posttoday

ความจริงที่แท้ทรู ของการนั่งทำงานในร้านกาแฟ

04 สิงหาคม 2560

ตอนที่แล้วผมเล่าเรื่องของบริษัทใหญ่ๆ อย่างมาสเตอร์การ์ด เริ่มให้ความสำคัญกับการดื่มกาแฟของพนักงาน

เรื่อง เอกศาสตร์ สรรพช่างภาพ รอยเตอร์ส

ตอนที่แล้วผมเล่าเรื่องของบริษัทใหญ่ๆ อย่างมาสเตอร์การ์ด เริ่มให้ความสำคัญกับการดื่มกาแฟของพนักงาน ถึงขนาดที่ว่าทำร้านกาแฟมีบาริสต้าเป็นเรื่องเป็นราวในออฟฟิศกันเลยและขายในราคาถูกกว่าท้องตลาดครึ่งหนึ่ง เพื่อแลกกับการประหยัดเวลาพวกเขาที่ต้องเดินไปซื้อกาแฟข้างนอกตึก แน่นอนทั้งหมดก็เพื่อให้พนักงานอยู่กับงานของตัวเองมากขึ้น เพราะมีผลการวิจัยออกมาว่าคนอเมริกันหมดเวลาไปกับการซื้อและดื่มกาแฟนอกออฟฟิศมากถึงปีละ 62 ชั่วโมง คิดเป็นเวลาการทำงานก็เกือบ 8 วัน ไม่น้อยนะครับ

วิถีชีวิตของคนทำงานกับกาแฟเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่สังคมเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่เชื่อกันมาตลอดว่าช่วยเพิ่มความสดชื่นและแก้ง่วงเหงาหาวนอนได้ดี ในสังคมสมัยยุคใหม่กาแฟถือเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นการทำงาน การเริ่มสิ่งใหม่และเป็นอย่างนี้มานาน กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น สำหรับใครหลายๆ คนรวมถึงผมด้วย การไม่ดื่มกาแฟตอนเช้านี่เหมือนว่าร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นสักอย่างในชีวิต

ในสหรัฐ ดินแดนที่ถือว่าเป็นบ้านของกาแฟสมัยใหม่ มีการศึกษากันอย่างกว้างขวางเรื่องผลของกาแฟที่ส่งผลต่อสังคมสมัยใหม่ มีงานศึกษาอยู่หลายชิ้นนะครับที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์เชิงบวกต่อกาแฟกับการทำงานและยังโยงไปถึงธุรกิจกาแฟของสหรัฐด้วย อย่างเช่นงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยอินเดียนา เขาวิจัยเรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างการดื่มกาแฟกับผลสัมฤทธิ์ของการทำงาน (Productivity) เขาทดสอบในสองแง่มุมคือเรื่องความเชื่อ ความคิดเห็นและข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ จากกลุ่มที่ไปสำรวจ เขาพบว่าร้อยละ 46 ของพนักงานบริษัทที่เขาไปสำรวจ "เชื่อว่า" กาแฟนั้นเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของการทำงานโดยตรง แม้ว่าพวกเขาจะดื่มกาแฟเพียงน้อยนิดคืออาจไม่ถึง 100 มิลลิกรัม นี่แค่เรื่องความเชื่อนะครับ พอมาดูเรื่องผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ก็พบเช่นกันว่าไอ้เรื่องที่เชื่อกันอยู่นั้น ก็มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย เพราะกาแฟสามารถไปบล็อกการหลั่งสารที่ชื่อ Adonesine ซึ่งหลั่งออกมาเมื่อเราเพิ่งตื่นนอนหรือหลังจากกินอาหาร กาแฟจะช่วยรักษาระดับของการตื่นตัวและไม่ให้เรารู้สึกง่วงและออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าชา (แต่กาเฟอีนในกาแฟก็อยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลาสั้นกว่า) กาแฟจะส่งผลกับสมองในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำ ความสามารถในการจดจ่อและเรื่องของการตระหนักรู้ต่อสิ่งเร้าได้ดีในช่วงเวลาสั้นๆ

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของ Journal Consumer Research ก็น่าสนใจ ตีพิมพ์ในวารสาร Oxford University Press เขาไปทำวิจัยถึงคนที่มักนั่งทำงานในร้านกาแฟว่า ท่ามกลางความวุ่นวาย ทำไมคนที่ทำงานในร้านกาแฟถึงสามารถจดจ่อและมีสมาธิกับงานที่ทำได้ยังไง

ก็พบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งจากกาแฟที่ดื่ม และระดับเสียงในร้านกาแฟด้วยว่าในสภาพแวดล้อมที่มีระดับความดังของเสียงอยู่ในระดับต่ำแต่ไม่ถึงกับเงียบคือราวๆ 50-70 เดซิเบล เป็นภาวะที่สมองสามารถทำงานได้ดี โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อบวกกับการดื่มกาแฟแล้ว สภาวะแบบนี้เหมาะสมมากกว่าสภาพแวดล้อมที่ไร้เสียงหรือเสียงแบบเงียบสงัดมากกว่า เพราะในสภาพแวดล้อมแบบนั้น อาจไม่เหมาะกับการทำงาน การทดสอบนี้ทำเมื่อปี 2012 และมีการทดสอบในหลายสถานการณ์และหลายกลุ่ม ทั้งในกลุ่มนักเรียน คนทำงานและทำในสภาพแวดล้อมของร้านกาแฟที่มีระดับเสียงแตกต่างกันไป ซึ่งได้ผลออกมาเป็นไปในทางเดียวกัน

อ่านๆ ดูก็ไม่แปลกครับที่เราจะอนุมานว่าร้านกาแฟสาขาอาจอยู่เบื้องหลัง เป็นคนออกทุนวิจัยพวกนี้ก็เป็นได้ แต่แม้จะเป็นอย่างนั้น ผมคิดว่าสภาพที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็ไม่แตกต่างกันนะครับ มีร้านกาแฟมากมายที่กลายเป็นที่ทำงานของฟรีแลนซ์และร้านกาแฟที่เปิด 24 ชั่วโมง เพื่อสนองความต้องการของเหล่าเสรีชนคนดิจิทัล

ผมคิดว่าตราบเท่าที่เรายังมีที่ให้ปลูกกาแฟและยังมีร้านกาแฟให้นั่ง ชีวิตของชนชั้นกลางและพนักงานบริษัทก็ยังคงวนเวียนอยู่กับร้านกาแฟอยู่ ในอนาคตผมคิดว่าร้านกาแฟจะเป็นตัววัดความเจริญของเมืองในทางหนึ่ง เมืองที่มีร้านกาแฟให้บริการมากเท่าไหร่ ก็ย่อมสะท้อนความต้องการของชนชั้นกลางบางกลุ่มที่อยากได้พื้นที่สำหรับหากาแฟอร่อยๆ สำหรับทำงานและสันทนาการบางอย่างของชีวิต

ทุกวันนี้ครึ่งหนึ่งของต้นฉบับของผม ก็เขียนในร้านกาแฟนี่แหละ