอยู่เสมอว่าไม่เก่งเท่ากับคนหรือสู้คนอื่นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อคิดแบบนี้ในเวลาทำงานจะต้องพยายามทำมากกว่าคนอื่น เช่น คนอื่นทำงาน 2 ชั่วโมง แต่ตัวเองจะต้องทำมากมากกว่า หรือนิยามว่าการทำงานของตัวเองว่าเป็นแบบ "Work Hard Play Hard" คือในเวลาทำงานจะทำงานให้เต็มที่ ส่วนนอกเวลาก็จะใช้ชีวิตเต็มที่เช่นกัน

 ข้อสอง สร้างเสริมพัฒนาแสวงหาความรู้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพราะในธุรกิจที่ทำงานอยู่เป็นธุรกิจที่เดินเร็วมาก เมื่อใดที่หยุดเดินจะถูกคนอื่นเดินแซงหน้าได้ตลอดเวลา ดังนั้นคนในธุรกิจนี้จะหยุดเดินไม่ได้หากหยุดเท่ากับการถอยหลังทันทีและจะกลับมาตามคนอื่นทันยากมาก

 ข้อสาม คือเช็กความผิดพลาดของตัวเองอยู่เสมอ ในทุกครั้งที่ทำงานจบหรือธุรกรรมด้วยความสำเร็จ เพราะเป็นเรื่องที่ถูกสอนจากผู้ใหญ่ใน ภัทร เสมอว่าผิดพลาดอะไรไปบ้าง เพื่อนำกลับมาใช้ปรับปรุงตัวเองต่อไปในการทำงานในอนาคต ดังนั้นจะไม่กลับมานั่งดูว่าตัวเองเก่ง หรือประสบความสำเร็จอย่างไรอยู่เสมอ

 "ผมไม่เคยเปลี่ยนงานและไม่เคยคิดเปลี่ยนงานไปทำที่อื่น เพราะที่นี่มีโอกาสและให้โอกาสทุกคนให้เลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองได้ เพราะบริษัทไม่ได้หาคนเก่งที่สุด แต่ต้องการหาคนที่เหมาะสมที่สุดกับงานแต่ละงาน ขณะที่ส่วนตัวมีความชื่นชอบในงานที่ทำ"

 อนุวัฒน์ กล่าวว่า ยังต้องตามคนอื่นอีกมาก เพราะคิดว่ายังไม่เก่งเท่าคนอื่น ต้องพยายามปรับปรุงพัฒนาตัวเองตั้งใจเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลาเพื่องานให้ดีขึ้นทุกวัน