posttoday

บริหารเวลาให้ทำเงิน

01 สิงหาคม 2560

เคยไหมที่เราเกิดความรู้สึกว่าเราอยากได้เวลาเพิ่มขึ้นอีกวันละ 8 ชั่วโมง เพียงเพื่อจะได้มีเวลาทำงาน 24 ชั่วโมง/วัน

โดย...กั๊ตจัง ภาพ : เอพี, เอเอฟพี

เคยไหมที่เราเกิดความรู้สึกว่าเราอยากได้เวลาเพิ่มขึ้นอีกวันละ 8 ชั่วโมง เพียงเพื่อจะได้มีเวลาทำงาน 24 ชั่วโมง/วัน และใช้เวลาอีก 8 ชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นมาไปกับการพักผ่อนหรืออยู่กับครอบครัวในโลกความเป็นเราไม่สามารถเพิ่มเวลาได้ แต่ในโลกการเงินเราสามารถใช้เงินเพิ่มเวลาได้ จะเป็นวิธีไหนลองอ่าน 3 วิธียอดนิยมที่เหล่าเศรษฐีทำกัน

1.คำนวณค่าแรงต่อชั่วโมงของเราออกมา

การคำนวณค่าแรงของเราออกมาเป็นรายชั่วโมงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสำหรับคนทำงานหาเลี้ยงครอบครัวแล้วเวลาเป็นเงินเป็นทองเสมอ ที่สำคัญยังเป็นพื้นฐานในการคำนวณค่าแรงเวลาที่เราจะรับงานอื่นๆ มาทำด้วย สมมติว่าปัจจุบันคุณมีเงินเดือนอยู่ที่ 3 หมื่นบาท/เดือน ทำงานเดือนละ 20 วัน วันละ 8 ชั่วโมง จะได้สูตรการคำนวณดังนี้ (30,000 / 20) / 8 = 187 บาท/ชั่วโมง

สมมติว่าคุณต้องการรับงานเพิ่ม แต่คำนวณค่าแรงไม่ถูก ก็ให้จำนวนชั่วโมงทำงานต่อชิ้นตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จ เช่น รับงานเขียนบทโฆษณา 1 ชิ้น คุณก็เริ่มชั่วโมงทำงานโดยนับตั้งแต่เวลาเดินทางไปกลับหาลูกค้า ชั่วโมงการพูดคุย จนถึงระยะเวลาในการคิดงานตั้งแต่เริ่มจนเสร็จ รวมแล้วประมาณ 48 ชั่วโมงโดยประมาณ

คุณก็จะได้ค่าแรงขั้นต่ำที่คุณควรได้ก็คือ 8,976 บาท คุณจะตีถ้วนปัดขึ้นหรือลงก็ตามใจจะให้ลูกค้า แต่นี่คือค่าแรงที่คุณควรจะได้กับเวลาส่วนตัวที่เสียไป แต่ถ้าคุณรับงานที่มีต้นทุนค่าวัตถุดิบหรือค่าวัสดุให้รวมเข้าไปในค่าแรงนั้นด้วย

2.จ้างคนที่คิดค่าแรงถูกกว่าดีกว่า

วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะ สำหรับคนที่สามารถหางานเสริมพิเศษได้หลายอย่าง แต่ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะรับทำทั้งหมด ลองมองหาผู้ช่วยคนอื่นที่รับงานในราคาที่ถูกกว่า และทำผลงานออกมาได้เป็นที่น่าพอใจดู

เช่น คุณรับงานเขียนบทโฆษณา 1 ชิ้น ใช้เวลา 48 ชั่วโมง ในราคา 8,900 บาท แต่คุณสามารถหาคนทำแทนได้ในราคา 6,000 บาท คุณก็ควรจ้างเขาคนนั้น คุณก็จะได้ทั้งงาน 1 ชิ้น และค่าแรงส่วนต่าง 2,900 บาทเป็นค่านายหน้า แล้วคุณยังสามารถใช้เวลา 48 ชั่วโมงที่คุณจะทำงานชิ้นนี้ไปทำงานอื่นที่ได้เงินเท่ากันที่ 8,900 บาท รวมแล้วเวลา 48 ชั่วโมง คุณจะหาเงินได้ถึง 8,900 + 2,900 = 11,800 บาทเลยทีเดียว

สรุปหลักคิดในข้อนี้อีกครั้งก็คือ หาคนอื่นที่ทำในราคาถูกกว่าได้ก็จ้างเขา แล้วเอาเวลาไปทำงานอื่นที่ทำเงินได้มากกว่าจะดีที่สุด

3.สร้างเครือข่ายในการทำงาน

จากแนวคิดข้อ 2 ถ้าคุณสามารถหางานจากลูกค้าได้มาก จนกระทั่งสามารถเปิดเป็นบริษัทก็ยังได้ คุณจะทำอย่างไร คำตอบก็คือสร้างเครือข่ายรับงานเสีย เพราะถ้าคุณทำคนเดียวคุณจะรับได้ไม่กี่งาน แต่ถ้าคุณมีเครือข่าย คุณสามารถกระจายงานต่อให้คนอื่นทำ แล้วคิดค่าส่วนต่างหรือค่านายหน้านั้นได้ เพราะทุกคนย่อมรู้ดีว่านี่คือธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การกระจายงานนั้นไม่ควรเกิน 2 ต่อ

เช่น นายบีรับงานจากนายเอ (นับเป็น 1 ต่อ) แต่นายบีทำงานนี้ไม่ทันต้องส่งต่อให้นายซี (นับเป็น 2 ต่อ) อย่างนี้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่นายซีจะส่งต่อให้นายดี แบบนี้ไม่ดีแน่ จริงอยู่ว่าการส่งต่อที่ 3 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อนายบีที่เป็นคนรับงานคนแรก แต่มีผลในเรื่องของความคลาดเคลื่อนในตัวงาน บรีฟงานอาจตกหล่นทำความเข้าใจได้ไม่ทั่วถึง ทำให้งานออกมาไม่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการจ้างคนที่คิดค่าแรงถูกๆ ก็เสี่ยงต่อการได้ชิ้นงานที่ไม่ดีกลับมาด้วย ซึ่งอาจทำให้นายบีเสียลูกค้าได้ในที่สุด

ดังนั้น การสร้างเครือข่ายการทำงาน ควรมีขนาดที่ไม่ใหญ่เกินความสามารถที่จะดูแล และที่สำคัญข้อดีของการสร้างเครือข่ายก็คือคุณสามารถรับงานได้อย่างไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่จะทำ

หลักคิดทั้ง 3 ข้อนี้ คุณสามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และที่สำคัญคุณอาจจะได้ธุรกิจของตัวเองจากแนวทางบริหารเงินแบบนี้อีกด้วย